ชวนชมปรากฏการณ์ 'ดาวศุกร์เคียงกระจุกดาวลูกไก่' 3 - 4 เม.ย.นี้

ชวนชมปรากฏการณ์ 'ดาวศุกร์เคียงกระจุกดาวลูกไก่' 3 - 4 เม.ย.นี้

สดร.ชวนชมปรากฏการณ์  “ดาวศุกร์เคียงกระจุกดาวลูกไก่” 3 - 4 เมษายนนี้

เมื่อวันที่ 31 มี.ค.63 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 - 4 เมษายน 2563 ดาวศุกร์จะปรากฏเคียงกระจุกดาวลูกไก่บนท้องฟ้าทางทิศตะวันตก สังเกตได้ในช่วงหัวค่ำหลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:30 - 21:00 น. ถือเป็นอีกปรากฏการณ์ที่สวยงามและน่าประทับใจ เนื่องจากระนาบวงโคจรของดาวศุกร์รอบดวงอาทิตย์ เอียงทำมุมกับระนาบสุริยะวิถีประมาณ 3.4 องศา ขณะที่กระจุกดาวลูกไก่อยู่ห่างจากเส้นสุริยะวิถีประมาณ 4 องศา ส่งผลให้ทุก ๆ 8 ปี ดาวศุกร์จะปรากฏตรงกับกระจุกดาวลูกไก่พอดี ซึ่งในวันที่ 3 และ 4 เมษายน 2563 ดาวศุกร์จะปรากฏห่างจากดาวอัลไซออนี (Alcyone) ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกระจุกดาวลูกไก่ เพียง 0.5 องศาเท่านั้น (ใกล้เคียงกับดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเชิงมุมประมาณ 0.5 องศา)

ดาวศุกร์ เป็นวัตถุที่มีความสว่างปรากฏบนท้องฟ้ามากเป็นอันดับ 3 รองจากดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ ทำให้ผู้ที่สนใจปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงกระจุกดาวลูกไก่ หาตำแหน่งดาวศุกร์บนท้องฟ้าได้ไม่ยาก สามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่า กล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า

ดาวเคราะห์โบราณที่โคจรมาอยู่หน้าดาวฤกษ์แรกเกิด

- กระจุกดาวลูกไก่ (Pleiades) -

กระจุกดาวเปิดในกลุ่มดาววัว ประกอบด้วยดาวฤกษ์อายุน้อยสีน้ำเงินที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มฝุ่นแก๊สขนาดใหญ่ คาดว่ามีอายุประมาณ 100 ล้านปี (เกิดขึ้นในยุคไดโนเสาร์) สามารถสังเกตเห็นดาวสมาชิกได้ด้วยตาเปล่าประมาณ 6 - 8 ดวง แต่เมื่อสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นว่ากระจุกดาวลูกไก่มีสมาชิกหลายร้อยดวง ปัจจุบันนักดาราศาสตร์คาดว่ากระจุกดาวลูกไก่มีดาวฤกษ์สมาชิกประมาณ 3,000 ดวง และดาวดวงสว่างที่ที่สุดในกระจุกดาวนี้มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์เราถึง 5 เท่า

- ดาวศุกร์ (Venus) -

ดาวเคราะห์ที่เกิดขึ้นมาพร้อม กับดวงอาทิตย์ ราว 4.5 พันล้านปีที่แล้ว (ขณะนั้นกระจุกดาวลูกไก่ยังไม่เกิด) ดาวศุกร์กับโลกนั้นเปรียบเสมือนฝาแผด เพราะเป็นดาวเคราะห์หินที่มีขนาด มวล ความหนาแน่น องค์ประกอบ และแรงโน้มถ่วงใกล้เคียงกัน จึงมีโครงสร้างภายในที่คล้ายคลึงกันด้วย บรรยากาศของดาวศุกร์ส่วนใหญ่ประกอบด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซต์ ชั้นเมฆมีกรดกำมะถันจากภูเขาไฟระเบิดมากกว่า 1,000 ลูกบนดาวศุกร์ ทำให้ชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นกักเก็บความร้อนจากดวงอาทิตย์ ส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวสูงถึง 470 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนกว่าอุณหภูมิด้านกลางวันของดาวพุธที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่า

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page