รู้จัก 'ธนาคารออมสิน' คลังออมเงินของคนไทยตั้งแต่สมัย ร.6
ชวนรู้ที่มา 'ธนาคารออมสิน' ธนาคารเก่าแก่ของประเทศไทยเพื่อคนไทย ที่มีต้นกำเนิดมาจากคลังออมสิน ณ กรมพระคลังมหาสมบัติ รวมถึงพาไปดูมาตรการช่วยเหลือคนไทยในยุคต่างๆ เช่น สินเชื่อประชารัฐ, สินเชื่อแก้ไขหนี้ครู, สินเชื่อฉุกเฉินในยุค "โควิด-19"
"ธนาคารออมสิน" เป็นหนึ่งในธนาคารที่ออกมาตรการช่วยเหลือพี่น้องคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ "โควิด-19" โดยเฉพาะมาตรการที่กำลังมาแรงในขณะนี้อย่างการ "กู้เงินฉุกเฉิน" ถือเป็นการช่วยเหลืออีกทางที่คนไทยกำลังต้องการอย่างมาก
แม้ว่าระบบออนไลน์ที่เปิดให้ประชาชนลงทะเบียน และยื่นกู้สินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อช่วยคนไทยผ่านทาง www.gsb.or.th ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน เป็นต้นมานั้นจะมีอาการหน่วง หน้าเว็บขึ้นช้า หรือเว็บล่มไปบ้าง แต่ "ธนาคารออมสิน" ก็พยายามแก้สถานการณ์ให้รวดเร็วที่สุดเพราะความเดือดร้อนเรื่องปากท้อง รอไม่ได้จริงๆ สำหรับใครที่อยากลงทะเบียนเพื่อ "กู้เงินฉุกเฉิน" ก็เข้ามาอ่านข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการลงทะเบียนได้ที่ลิงก์ข้างล่างนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- 'ออมสิน' เปลี่ยนลิงก์ลงทะเบียน! 'www.gsb.or.th' ยื่นกู้ฉุกเฉินวันที่สอง!
- อัพเดท! 'ออมสิน' ขั้นตอนลงทะเบียน ขอสินเชื่อสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ 10,000 บาท
- รวมครบ! 'ออมสิน' ออกมาตรการ ช่วยอะไรคนไทยบ้าง
นอกจากนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปรู้จักที่มาของ "ธนาคารออมสิน" กันให้มากขึ้นผ่าน 7 เรื่องราวที่น่าสนใจ รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับต้นกำเนิดของธนาคารแห่งนี้ที่บางอย่างคุณอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน
1. "แบงค์ลีฟอเทีย" ต้นแบบ "ธนาคารออมสิน"
จากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการเก็บรักษาทรัพย์ให้ปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย ด้วยพระราชปณิธานที่จะให้คลังออมสินเป็นที่เก็บรักษาทรัพย์สินอย่างปลอดภัย และฝึกฝนให้ราษฎรรู้จักเก็บออมทรัพย์อย่างถูกวิธี พระองค์จึงทรงริเริ่มจัดตั้งคลังออมสินแบบทดลองขึ้น
โดยทรงพระราชทานนามแบงก์ว่า “ลีฟอเทีย” ในปี พ.ศ. 2450 เพื่อเป็นต้นแบบของการธนาคาร พระองค์ทรงใช้ศึกษาและสำรวจนิสัยคนไทยในการออมเบื้องต้น พระองค์ทรงเข้าใจในราษฎรของพระองค์และทรงทราบดีว่าควรใช้กุศโลบายใดอันจะจูงใจคนไทยให้มองเห็นความสำคัญของการออม
คลังออมสินแห่งแรก ณ กรมพระคลังมหาสมบัติ
2. ที่มาของชื่อแบงก์ "ลีฟอเทีย"
จากนั้นแบงก์ "ลีฟอเทีย" ก็ถือเป็นปฐมเหตุแห่งการออม โดยมีที่มาของการตั้งชื่อในครั้งนี้มาจากการนำคำ 3 คำ มารวมกัน ได้แก่
- ลี แปลว่า ใหญ่ ใช้สื่อความหมายถึง รัชกาลที่ 6 เนื่องจากในขณะนั้น พระองค์ทรงดำรงอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ซึ่งเป็นประธานกรรมการหรือ เจ้าของแบงค์ (คนที่ใหญ่ที่สุดในแบงก์)
- ฟอ หมายถึง เฟื้อ ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นพลเอกเจ้าพระยารามราฆพ เป็นกรรมการผู้จัดการ
- เทีย หมายถึง เทียบ เทียบ อัศวรักษ์ เป็นพระยาคธาธรบดี เป็นกรรมการ การดำเนินกิจการของแบงค์ในระยะเริ่มต้น มีเจ้าหน้าที่เสมียน 1 คน คอยดูแลบัญชีเอกสาร
3. "ธนาคารออมสิน" ธนาคารรุ่นคุณทวด 107 ปี
คลังออมสิน หรือ "ธนาคารออมสิน" ในสมัยแรกเริ่มได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 โดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการเก็บรักษาทรัพย์ให้ปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย อย่างที่บอกไปข้างต้น ซึ่งคลังออมสินก็ได้คงไว้ซึ่งปณิธานนี้ และยืนหยัดในการทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเสมอมา
4. จากคลังออมสินสู่ "ธนาคารออมสิน" ในสมัย ร.9
ในปี พ.ศ. 2489 ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ยกฐานะคลังออมสินขึ้นเป็นธนาคารออมสิน โดยทรงตราพระราชบัญญัติธนาคารออมสินขึ้นเพื่อรองรับกับความก้าวหน้าของกิจการคลังออมสิน และเปิดดำเนินการในรูปแบบธนาคารตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2490 เป็นต้นไป
และในปี พ.ศ. 2509 ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และเปิดอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารออมสิน ถนนพหลโยธิน ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ยังความปลาบปลื้มปิติยินดีแก่พนักงานธนาคารออมสินทุกผู้ทุกคน ให้มีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่สืบมาจนถึงปัจจุบัน
5. ความหมายดวงตรา "ธนาคารออมสิน"
สำหรับดวงตราสัญลักษณ์ของ "ธนาคารออมสิน" นั้น ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปโล่ไทย หมายถึงเครื่องป้องกันปวงภัยภิบัติทั้งผองที่จะนำมาสู่ทรัพย์สินของประชาชน และถูกแบ่งออกเป็น 3 ช่อง แต่ละช่องมีความหมาย ดังนี้
- ช่องบนด้านซ้ายมีรูปวัชระ หมายถึง เครื่องหมายประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิรวุธ พระมงกุฎเกล้าพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
- ช่องบนด้านขวามีรูปฉัตร หมายถึง เครื่องหมายประจำพระองค์พระเจ้าบรมงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
- ช่องกึ่งกลางมีรูปต้นไทร หมายถึง ความร่มเย็น ความมั่นคง และความเจริญงอกงามตลอดกาลนาน
6. "ธนาคารออมสิน" ธนาคารไทยเพื่อคนไทย
นอกจากการทำหน้าที่สถาบันการเงินเพื่อการออมของประเทศแล้ว "ธนาคารออมสิน" ยังมุ่งมั่นในการทำหน้าที่สืบสานสร้างสรรค์พัฒนาสังคมในทุกด้านเพื่อสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้พี่น้องคนไทย ที่ผ่านมา.. "ธนาคารออมสิน" ได้เป็นเสาหลักสำคัญของรัฐบาลในการผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในหลากหลายโครงการ
ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน / สินเชื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา / บ้านประชารัฐ /การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาอาชีพและสร้างความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบการรายย่อยฯ / National e-Payment / มาตรการประชารัฐเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน (พักชำระหนี้) / มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับหมู่บ้าน /โครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและเบ็ดเสร็จ
ล่าสุด.. กับสถานการณ์วิกฤติ "โควิด-19" ที่สร้างความเดือดร้อนเรื่องปากท้องให้กับคนไทยทั่วทุกพื้นที่ "ธนาคารออมสิน" ก็ได้ออกมาตรการ "เงินกู้ฉุกเฉิน" มาช่วยเหลือพี่น้องคนไทยให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน
อ่านเพิ่มเติม : ‘ออมสิน’ เปิด ‘www.gsb.or.th’ ลงทะเบียนสินเชื่อฉุกเฉินแล้ว อ่านรายละเอียดที่นี่!
7. ชวนชมพิพิธภัณฑ์ "ธนาคารออมสิน"
เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 6 ผู้ให้กำเนิด "ธนาคารออมสิน" และพระคุณของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในอดีตที่ได้ดำเนินตามพระราโชบายให้กิจการ "ธนาคารออมสิน" เจริญก้าวหน้าเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของวิวัฒนาการความเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับธนาคาร
ธนาคารออมสินจึงเก็บรวบรวมสิ่งที่ทรงคุณค่าซึ่งสะท้อนประวัติ ความเป็นมาของธนาคารนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของการประกอบธุรกิจ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ในการประกอบการ ตลอดทั้งเอกสารสำคัญโดยจัดแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑ์ ธนาคารออมสิน ให้คนไทยได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคลังออมสินไทย
โดย พิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสิน ได้ถูกจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2533 ในสมัยของ ม.ร.ว. จันทรแรมศิริโชค จันทรทัต เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน จนแล้วเสร็จและ เปิดบริการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2535 โดยนายวิบูลย์ อังสนันท์ ผู้อำนวยการธนาคาร ออมสินในสมัยนั้น เป็นประธานในพิธีเปิด พิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสิน ตั้งอยู่ชั้น 7 อาคาร 72 ปี ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมในเวลาทำการปกติ และในโอกาสพิเศษต่างๆ
-------------------
อ้างอิง:
https://www.gsb.or.th/about-us/history-bank.aspx
https://www.gsb.or.th/about-us/bank-museum/%E0%B8%A7%E0%B8%A7%E0%B8%
https://www.gsb.or.th/Blogs/Financial/gsb104.aspx?lang=en-US
https://www.gsb.or.th/about-us/bank-museum/%E0%B8%A7%E0%B8%A7%E0%B8%92%E0%B8%99%
https://www.gsb.or.th/about-us/bank-museum/%E0%B8%9E%E0%B8%9E%E0%B8%98%E0%B8%A0%