'คำสาปแช่ง' กับ 'โควิด' นัยยะที่ซ่อนอยู่หลังคำมุ่งร้าย

'คำสาปแช่ง' กับ 'โควิด' นัยยะที่ซ่อนอยู่หลังคำมุ่งร้าย

ทำไมต้องถึงกับเขียน "คำสาปแช่ง" ในคำประกาศการเฝ้าระวังคัดกรองผู้ป่วย "โควิด-19" ย้อนดูความเป็นมา และพลังของคำพูดที่มีมาตั้งแต่อดีต

ปัญหาใหญ่สำคัญอย่างหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขในการเฝ้าระวังคัดกรองผู้ป่วยเชื้อ โควิด-19 ในขณะนี้ คือ การปกปิดข้อมูลของผู้ป่วย ซึ่งนอกจากจะทำให้แพทย์ไม่สามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องรวดเร็วแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงในการที่จะแพร่เชื้อต่อไปยังบุคคลอื่นอีกเป็นจำนวนมากได้

แม้ว่ามีการประกาศให้ โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย มีผลบังคับใช้ตาม พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กำหนดว่า ประชาชน ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล หรือ ผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นใด เช่น โรงแรม จะต้องรายงานแจ้งต่อเจ้าหน้าที่เมื่อมีผู้ต้องสงสัยหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่ออันตราย โดยจะต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริง หากไม่แจ้งจะมีโทษปรับ 2 หมื่นบาท ทั้งนี้ การแจ้งข้อมูลตามความจริง จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ตรงกับอาการป่วย และสร้างความปลอดภัย ป้องกันบุคคลอื่นไม่ให้ติดโรค

158581571845

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังพบแนวโน้มว่าอาจจะยังมีการปกปิดข้อมูลของผู้ป่วยอยู่ดี ไม่ต่างจากเมื่อตอนที่ไข้หวัดสเปนระบาด ใน ค.ศ.1918 มีรายงานว่าตัวเร่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ไข้หวัดสเปนกระจายไปอย่างรวดเร็ว แบบไม่ทันได้ตั้งตัว เป็นเพราะการปกปิดข้อมูลหรือปิดข่าวนี่เอง

ว่ากันว่า จุดเริ่มต้นมาจากทหารอเมริกันในบอสตันที่ติดเชื้อไข้หวัดสเปนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ต่อมาแพร่เชื้อขยายสู่คนไปทั่วโลก มีรายงานว่า ใน ค.ศ.1919 เฉพาะในอเมริกา มีผู้เสียชีวิตถึง 7.5 แสนคน และต่อมาตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากโรคนี้ ทะยานสูงขึ้นแตะ 50 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตกระจายอยู่ในทวีปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ซึ่งเมื่อมองเทียบเคียงกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อ โควิด-19 ก็ไม่ต่างกันนัก การปกปิดความจริงหรือปิดข่าว

ส่วนหนึ่ง อาจกลัว และกังวลว่า จะมีปฏิกิริยาต่อต้านและรังเกียจจากสังคม หรือถ้าบอกข้อมูลให้บุคลากรทางการแพทย์รู้ ก็ย่อมถูกกักตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล หรือต้องกักตัวอยู่ในบ้าน (Self-quarantine) และเมื่อไม่ยอมบอก ก็ย่อมทำให้คนรอบข้างและบุคลากรการแพทย์เสี่ยงติดเชื้อไปด้วย แม้ว่าเคยมีประสบการณ์จากโรคระบาดร้ายแรงในประวัติศาสตร์ที่ได้คร่าชีวิตมนุษย์ไปกว่าครึ่งค่อนโลกมาแล้ว

แต่ดูเหมือนว่าเมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้นซ้ำอีก การควบคุมการแพร่เชื้อก็ยังไม่สามารถคุมได้อยู่นั่นเอง เพราะเอาเข้าจริงแล้วการควบคุมคนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีกฎระเบียบต่างๆ บังคับใช้ก็ตาม กอปรกับการที่มนุษย์ประเมินธรรมชาติต่ำไปและมักคิดว่าตัวเองต้องเป็นผู้ควบคุมและเอาชนะธรรมชาติได้อยู่ร่ำไป

มีรายงานว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้ ลุกลามไปจนถึงบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งติดเชื้อจากการที่ผู้ป่วยปกปิดข้อมูล แม้ว่าทาง สธ.ได้ย้ำเตือนถึงโทษของการปกปิดข้อมูลที่จำเป็นต่อการสอบสวนโรคแล้วก็ตาม จนสถานพยาบาลบางแห่งต้องให้ผู้ป่วยที่มาให้ข้อมูลกล่าวคำสาบานที่จุดคัดกรองซักประวัติผู้ป่วย!

ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อความที่อยู่ในคำสาบาน และ สาปแช่ง มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดความนึกคิด ท่าทีและการตัดสินใจของผู้พูดและผู้ฟัง ราวกับว่ามันมีอำนาจฝังเร้นลับอยู่ในนั้น อย่างทรงพลัง!

จริงๆ แล้ว เราไม่ได้ชอบที่จะต้องมานั่งสาบานและสาปแช่งกันนักหรอก คำถามคือ แล้วทำไมต้องสาบานและสาปแช่งด้วย นั่นเป็นเพราะว่าเราทำอะไรไม่ได้นอกจากต้องทำอย่างนั้น

เราไม่อาจลงทัณฑ์เอาผิดได้ในพื้นที่ชีวิตจริงใช่ไหม?    

อย่างที่ทราบกันดีว่า การสาบานและสาปแช่งนั้นอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านานแล้ว เห็นได้จากการค้นพบหลักฐานประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่เป็นจารึกคำสาปแช่งมากมายในดินแดนประเทศไทย เอาเข้าจริงแล้วก็มิได้แต่แต่บ้านเราหรอก ที่อื่นทั่วโลกก็มีเหมือนกันนั่นแหละ

ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคำว่า สาบาน หมายถึง การกล่าวคำปฏิญาณโดยอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพยาน เช่น สาบานเป็นพี่น้องร่วมสาบาน

ส่วนคำว่า สาปแช่ง หมายถึง การกล่าวมุ่งร้ายให้ผู้อื่นเป็นอันตรายร้ายแรง เช่น สาปแช่งไม่ให้ผุดให้เกิด เมื่อไม่อาจที่จะเอาผิดได้จึงให้สาบาน

ในแง่ของการสื่อสาร การสาบานมีจุดประสงค์เพื่อทำให้ผู้อื่นเกิดความเชื่อมั่นหรือความไว้วางใจในตัวของผู้พูด ทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวัน และในยามที่มีปัญหา ซึ่งบางครั้งการกล่าวถ้อยคำแบบตรงไปตรงมา อาจมองดูว่า ไม่มีน้ำหนักมากเพียงพอ จำเป็นต้องกล่าวอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือหรือที่นับถือเชื่อถือร่วมกันมาช่วยเพิ่มน้ำหนักความน่าเชื่อถือให้แก่คำพูดเหล่านั้นด้วย การสาบาน

158581574736

บางครั้งการสาบานมักปรากฏร่วมกับการสาปแช่ง เพราะมีการกล่างอ้างถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน โดยที่ผู้พูดปรารถนาให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนอ้างถึงใช้อำนาจลงโทษหรือทำอันตรายต่อผู้ที่เป็นเป้าหมาย

คนไทยสมัยก่อนเชื่อว่า คำสาปแช่ง เป็นถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์เต็มไปด้วยพลังอำนาจของเทพเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา สามารถที่จะดลบันดาลให้เกิดภัยอันตรายทั้งร่างกาย และจิตใจต่อผู้ที่เป็นเป้าหมายได้ ดังนั้นจะไม่กล่าวพร่ำเพรื่อ และระมัดระวังในการกล่าว เพราะมันหมายถึงความรับผิดชอบในอนาคต อย่างการสาบานนี่ก็เป็นการแสดงเจตนาผูกมัดตนเองให้กระทำการบางสิ่งบางอย่าง เหมือนกับการสัญญา  อีกอย่างที่สำคัญคือผลลัพธ์ของการกล่าวถ้อยคำสาบานนั้นจะเกิดกับตัวของผู้พูดเอง

แม้ว่ามันจะไม่เหมือนกับผลที่เห็นประจักษ์ชัดในทางกฎหมายก็ตามที แต่ถึงอย่างนั้น วิธีการนี้ก็ยังเป็นวิธีการที่มักถูกเลือกนำมาใช้เพื่อระบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจ ความคับอกข้องใจ หรือการที่ไม่สามารถลงโทษเอาผิดคนทำผิดในพื้นที่ชีวิตจริงได้ เพราะอยู่นอกเหนือขอบเขต

เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน