นักวิ่งต้องรู้! 3 ผลเสียเมื่อ 'วิ่ง' ขณะสวมใส่ ‘หน้ากากอนามัย’
หลังจากที่ทางการมีมาตรการผ่อนปรนให้เปิดกิจการบางประเภท และเปิดสวนสาธารณะได้แล้ว ทำให้ผู้คนเริ่มไป "วิ่ง" ออกกำลังกายในสวนกันมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะสวมใส่ "หน้ากากอนามัย" ขณะวิ่งไปด้วย รู้หรือไม่ว่าการทำแบบนั้นส่งผลเสียมากกว่าที่คิด!
อีกหนึ่งกระแสร้อนแรงในโลกโซเชียลเกี่ยวกับหนุ่มสาวสายสุขภาพ คงหนีไม่พ้นประเด็นการสวมใส่หน้ากากอนามัยไป "วิ่ง" ออกกำลังกายตามสวนสาธารณะหรือตามฟินเนสต่างๆ ซึ่งมีแพทย์หลายคนออกมาเตือนว่าการ "วิ่ง" ไปพร้อมกับสวมหน้ากากแบบนั้น จะส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าที่จะได้สุขภาพดีกลับมา
ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? วันนี้เรารวบรวมข้อมูลและหาคำตอบที่หลายคนอยากรู้มาฝากกัน ดังนี้
มีข้อมูลจาก แพทย์หญิง นิษฐา เอิ้ออารีมิตร แพทย์ชำนาญพิเศษด้านอายุรศาสตร์ โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเอกชัย ได้ออกมาโพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวที่ชื่อ “Nittha Oer-areemitr” หลังจากที่ตนเองได้ทำการทดลอง "วิ่ง" ขณะสวมใส่หน้ากากผ้าแบบ 3D และมีการบันทึกผลทดลองด้วย โดยระบุว่า ได้ทำการทดลองดังนี้
1. วิ่งใส่หน้ากากผ้า แบบที่ประชาชนใช้ทั่วๆไป แบบที่เป็นทรง 3D mask ลองหายใจธรรมดา อยู่ในระดับกลางๆ ใกล้เคียงกับ surgical mask หรือหน้ากากทางการแพทย์ธรรมดา
2. ออกกำลังกาย zone 2 โดยเอาเพซเดิมที่เคยได้ zone 2 คือ 6.3 ตอนไม่ได้ใส่หน้ากากเป็นเกณฑ์ วิ่งบนสายพาน มี warm up 5 นาที แล้ววิ่ง zone 2 ต่อจนครบ 30 นาที แถมด้วยการเพิ่มเป็น zone 3 อีก 5 นาที
3. ตรวจก๊าซออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ก่อนวิ่ง และตรวจทุก 5 นาที ก่อนวิ่ง ระหว่างวิ่ง และหลังวิ่ง (สำหรับแพทย์ ก็คือ ใส่ A-line แล้ว ดูด arterial blood gas ตรวจ ทุก 5 นาที)
4. วัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในหน้ากาก เพื่อดูว่ามีการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ในหน้ากาก ส่งผลให้เราหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์กลับเข้าไปใหม่หรือไม่ (วัด end-tidal CO2 โดยใช้ CO2 nasal cannula)
5. ระหว่างวิ่ง จะทำการบันทึกความรู้สึกเหนื่อยอยู่ทุก 5 นาที และจะถามตัวเองตลอด ว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง ขณะวิ่งกับหน้ากาก
6. ทำการทดลองในห้องแอร์ อุณหภูมิ 24 องศาเซลเซียส
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
จากนั้นคุณหมอได้บันทึกผลการศึกษาเอาไว้ ซึ่งในผลการศึกษานั้นพบว่าการสวมใส่หน้ากากวิ่งทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายหลักๆ อยู่ 3 อย่าง คือ
1. หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
พบว่าอัตราการเต้นของหัวใจ สูงกว่าปกติ ประมาณ 5-10 ครั้งต่อนาที ในแต่ละช่วงเวลา ไม่แนะนำให้คนที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงสูงต่อโรคปอด โรคหัวใจ ผู้สูงอายุ มาใส่หน้ากากออกกำลังกายแบบนี้ หรือแม้แต่คนหนุ่มสาวที่ร่างกายแข็งแรงแต่อาจมีอาการโรคหัวใจซ่อนอยู่ ก็อาจเกิดอันตรายได้เช่นกัน
2. ออกซิเจนในเลือดต่ำ
