'มะยงชิด' VS 'มะปราง' ส่องแฝดคนละฝากับหน้าตา 'ผลไม้ไทย'
ว่าด้วยเรื่อง 'ผลไม้ไทย' ที่มีหน้าตาเหมือนกันยังกับฝาแฝด ชวนคุณมาดูว่ามีผลไม้ไทยชนิดไหนบ้างที่คนทั่วไปมักสับสน เช่น มะยงชิด กับ มะปราง, ลองกอง กับ ลางสาด, ขนุนกับจำปาดะ ฯลฯ
เข้าสู่เดือนเมษายนทีไร "ผลไม้ไทย" ประจำหน้าร้อนก็กลับมาฮอตฮิตกันอีกครั้ง นอกจากทุเรียนแล้วผลไม้อีกหนึ่งชนิดที่คนไทยนิยมรับประทานกันมากก็คือ 'มะปราง' ที่นำมารับประทานสดๆ นำไปเชื่อม หรือเป็นส่วนผสมของขนมต่างๆ ที่เห็นตามท้องตลาด ความหวานและความรู้สึกสดชื่นของมะปรางได้กลายเป็นขวัญใจของใครหลายคน
แต่มักมีเรื่องน่าสงสัยตามมาเสมอเมื่อไปหาซื้อผลไม้ไทยสุดโปรด โดยเฉพาะคนที่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องชนิดของผลไม้มากนัก (เชี่ยวชาญเฉพาะตอนกิน) ก็มักจะซื้อผิดซื้อถูก สับสนไปหมด นั่นก็เพราะว่าผลไม้ไทยมีหลายชนิดเลยที่รูปร่างหน้าตาเหมือนกันยังกับฝาแฝด
ยกตัวอย่างเช่น 'มะปราง' มีฝาแฝดคือ 'มะยงชิด' ด้วยรูปร่างหน้าตาคล้ายกันจนยากจะแยกออก บางคนชอบกิน 'มะยงชิด' ก็มักจะสับสนและอาจซื้อผิดไปคว้า 'มะปราง' กลับบ้านมาซะอย่างนั้น
และเพื่อเป็นการไขข้อสงสัยนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปทำความรู้จักและแยกความแตกต่างผลไม้ฝาแฝดให้กระจ่างและเลือกซื้ออย่างผู้เชี่ยวชาญกันดีกว่า
- มะปราง กับ มะยงชิด
มะปรางและมะยงชิด หากมองด้วยตาเปล่าแทบจะไม่เห็นความแตกต่าง เพราะเป็นพืชในกลุ่มเดียวกัน และยังเป็นผลไม้หน้าร้อนที่ได้รับความนิยมมากๆ ทั้งคู่ แต่ความแตกต่างจะดูได้ที่ขนาดเป็นหลัก ถ้าลองดูสังเกตให้ดีจะพบว่าส่วนใหญ่ มะปรางจะลูกเล็กกว่ามะยงชิด อีกทั้งสังเกตได้จากสีหลังจากที่ผลสุกเต็มที่ หากเป็นมะปรางหวานสีจะออกเหลืองนวลมากกว่ามะยงชิดที่ออกสีเหลืองอมส้ม
ตอนผลดิบมะปรางหวานจะมีรสมันสีออกเขียวซีดผลใส ขณะที่มะยงชิดจะมีรสเปรี้ยวและสีเขียวจัดในตอนผลดิบ เมื่อสุกแล้วมะปรางหวานจะให้รสชาติหวานหรือหวานจืด ด้านมะยงชิดจะออกรสหวานอมเปรี้ยว
ที่สำคัญ.. มะปรางหวานบางสายพันธุ์เมื่อทานแล้วจะระคายเคืองในคอเพราะมียาง แต่มะยงชิดไม่มียาง จึงทานได้อร่อยไม่รู้สึกระคายเคืองคอ
- ลองกอง กับ ลางสาด
ตามท้องตลาดทั่วไปจะเห็นได้ว่า "ลองกอง" แพงกว่า "ลางสาด" เพราะคนส่วนใหญ่นิยมลองกองกันมากกว่า โดยความแตกต่างที่ทำให้คนนิยมลองกองมากว่าเพราะ ลองกองมีรสหวาน เนื้อลางสาดมีรสหวานอมเปรี้ยวกว่า ลางสาดแกะรับประทานได้ยาก เปลือกล่อนได้ไม่ดี ส่วนลองกองแกะรับประทานได้ง่าย เปลือกล่อนออกจากเนื้อได้ดี
นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างทางกายภาพอีกคือ หากเป็น ลางสาด รูปร่างของผลจะมีลักษณะออกกลมรี เปลืองบาง ผิวละเอียด สีเปลือกสีเหลืองสดใส ตรงกลางเปลืองมียางสีขาวขุ่น ผลกลมเรียบไม่มีจุก มีเมล็ดมาก (ประมาณ 5 เมล็ด) และเมล็ดมีรสขมมาก
