“โฮรมาเน กงติ-เลอฮรัว” สุดยอดไวน์แค้นฝังขวด
เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ร้านอาหาร "ฟอร์เมล บี" (Formel B) ร้านอาหารระดับมิชลิน1 ดาวในกรุงโคเปนเฮเกน (Copenhagen) เมืองหลวงของเดนมาร์ก ถูกโจรเจาะกำแพงร้านแล้วเข้าไป "ขโมยไวน์" โดยเจาะจงไวน์เบอร์กันดีราคาแพงประมาณ 50-60 ขวด!
ไวน์ที่โจรใจกล้าขโมยไป คิดเป็นมูลค่ากว่า 170,000 - 220,000 ยูโร ในจำนวนนั้นมีสุดยอดไวน์ของโลกจากเบอร์กันดีอย่าง โดเมน เดอ ลา โฮรมาเน กงติ (Domaine de la Romanée Conti) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า โฮรมาเน กงติ หลายรุ่น หนึ่งในจำนวนนั้นมี Romanée-Conti 2014 ซึ่งในตลาดบอนด์ (Bond) ราคาขวดละ 13,000 -14,000 ยูโร
นอกจากนั้นยังมี โดเมน เลอฮรัว (Domaine Leroy) อีกหลายรุ่น ที่ดัง ๆ และราคาแพงคือ โดเมน เลอฮรัว โฮรมาเน แซง วีวองต์ กรองด์ กรู 2014 (Domaine Leroy Romanée St-Vivant’ Grand Cru 2014) และ โดเมน ดู คอม ลิแกร์ เบลแลร์ ลาโร มาเน กรองด์ กรู 2017 (Domaine du Comte Liger-Belair ‘La Romanée’ Grand Cru 2017) เป็นต้น
เป็นการขโมยตามใบสั่ง เนื่องจากไวน์พวกนี้ราคาแพง และเป็นที่ต้องการอย่างมาก แต่จำนวนการผลิตน้อย ที่ผ่านมามีร้านอาหารทั้งในยุโรปและสหรัฐ เคยถูกขโมยไวน์พวกนี้เช่นกัน การมีไวน์พวกนี้แม้จะเป็นหน้าเป็นตาของร้านแล้วยังเป็นทุกข์แถมหวาดผวา เพราะไม่รู้ว่าจะถูกขโมยเมื่อไร ?
แน่นอนไฮไลท์ย่อมต้องอยู่ที่ โฮรมาเน กงติ (Romanée-Conti) และ โดเมน เลอฮรัว (Domaine Leroy) ซึ่งมีผู้อ่านสงสัยว่าทำไมต้องเป็น 2 ตัวนี้ ? และอยากรู้เรื่องราวของไวน์ทั้งคู่
โดเมน เดอ ลา โฮรมาเน กงติ (Domaine de la Romanée Conti) หรือ DRC นั้นเป็นของบริษัทที่ 2 ตระกูลกอดคอกันผลิตไวน์ราคาแพงจำนวน 6 ตัว บรรจุลังรวมกันเป็น 1 โหลหรือ 12 ขวด จากนั้นส่งขายไปทั่วโลกในระบบ “โควต้า” หรือ “ผูกหางหมา” โดยมี 1 ในจำนวนนั้นเป็นตัวแสบราคาแพงที่สุดในโลกคือ โฮรมาเน กงติ (Romanée-Conti) และในลังจะมีเพียง 1 ขวด ที่เหลือเป็นไวน์ในเครือ ใครอยากได้ไวน์ตัวนี้ต้องซื้อยกลัง ในขณะนั้นเมืองไทยไม่ได้รับโควต้าจึงสั่งเข้ามาขายไม่ได้ ที่เห็นมีขายเกิดจากการสั่งแยกกันแล้วนำเข้ามาขาย
เจ้าของตระกูลแรกคือ วิลแลง (Villaine) ของผู้เป็นพ่อของนาย อองรี เดอ วิลแลง (Henri de Villaine) ซึ่งมีลูกชายที่มีบทบาทมากที่สุดในเวลาต่อมาชื่อ อูแบรต์ เดอ วิลแลง (Aubert de Villaine) ได้รับมรดกตกทอดให้ดูแลกิจการมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการด้านการตลาด หลังจากพ่อเสียชีวิตได้ทำพินัยกรรมไว้ระบุว่าผลประโยชน์ต่าง ๆ ในบริษัทดีอาร์ซี ต้องแบ่งเป็น 10 ส่วน
