หนังวิบัติภัยหายนะ (1)

หนังวิบัติภัยหายนะ (1)

 เล่าเรื่องหนัง ‘ดิสโทเปีย’ กับอนาคตโลกที่น่าหดหู่ไปหลายเรื่อง ในมุมมองของนักสร้างหนัง นักคิด นักเขียน มักมองถึงสังคมโลกและชาวโลกอย่างเราว่า คงจะอยู่ในโลกอับเฉาแน่ หากวันนี้เราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อโลกบ้าง...

หนังก็คือหนัง ดูแล้วก็ปล่อยวางทิ้งไป กลับมาใช้ชีวิตเดิม ๆ เรามักคิดว่าหนังคือเรื่องสมมุติ โดยเฉพาะโลกในอีกหลายปีข้างหน้า มันจะแย่จนเกิดสงครามทำลายล้างกันหรือ...ไม่จริงหรอก หรือเกิดไวรัสระบาดคนตายมากกว่าคนอยู่ หรือติดเชื้อจนเป็นแวมไพร์...นั่นก็นิยายเกินไป หรือเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมโลก ก็ไม่น่าถึงขนาดนั้น อาจแค่หมีขั้วโลกตัวเล็กลงไม่มีจะกิน หรือสูญพันธุ์เพราะหิมะละลาย เพนกวินขั้วโลกใต้อาจลดจำนวนลงจากน้ำทะเลกระเถิบลึกเข้าไปในแผ่นดิน จนพวกมันไม่มีที่อยู่ ทุกอย่างดูเป็นเรื่องไกลตัว มนุษย์มักหาทางออกด้วยการโยนความผิดให้คนอื่น เพราะง่ายดี จะได้ไม่ต้องรับผิดชอบต่อโลก!

159145605492

   Paul Newman ใน The Towering Inferno (ภาพ Warner Bros.)      

งั้นมาดู หนังภัยพิบัติ หรือ Disaster Movie กันให้ระคายใจดูบ้าง หนังประเภทพายุถล่ม แผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม ฯลฯ หลายเรื่องสร้างจากเหตุการณ์ที่เกิดมาแล้ว บ้างก็คิดมโนให้เหตุนั้นรุนแรงหนัก (เผื่อจะกลัว ๆ กันบ้าง) เข้าประเภทหนังภัยพิบัติ-หายนะโลก ในตอนนี้เลือกหยิบหนังหายนะ ที่แม้ไม่ได้เกิดขึ้นจริงแต่ก็ใกล้เคียง หรือมีแนวโน้มว่าจะเกิด ผลมาจากการทำร้ายธรรมชาติมากเกินไป เอาเรื่องแต่ง ๆ อ้างอิงจากเค้าโครงเรื่องจริงมาให้ชมก่อน ใคร WFH ก็สตรีมมิ่งภาพยนตร์เหล่านี้มาชมกัน

ที่จริงหนังประเภทภัยพิบัติ เขาสร้างกันมาตั้งแต่ยุคหนังเงียบแล้ว ไม่มีเทคนิค CG นี่แหละ ยุคแรก ๆ ส่วนใหญ่เป็นหนังภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์มากกว่าธรรมชาติลงโทษ เช่น ยุคหนังเงียบ เรื่อง Fire! เป็นหนังอังกฤษ สร้างปี 1901

159145612537

   Steve McQueen เล่นเป็นนักดับเพลิง Paul Newman เป็นสถาปนิกใน 'ตึกนรก'      

หนังภัยพิบัติธรรมชาติแกล้ง เกิดมาพร้อมกับยุคสร้างหนัง แต่ถ้าจัดกลุ่มหนังภัยพิบัติจากฝีมือมนุษย์ ยุคที่โด่งดังที่สุดคือช่วงทศวรรษ 70s ถือเป็นยุคทองของหนังหายนะเลย ใครเป็นนักดูหนังคงจำได้ว่ามีหนังฮอลลีวู้ดที่ลงท้ายชื่อเรื่องว่า “นรก” และ “มรณะ” หรือ “มฤตยู” หลายเรื่องเข้ามาฉายเมืองไทย เช่น ตึกนรก The Towering Inferno (1974) หนังรวมดาราดังเพียบ Steve McQueen, Paul Newman, Faye Dunaway, Fred Astaire ฯลฯ เมื่อคนสร้างตึกลดสเป็คเดินสายไฟและแผงป้องกันไฟต่าง ๆ ทำให้เกิดไฟลัดวงจร ตึกกระจกเปิดใหม่สูง 138 ชั้น เกิดไฟไหม้ที่ชั้น 81 หายนะตึกนรกจึงเกิดจากฝีมือคน หนังทำรายได้ 116.4 ล้านยูเอส จากงบลงทุน 14 ล้าน มาดูอีกทีก็ไม่เชย เมื่อนักดับเพลิง (McQueen) บอกกับสถาปนิก (Newman) ว่าทำไมชอบสร้างตึกสูง รู้มั้ยว่าน้ำดับเพลิงฉีดไปถึงแค่ชั้น 7 (ยุคนั้น) แม้ถึงยุคนี้ไฟไหม้ตึกสูงก็เป็นเรื่องน่ากลัว

