ทำไมถึงไม่รู้สึกอยากอาหาร ในช่วงที่อากาศร้อนมากๆ
ไขข้อข้องใจ สภาพอากาศส่งผลต่อความอยากอาหารของมนุษย์อย่างไร พร้อมแนะนำอาหารที่เหมาะสำหรับช่วงหน้าร้อน
ถึงแม้ว่าประเทศจะมี 3 ฤดูกาล (ตามการอ้างอิงของกรมอุตุนิยมวิทยา) แต่ประชาชนคนไทยดูเหมือนจะคุ้นอยู่กับ ฤดูร้อน มากกว่าฤดูอื่นโดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สภาพบรรยากาศโลกแปรปรวนจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน ยิ่งทำให้ประเทศไทยผูกขาดอยู่กับฤดูร้อนตลอดตลอดปี
เดือนที่ถือเป็นจุดพีคสุดของความร้อน (จากการตั้งฉากตามเส้นศูนย์สูตรโลก) ในประเทศไทยคือเดือน เมษายนและพฤษภาคม ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ภายในระยะ 2 เดือนนี้จะมีการรายงานข่าวถึงสภาพอากาศที่ร้อนจนแตะ 40 องศาเซลเซียสในหลายจังหวัด
แต่ถึงแม้ อากาศร้อน จะอยู่คู่กับเมืองไทยตลอดทั้งปี แต่ก็ใช่ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะโปรดปรานอากาศร้อนเช่นนี้นัก โดยเฉพาะในช่วงที่ต้อง Work From Home ยึดนโยบายตามรัฐบาลป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ค่าไฟบางบ้านพุ่งสูงจากการเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดทั้งวัน
นอกจากอาการเหนียวตัว ร้อนอบอ้าวจนเหงื่อออกตามลำตัวแล้ว ที่คนส่วนใหญ่ตอบสนองต่ออากาศร้อนแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอาการที่คนทั่วไปก็นึกไม่ถึงว่า "อาการเบื่ออาหาร" ก็ส่งผลจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดเช่นเดียวกัน
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนไปทำความรู้จัก โรคเบื่ออาหารในหน้าร้อน พร้อมอธิบายความสัมพันธ์ความอยากอาหารของมนุษย์กับสภาพอาการด้วยเช่นกัน
- อาการเบื่ออาหารในหน้าร้อน
ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ถ้าในช่วงนี้คุณรู้สึกไม่มีความอยากอาหาร ไม่หิว รับประทานอะไรก็ไม่ถูกปาก ไม่อร่อย เพราะ อรพิน ทองดี อาจารย์ประจำสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ข้อมูลเรื่องโรคเบื่ออาหารในฤดูร้อนว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการเบื่ออาหารในฤดูร้อนนั้นแบ่งเป็น 3 ปัจจัยได้แก่
1. การย่อยอาหารต้องอาศัยน้ำย่อย ตั้งแต่น้ำลาย น้ำย่อยของกระเพาะ น้ำย่อยของตับ น้ำย่อยของม้าม ไปจนถึงน้ำย่อยของลำไส้ โดยน้ำย่อยเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นพลังสำคัญในการย่อย ซึ่งการย่อยของอาหารแต่ละชนิด ล้วนแล้วแต่จะต้องใช้น้ำในปริมาณมากทั้งสิ้น ถ้าหากส่วนของน้ำย่อยลดน้อยลง ก็จะทำให้การย่อยเกิดความยากลำบาก ความอยากอาหารก็ไม่เกิดขึ้น และในฤดูร้อนอากาศมีสภาพอบอ้าว น้ำภายในร่างกาย จะระเหยออกมามากเกินไป ส่วนน้ำย่อยก็ลดลง ดังนั้นจึงเกิดความยากลำบากในการย่อย ในทางตรงกันข้ามถ้าน้ำมากเกินไป ประสิทธิภาพการระเหยกระจายขาดความสมดุล ทำให้มีความชื้นอยู่ภายใน ก็จะกระทบกระเทือนกับการย่อยด้วยเหมือนกัน
