‘พุทธคยา’ ในวันที่ 'โควิด-19' มาเยือน
ไม่เพียงแต่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก "โควิด-19" หนึ่งในศาสนสถานสำคัญระดับโลก เช่นที่ "พุทธคยา" ประเทศอินเดีย ก็มีความเปลี่ยนแปลงมาเยือนเช่นกัน
พุทธคยา 1 ในสังเวชนียสถานทั้ง 4 ณ ประเทศอินเดีย ซึ่งชาวพุทธทั่วโลกปรารถนาไปสักการะเพื่อแสวงบุญสักครั้งในชีวิต แต่ละปีพุทธคยามีผู้ไปเยือนมากกว่าล้านคน ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนิกชน หรือนักท่องเที่ยวผู้สนใจสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อันเป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนาก็ตาม
ศาสนสถานสำคัญสูงสุดของพุทธคยา คือพระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ณ จุดที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ใต้ต้นโพธิ์ ริมแม่น้ำเนรัญชรา (ซึ่งแห้งเหือดไปนานแล้ว) นั้นขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ด้วยความสำคัญและความเก่าแก่เกือบ 2,600 ปี
- เมื่อโควิดมาเยือนในช่วง High Season
ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการไปสังเวชนียสถานที่สุดคือหลังเดือนกันยายน - ก่อนเมษายน เพื่อหลีกเลี่ยงจากอากาศที่ไม่พึงปรารถนาของอินเดีย ทั้งฝนกระหน่ำในหน้าฝน และไม่ต้องผจญกับอากาศร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายน ส่วนมากชาวไทยมักนิยมไปช่วงปลายปีจนถึงเดือนมีนาคม
และนั่นแหละ คือช่วงที่โควิด-19 กำลังเผยโฉมออกอาละวาด
รายงานจำนวนนักท่องเที่ยวของรัฐพิหาร (Bihar) ซึ่งพุทธคยาตั้งอยู่นั้น เฉพาะที่พุทธคยามีนักท่องเที่ยวเดินทางมากนับล้านต่อปี
- ปี 2017 มีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศรวมกันราว 2.04 ล้านคนต่อปี โดยมากกว่าค่อนเป็นนักเดินทางในประเทศอินเดียเอง เดือนที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุดคือเดือนมกราคมอยู่ที่ราว 3 แสน 5 พันคน
- ปี 2018 มีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศรวมกันราว 1.71 ล้านคนต่อปี โดยมากกว่าครึ่งเป็นนักเดินทางในประเทศอินเดียเอง เดือนที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุดคือเดือนมกราคมอยู่ที่ราว 2 แสน 9 พันคน
- ส่วนปี 2019 มีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศรวมกันราว 1.62 ล้านคนต่อปี เดือนที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุดคือเดือนมกราคมเช่นกันอยู่ที่ราว 2 แสนคน
แม้ดูเหมือนนักท่องเที่ยวจะลดลง (อาจด้วยสภาพเศรษฐกิจ) แต่ก็นับว่าเพิ่มขึ้นมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากปี 2009 นักท่องเที่ยวไปเยือนพุทธคยาปีละ 9 แสนกว่าคน แล้วเพิ่มขึ้นบวกลบในจำนวนนี้ไม่ต่างกันมาก
สำหรับปี 2020 ซึ่งยังไม่มีการรายงานจำนวนนักท่องเที่ยวรวมออกมา แต่ในเดือนมีนาคมที่ทั่วโลกตระหนักรู้และออกมาตรการเกี่ยวกับการล็อกดาวน์เมือง ไปจนถึงประเทศ รวมถึงอินเดีย ทำให้ศาสนสถานทุกแห่งในอินเดียมีมาตรการเข้มงวดสำหรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวและผู้มีศรัทธา
ยิ่งหลังจากในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 มีชาวพุทธผู้แสวงบุญคณะหนึ่งราว 20 กว่าคนจากเมียนมา มาเยือนพุทธคยา และมีหนึ่งในสมาชิกผู้เดินทางเกิดอาการไข้สูงเมื่อกลับประเทศไป แม้ผลตรวจโควิด-19 ของชายผู้นั้นจะเป็นลบ แต่ข่าวนี้ก็ทำให้เกิดมาตรการยิ่งเข้มงวดขึ้นมาทันที
วัดเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ปิดห้ามนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ซึ่งมักเป็นชาวจีน เวียดนาม เมียนมา และไทย
แม้ยังให้คนในพื้นที่ได้เข้าสักการะบ้าง แต่งดกิจกรรมถวายผ้าจีวรที่ต้นพระศรีมาหาโพธิ์ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้มีศรัทธา รวมถึงการทำความสะอาดและปิดทองที่ยอดโดมเจดีย์โดยคณะผู้เชี่ยวชาญจากเมืองไทย ก็ต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด งดกิจกรรมใดๆ อันจะนำมาซึ่งการรวมกลุ่มคนโดยสิ้นเชิง มีจุดตรวจเคร่งครัด และย้ำเรื่องการเว้นระยะห่างระหว่างกัน 1 เมตร ดังเช่นสถานที่สาธารณะในเมืองใหญ่ทั่วโลกกำลังทำอยู่
- ความเงียบสงบบอกอะไรเราบ้าง
จากภาพถ่ายของพระภิกษุ แห่งวัดไทยพุทธคยาในช่วงเวลาระบาดของโรคโควิด-19 บริเวณโดยรอบลานพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งมักจะเต็มไปด้วยผู้คนมาเยือนตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด หรือพุทธศาสนานิกายไหน ผู้เขียนเคยเห็นภิกษุรูปหนึ่งจาริกมายังเจดีย์ศรีมหาโพธิ์โดยการทำอัษฎางคประดิษฐ์ (คือการไหว้โดยยืนขึ้นแล้วจรดให้ 8 จุดของร่างกายแตะพื้น) มาตลอดทาง ในขณะที่เรานั่งรถบัสและเดินเท้าไปเยือนพระเจดีย์ ไกด์บอกว่า มีภิกษุที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธาเช่นนี้ เดินทางด้วยอัษฎางคประดิษฐ์มาจากเนปาลไม่น้อยทุกปี ไม่ต่างจากการบำเพ็ญทุกรกิริยา ซึ่งเราได้แต่อนุโมทนาในความศรัทธาของท่าน ภาพแบบนั้นคงไม่ได้เห็นที่พุทธคยาไปอีกพักใหญ่
ในปี 2014 สำนักข่าว Business Standard เคยรายงานว่าในบรรดาศาสนสถานหลายแสนแห่งทั่วประเทศอินเดีย วัดเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ (Mahabodhi Temple) จัดว่ามีรายได้มากที่สุด จากทั้งค่าเข้าชม กล่องบริจาค การบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา รวมถึงบริการเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม และพิธีกรรมศาสนารวมถึง 1 พัน 60 ล้านรูปี
ไม่เพียงเท่านั้น พุทธคยาก็เลี้ยงชุมชนโดยรอบด้วยสินค้าที่ระลึก และเด็กๆ ยากจนในพื้นที่ ซึ่งแย่งกันเก็บใบโพธิ์ ไม่ว่าจะจากต้นหลัก (ซึ่งแตกหน่อมาจากต้นเดิมที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้ มาเป็นรุ่นที่ 5 แล้ว) หรือต้นโพธิ์โดยรอบอีก 8 ต้น นำมาวาดภาพพระพุทธเจ้าพร้อมอัดพลาสติกขาย ใบละกี่รูปีแล้วแต่เด็กๆ จะบอกราคา หรือนักท่องเที่ยวจะยินยอมให้ (จึงเป็นการยากยิ่งที่เราจะได้ใบโพธิ์ร่วงหล่นมาจากต้นรุ่นที่ 5 สัก 1 ใบ)
ความว่างเปล่าปราศจากผู้คนในศาสนสถานนำมาซึ่งความสงบทางใจต่อผู้พบเห็น แม้ไม่ได้ไปอยู่ ณ ที่นั้นก็ตาม แต่พอจะนึกถึงเสียงใบโพธิ์ไหวกระทบกันยามที่ลมพัดมาได้ ธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างอันเกิดจากศรัทธากว่าพันปี ทำให้พุทธศาสนิกชนอยากกำหนดจิตปฏิบัติธรรม ณ สถานที่จริง แต่คงเป็นไปได้ยากในช่วงเวลานี้
อีกด้านของความเงียบงัน 'อินเดีย' คือประเทศแห่งต้นกำเนิดของศาสนาและนิกายมากมายของโลก แม้สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจะไม่ได้เป็นตัวแทนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย แต่ก็สำคัญมากพอที่จะสะท้อนถึงความเงียบสงัดแห่งศรัทธาสถานในที่ต่างๆ ทั่วอินเดีย และทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระเพื่อมไปรอบข้างสะเทือนไปพร้อมๆ กัน
เป็นความสงบงันที่ชวนให้สั่นไหว และตระหนักถึงกฎแห่งไตรลักษณ์จริงๆ
- - -