6 ปัจจัย เรียนออนไลน์ให้ได้ผล ในมุมมองของ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
ผ่ากับดักการ "เรียนออนไลน์" ที่ไม่ใช่เป็นไปได้ยากแค่ในไทย เพราะแม้กระทั่งหลักสูตรออนไลน์จาก Harvard และ MIT ยังมีผู้เรียนจบแค่ 5-6% ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อ่านบทวิเคราะห์จาก ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
[จากบทความเรื่อง 'เรียนออนไลน์' ต่างจากเรียนในชั้น โดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ | คอลัมน์ อาหารสมอง | หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ]
ด้วยความจำเป็นภายใต้สภาวการณ์โควิด เด็กจึงไม่ได้ไปโรงเรียนและต้องเรียนรู้ออนไลน์แทน ฟังดูเผินๆ มันก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะมีสิ่งทดแทน ไม่ต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อและนำไปแพร่ที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางและได้การเรียนรู้ที่เหมือนกัน
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาลงไปลึกๆ แล้ว การเรียนออนไลน์ของเด็ก หรือแม้แต่นักศึกษามหาวิทยาลัยก็ตาม ในสภาพปัจจุบันของไทยไม่อาจทดแทนการเรียนรู้แบบเห็นหน้ากันหรือห้องเรียนได้เลย
การเรียนรู้ทางไกลนั้น ทำได้ผ่านสัญญาณโทรทัศน์แบบดั้งเดิมหรือผ่านอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ยังไม่อาจแก้ไขปรับปรุงการเรียนการสอนแบบห้องเรียนให้เป็นระบบทางไกลที่เหมาะสมได้ จึงจำเป็นต้องยกห้องเรียนผ่านกล้องไปถึงบ้านเด็ก คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าเหมาะสมดีแล้ว แต่แท้จริงแล้วผลลัพธ์ของการเรียนรู้นั้นต่ำกว่าเป็นอันมาก โดยเฉพาะของสังคมไทย
การเรียนรู้ทางไกล (ขอใช้คำว่าออนไลน์แทนในที่นี้) นั้นแตกต่างจากการเรียนรู้แบบห้องเรียน เพราะทั้ง 2 แบบต่างมีตรรกะและวิธีการเรียนรู้ที่ต่างกัน การเรียนรู้แบบออนไลน์ต้องมีวิธีการสอน เนื้อหาลำดับเนื้อหาตามตรรกะที่แตกต่างจากการเรียนแบบบรรยายหรือห้องเรียนชนิดเห็นหน้ากัน
การเรียนแบบออนไลน์นั้น หากจะให้มีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีต้องมี
(1) อุปกรณ์รับส่งที่มีคุณภาพ
(2) สัญญาณการรับส่งที่มีคุณภาพดีไม่ขาดตอน
(3) เนื้อหาการเรียนรู้แบบออนไลน์ที่เหมาะสม
(4) ครูที่เข้าใจเรื่องการเรียนออนไลน์และมีความรู้ความสามารถในการจัดการความรู้ในระบบนี้
(5) ผู้เรียนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจเรียน และ
(6) หากปลายทางเป็นบ้านต้องมีผู้ปกครองที่มีความรู้และมีเวลาช่วยการเรียนรู้ของเด็ก หากขาดข้อหนึ่งข้อใดข้างต้นแล้วความตั้งใจที่จะให้เกิดผลตามเป้าหมายมีปัญหาอย่างแน่นอน
ลองจินตนาการว่า หากนักเรียนทุกคนไม่มีเครื่องรับสัญญาณ อันได้แก่ แล็บท็อป หรือโทรศัพท์มือถือที่สามารถรับภาพได้ดีเพียงข้อเดียว การเรียนออนไลน์ก็มีปัญหาแล้ว (ในบ้านเราเด็กเล็กหรือแม้แต่เด็กโตในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในชนบทมิได้มีอย่างเสมอหน้ากัน)
อย่าไปไกลถึงเรื่องการพัฒนาเนื้อหาของวิชาในระบบออนไลน์ หรือความรู้ความสามารถของครูในเรื่องการสอนแบบออนไลน์ ความสามารถและเวลาของผู้ปกครองส่วนใหญ่ การตั้งใจมุ่งมั่นเรียนรู้อย่างรับผิดชอบในสภาพที่ไม่มีครูกำกับ ฯลฯ ภายใต้ความจริงเช่นนี้ของสังคมไทยการ “ไปโรงเรียน” จึงไม่เท่ากับ “การเรียนรู้ออนไลน์ที่บ้าน” อย่างแน่นอน
แม้แต่ในระดับมหาวิทยาลัยผลลัพธ์การเรียนรู้ก็จะตกไปมาก สมมติว่ามีข้อ (1) และข้อ (2) ข้างบนอย่างสมบูรณ์เสมอหน้ากันแล้ว หากแต่ว่าวิชาต่างๆ จำนวนมากมิได้พัฒนาไว้ก่อนสำหรับการเรียนรู้แบบออนไลน์ อีกทั้งการเรียนการสอนแบบ active learning (ผู้เรียนมิได้รับฟังแต่การบรรยาย หากมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ด้วยการกระตุ้นผ่านคำถามและการทำงานเป็นกลุ่มที่มุ่งใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนเพื่อให้เกิดทักษะและความรู้) อันเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันก็ไม่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ในยามที่เรียนในห้องแบบเห็นหน้ากัน นักศึกษาจำนวนไม่น้อยก็มิได้ตั้งใจฟังอย่างเต็มที่ กินขนม คุยกันเล่นเน็ตจากโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ อยู่แล้ว ถ้าปล่อยให้เรียนรู้เองที่บ้านโดยไม่มีการดูแลกำกับเหมือนการเรียนในห้อง ผลลัพธ์การเรียนรู้ก็จะต่ำลงอย่างแน่นอน
หลักฐานจากงานวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ออนไลน์แบบ MOOC (Massive Open Online Course) โดย Justin Reich และ José A. Ruipérez-Valiente แห่ง MIT ซึ่งศึกษาความสำเร็จและล้มเหลวของ MOOC พบว่าคนเรียน MOOC ของหลักสูตรออนไลน์ของ Harvard และ MIT จำนวน 5.63 ล้านคนใน 12.67 ล้านวิชานั้น มีผู้เรียนจบวิชาหรือหลักสูตรเพียง 5-6% เท่านั้น อุปสรรคสำคัญก็คือความมุ่งมั่นตั้งใจเรียนอย่างมีวินัย
ในชนบทที่ขาดแคลน โรงเรียนสำหรับเด็กเล็กจำนวนมากมีการเลี้ยงอาหารกลางวันฟรี และมีนมให้ดื่มทุกวัน ดังนั้นการไม่ได้ไปโรงเรียนจึงหมายถึงการสูญเสียโอกาสของเด็กและการเพิ่มขึ้นของภาระของผู้ปกครองในยามลำบากนี้ สำหรับครอบครัวในเมืองผู้ปกครองก็มีปัญหาการดูแลเด็กและการนำทางการเรียนออนไลน์เมื่อต้องไปทำงาน
ในปัจจุบันมีจังหวัดที่มีกรณีของการติดเชื้อโคโรน่าไวรัสต่ำ หรือไม่มีเลยจำนวนมาก (ไม่มีคนติดเชื้อเลย 10 จังหวัด; ใน 28 วันที่ผ่านมา ไม่มีคนติดเชื้อใหม่เลย 48 จังหวัด; ใน 14 วันที่ผ่านมา ไม่มีคนติดเชื้อใหม่เลย 12 จังหวัด) การได้ไปโรงเรียนเร็วเท่าใด ก็หมายถึงการได้รับการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและได้รับสารอาหารเร็วเท่านั้น โดยมีความเสี่ยงในเรื่องโควิดต่ำ
มนุษย์ประสบความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าในเรื่องการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ หรือจากโควิด การไม่มีความเสี่ยงเลยนั้นไม่มี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าท่านกลัวโควิดไม่ต้องการความเสี่ยงติดเชื้อเลยก็ต้องใส่ชุด PPE (ชุดที่บุคลากรทางการแพทย์ใส่เหมือนนักอวกาศ) ตลอดเวลาไม่ว่าจะไปไหน แต่กระนั้นก็ยังไม่ 100% อยู่ดี
ประเด็นสำคัญอยู่ที่มีความเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย โรงเรียนในบางพื้นที่ที่ไม่เคยมีกรณีของโควิดเลย ก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ และหากคำนึงถึงว่าอัตราเด็กติดเชื้อนั้นต่ำกว่าผู้ใหญ่อย่างมากมาย การเปิดโรงเรียนในทุกจังหวัดทุกตำบลและหมู่บ้านพร้อมกันทั้งประเทศในวันที่ 1 ก.ค. จึงน่าทบทวนเพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างกัน
โรงเรียนเอกชนโดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาตินั้นมีมาตรฐานเกี่ยวกับความสะอาดและสาธารณสุขที่เข้มข้นอยู่แล้ว เพราะมีระบบการประกันคุณภาพโดยองค์การในระดับนานาชาติ ก็สมควรได้รับการพิจารณาเรื่องวันเปิดโรงเรียนด้วย
การที่ต้องเหมือนกันหมดเพื่อความสะดวกในการบริหารนั้นเปรียบเทียบไม่ได้เลยกับการเสียประโยชน์เรื่องสารอาหารของเด็ก การเสียประโยชน์ในการเรียนรู้จากการที่ต้องอยู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่มีการเรียนรู้ที่น้อยมาก เพราะไม่ใช่ระบบการเรียนออนไลน์ที่แท้จริง อีกทั้งไม่เชื่อว่ามีผู้ปกครองมากคนที่มีเวลาอุทิศให้เด็กเพราะต้องทำมาหากิน
การเรียนรู้แบบออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ มิใช่การถ่ายทอดการบรรยาย หรือการสอนบทเรียนในห้องเรียนสู่ผู้เรียนที่อยู่บ้าน ทุกวิชาที่ออนไลน์ต้องมีการพัฒนาตามรูปแบบที่ถูกต้องของมัน การเข้าใจว่าการสอนในห้องเรียนกับการสอนออนไลน์คือสิ่งที่ทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์นั้นคือการทำให้ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ของเด็กต่ำลงอย่างแท้จริง