2. ในฤดูร้อนที่ร้อนแรง เนื่องจากเวลากลางวันทุกคนต้องทำงาน ทำให้ร่างกายและสมองได้รับความอ่อนเพลีย ในเวลากลางคืนร่างกายจึงต้องการพักผ่อน เพราะการนอนหลับสามารถชดเชยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า และฟื้นฟูประสิทธิภาพของร่างกายได้ แต่สภาพแวดล้อมก็ยังคงมีความร้อนอยู่ คุณจึงนอนไม่หลับ และเมื่อการนอนไม่เพียงพอ จิตใจก็ไม่กระปรี้กระเปร่า เส้นประสาทที่ควบคุมความอยากอาหารไม่คึกคัก จึงทำให้เกิดความเบื่ออาหารได้
3. ในฤดูร้อนเป็นฤดูที่สรรพสิ่งกำลังแพร่พันธุ์งอกงาม พลังการแพร่พันธุ์ของเชื้อโรคทุกอย่าง มีความแรงกล้าที่สุดในฤดูกาลนี้ ดังนั้นฤดูร้อนจึงมีโรคภัยมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออากาศร้อนมาก เราก็อยากที่จะรับประทานอาหารที่เย็น แต่เมื่อเป็นอาหารเย็น แน่นอนความไม่สะอาดย่อมเกิดขึ้น อีกทั้งเมื่อร่างกายรับประทานอาหารที่แช่เย็นเข้าไปมาก ๆ เยื่อกระเพาะก็จะเกิดการระคายเคือง จนทำให้เกิดการอักเสบขึ้น อีกทั้งอาหารในฤดูร้อนเน่าเสียง่าย และถ้ารับประทานเข้าไปร่างกายก็จะได้รับเชื้อโรค และเมื่อมีเชื้อโรคอยู่ในร่างกาย เราก็จะไม่อยากรับประทานอาหาร
- ความสัมพันธ์ของสภาพอากาศส่งผลความอยากอาหารอย่างไร
ทั้งนี้ สำหรับใครที่งงว่าแล้วสภาพอากาศมันเกี่ยวกับความอยากอาหารอย่างไร ริเทส เบวลี่ (Ritesh Bawri) นักโภชนาการและนักสรีระวิทยา มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกาอธิบายว่า เมื่อแสงน้อยลง ร่างกายของเราก็จะเกิดความคิดว่า เราจะไม่ได้รับอาหารอย่างเพียงพอก็เลยต้องรีบตุนอาหารไว้ในร่างกาย เราจึงหิวบ่อยกว่าปกติในฤดูหนาว
ส่วนหน้าร้อนแดดจ้านั้น ร่างกายก็จึงไม่อยากรับอาหารมากเท่าไหร่ โดยทั่วไป ร่างกายจะมีกลไกในการขับน้ำออกจากร่างกาย นั่นก็คือขับออกมาในรูปแบบของเหงื่อ เพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ส่วนที่ควบคุมระบบนี้นั่นก็คือ ไฮโปทาลามัส ส่วนหนึ่งในสมองของเรานั่นเอง ในขณะที่ไฮโปทาลามัสควบคุณอุณภูมิในร่างกายของเราก็จะให้ความสำคัญกับความหิวน้อยลง และสั่งให้ร่างกายดื่มน้ำมากขึ้น
รวมถึง ดัชนีมวลกายของเราจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เพราะร่างกายต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อการดำรงชีพตามปกติ
แต่ทั้งนี้ ริเทส ยังกล่าวอีกว่ายังมีอีกหลายทฤษฎีที่เป็นสาเหตุทำให้เราหิวน้อยลง เช่น ภาวะคั่งน้ำ อาการตัวบวมของผู้หญิงที่ส่งผลมาจากฮอร์โมนสั่งการให้เส้นเลือดขยายในช่วงที่อากาศร้อนจัด ดังนั้นถ้าผู้หญิงคนไหนรู้สึกอวบขึ้นในช่วงหน้าร้อน อาจมีสาเหตุหนึ่งมาจากภาวะคั่งน้ำได้เช่นเดียวกัน
- กินอย่างไรถึงจะดี ในช่วงหน้าร้อน
เรื่องกินเรื่องใหญ่เสมอ โดยเฉพาะเหล่า Food Lover ทั้งหลาย และถ้าใครเกิดอาการเบื่ออาหารในช่วงหน้าร้อนเช่นนี้ ยิ่งทำให้เกิดความกังวลและหงุดหงิดใจเป็นเท่าตัว แววตา เอกชาวนา นักโภชนาการ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จึงแนะนำวิธีการกินอาหารในช่วงหน้าร้อนที่ส่งผลให้ร่างกายปรับตัวกับสภาพอากาศภายนอกได้อย่างสมดุล
โดยสิ่งสำคัญของอาหารหน้าร้อนคือ ควรเลือกกินอาหารที่ย่อยง่าย เน้นอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น ผัก ผลไม้ เต้าหู้ และเลือกอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบมากๆ เพราะอากาศร้อนทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำง่ายขึ้น เหงื่อออกมากกว่าปกติ ทำให้อ่อนเพลีย
อาหารที่มีน้ำ เช่น ฟักตุ๋น มะระทรงเครื่อง ถั่วเขียวต้มน้ำตาล จะช่วยชดเชยน้ำที่สูญเสียไป นอกจากนี้ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ โดยควรดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำวันละ 8-10 แก้ว หรืออาจดื่มน้ำสมุนไพรที่ไม่หวานจัด เช่น น้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะตูม ทดแทนเป็นบางครั้ง ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกสดชื่นแจ่มใสได้ทั้งวัน
นอกจากนี้อาหารที่มีพลังงานต่ำ ไขมันน้อยก็ช่วยคลายร้อนได้เช่นกัน เนื่องจากร่างกายไม่ต้องโหมใช้พลังงานมากเพื่อนำไปเผาผลาญอาหาร อุณหภูมิในร่างกายจึงแตกต่างจากการที่เรากินอาหารไขมันสูง ย่อยยาก ย่อยนาน เช่น ข้าวเหนียวทุเรียน แกงกะทิ ปาท่องโก๋ พิซซา โรตี โดนัท ในทางตรงข้ามถ้าอากาศหนาวเย็นควรกินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เพื่อเพิ่มอุณหภูมิให้กับร่างกาย ทำให้เลือดลมหมุนเวียนดี เช่น ไก่ตุ๋นโสม อาหารที่มีส่วนผสมของพริก สมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน อาหารทอดต่างๆ เป็นต้น
สามารถแบ่งเคล็ดลับไปในแต่ละมื้อได้แก่
อาหารเช้าเพิ่มพลังคลายร้อน เริ่มต้นวันใหม่รับร้อนด้วยการกินอาหารเช้าซึ่งเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด พลังงานจากอาหารเช้าช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น มีสมาธิดี ไม่อ่อนเพลีย อารมณ์ดี ไม่หงุดหงิดง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าร้อนที่อากาศมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เราเบื่ออาหารอยู่แล้ว ถ้าเราอดอาหารร่างกายจะเพิ่มความอ่อนล้า ไม่มีเรี่ยวแรง ดังนั้นจึงควรกินอาหารเช้าเป็นประจำด้วยอาหารเช้าแบบไทยๆ ที่ย่อยง่ายและไขมันต่ำ เช่น โจ๊กหมู ข้าวต้มปลา ข้าวกล้องกับฟักตุ๋น หรือแกงจืดเต้าหู้หมูสับ และในวันหยุดที่มีเวลาว่าง อาจลุกขึ้นมาปั่นกล้วยน้ำว้าใส่ขมิ้นขาว น้ำผึ้ง และนมสดไขมันต่ำ ก็จะได้สมูทตี้แบบไทยๆ ที่มีสารอาหารครบถ้วน ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดร้อนได้เป็นอย่างดี
อาหารกลางวันอารมณ์ดี หน้าร้อนควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มันๆ เพราะไขมันเป็นอาหารที่ย่อยยากกว่าคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน อาหารทอดที่ต้องใช้น้ำมันมาก เช่น กล้วยทอด เนื้อทอด หนังไก่ทอด แคบหมู มันฝรั่งทอด (เฟรนช์ฟรายส์) ร่างกายต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อเผาผลาญไขมัน เพิ่มอุณหภูมิภายในร่างกาย ทำให้รู้สึกร้อนมาก นอกจากอาหารทอดแล้วควรหลีกเลี่ยงอาหารและขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิ เนื่องจากกะทิเป็นไขมัน นอกจากจะย่อยยากแล้ว อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้อาหารที่มีกะทิบูดเสียได้ง่าย ทำให้ท้องร่วงได้ ควรเลือกอาหารที่ปรุงสุกใหม่ งดอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ก้อย