แม้ว่าจะไม่พบภาวะเลือดเป็นกรด (pH อยู่ที่ 7.44-7.45 ตลอด) อย่างที่คิดไว้ตอนแรกก่อนการทดลอง แต่พบว่าการใส่หน้ากากมาวิ่งแบบนี้ทำให้ ออกซิเจนในเลือด (PaO2) ต่ำลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะตอนที่เพิ่ม speed ช่วงท้ายไปเป็น zone 3 พบว่ามีออกซิเจนในเลือดต่ำเล็กน้อยร่วมด้วย ความอันตรายอยู่ที่ ตอนที่เกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำลง ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยแต่อย่างใด ดังนั้น การฟังเสียงร่างกายอาจจะไม่ไวพอ น่ากลัวในคนที่มีโรคหัวใจซ่อนอยู่ อาจจะทำให้เกิดภาวะวิกฤตขึ้นมาได้
3. เกิดภาวะหายใจกลับของคาร์บอนไดออกไซด์
หากสวมหน้ากากผ้าแบบ 3D มาวิ่ง ในขณะที่วิ่งพบว่ามีการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ในหน้ากากจริงๆ เมื่อออกกำลังกายถึงจุดหนึ่ง ตอนวิ่งช่วงแรกๆ คาร์บอนไดออกไซด์ไม่ได้คั่งอย่างที่คาดไว้ ปอดสามารถขับ CO2 ได้ดีมากๆ แต่! เกิดการหายใจกลับของคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 rebreathing) จริงๆ จะเห็นได้จาก FiCO2 ไม่เป็น 0 บางครั้งสูงถึง 8 บางครั้งลดลง ซึ่งสัมพันธ์กับการขยับหน้ากากบ้างเป็นบางครั้ง
*หมายเหตุ: ผลที่ได้จากการทดลองนี้ อาจจะแตกต่างกันก็ได้ในแต่ละบุคคล เพราะขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ความฟิตของร่างกาย อุณหภูมิขณะวิ่ง (ยิ่งร้อน ยิ่งสร้างคาร์บอนไดออกไซด์เยอะ) ลักษณะของหน้ากากที่ใช้ เป็นต้น สามารถอ่านผลการทดลองอย่างละเอียดได้ที่: https://www.facebook.com/nittha.oerareemitr
นอกจากนี้ข้อมูลดังกล่าวยังสอดคล้องกับคำอธิบายจาก แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ที่ได้พูดถึงประเด็นนี้เช่นกันว่า สำหรับประชาชนที่วิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะนั้น ขณะ "วิ่ง" ไม่ควรสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เนื่องจากเวลาออกกำลังกาย ร่างกายจะต้องการออกซิเจนมากยิ่งขึ้น สังเกตได้จากการหายใจเร็วขึ้น การสวมใส่หน้ากากผ้าหรืออนามัยจะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
โดยเฉพาะหน้ากาก N95 ที่ป้องกันอนุภาคขนาดเล็กได้มากกว่าหน้ากากอนามัย ก็จะยิ่งทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ที่ออกมาจากร่างกายสะสมอยู่ในหน้ากาก ทำให้อาจจะหายใจไม่ทันได้ ดังนั้นนักวิ่งทุกคนจึงควรจะเพิ่มระยะห่างในการวิ่งตามกันให้มากขึ้นเท่าที่จะทำได้ เพราะยิ่งห่างกันเท่ากับโอกาสในการติดเชื้อก็ยิ่งน้อยลงด้วย และที่สำคัญอย่าไปสัมผัสกับพื้นผิวสัมผัสในที่สาธารณะต่างๆ โดยไม่จำเป็น
อีกทั้งมีข้อมูลทางการแพทย์จากเพจ 1412 Cardiology ได้โพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลเพื่อเตือนพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับการออกกำลังกายด้วยการ "วิ่ง" ว่าไม่ควรที่จะสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เนื่องจากอาจจะส่งผลทำให้ปอด หัวใจ และหลอดเลือดทำงานหนักจนเกินพอดี โดยทางเพจระบุว่า
"..วิ่งวิถีใหม่ (new normal running) #ไม่ควรใส่หน้ากากวิ่ง เพราะจะเพิ่มแรงต้านการหายใจ ทำให้หายใจได้ลำบากขึ้น ลมหายใจออกจะถูกกักอยู่ในหน้ากากนานขึ้น เพิ่มปริมาณ CO2 ที่หายใจกลับเข้าไปมากขึ้น ยิ่งหายใจเร็วขึ้น เหนื่อยมากขึ้น อาการก็จะยิ่งแย่ลง นอกจากปอด หัวใจและหลอดเลือดจะต้องทำงานหนักมากขึ้นแล้ว อัตรการเต้นของหัวใจก็จะเร็วกว่าปกติด้วย สำหรับนักวิ่งหน้าใหม่ กลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วย ไม่ควรทำแบบนี้ เพราะอาจเป็นอันตรายได้.."
-----------------------
อ้างอิง:
https://www.facebook.com/nittha.oerareemitr/posts/3509042479109151