'สงกรานต์' 2564 กับ 3 วันสำคัญช่วงปีใหม่ไทย 13-14-15 เม.ย. คือวันอะไรบ้าง?
ชวนรู้ชัดๆ ว่าวันสำคัญในช่วงเทศกาล "สงกรานต์" อย่างวันมหาสงกรานต์ วันผู้สูงอายุ วันครอบครัว วันเถลิงศก มาดูกันว่าในระหว่างวันที่ 13-14-15 เมษายน 2564 วันสำคัญเหล่านั้นตรงกับวันไหนกันแน่?
หลังจากที่รัฐบาลประกาศให้ "สงกรานต์" ปีนี้มี "วันหยุดยาว" ยาวนานถึง 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 10-15 เม.ย. 2564 ทำให้คนไทยเดินทางกลับภูมิลำเนากันอย่างคึกคัก แต่ยังคงต้องใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่เช่นเดิมเหมือนปีที่แล้ว และมีประกาศ งดเล่นสาดน้ำสงกรานต์ แต่ยังคงให้เดินทางข้ามจังหวัด รดน้ำดำหัว และสรงน้ำพระได้ตามประเพณี
โดยเฉพาะวันนี้ 13 เม.ย.64 เป็นหนึ่งในวันสำคัญช่วง "สงกรานต์ 2564" ที่หลายคนอาจหลงลืมไป หรือไม่ก็ยังสับสนว่าระหว่างวันมหาสงกรานต์ วันผู้สูงอายุ วันครอบครัว และวันเถลิงศก ตรงกับวันที่เท่าไหร่กันแน่? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สรุปข้อมูลมาให้รู้กันดังนี้
- "สงกรานต์" เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่?
วันสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤตว่า “สํ-กรานต” ซึ่งแปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือย้ายขึ้น มีนัยยะหมายถึงการเข้าสู่ศักราชราศีใหม่หรือวันขึ้นปีใหม่นั้นเอง โดยเทศกาล “สงกรานต์” นั้นเป็นประเพณีที่มีความเก่าแก่และถูกสืบทอดกันมานานตั้งแต่โบราณ ในยุคแรกๆ คนไทยโบราณจะถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งจะตรงในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ให้เป็นวันขึ้นปีใหม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- เปิดที่มา 'นางสงกรานต์' 2564 'รากษสเทวี' เผยคำทำนายว่าอะไร?
- อัพเดท! ‘สงกรานต์ 2564’ ส่องพิกัดจังหวัดไหนจัดงานบ้าง?
- 'สงกรานต์ 2564' เปิดขั้นตอน 'สรงน้ำพระ' ที่บ้าน ไม่เสี่ยงโควิด
- ฟังทุกปี ‘สงกรานต์’ กับเพลงสุนทราภรณ์ยอดฮิต คลาสสิกตลอดกาล
แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนมากำหนดใหม่ โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ผ่านมาจนถึงยุคสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2483) ได้เปลี่ยนวันปีใหม่ให้เป็นวันสากล คือ วันที่ 1 มกราคม แต่ถึงอย่างไร คนโบราณก็ยังคงคุ้นเคยกับวันปีใหม่ไทยในเดือนเมษายน จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยหรือวัน “สงกรานต์” ร่วมด้วย โดยมีวันสำคัญต่างๆ ที่พ่วงมาด้วยในช่วงวันที่ 13-14-15 เมษายน คือ วันมหาสงกรานต์พ่วงวันผู้สูงอายุ วันครอบครัว และวันเถลิงศก
โดยมีกิจกรรมฉลองปีใหม่มากมาย ซึ่งก็แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นแต่ละภูมิภาค แต่กิจกรรมหลักๆ ที่คล้ายกันทุกภูมิภาค ได้แก่
1. ทำบุญตักบาตร ในวันมหาสงกรานต์
ประชาชนจะลุกขึ้นมาแต่เช้ามืดมาปรุงและจัดเตรียมสำรับอาหาร เพื่อนำไปตักบาตรถวายพระ พอจัดเตรียมอาหารเสร็จก็จะบรรจงลงภาชนะอย่างพิถีพิถัน เรียงลงในถาด เพื่อนำไปทำบุญตักบาตรและเลี้ยงพระประจำหมู่บ้านของตน แต่ละคนจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สวยงาม สะอาด เรียบร้อยมิดชิดเหมาะแก่การไปทำบุญที่วัด
2. สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
อีกหนึ่งกิจกรรมที่คนไทยปฏิบัติสืบตือกันมาก็คือ การสรงน้ำพระ และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ส่วนการเล่นสาดน้ำนั้น ปีนี้ทางการมีคำสั่งงดเล่นสาดน้ำสงกรานต์ทั่วประเทศ! แต่ยังสามารถสรงน้ำพระที่บ้านได้ โดยตามความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับการ "สรงน้ำพระพุทธรูป" นั้น จะต้องเตรียมดอกไม้ ธูปเทียน ไปบูชาพระที่หิ้งพระที่บ้าน แล้วเอาน้ำอบไปประพรมที่องค์พระ ส่วนการ "รดน้ำญาติผู้ใหญ่" เป็นการไหว้แสดงความกตัญญู ขอขมา และเป็นการขอพรตามประเพณี
3. ก่อพระเจดีย์ทราย ขนทรายเข้าวัด
ในสมัยก่อนมีความเชื่อกันว่าหลังจากที่เรามาทำบุญที่วัดแล้วแล้วเวลาเดินออกจากวัดจะมีเม็ดทรายติดเท้าออกไปด้วย ถือเป็นการเอาของๆ วัดออกไปด้วย ต้องเอามาคืน ดังนั้นจึงเกิดประเพณี "การขนทรายเข้าวัด" และ "การก่อพระเจดีย์ทราย" ถือเป็นกุศโลบายเพื่อสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน
อ่านเพิ่มเติม : ฉลอง ‘สงกรานต์’ ยังไงในช่วง ‘โควิด-19’ รวมไอเดียมาให้แล้วที่นี่!
- 13 เมษายน เป็นวันผู้สูงอายุและวันมหาสงกรานต์
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าเทศกาล "สงกรานต์" มาพร้อมกับวันสำคัญ 3 วัน ปัจจุบันปฏิทินไทยกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี และนับเป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตามการประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการ จะคำนวณตามหลักเกณฑ์ใน “คัมภีร์สุริยยาตร์” ซึ่งในทางโหราศาสตร์ใช้กันมาแต่โบราณมา
โดยกำหนดให้วันแรกของเทศกาลเป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีน เข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” วันถัดมาเรียกว่า “วันเนา” และวันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนศักราชสู่วันปีใหม่ เรียกว่า “วันเถลิงศก”
อีกทั้ง วันที่ 13 เมษายน ยังถือเป็นวันผู้สูงอายุ ด้วย โดยรัฐบาลกำหนดให้วันที่ 13 เมษายนเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นบุพการี ผู้อาวุโสหรือผู้ใหญ่ในชุมชนที่เคยทำคุณประโยชน์แก่สังคมมาแล้ว
สำหรับที่มาของ "วันผู้สูงอายุ" นั้นเริ่มต้นขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นได้มีการกำหนดนโยบายที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข โดยได้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราขึ้นในปี 2496 เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่เดือดร้อน ประสบปัญหาในการทำมาหากินและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
ต่อมาในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็มีการสานต่อความสำคัญของ "วันผู้สูงอายุ" โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุ และได้เลือก "ดอกลำดวน" เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน
- วันที่ 14 เมษายน เป็นวันครอบครัว
ถัดมาอีกหนึ่งวันก็คือ วันที่ 14 เมษายน รัฐบาลกำหนดให้เป็น “วันครอบครัว” ของทุกปี เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของสถาบันครอบครัว และใช้เวลาว่างในวันหยุดยาวช่วงเทศกาล "สงกรานต์" ให้สมาชิกในครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว อีกทั้งช่วงเทศกาลสงกรานต์ถือเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อรวมญาติ พบปะครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว รดน้ำดำหัวขอพรผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล ความอบอุ่น และความสุขของครอบครัวตามประเพณีไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา
สำหรับที่มาของ “วันครอบครัว” นั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เสนอมติโดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยและอนุมัติให้ วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก
- 15 เมษายน วันขึ้นปีใหม่ไทย “วันเถลิงศก”
ส่วนวันที่ 15 เมษายน จะเรียกว่าเป็น “วันเถลิงศก” ถือว่าเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่ หรือวันปีใหม่ไทยที่นับตามแบบสมัยโบราณนั่นเอง ส่วนใหญ่คนไทยจะนิยมไปเที่ยวกับครอบครัว หรือฉลองปีใหม่กันที่บ้านด้วยการทำกับข้าว กินข้าวมื้อใหญ่ร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตา และมีเคล็ดว่าทุกคนต้องสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ หรือมีของใช้ส่วนตัวชิ้นใหม่ๆ อย่างน้อย 1 ชิ้น เพื่อเป็นการเสริมสิริมงคลต้อนรับปีใหม่นั่นเอง
--------------------
อ้างอิง: