ดราม่า 'ตู้ปันสุข' จากน้ำใจผู้ให้สู่มือคนโลภ ควรหยุดหรือไปต่อ?
เกิดกระแสดราม่า "ตู้ปันสุข" เมื่อความตั้งใจดีคนไทยจำนวนมากที่ออกมาตั้งตู้แจกของฟรี แต่ถูกทำลายจากคนไม่มีจิตสำนึกที่มาโกยของกวาดเรียบ ชวนคิดไปพร้อมกันว่าไอเดียนี้ควรหยุดหรือทำต่อดี?
ไม่กี่วันที่ผ่านมา เกิดกิจกรรมดีๆ ผุดขึ้นทั่วประเทศไทยอย่างที่หลายคนคงได้เห็นได้แชร์กันในสื่อสังคมออนไลน์กันแล้ว นั่นคือกิจกรรม “ตู้ปันสุข” ไอเดียน่ารักในการแบ่งปันของกินของใช้ใส่ตู้ให้ใครหยิบไปก็ได้ จุดประสงค์ก็เพื่อช่วยเหลือพี่น้องคนไทยผู้เดือดร้อน ตกงาน ขาดรายได้ ให้ผ่านวิกฤติ COVID-19 ไปด้วยกัน
โดยแรกเริ่มมี “ตู้ปันสุข” เพียง 5 แห่งในกรุงเทพฯ และระยอง แต่ต่อมามีคนไทยใจดีทยอยทำเพิ่มในหลายจังหวัด จนตอนนี้มีจำนวนกว่า 300 แห่งแล้ว และมีสโลแกนของกิจกรรมว่า “หยิบไปแต่พอดี ถ้าท่านมีใส่ตู้แบ่งปัน” โดยคนไทยส่วนใหญ่ตอบรับกิจกรรมนี้เป็นอย่างดี พร้อมช่วยกันนำของมาเติมใส่ตู้เพื่อแบ่งปันต่อๆ กันไป
แต่กิจกรรมนี้ดำเนินไปได้ประมาณ 2-3 วันก็เกิดดราม่าร้อนแรงในโซเชียลเกี่ยวกับพฤติกรรมเห็นแก่ตัวของคนไทยบางกลุ่มที่หวังของฟรีใน “ตู้ปันสุข” โดยไม่คิดเผื่อแผ่คนอื่น จนเกิดการตั้งคำถามในสังคมและวิพากวิจารณ์กันว่าเราควรทำกิจกรรมนี้ต่อไปหรือหยุดไว้แค่นี้ดี?
- ไอเดียดีจากต่างประเทศสู่ “ตู้ปันสุข” ในเมืองไทย
ขอพาไปทำความรู้จักจุดเริ่มต้นของกิจกรรม “ตู้ปันสุข” นี้กันก่อนสักนิด สำหรับไอเดียเกี่ยวกับการตั้งตู้เพื่อแบ่งปันอาหารและข้าวของจำเป็น มาจากโครงการประเภท Free Pantry, Food Sharing, Sharing Cupboard, Food Bank (ธนาคารอาหาร) ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อิตาลี เป็นต้น ที่เกิดการแบ่งปันอาหารในชุมชนขณะที่เกิดภาวะวิกฤติต่างๆ
โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ที่ผู้คนทั่วโลกเดือดร้อนและประสบกับปัญหาทางการเงินกันถ้วนหน้า และโครงการนี้ก็ได้รับการยอมรับจากคนรุ่นใหม่อย่างมาก เกิดการแชร์และส่งต่อกิจกรรมดีๆ แบบนี้ออกไปทั่วโลก จนเกิดเป็น New Normal ของการแบ่งปันในสังคมยุคใหม่ ที่สร้างรอยยิ้มและสู้ภัยโควิด-19 ไปด้วยกัน
สำหรับโครงการประเภทนี้ในไทยเพิ่งเริ่มต้นขึ้นได้ไม่นาน โดยมี สุภกฤษ กุลชาติวิจิตร หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “ตู้ปันสุข” ได้บอกเล่าถึงที่มาของกิจกรรมนี้ไว้ว่า เนื่องจากตอนนี้เมืองไทยเจอกับสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ทำให้มีผู้เดือดร้อนมากมาย จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือสังคมด้วยการ “ให้” ซึ่งเจ้าตัวได้แรงบันดาลใจมากจากโครงการ Free Pantry ของต่างประเทศ จึงอยากลองนำไอเดียนี้มาลองทำในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการแบ่งปัน ซึ่งน่าจะสามารถช่วยบรรเทาทุกข์ให้พี่น้องคนไทยที่เดือดร้อนได้บ้าง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- รวมเคส “ตู้ปันสุข” ที่เริ่มไม่ใช่ความสุข
