'บุ๋ม ปนัดดา' กับบทบาทเพื่อเด็กและสตรีที่ทำมาตลอด 7 ปี
ชวนย้อนดูว่าตลอดระยะเวลา 7 ปี ของ "บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี" กับหน้าที่การเป็นกระบอกเสียงเพื่อเด็กและสตรี โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ "คดีข่มขืน"
#ถ้าไม่ฉลาดให้อยู่เงียบๆ วาทะเด็ดของ "บุ๋ม ปนัดดา" ตอบกลับ "ปารีณา ไกรคุปต์" ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จ.ราชบุรี กรณีการถูกพาดพิง จนบานปลายกลายเป็นสงครามโซเชียล (อะไรดี! บุ๋มก็ว่าดี เราจะมาเป็นนางสาวไทยเหมือนกันไม่ได้) ต้นตอของประเด็นเริ่มจากการวิจารณ์ข้อกฎหมายเกี่ยวกับ "คดีข่มขืน" ในประเทศไทย อย่างคดีคุกคามที่ยังไม่เกิดความรุนแรงที่ "บุ๋ม ปนัดดา" เรียกร้องให้กลายเป็นคดีอาญา
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนย้อนดูบทบาทในแต่ละช่วงเวลาของ "บุ๋ม ปนัดดา" ในการเป็นกระบอกเสียงต่อเด็กและสตรี โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขข้อกฎหมาย "คดีข่มขืน" ว่าที่ผ่านมาบุ๋มได้ทำอะไรไปบ้าง?
ต้องบอกใบ้ก่อนว่า นี่ไม่ใช่ดราม่าครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับชีวิต "บุ๋ม ปนัดดา" ในประเด็นของการแก้ข้อกฎหมาย "คดีข่มขืน" และไม่ใช่ปีแรกที่ บุ๋ม ปนัดดา เข้ามามีบทบาทเพื่อเด็กและสตรี
สรุป Timeline บุ๋ม ปนัดดา กับบทบาทเพื่อเด็กและสตรี
- 2557 : บุ๋ม ปนัดดาก่อตั้ง ‘องค์กรทำดี’ ร่วมกับเพื่อนในวงการบันเทิง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ผ่านการรับแจ้งทางเฟซบุ๊ค โดยช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม นั้นมีเหตุคดีพนักงานโบกี้รถไฟสายใต้ ข่มขืนเด็กหญิงวัย 13 ปีและทำให้เสียชีวิต "บุ๋ม ปนัดดา" จึงออกมาเรียกร้องต่อข้อกฎหมายเกี่ยวกับ ‘การข่มขืน’ ในประเทศไทย ทำให้เกิดกระแส และแฮชแทก #ข่มขืนต้องประหาร บนโลกโซเชียลมีเดียขึ้น หลังจากนั้น บุ๋มจึงเดินหน้าเชิญชวนคนไทยส่งสำเนาบัตรประชาชนเพื่อสนับสนุนเปลี่ยนบทลงโทษให้ผู้กระทำผิดโทษข่มขืนได้รับบทลงโทษที่สูงขึ้น
- 2558 : บุ๋ม ปนัดดายังคงเดินหน้าเรียกร้องและเปลี่ยนข้อกฎหมายคดีข่มขืน พร้อมทำหน้าที่ช่วยเหลือภายใต้ประธานองค์กรทำดี โดยให้ความสำคัญกับปัญหาของเด็กและสตรีเป็นปัญหาใหญ่ และยังเป็นผู้แจ้งเบาะแสและร่วมจับกุมจำเลยกรณีข่มขืนบุตรสาวของตัวเองต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 2 ปี
- 2559 : เกิดกรณี 4 เยาวชน "ข่มขืน" และทำให้หญิงสาวท้อง 3 เดือนเสียชีวิต ส่งผลให้ "บุ๋ม ปนัดดา" เปิดโต๊ะล่ารายชื่อประชาชน 1 แสนคน ที่สยามสแควร์ เพื่อยื่นต่อสภานิติบัญญัตินำสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายคดีเยาวชน ฆ่า-ข่มขืน ให้ยกเลิกการพระราชทานอภัยโทษ
- 2560 : "บุ๋ม ปนัดดา" ยังดำเนินการเรื่อง ‘กฎหมายข่มขืน’ ยื่นต่อสภานิติบัญญัติ และติดตามผล
- 2561 : ในนามองค์กรทำดี "บุ๋ม ปนัดดา" พาเหยื่อเคสหนึ่งที่ถูกหมอล่วงละเมิดทางเพศ เข้าร้องขอความเป็นธรรมและติดตามผลการโอนคดีให้กองปราบดูแล
- 2562 : ดำเนินเรื่องเปลี่ยนกฎหมายด้านเพศในประเทศไทยให้เป็นคดีอาญา และติดตามผล
- 2563 : "บุ๋ม ปนัดดา" ได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