เจ้าของตระกูลที่สองคือ เลอฮรัว (Leroy) ของเป็นผู้พ่อของนาย อองรี เลอฮรัว (Henri Leroy) เขามีลูกสาว 2 คน คนโตชื่อ พอลีน โฮรช เลอฮรัว (Pauline Roch Leroy) คนเล็กชื่อ ลาลู บิซ เลอฮรัว (Lalou Bize-Leroy) ซึ่งคนเล็กนี่เองเป็นคนสนใจไวน์และที่มีพรสวรรค์ในด้านการชิมไวน์ เธอรับหน้าที่ต่อจากพ่อในการบริหารร่วม DRC ตั้งแต่ปี 1974 เป็นต้นมา ว่ากันว่าเธอเป็นหัวหอกในการกำหนดรสชาติของไวน์โฮรมาเน กงติ จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก หลังจากพ่อเสียชีวิต หุ้นใน DRC ก็ตกอยู่กับ2 สาวพี่น้อง ขณะที่ของตระกูลเดอ วิลแลงต้องแชร์กันถึง 10 คน
กิจการของ DRC จึงเป็นการถือหุ้นฝ่ายละ 50% ของ 2 ตระกูลคือ Villaine และ Leroy ดังกล่าว และก็มีปัญหาการบริหารจัดการกันมาโดยตลอด เพราะไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหุ้นมากกว่าใคร ขณะที่คนในตระกูลเดียวกันก็สามัคคีกันอย่างเหนียวแน่น ไม่มีใครแตกแถวหรือแทงข้างหลังกัน แม้จะมีการล็อบบี้ฝ่ายตรงกันข้ามมาโดยตลอดก็ตาม ตามตำรา...เลือดย่อมเข้มกว่าไวน์..
เป็นที่รู้กันดีว่าทั้งสองตระกูลมีการเหยียบตาปลากันมาโดยตลอด ทะเลาะกันอย่างไรก็ต้องมานั่งทำงานทนมองหน้ากัน เพียงแต่รอวันที่จะแตกหักเท่านั้นเอง อูแบรต์ เดอ วิลแลง (Aubert de Villaine) เป็นผู้อำนวยการบริษัท ดูแลด้านการตลาดจัดโควต้าโฮรมาเน กงติ ไปขายในโซนสหรัฐอเมริกากับอังกฤษเท่านั้น
ลาลู บิซ เลอฮรัว (Lalou Bize-Leroy) ผู้มีพรสวรรค์ด้านไวน์ชั้นเยี่ยม ในฐานะผู้อำนวยการบริษัทร่วม ดูแลด้านการตลาดจัดโควต้าโฮรมาเน กงติ ไปขายทั่วโลกยกเว้นสหรัฐอเมริกากับอังกฤษ ทั้งสองคนมีความขัดแย้งกันมาโดยตลอด โดยรวมคือความริษยา ฝ่ายชายทำไวน์ไม่เป็นแต่เก่งกาจด้านการตลาดขายไวน์เก่ง ฝ่ายหญิงเป็นคนที่ปรุงไวน์เก่งกาจ ชอบความผาดโผน ออกแนวบ้าบิ่น ไต่เขา ปีนหน้าผา แต่ด้อยเรื่องการตลาด
อีกอย่างหนึ่งคือการจัดสรรผลประโยชน์ภายในตระกูล ฝ่ายชายหาได้เท่าไรต้องแบ่งกันถึง 10 ส่วน ขณะที่ฝ่ายหญิงแบ่งกำไรกันเหนาะ ๆ เพียง 2 สาวพี่น้อง แน่นอนเป้าหมายใหญ่ของทั้ง 2 ตระกูลคือ..ต้องการเป็นผู้อำนวยการบริษัท... แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
