เจาะลึกเรื่องราว ‘น้ำแร่’ แหล่งน้ำบาดาลใต้ดินที่กินได้
ตอบข้อสงสัยต้นกำเนิด "น้ำแร่" มาจากแหล่งใด แล้วน้ำบาดาลสามารถนำมาทำเป็นน้ำแร่ธรรมชาติเพื่อบริโภคได้หรือไม่ และหากต้องการจะผลิตเพื่อขายจะต้องรู้อะไร?
หนึ่งในข้อสงสัยที่อยากรู้มานาน “น้ำแร่” ที่ดื่มกันอยู่ทุกวันนี้มีแหล่งที่มาจากไหน เพราะหากในปัจจุบันตลาดน้ำแร่ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ เพียงไม่กี่ราย ได้แก่ มิเนเร่ ออร่า มองเฟลอร์ และเพอร์ร่า ที่มีมูลค่าตลาดในปี 2562 ราว 4,000 ล้านบาท ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็บอกว่ามาจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
และเมื่อเร็วๆ นี้ เพจไทยคู่ฟ้า ได้โพสต์ถึงการที่รัฐเร่งก่อสร้างจุดจ่ายน้ำแร่ดื่มได้ฟรี 25 จุด ตามถนนสายหลักทั่วประเทศ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยมีการระบุอีกว่า "น้ำแร่นี้ได้จากการสูบบ่อน้ำบาดาล" และผ่านระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยวิธี Reverse Osmosis (RO)
จึงเกิดข้อสงสัยว่าจริงๆ แล้ว น้ำแร่มีแหล่งกำเนิดจากที่ไหน แหล่งน้ำบาดาลก็มีน้ำแร่หรือ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะพามาทำความรู้จักน้ำแร่ ที่มา และขั้นตอนของการตรวจสอบ
- น้ำแร่ คือ อะไร?
ก่อนอื่นขอต้องอธิบายความหมายของ "น้ำแร่" เพื่อให้เข้าใจตรงกันก่อน โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขอธิบายไว้ว่า น้ำแร่ธรรมชาติ คือ น้ำที่ถูกกักไว้ในช่องว่างระหว่างชั้นหิน ชั้นดิน กรวด ทราย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่เหลือจากการที่ดินดูดอมไว้จากน้ำในดิน แล้วไหลซึมลึดต่อไปเป็นช่วงๆ สุดท้ายน้ำนี้จะถูกกักไว้ในช่องว่างในเนื้อหิน หรือชั้นหิน จนกระทั้งหินอิ่มตัวด้วยน้ำเช่นเดียวกับน้ำบาดาลนั่งเอง
น้ำแร่ที่เกิดขึ้นนี้จะแตกต่างกับน้ำบาดาลก็ตรงที่ น้ำแร่ธรรมชาติ จะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวตามชั่นหินที่น้ำซึมผ่าน เช่น หินปูนทำให้น้ำมีแคลเซียมสูง หินโดโลไมท์ทำให้น้ำมีแมกนีเซียม เป็นต้น ซึ่งแร่ธาตุที่มักจะพบเป็นส่วนใหญ่นั้น เช่น แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม ไบคาร์บอเนต ซัลเฟต คลอไรด์ และไนเตรท
ซึ่งน้ำแร่นั้น ไม่เพียงแต่เป็นน้ำใต้ดิน หรือที่หลายคนเรียกว่าน้ำบาดาลเท่านั้น แต่ยังมีหลายที่ที่พุ่งขึ้นมาจากใต้ดินด้วย ซึ่งส่วนนี้จะเป็นชั้นน้ำตื้น ทำให้เกิดเป็นน้ำพุที่ตื้นและพุ่งขึ้นมาช่วงต่อระหว่างหิน
- แล้วความแตกต่างระหว่าง "น้ำแร่" กับ "น้ำบริโภคทั่วไป อย่างไร?
โดยมาตรฐานของคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร FAO/WHO หรือ Codex นั้น กำหนดไว้ว่า น้ำแร่จะมีความแตกต่างตรงที่ต้องมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติโดยตรง หรือจากการขุดเจาะแหล่งน้ำใต้ดิน ลึกระดับชั้นหิน แต่ต้องมีขั้นตอนที่สามารถป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมได้
รวมถึงมีปริมาณเกลือแร่ และธาตุอาหารรองอื่นๆ อีกทั้งมีความคงตัวของสารประกอบ และต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้านประจุและอุณหภูมิตามธรรมชาติเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อนำน้ำแร่ขึ้นมาแล้วจะต้องไม่ผ่านกระบวนการหรือกรรมวิธีใดๆ ยกเว้นการปรับปริมาณก๊าซที่มีอยู่ในน้ำแร่ หรือการกำจัดสารประกอบที่ไม่คงตัวอื่นๆ เช่น เหล็ก แมงกานีส กำมะถัน สารหนู ฯลฯ ด้วยการตกตะกอนหรือกรองเท่านั้น
ที่สำคัญคือ การคงสภาพน้ำที่มีความบริสุทธิ์ตามแหล่งกำเนิดจากเชื้อจุลินทรีย์ และควรที่จะมีการบรรจุใกล้ๆ แหล่งน้ำนั้นเพื่อให้มีสุขลักษณะที่ดีนั่นเอง
- ลักษณะน้ำแร่ที่จะนำมาบริโภค ควรเป็นแบบใด?
ทั้งนี้หากดูตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 199) พ.ศ.2543 จะพบว่ามีองค์ประกอบสำคัญ 6 ข้อ คือ
1.น้ำแร่ธรรมชาติ คือ น้ำแร่ธรรมชาติที่ได้จากแหล่งน้ำใต้ดินที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ และมีแร่ธาตุต่างๆ อยู่ตามคุณสมบัติสำหรับแหล่งน้ำนั้นๆ
2.ต้องอยู่ในภาชนะที่ปิดสนิท
3.ต้องผลิตในแหล่งน้ำธรรมชาตินั้นๆ และสามารถผ่านกระบวนการได้เพียงปรับปริมาณก๊าซ กำจัดสารประกอบที่ไม่คงตัว ซึ่งทำได้ 2 กระบวนการ คือ การตกตะกอบ และการกรอง แต่ต้องไม่ทำให้สารประกอบที่สำคัญเปลี่ยนไป
4.มีการกำหนดคุณภาพไว้ว่า ต้องใส ไม่มีตะกอน และมีการกำหนดชนิดและปริมาณของแร่ธาตุที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น หากเทียบกับน้ำปริมาณ 1 ลิตร จะต้องมีแงกานีสไม่เกิน 2 มิลลิกรัม ทองแดงไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ตะกั่วไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัม ปรอทไม่เกิน 0.001 มิลลิกรัม ไนเตรตไม่เกิน 50 มิลลิกรัม เป็นต้น รวมถึงต้องไม่พบสารปนเปื้อนเกินกำหนด เช่น น้ำปริมาณน้ำ 1 ลิตร จะต้องมีไซยาไนด์ไม่เกิน 0.07 มิลลิกรัม หรือน้ำมันแร่ สารลดการตึงผิว สารกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เป็นต้น อีกทั้งมีข้อกำหนดจุลินทรีย์ด้วย
5.สถานที่ผลิตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ GMP ทั่วไป และ
6.ฉลาก ต้องมีชื่อและแสดงแหล่งที่มาของน้ำแร่ธรรมชาตินั้นๆ บ่งบอกชนิดของแร่ธาตุที่สำคัญ และควรมีคำเตือนด้วย
- อยากจะนำน้ำแร่จากใต้ดินมากินหรือจำหน่าย ต้องทำอย่างไร?
สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีใครบ้าง เดิมนั้นการพิจารณาอนุญาตน้ำแร่ธรรมชาติมีเพียงกรมทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งงแวดล้อม ที่จะเป็นผู้ออกใบรับรองแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่หลังจากนั้นมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมทรัพยาน้ำบาดาล กระทรวงสาธารณสุขด้วยตามแต่ละกระบวนการ
หากเริ่มจากกระบวนการตรวจสอบแหล่งน้ำบาดาล แน่นอนว่าจะต้องใช้นักธรณีวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น ต้องผ่านการอบรมและได้รับการรับรองจากรมทรัพยากรน้ำบาดาล หรือจากสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
นอกจากนี้จะต้องมีใบอนุญาตขุดเจาะน้ำบาดาลจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลด้วย เนื่องจากจะต้องมีขั้นตอนที่ป้องกันการปนเปื้อน และระดับความลึกของแหล่งน้ำที่ขุดเจาะต้องพอดี ไม่เกิดการปนเปื้อน หลังจากนั้นจะต้องมีใบขออนุญาตการใช้น้ำบาดาลจากกรมททรัพยากรน้ำบาดาล รวมถึงต้องมีผลวิเคราะห์น้ำดิบตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมี 3 หน่วยงานที่สามารถตรวจสอบได้เกือบครบทุกรายการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 199) พ.ศ.2543 เรื่องน้ำแร่สะอาด ดังนี้
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เฉพาะที่ส่วนกลางเท่านั้น)
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
- ห้องปฏิบัติการภาครัฐ หรือห้องปฏบัติการภาคเอกชนที่ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025
ส่วนสถานที่แหล่งผลิตเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะเข้าไปตรวจสอบ เรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นเพียงแง่มุมเบื้องต้นที่จะทำให้รู้จัดน้ำแร่มากขึ้น แม้เพียงนิดเดียวแต่ก็ทำให้เห็นว่าแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างน้ำบาดาล นับมีความสำคัญกับเราอย่างมากเช่นกัน
ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข