ภาพยนตร์บอกเล่า...ให้คุ้มครองโลก (1)
เมื่อวันคุ้มครองโลก 22 เมษายน ที่ผ่านมา เราทำอะไรเพื่อโลกบ้าง ? ปลูกต้นไม้ ประหยัดน้ำ-ไฟ แยกขยะที่ล้นเกินในช่วงโควิด-19 ที่แต่ละบ้านก็สั่งอาหารเดลิเวอรี่กันอย่างสนุก กินเสร็จก็กลายเป็นกองกระดาษและภูเขาพลาสติก
ขยะล้นเกิน โดยเฉพาะพลาสติกไม่ใช่จำเลยของโลก หากกลายเป็นผู้ต้องหา ที่จริงมันช่วยตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง แต่ การทิ้ง และ การแยกขยะ ต่างหากที่ควรเป็นจำเลยของสังคม สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นเองไม่ได้ ต้องมีผู้กระทำซึ่งก็คือมนุษย์เรานั่นเอง
ใครเพลิดเพลินกับหนังสตรีมมิ่งที่บ้าน ช่วงวันคุ้มครองโลก แนะนำให้ดูหนังเพื่อโลกกันสักหน่อย หยิบมาสักเรื่องสองเรื่อง ดูแล้วเปลี่ยนพฤติกรรมบ้าง ไม่ใช่แค่ออกมาพูดหรือเรียกร้องให้คนอื่นทำโน่นทำนี่ แต่ต้องเริ่มจากตัวเองก่อนถึงจะเรียกว่าเราช่วยโลก
วงการบันเทิงมีภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องหายนะโลก จากภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงจนส่งผลกระทบถึงมนุษย์ ถ้าเป็นหนังสารคดี ถ่ายจริง เดินเรื่องในสถานที่จริง ก็มีนับร้อยนับพันเรื่อง แม้สารคดี Planet, Earth, Ocean ของ BBC ซีรีส์เรื่องโลก น้ำ อากาศ ก็ล้วนสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศ อุณหภูมิ และการดำเนินชีวิตของมนุษย์ อันเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน หรือ Global Warming โลกร้อนขึ้นแค่ 1 องศา ก็ส่งผลให้หิมะละลาย น้ำทะเลหนุนสูง ทุกสรรพสิ่งเปลี่ยนไปแม้กระทั่งสิ่งที่เล็กที่สุดในทะเลคือ แพลงก์ตอน ห่วงโซ่เล็กจิ๋วที่ส่งผลถึงระบบนิเวศทั่วทั้งโลก ไม่แค่ในทะเล หากถึงบนบกและในอากาศ
มาดูหนังที่พอจะทำให้เรานึก คุ้มครองโลก ของเราได้บ้าง ถ้าไม่ใช่หนังสารคดี ฮอลลีวู้ดก็สร้างหนังที่สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้คนหันมาดูแลโลกบ้าง หนังก็ออกจะเว่อร์ ๆ แอ็คชั่นมากหน่อย หลายเรื่องเล่าถึงโลกอนาคตในอีกไม่กี่สิบปี โลกวันข้างหน้าไม่สวยงามนัก จนนักวิจารณ์เรียกว่าเป็น หนังดิสโทเปีย (Dystopia) โลกอนาคตที่บิดเบี้ยว สังคมถูกปกครองโดยชนชั้น สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมจากภัยธรรมชาติ ผู้คนต้องต่อสู้ดิ้นรน เมื่อถูกปกครองอย่างไม่ยุติธรรมก็จะมีกบฏ มีพวกใต้ดิน อย่าง The Hunger Games มี 3 ภาค สนุก ลุ้น ระทึก กับยุคดิสโทเปีย ย้อนกลับไปหลายปี Mad Max ก็กลายเป็นหนังดิสโทเปียแฟรนไชส์ ทำรายได้ถล่ม ออกมากวาดสตางค์คนดูไป 4 ภาค และแจ้งเกิดดาราตาสวยจากดาวน์อันเดอร์ Mel Gibson