ลาลู บิซ เลอฮรัว มีความกล้าได้กล้าเสีย โดยเธอนำส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งของทั้งหมดไปลงทุนตั้งบริษัทผลิตไวน์แห่งใหม่ ขณะที่พอลีน ผู้เป็นพี่สาวพยายามจะขอเงินที่เป็นส่วนแบ่งบ้าง กลับถูกน้องสาวดุแล้วบอกว่าควรจะลงทุนต่อยอดกิจการของตระกูล สร้างความขมขื่นกล้ำกลืนให้พี่สาวเป็นอย่างมาก แผลที่กลัดหนองนี้รอการระเบิดมาโดยตลอด
ไม่เพียงเท่านั้นการตั้งบริษัทผลิตไวน์แห่งใหม่ ยังสร้างความเจ็บแค้นให้กับตระกูลเดอ วิลแลงด้วย จึงมีการกล่าวหาโจมตีครอบครัวเลอฮรัวว่า มีความพยายามในการผลิตไวน์ตัวใหม่เพื่อแข่งกับโฮรมาเน กงติ ของ DRC ที่ฝ่ายหญิงก็เป็นผู้อำนวยการร่วมด้วย ที่สำคัญรสชาติของไวน์โฮรมาเน กงติ ซึ่งคอไวน์ทั่วโลกโหยหานั้นเกิดจากเสน่ห์ปลายจวักของฝ่ายหญิง...ลาลู บิซ เลอฮรัว
บริษัทไวน์แห่งใหม่ของลาลู บิซ เลอฮรัว มีชื่อว่า โดเมน เลอฮรัว (Domaine Leroy) ตั้งเป้าว่านอกจากจะเป็นคู่แข่งของ DRC แล้วยังเป็นคู่แค้นทางใจของตระกูลเดอ วิลแลง ด้วย ต่างฝ่ายต่างรอโอกาส ฝ่ายหญิงรอจังหวะสุกงอม รอว่าเมื่อไหร่ไวน์โดเมน เลอฮรัว จะมีราคาแซงโฮรมาเน กงติ ขณะที่ฝ่ายชายรอเวลาที่จะเฉดหัวลาลู บิซ เลอฮรัว ให้พ้นไปจาก DRC แล้วยึดกิจการไว้แต่เพียงผู้เดียว
พญาเสือกับนางสิงห์ ถึงวันแตกหัก ไวน์ขวดร้าวถึงคราวแตกเปรี้ยง ตระกูลเดอ วิลแลง ไปได้เสียงโหวตจากพอลีน โฮรช เลอฮรัว พี่สาวผู้เต็มไปด้วยความเคียดแค้นของลาลู บริซ เลอฮรัว ทำให้มีเสียงโหวตจาก 50-50 เป็น 75 – 25 นายอูแบรต์ เดอ วิลแลง จึงเรียกประชุมใหญ่ในทันที หลังจากองค์ประชุมครบ คำประกาศสำคัญจึงเกิดขึ้น
“ในฐานะที่มีคะแนนเสียงผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ ข้าพเจ้าของปรับเปลี่ยนการบริหารงานในบริษัท DRC ด้วยการให้ลาลู บิซ เลอฮรัว พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการร่วม ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป”
โลกบันทึกไว้ว่า ปี 1992 ลาลู บิซ เลอฮรัว ก้าวออกมาจาก DRC ปี 1988 โดเมน เลอฮรัว (Domaine Leroy) เกิดขึ้นอย่างเต็มตัว หลังทศวรรษที่ 1990s เป็นต้นมา Domaine Leroy ก้าวขึ้นสู่ระดับแนวหน้าไวน์เบอร์กันดีและของโลก
ที่แน่ ๆ ทั้ง โฮรมาเน กงติ (Romanee Conti) และ โดเมน เลอฮรัว (Domaine Leroy) เป็นไวน์ยอดปรารถนาของคอไวน์ทั่วโลก ที่จะได้ครอบครองเป็นเจ้าของ หรือแค่ได้ลิ้มลองแม้เพียงหยาดหยด..!!
ราคาสูงที่สุด (Higher Price) คุณภาพสูงที่สุด (Higher Quality) และน่าสนใจมากที่สุด (Higher Interest...
ยังคงเป็นคำนิยามที่อมตะตลอดกาล..