159145620563

   The Poseidon Adventure (ภาพ 2oth Century Fox)        

เวลาผ่านไปคนก็ถามว่าเรื่อง “ตึกนรก” มีจริงมั้ย (ไม่นับเหตุการณ์ 911) ก็มีผู้ไปสืบเสาะมาบอกว่า ตึกสูงถูกไฟไหม้ที่เป็นข่าวดังคืออาคาร Joelma อยู่ในเมือง Rua Santo Antonio ในโปรตุเกส ที่เกิดไฟไหม้บนอาคารสูง 25 ชั้น แต่ในหนังตึกสูงร้อยกว่าชั้น น่ากลัวกว่าเยอะ...

อีกเรื่องคือ เรือนรก The Poseidon Adventure (1972) หนังตระกูล “นรก” ที่ดังมาก ทำรายได้ 93.3 ล้านยูเอส จากงบประมาณ 4.7 ล้านยูเอส เรือสำราญล่องมหาสมุทรไปกรีก เจอแผ่นดินไหวกลางทะเลทำให้เกิดสึนามิ เรือพลิกคว่ำหงายท้องขึ้น ผู้รอดชีวิตพยายามหาทางออกจากเรือกลับหัว ดารานำคือGene Hackman

หนังตระกูล Poseidon เริ่มแรกมาจากหนังสือของนักเขียน Paul Gallico เมื่อเรื่องแรกประสบความสำเร็จจึงมีเวอร์ชั่นอื่นออกตามมา เช่น Beyond the Poseidon Adventure (1979) คนสร้างอยากให้นักเขียนปรับโครงเรื่องใหม่เพื่อสร้างหนัง แต่ยังไม่ทันเขียนเสร็จดี นักเขียน Paul ก็ตายไปเสียก่อน แต่หนังสือวางแผงเมื่อปี 1978 น่าเสียดายหนังขาดทุน ไม่สนุกเหมือนภาคแรก

ต่อมาก็มี The Poseidon (2005) ออกฉายทางทีวี เรือสำราญล่องจากเคปทาวน์ไปซิดนีย์ มีผู้ก่อการร้ายจะวางระเบิดเรือ มาสร้างอีกทีเรื่อง Poseidon (2006) กลับไปพล็อตเดิมคือเรือสำราญเจอคลื่นยักษ์

159145630159

     Airport (ภาพ Universal Pictures)     

ที่ว่ายุคทองของหนังหายนะ เรื่องแรก ๆ คือ Airport (1970) หรือ “เที่ยวบินมฤตยู” ทำรายได้ถล่ม 100 ล้าน จากงบ 10 ล้าน คำนวณกันว่าถ้าเทียบค่าเงินกับปี 2017 คือ 590 ล้านยูเอส หนังรวมดาราดังยุคโน้น ได้แก่ Burt Lancaster, Dean Martin, Jacqueline Bisset เมื่อเหตุระทึกขวัญเกิดขึ้นในสนามบิน หิมะตกหนักที่สนามบินนานาชาติลินคอล์น ในชิคาโก้ เครื่องโบอิ้ง 707 กับลูกเรือติดอยู่บนแท็กซี่เวย์เพราะล้อติดหิมะ ในขณะเดียวก็มีเครื่องบินอีกเครื่องกำลังบินพร้อมผู้ก่อการร้ายจะวางระเบิด เจ้าหน้าที่ต้องแก้ไขสถานการณ์ ความคับขัน ตึงเครียด และการเอาชีวิตรอด ทำให้หนังแนวที่คนกำลังจะตาย กำลังดิ้นรนเอาชีวิตรอด สนุกแบบระทึกขวัญ ดูไปลุ้นไป

159145634838

     Airport     

ยุคนั้นจะเรียกว่าหนังแฟรนไชส์เพราะมีภาคต่อของ Airport ออกมาอีกหลายเรื่อง เช่น Airport 1975, Airport’ 77 และ The Concorde Airport’ 79 ซึ่งเรื่องแรกทำรายได้ดีที่สุด

ยังมีหนังหายนะชวนชมให้ดูเป็นแง่คิดอีกหลายเรื่อง ยังไม่พูดถึงภูเขาไฟระเบิด เฮอริเคน น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ

เป็นหนังธรรมชาติลงโทษให้ดูไปคิดไป ภาวนาอย่าให้ถึงวันนั้น!