เช็คปัญหาคาใจ 'ไทยชนะ.com' ข้อมูลที่ใช้เช็คอินละเมิดสิทธิหรือไม่?
รวมปัญหาคาใจเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม www.ไทยชนะ.com พร้อมชี้แจงคำตอบหลายๆ เรื่องที่ผู้ใช้งาน "ไทยชนะ" ต้องทำความเข้าใจ ทั้งในฝั่งของห้างร้านผู้ประกอบการเอง และด้านผู้ใช้บริการด้วย โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล!
เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนร้านค้ามาได้ 4 วันแล้ว สำหรับแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ผ่านทาง www.ไทยชนะ.com (ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา) ปรากฏว่าในระยะแรกนี้พบปัญหาการใช้งานต่างๆ มากมาย ทั้งในด้านของผู้ประกอบการร้านค้าและด้านของลูกค้าผู้ใช้บริการด้วย จนเกิดการตั้งคำถามกว้างขวางในสังคมไทยว่าระบบนี้ เวิร์คจริงหรือเปล่า?
โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่พบว่า ผู้ใช้บริการเกิดความไม่สะดวกในการใช้งานจริง เพราะต้องต่อคิวนานในการคัดกรองครบทุกขั้นตอน ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ กดเจลล้างมือ ต่อคิวสแกนคิวอาร์โค้ดอีก กว่าจะเข้าห้างฯ หรือเข้าร้านค้าต่างๆ ได้ ก็ล่าช้า บางครั้งต้องไปทำธุระหลายแห่งแล้วต้องมาเช็คอินและเช็คเอาท์ทุกครั้งทุกจุด ทำให้เสียเวลามากพอสมควร อีกทั้งยังมีคำถามข้องใจอีกหลายๆ อย่างที่ต้องการคำตอบ
แต่ก่อนจะไปถึงคำถามและคำตอบเหล่านั้น ขอพาย้อนกลับไปดูข้อมูลด้านการใช้งานแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ที่ทางการได้รวบรวมข้อมูลมาชี้แจงในเวทีแถลงข่าว โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) บอกว่าในระยะแรกนี้ มีจำนวนร้านค้าลงทะเบียน 67,904 ร้าน จำนวนผู้ใช้งาน 5,077,978 คน จำนวนการเข้าใช้งาน เช็คอิน 8,584,803 ครั้ง เช็คเอาท์ 6,359,921 ครั้ง และประเมินร้านค้า 3,984,691 ครั้ง
สำหรับกิจกรรม/กิจการ 10 ประเภท ที่พบว่าผู้ประกอบได้ให้ความร่วมมือในการลงทะเบียนร้านค้าสูงสุด ได้แก่
1. ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ภัตตาคาร ศูนย์อาหาร 17,362 ร้าน
2. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ 13,538 ร้าน
3. ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีก/ค้าส่ง 11,156 ร้าน
4. ธนาคาร 4,891 ร้าน
5. การให้บริการ 4,654 ร้าน
6. การจำหน่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค 3,992 ร้าน
7. คลินิกเสริมความงาม ร้านเสริมสวย 3,437 ร้าน
8. ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 2,823 ร้าน
9. สินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต 2,250 ร้าน
10. ร้านขายยา 895 ร้าน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
มาถึงคำถามที่พบบ่อยในการใช้งานแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ทั้งในด้านของผู้ประกอบการร้านค้าและด้านของลูกค้าผู้ใช้บริการ ซึ่งเรารวบรวมมาให้แล้ว ดังนี้
- ปัญหาที่พบบ่อยสำหรับ “ผู้ใช้บริการ”
1. การบันทึกข้อมูลผ่านเช็คอินและเช็คเอาท์ เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่?
คำตอบ: ข้อมูลที่ถูกเก็บของผู้เข้าใช้บริการจะเป็นข้อมูลแบบมีรหัส ซึ่งต้องเป็นหน่วยงานและผู้ได้รับอนุญาติเท่านั้นถึงจะเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลนั้นได้ อีกทั้งได้กำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลไว้เพียง 60 วัน
2. ผู้เข้าใช้บริการเช็คอินแต่ไม่เช็คเอาท์ จะเกิดอะไรขึ้น?
คำตอบ: ห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้านั้นๆ จะมียอดสะสมของผู้เข้าใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งอาจเกินกว่ากำหนด ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการหนาแน่นได้ ซึ่งนำไปสู่การไม่อนุญาตให้เปิดบริการต่อได้
3. ไลน์แอคเคาท์ “ไทยชนะ” เป็นของจริงหรือไม่? ใช้งานอย่างไร?
คำตอบ: โฆษก ศบค. ระบุว่า ไลน์ออฟฟิศเชียล แอคเคาท์ “ไทยชนะ” เป็นแอคเคาท์ของจริง ซึ่งไม่ใช่การแอดเพื่อนเพื่อให้ลงทะเบียนแต่อย่างใด แต่มีไว้สำหรับผู้ที่ต้องการรับทราบข้อมูลข่าวสาร หรือหากไม่ต้องการแอดไลน์ ก็สามารถโทรไปสอบถามที่ 1119 แต่สายโทรศัพท์อาจไม่เพียงพอ จึงใช้ระบบไลน์ เพื่อเป็นช่องทางในการส่งข่าวสารเพิ่มเติม รวมถึงหากกรณีร้านค้าต้องการปรึกษากับเจ้าหน้าที่แบบเฉพาะเจาะจงก็สอบถามผ่านไลน์ออฟฟิศเชียลนี้ได้
4. ถ้าร้านค้าไม่ให้ผู้ใช้บริการเช็คอินและเช็คเอาท์ ได้หรือไม่?
คำตอบ: ไม่ควรกระทำ และสถานประกอบการควรให้ผู้มาใช้บริการ “เช็คอิน” และ “เช็คเอาท์” ทุกคน เนื่องจากหากกิจการไม่ปฏิบัติตามมาตรการแล้ว อาจเกิดกรณีที่มีผู้ติดเชื้อเข้ามาใช้บริการ สถานประกอบการจะได้ทราบทันทีและทำความสะอาดร้านหรือสถานที่ให้ถูกสุขอนามัย
5. หากผู้ใช้บริการไม่มีสมาร์ทโฟนในการเช็คอินและเช็คเอาท์ ควรทำอย่างไร?
คำตอบ: กิจการจะต้องขอจดบันทึกเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ ของผู้เข้าใช้บริการที่สถานประกอบการหากลูกค้าไม่มี smartphone (ห้างร้านควรจัดทำสมุดจดพร้อมปากกาเตรียมสำรองไว้ด้วย)
6. ประชาชนเช็คเรตติ้งของร้านค้าที่ไปใช้บริการได้แบบเรียลไทม์หรือไม่?
คำตอบ: ประชาชนสามารถตรวจสอบเรตติ้งของร้านค้า ได้จาก website www.ไทยชนะ.com โดยให้คลิ๊กปุ่ม "ค้นหาร้านค้า"
- ปัญหาที่พบบ่อยสำหรับ “ผู้ประกอบการห้างร้าน”
1. ทำไมร้านค้าต้องลงทะเบียน ไทยชนะ ถ้าไม่ลงทะเบียนจะเปิดร้านได้ไหม?
คำตอบ: ผู้ใช้บริการจะมีความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัยของร้านค้าที่มีการลงทะเบียนและปฎิบัติตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
2. ทำไมร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ต้องเข้าร่วมมาตรการนี้?
คำตอบ: เป็นการสร้างมาตรฐานสุขอนามัยและความน่าเชื่อถือให้กับห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้านั้นๆ ว่ามีความปลอดภัยต่อการเข้าใช้บริการของลูกค้า ซึ่งทำให้ห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้านั้นๆ สามารถกลับเข้าสู่การทำธุรกิจแบบปกติได้เร็วขึ้น
3. หากร้านค้าประเมินไม่ผ่านเกณฑ์ จะสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้หรือไม่?
คำตอบ: ไม่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้สำเร็จ และจะไม่ได้ใบรับรองการประเมินตามมาตรการ เพื่อรับ QR CODE สำหรับให้ผู้ใช้บริการสามารถสแกน “เช็คอิน” และ “เช็คเอาท์” ได้
4. วิธีการกรอกพื้นที่ให้บริการในเว็บไซต์ลงทะเบียนนั้น นับรวมพื้นที่อะไรบ้าง?
คำตอบ: ให้ระบุข้อมูลเฉพาะพื้นที่ให้บริการลูกค้า ไม่นับรวมบริเวณอื่นๆ เช่น พื้นที่จอดรถ ไม่ต้องนับรวม เป็นต้น
5. จำนวนผู้ใช้บริการสูงสุดนั้นนับอย่างไร และนับรวมพนักงานหรือไม่?
คำตอบ: จำนวนผู้ใช้บริการสูงสุดนับเฉพาะจำนวนลูกค้าผู้ใช้บริการบนพื้นที่ให้บริการ ไม่รวมพนักงาน
6. หากกรอกข้อมูลบัตรประชาชนไม่ถูกต้อง QR Code จากระบบจะใช้งานได้หรือไม่?
คำตอบ: กรณีกรอกข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชนไม่ถูกต้อง QR Code จะสามารถใช้ได้แค่ 24 ชม. ท่านจะต้องทำการแก้ไขข้อมูลใหม่ที่เมนู “จัดการข้อมูลร้านค้า” เพื่อให้ QR Code สามารถใช้ได้ตลอดไป
7. เบอร์มือถือ 1 เบอร์สามารถลงทะเบียนร้านค้าได้กี่ร้าน? และถ้ามีหลายสาขาต้องทำยังไง?
คำตอบ: เบอร์โทรศัพท์มือถือ 1 เบอร์สามารถลงทะเบียนได้ 1 ร้านค้าหรือ 1 สาขาเท่านั้น (1 ร้านค้า ต่อ 1 เบอร์ ต่อ 1 QR Code) ส่วนกรณีที่ร้านค้านั้นๆ มีหลายสาขา ให้ตัวแทนเจ้าของกิจการที่ดูแลร้านเป็นผู้ลงทะเบียน และการประเมินแยกรายสาขาตาม QR Code ที่แสดงไว้ ณ สาขานั้นๆ
8. ใบรับรองการประเมินตามมาตรการ มีหลักเกณฑ์อย่างไร?
คำตอบ: ผู้ที่มาใช้บริการร้านค้าจะเป็นผู้ประเมินคุณภาพของกิจการผ่านแบบประเมินหลังการ “เช็คเอาท์” ซึ่งทางห้างร้านผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบเรตติ้งได้จากเว็บไซต์ www.ไทยชนะ.com โดยให้คลิ๊กปุ่ม "ค้นหาร้านค้า"