โลกดิสโทเปียนั้นโหดร้าย ใน Hunger Games ก็กดขี่แบ่งชนชั้น ใน Mad Max โลกกลายเป็นทะเลทราย คนที่เหลืออยู่ก็ไม่ได้รักกัน แทนที่จะช่วยโลกให้ดีขึ้นกลับมาห้ำหั่นกันเอง ย้อนกลับไปไกลกว่านั้นหนังเรื่อง Waterworld (1995) Kevin Coster เป็นพระเอก จำได้ว่าดูหนังเรื่องนี้ในยุคโน้นก็รู้สึกขนลุกว่า สักวันหนึ่งโลกคงจมน้ำ ตึกสูงในนิวยอร์กอยู่ใต้น้ำทะเล จะไม่เหลืออารยธรรมใด ๆ อีกในเมื่อทั้งโลกมีแต่น้ำ
Waterworld ทำรายได้งาม จากงบสร้าง 175 ล้านยูเอส ทำรายได้ 264 ล้านยูเอส ความที่เป็นหนังแอ็คชั่นจึงไม่ต้องอธิบายมากว่า ทำไมโลกอยู่ใต้น้ำ หนังพวกนี้จะหาสาระทางวิทยาศาสตร์ล้วน ๆ มาอธิบายจะขัดความบันเทิงมากไป ก็แค่ให้รู้ว่าโลกอนาคตน้ำทะเลขึ้นสูง 7,600 เมตร หรือ 25,000 ฟุต โลกนี้จึงเหลือเพียงท้องฟ้ากับทะเล ซึ่งตรงกับตำนานเรื่องน้ำท่วมโลก ในแทบทุกศาสนา ตั้งแต่เทพเจ้ากรีก จีน ฮินดู และเรือโนอาห์ เทพเจ้าคงประมวลสาเหตุออกมาแล้วว่า ท้ายที่สุดเมื่อมนุษย์ทำลายธรรมชาติมากเกินไป ระบบนิเวศเสียหายซ่อมไม่ได้ จะเกิดหายนะน้ำท่วมโลกเพื่อพัดมนุษย์โลกให้ตายไป (จำนวนหนึ่ง) เป็นการชำระล้างโลกแล้วค่อยกำเนิดใหม่
ใครเขียนตำนานเหล่านี้ก็คือมนุษย์นี่แหละ หมายถึงคนโบราณก็มีภูมิปัญญา มีแนวคิดรักษ์โลกมานานแล้ว ถ้าศึกษาจากประวัติศาสตร์ก็จะรู้ว่าโลกผ่านยุคน้ำแข็ง 4 ครั้ง มียุคน้ำแข็งใหญ่-ย่อย โลกเย็นจนเป็นน้ำแข็ง เวลานานไปก็เกิดความร้อนดันภูเขาน้ำแข็งระเบิดเป็นลาวา เกิดสภาวะโลกร้อน หมุนเวียนกันไปแบบนี้เป็นวัฏจักร
แต่โลกยุคนั้นมนุษย์มีไม่กี่คน ตอนนี้ชาวโลกครอบครองโลกที่ผันแปรใบนี้ราว 7.5 พันล้านคน โลกขยับทีไม่วาหนาวหรือร้อนก็ส่งผลกระทบถึงชีวิตมนุษย์ อย่างเช่นโควิด-19 ที่ว่าเป็นไวรัสล้างโลก สาเหตุหนึ่งก็อาจช่วยชะลอการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองของชาวโลก ให้โลกสงบเพียงชั่วครู่ก็ยังดี
รู้อย่างนี้แล้ว ดูหนังดิสโทเปียเพื่อเป็นบทเรียนตระหนักรู้ไว้บ้างก็ดี ไม่ใช่ดูเอาสนุกอย่างเดียว...