แต่ถ้าเป็น ลองกอง ผลจะค่อนข้างกลม เปลือกจะค่อนข้างหนาผิวจะหยาบเล็กน้อย เปลืองเป็นสีเหลืองซีด ไม่มียาง ผลมีจุก มีเมล็ดน้อยหรือไม่มีเลย เมล็ดจะไม่ขม
สรุปได้ว่า.. ลางสาดหวานน้อยกว่าลองกองเมื่อสุก เนื้อลางสาดจะฉ่ำน้ำ ส่วนเนื้อของลองกองจะแห้งและขาวใสเป็นแก้ว อีกทั้งลางสาดมักจะมีเนื้อน้อยกว่าลองกองนั่นเอง
- สละ กับ ระกำ
ความแตกต่างของสละและระกำดูง่ายๆ ที่รูปร่างของผล สีเปลือก และสีเนื้อใน
หากเป็น ระกำ รูปรางของผลจะดูกลมป้อม ในหนึ่งผลจะมีเนื้ออัดแน่น 2-3 กลีบ ทำให้ผลอ้วนกลม ส่วนสีเปลือกของระกำจะมีเปลือกสีแดงสด แถมยังมีหนามตั้งแต่รอบผลไปจนถึงลำต้นเลยทีเดียว ต่อมาให้ดูที่ เนื้อระกำ จะเห็นว่ามีสีเหลืองอมส้มสดใส เนื้ออ่อนบางฉ่ำน้ำ และมีเมล็ดขนาดใหญ่กว่าสละ
แต่สำหรับ สละ นั้นรูปร่างผลจะเรียวยาว หากเป็นสละแท้ ในสละหนึ่งผลจะมีเนื้อเพียงกลีบเดียวเท่านั้น แม้ในปัจจุบันนี้จะมีสละที่มีเนื้อ 2-3 กลีบจากการผสมข้ามพันธุ์ แต่ลักษณะของผลโดยรวมก็ยังเรียวยาวกว่าสละอยู่ดี
ส่วนสีเปลือกของสละนั้น ถึงแม้ว่าลูกอมกลิ่นสละไซเดอร์ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีจะเป็นสีแดงสดใส แต่สีเปลือกจริงๆ ของสละเป็นสีแดงซีดอมน้ำตาล มีลักษณะเป็นเกล็ดซ้อนทับกันและมีหนาม
ต่อมาดูที่เนื้อสละ จะเห็นว่ามีสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมโดดเด่นเฉพาะตัวจนกระทั่งคนหยิบยืมไปสร้างเป็นกลิ่น “สละไซเดอร์” ใส่ในอาหารมากมาย เช่น ลูกอม น้ำหวาน ไวน์ เป็นต้น
สละและระกำมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายคล้ายกัน เช่น แก้กระหายน้ำ บรรเทาอาการไอ ช่วยย่อยอาหาร บำรุงรักษาสายตา กระตุ้นความอยากอาหาร เป็นต้น ส่วนทางด้านรสชาติ หากใครชอบกินของเปรี้ยวจี๊ดโดนใจ มักจะเป็นสาวกระกำเพราะนำไปทำยำ ดอง ปรุงรสอาหารจำพวกข้าวยำ ต้มส้ม ต้มยำ น้ำพริก หรืออาหารใต้ก็แซ่บซี้ดถึงรสได้เช่นกัน
- จำปาดะ กับ ขนุน
ถึงแม้รูปร่างหน้าตาจะเมือนกันแต่ "จำปาดะ" กับ "ขนุน" คือผลไม้คนละสายพันธุ์ วิธีสังเกตที่เห็นได้ชัดคือ จำปาดะผิวของผลจะเรียบกว่าขนุน ส่วนผิวขนุนจะมีหนามเล็กน้อย และยังมีข้อแตกต่างของจำปาดะอื่นๆ อีก ได้แก่
สำหรับจำปาดะจะมีขนาดผลเล็กกว่าขนุน ลักษณะของเปลือก เปลือกนอกเมื่อสุกจะไม่สวยเหมือนขนุน เปลือกจะบางและปอกง่ายกว่าขนุน และไม่มียวงใยเหนียวหนืดเป็นยางมาคั่นระหว่างเมล็ด เนื้อจะนิ่มเละ ไม่แข็งกรอบ เนื้อจะเหนียวเคี้ยวไม่ค่อยขาด ไม่เหมือนขนุนที่เคี้ยวง่าย รสชาติจะมีรสหวานจัด มีน้ำเยอะ รสชาติหวานกว่าขนุน กลิ่นจะแรงกว่าขนุน
แต่ถ้าเป็น ขนุน ส่วนใหญ่จะสังเกตเห็นว่ามีผลขนาดใหญ่ เปลือกหนาและผิวของผลเต็มไปด้วยมีหนามเรียงกันชัดเจน ปอกยากกว่าจำปาดะ เพราะมักจะมียวงใยเหนียวหนืดเป็นยาง เนื้อแข็งกรอบ ไม่ฉ่ำน้ำ เคี้ยวง่าย แต่กลิ่นจะหอมน้อยกว่าจำปาดะ
รู้อย่างนี้แล้ว คราวหน้าเวลาไปหาซื้อ "ผลไม้ไทย" ที่มีหน้าตาคล้ายกันมากๆ ก็จะได้ดูว่าชนิดไหนเป็นชนิดไหนกันแน่ ช่วยแก้ความสับสนไปได้เยอะเลยใช่มั้ยล่ะ?