อาหารไทยหลายชนิดเหมาะที่จะเป็นอาหารมื้อกลางวัน ช่วยคลายร้อนและเติมพลังงานให้ร่างกายพร้อมที่จะทำงานต่อไปในช่วงบ่ายอย่างสดชื่น ลองเลือกอาหารที่มีไขมันน้อยๆ เช่น ข้าวแช่ แตงกวาสอดไส้หมูสับ ยำไข่ต้ม ผัดผักโขม ผัดบวบ เต้าหู้ทรงเครื่อง ก๋วยเตี๋ยวน้ำลูกชิ้นปลา เกี๊ยวน้ำ ขนมหวานหลังอาหาร ควรเลือกชนิดที่ไม่มีกะทิ เช่น ผลไม้ลอยแก้ว ถั่วเขียวต้มน้ำตาล เต้าทึง เต้าฮวย ฟรุตสลัด เฉาก๊วย เป็นต้น
ชุ่มฉ่ำอาหารว่าง ในวันที่อากาศร้อนมากอาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร กินได้น้อย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารจำเป็น ควรกินอาหารครั้งละน้อยวันละ 4-5 มื้อ โดยแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ การกินอาหารว่างระหว่างมื้อจะช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารอย่างเพียงพอ ตรงกันข้ามกับการกินครั้งละมากๆ ทำให้ร่างกายต้องใช้เวลานานในการย่อยและดูดซึม เพิ่มอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้ร้อนมากขึ้น อาหารว่างที่ดีช่วยให้สดชื่น หายง่วงนอน เช่น น้ำมะนาวเย็น น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะตูม น้ำมะพร้าวอ่อน หรือผลไม้ไทยๆ แช่เย็นเจี๊ยบ เช่น แตงโม แตงไทย มะเฟือง ชมพู่ ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีน้ำฉ่ำ เพิ่มความสดชื่น ดับกระหาย และผ่อนคลาย แต่ก็มีข้อควรระวังคือไม่ควรกินผลไม้หวานจัดปริมาณมาก เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย เงาะ ผลไม้ตากแห้ง เพราะจะไปเพิ่มการทำงานของร่างกาย
อาหารเย็นกาย เย็นใจ ช่วงอาหารเย็น อุณหภูมิภายนอกลดความร้อนแรงลง อาหารเย็นสามารถเพิ่มสีสันจากเครื่องเทศได้บ้าง เพื่อขับความร้อน ขับเหงื่อออกจากร่างกาย เมื่อเหงื่อระเหยออกมาจะทำให้รู้สึกเย็นสบาย อาหารไทยรสแซบหลายชนิดที่เหมาะสำหรับเป็นอาหารเย็นในหน้าร้อน เช่น แกงส้มเปลือกแตงโม ต้มยำ ต้มโคล้ง แกงป่า แกงเลียง แต่วัตถุดิบที่นำมาปรุงควรเป็นอาหารที่มีสรรพคุณเย็น เช่น น้ำเต้า บวบ มะระ ฟัก มะเขือ เต้าหู้ อาหารยำปรุงเองที่บ้านก็เป็นอีกเมนูหนึ่งที่ช่วยให้คลายร้อนแบบมีรสชาติจัดจ้านขึ้น ถ้าไม่สะดวกทำเองต้องเลือกร้านที่ปรุงตามสั่ง เพราะอาหารประเภทยำที่ทำไว้นานๆ นอกจากรสชาติจะกร่อยแล้วยังบูดเสียง่ายอีกด้วย เมนูอาหารไทยอื่นๆ สำหรับคลายร้อนในมื้อเย็น ได้แก่ ปลาช่อนนึ่งจิ้มแจ่ว ผัดผักรวมมิตร ยำแตงกวา มะระผัดไข่ ไก่ตุ๋นเห็ดหอม เต้าหู้ผัดต้นหอม ปลาทูต้มส้ม เป็นต้น
สิ่งสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตช่วงหน้าร้อนคืออย่าให้ร่างกายขาดน้ำโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากอาการเบื่ออาหารที่สามารถเกิดขึ้นได้แล้ว ยังส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ อย่างโรคลมแดดได้เช่นกัน นอกจากนี้ถ้าใครเริ่มมีอาหารเบื่อๆ อาหารแล้ว เคล็ดลับการกินอาหารที่เหมาะต่อหน้าร้อนก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีต่อสุขภาพได้เช่นกัน