ไอเดียเริ่มต้นของ “ตู้ปันสุข” ถือเป็นเรื่องดีๆ ท่ามกลางวิกฤติ โควิด-19 แต่ก็ยังไม่วายมีบางคนไม่เข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกิจกรรมแบ่งปันนี้ เมื่อความมีน้ำใจของผู้ให้ดันตกไปสู่มือผู้รับที่ “ไม่รู้จักพอ” จึงเกิดกรณี #ทัวร์ลง และ #กวาดเรียบ ขึ้นมาให้เห็นที่ “ตู้ปันสุข” หลายๆ แห่งทั่วไทย เช่นกรณีดังต่อไปนี้
1. ยืนเกาะรั้ว ตะโกนด่าเจ้าของ “ตู้ปันสุข”
มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Naruebess Santideja ได้โพสต์ข้อความและภาพที่มาจากกล้องวงจรปิด เป็นเหตุการณ์ที่คนที่มาขอรับสิ่งของจากตู้ปันสุขแล้วไม่ได้ของ จึงพยายามเกาะรั้วตะโกนด่าเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง โดยเรื่องของเรื่องคือมีครอบครัวหนึ่งร่วมทำ “ตู้ปันสุข” ไว้หน้าบ้านเพื่อแจกของ ก็มีคนทยอยมาหยิบของไปเรื่อยๆ แต่วันหนึ่งเกิดฝนตกหนักและสิ่งของในตู้ปันสุขหมด จึงยกตู้หลบเข้าบ้านมาก่อน แต่ป้ายยังแขวนอยู่
ระหว่างนั้นแม่บ้านของครอบครัวนี้พบว่ามีกลุ่มคนวนเวียนหน้าบ้านหลายรอบ ถือถุงรอของแจก และถามว่าจะเติมของกี่โมง ทั้งๆ ที่ไม่มีตู้อยู่ตรงนั้น เมื่อแม่บ้านแจ้งว่าของหมดจึงเก็บตู้ และต้องรอเจ้าของบ้านมาเติมของใหม่ แต่คนกลุ่มนั้นก็ไม่ยอมกลับแต่นั่งรอหน้าบ้าน ซึ่งมีบางช่วงบางตอนในโพสต์ระบุว่า..
“แม่บ้านโดนคนตะโกนด่า บอกว่าแล้วจะติดป้ายทำไมโว้ย คือ พูดไม่เพราะ ตะโกนเข้ามาเลย คือ มาถึงแล้ว ไม่ได้ของ ก็บอกว่าเดือดร้อน มากันไกล มีคนแก่ มีคนพิการนั่งมาในซาเล้งด้วย บางคนเกาะรั้วแล้วตะโกนบอกว่าถ้าไม่มีของแล้วจะติดป้ายทำไม แบบนี้ไม่น่ารักแล้ว”
2. พ่อลูกจอม “กวาดเรียบ”
เคสถัดมาเป็นพ่อลูกที่ขับรถจักรยานยนต์มาจอดหน้า “ตู้ปันสุข” แห่งหนึ่ง พร้อมนำถุงมาใส่ของที่อยู่ในตู้ซึ่งมีทั้งข้าวสาร ไข่ไก่ อาหารแห้ง น้ำดื่ม ซึ่งทั้งพ่อทั้งลูกก็กวาดเรียบจนหมด เมื่อมีผู้เห็นเหตุการลงไปสอบถามหนุ่มคนที่เป็นลูกชายว่าทำไมหยิบไปเยอะ ไม่เผื่อให้คนอื่นบ้าง ก็ได้รับคำตอบว่า “คนอื่นเอาไปเยอะกว่านี้อีก”
3. ทัวร์ลง “ตู้ปันสุข” 2 นาทีของหมดตู้
อีกหนึ่งเคส มีข้อมูจากเพจเฟซบุ๊ก มีน้ำยา บุฟเฟต์ ข้าวแกงและขนมจีน 58 บาท ได้โพสต์คลิปวงจรปิดแสดงให้เห็นจุดที่ตั้งของ “ตู้ปันสุข” แห่งหนึ่ง พร้อมกัยมีคนจำนวนมากขับรถมาจอดบริเวรหน้าตู้แล้วลงไปแย่งของกันบริเวณ “ตู้ปันสุข” ที่ทางร้านได้ตั้งไว้เพื่อช่วยเหลือคนเดือดร้อน โดยเจ้าของเพจได้โพสต์ว่า
“ทัวร์ลง 2 นาที หมดตู้ แล้วแต่ละคนก็ มีขอกันอยู่แล้ว เต็มตะกร้าหน้ารถแล้ว เดินหยิบกัน 2 รอบ 3 รอบ เอาจนกว่าจะหมดตู้ ไม่หมดตู้ ไม่หยุดหยิบ มากันเป็นแก๊ง ที่มีอยู่มันไม่พอกินเหรอ แล้วคนข้างหลังเค้าจะเอาอะไรกิน”
เหตุการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมแบ่งปันและส่งต่อลักษณะนี้อาจไม่เหมาะกับสังคมไทย เพราะยังมีคนบางกลุ่มรอแต่จะฉวยโอกาสและหยิบของแบบไม่รู้จักพอ แล้วกิจกรรม “ตู้ปันสุข” ยังควรทำต่อไปหรือไม่?
- หลายคนแชร์ความเห็น “ตู้ปันสุข” ควรทำต่อเพื่อคนส่วนมาก
จากการสำรวจเรื่องนี้ในโลกโซเชียล ทีมข่าวพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงอยากให้ทำ “ตู้ปันสุข” กันต่อไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และส่วนมากพบว่ามีการหยิบของไปแต่พอดี และมีคนไทยใจดีนำข้าวของมาช่วยเติมใส่ตู้อยู่เรื่อยๆ ไม่ขาดสาย ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงเห็นไปในทางเดียวกันว่า ไม่ควรท้อแท้ในการทำความดีเพียงเพราะคนแย่ๆ ไม่กี่คน
โดยล่าสุด.. ทางแอดมินเพจ “ตู้ปันสุข” ได้ออกมาแนะนำว่า
หลังจากที่ทีมอิฐน้อยพยายามประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ลงพื้นที่เพื่ออธิบายหลักการใช้ตู้ปันสุข ออกแบบพื้นที่บริเวณตู้ ให้เอื้อต่อการเข้าแถว สื่อสารกับผู้ตั้งตู้และเจ้าของพื้นที่ทุกท่าน ให้เห็นความสำคัญของการเข้าแถว และหยิบของ-วางของ ทีละคนโดยการติดเทปคิวไลน์ไว้ที่พื้น
นอกจากนั้น คนในชุมชนต้องเรียนรู้ที่จะช่วยกันดูแลตู้ ช่วยกันให้ความรู้ ความเข้าใจ และเปิดโอกาสให้คนที่โกยของ ได้เรียนรู้การใช้ตู้อย่างถูกวิธี มีความเห็นอกเห็นใจกัน เรียนรู้การให้ด้วยใจโดยไม่หวังผล เพื่อให้ตู้ปันสุขสามารถตั้งอยู่ในชุมชนได้นาน และเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ดีงามในสังคม คือแก่นแท้ของตู้ปันสุข
นอกจากนี้ทางเพจ "ตู้ปันสุข" ยังได้เปิดอัลบัมรวมที่ตั้งตู้ปันสุข และพิกัดค้นหา “ตู้ปันสุข” แห่งต่างๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อให้คนที่อยากมีส่วนร่วมในการแบ่งปันอาหารได้สามารถไปเติมของตามจุดต่างๆ เหล่านั้น และยังช่วยให้คนที่ต้องการอาหารและสิ่งของจำเป็นสามารถเดินทางไปหยิบของ “ตู้ปันสุข” ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยสามารถเข้าไปดูได้ที่ อัลบัมรวมจุดตู้ปั้นสุข
ด้านเพจ “ตู้ปันสุขเชียงใหม่” (ซึ่งเป็นคนละเพจกับ “ตู้ปันสุข” ซึ่งเป็นเพจกลางทั่วประเทศ โดย โค้ชแบงค์ เป็นผู้ริเริ่มนำ ตู้ปันสุข เข้ามาในประเทศไทยได้แบ่งปัน) ได้แชร์แผนที่จุดแบ่งปัน โดยเข้าดูได้ ที่นี่
---------------------------
อ้างอิง:
https://www.facebook.com/TooPanSuk/
https://www.facebook.com/SharePantry/