ค่า SPF ใน 'ครีมกันแดด' คืออะไร? รู้ไว้ก่อนพกไป 'เที่ยวทะเล'

ค่า SPF ใน 'ครีมกันแดด' คืออะไร? รู้ไว้ก่อนพกไป 'เที่ยวทะเล'

ก่อนจะไปปักหมุด "เที่ยวทะเล" ชวนขาเที่ยวมารู้จักวิธีเลือก "ครีมกันแดด" ที่มีสิทธิภาพดีที่สุดในการปกป้องผิวจากรังสียูวี พร้อมทำความเข้าใจเรื่องค่า SPF ใน "ครีมกันแดด" ว่าทำไมถึงสามารถป้องกันผิวไหม้จากแสงแดดได้

นับตั้งแต่ ศบค. ประกาศผ่อนคลายล็อคดาวน์ในระยะที่ 4 และ 5 ซึ่งทำให้สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ รวมถึงศูนย์การค้า ร้านค้า ร้านอาหาร และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ก็ทยอยเปิดให้บริการได้แล้ว จึงเห็นภาพคนไทยเริ่มท่องเที่ยวอีกครั้ง โดยเฉพาะคนที่ชอบ “เที่ยวทะเล” แม้ช่วงนี้จะหน้าฝน แต่ก็มีชายหาดหลายแห่งเปิดให้เที่ยวได้แล้ว แต่ก่อนจะเดินทางไป “เที่ยวทะเล” กลางแดดจ้า สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมักจะพกติดตัวไปด้วย (และต้องใช้ก่อนออกจากบ้าน) ก็คือ “ครีมกันแดด”

เราใช้ “ครีมกันแดด” กันทุกวัน แต่บางคนก็อาจจะยังไม่รู้ว่าครีมกันแดดที่ใช้อยู่นั้นมีประสิทธิภาพในการปกป้องผิวได้มากน้อยแค่ไหน และข้อมูลบางอย่างที่ระบุอยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์อย่าง ค่า “SPF” และ ค่า “PA+++” รู้หรือเปล่าว่ามันหมายถึงอะไร? และความสำคัญยังไง?

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปเจาะลึกเรื่อง “ครีมกันแดด” กันสักหน่อยเพื่อที่จะได้รู้วิธีใช้ให้ถูกต้อง พร้อมแนะนำวิธีเลือกซื้อ “ครีมกันแดด” ให้เหมาะกับลักษณะผิวของแต่ละคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

  • รังสี UV ในแสงแดดคืออะไร?

รังสียูวีมีผลกระทบต่อผิวหนังค่อนข้างมาก สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามช่วงความยาวคลื่น ได้แก่

1. รังสี UV-A (ความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 320–400 nm)  สามารถทะลุผ่านผิวหนังถึงชั้นหนังแท้ เข้าไปทำลายเนื้อเยื่อคอลลาเจนและเส้นใยอิลาสติก ทำให้เซลล์ผิวเกิดภาวะแก่ก่อนวัย

2. รังสี UV-B (มีช่วงความยาวคลื่น 290–320 nm) เมื่อได้รับเป็นเวลานานจะทำให้ผิวหนังบวมแดง พองและลอกออก เกิดอาการไหม้แดด (sunburn) และเมื่อได้รับรังสีอย่างต่อเนื่อง ก็อาจพัฒนาให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้

159317111648

  • “ครีมกันแดด” ป้องกันผิวจากรังสี UV ได้ยังไง?

ในผลิตภัณฑ์กันแดดประกอบด้วยสารที่ทำหน้าที่ป้องกันรังสี UV ซึ่งสารดังกล่าวสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามคุณสมบัติในการป้องกันรังสี UV ได้ดังนี้

1. ป้องกันรังสี UV โดยการดูดซับรังสี สารกลุ่มนี้จะเคลือบอยู่บนผิวหนังแล้วดูดกลืนรังสี UV ไว้ ทำให้รังสี UV ไม่สามารถทะลุผ่านเข้ามาทำอันตรายต่อผิวหนัง หลังจากนั้นจึงค่อยๆ คายพลังงานออกมาในรูปรังสีที่ไม่เป็นอันตราย โดยมีทั้งกลุ่มสารดูดซับรังสี UV-A  และกลุ่มสารดูดซับรังสี UV-B จุดเด่นคือ สามารถป้องกันรังสี UV ได้ดี เพราะสามารถดูดกลืนรังสีไว้ได้ทั้งหมด แต่มีโอกาสเกิดการแพ้ได้ เพราะสารบางส่วนสามารถซึมผ่านชั้นผิวหนังและเกิดอาการแพ้ได้

2. ป้องกันรังสี UV โดยการสะท้อนรังสี สารกลุ่มนี้จะเคลือบอยู่บนผิวหนังแล้วทำการสะท้อนหรือกระจายรังสี UV เสมือนเป็นร่มให้กับผิวหนัง จึงสามารถป้องกันรังสี UV ได้  จุดเด่นของสารกลุ่มนี้ คือ ไม่ถูกดูดซึมผ่านผิวหนังจึงมีความปลอดภัยสูงกว่ากลุ่มแรก และมีโอกาสเกิดการแพ้ได้น้อย แต่มีข้อด้อยคือ สารกลุ่มนี้มีขนาดอนุภาคที่ค่อนข้างใหญ่ เมื่อทาที่ผิวจะเกิดการสะท้อนแสง ทำให้เกิดปื้นขาวบริเวณที่ทาและแลดูไม่เป็นธรรมชาติ แต่สมัยนี้ถูกพัฒนาสูตรให้อนุภาคเล็กลง แก้ปัญหาปื้นขาวได้ดี

  • ค่า SPF และค่า PA++ ใน “ครีมกันแดด” คืออะไร?

ผลิตภัณฑ์กันแดดแต่ละตัว จะมีความสามารถในการป้องกันแดดได้แตกต่างกัน จึงได้มีการกำหนดค่าชี้วัดประสิทธิภาพในการป้องกันแดดที่สำคัญเอาไว้ คือ

1. SPF (Sun Protection Factor)

SPF คือ ค่าที่วัดประสิทธิภาพในการป้องกันการไหม้แดงของผิวหนังที่เกิดจากรังสี UV-B โดยใช้ตัวเลขแสดงระดับของประสิทธิภาพและความสามารถในการดูดซับรังสี UV-B เช่น SPF 15 ดูดซับ UV-B ได้ 93% , SPF 30 ดูดซับ UV-B ได้ 96% , SPF 50 ดูดซับ UV-B ได้ 98% อย่างไรก็ตามค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV-B ได้ไม่แตกต่างกันมากนัก

2. PFA (มักมีเรตติ้งในรูปแบบ PA++)

PFA (Protection Factor of UV-A) คือ ค่าที่วัดประสิทธิภาพในการป้องกันอาการดำคล้ำของผิวหนังที่เกิดจากรังสี UV-A โดยสัญลักษณ์ในการแสดงระดับของประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV-A มีทั้งแสดงในรูปแบบของ PA++ หรือ ดอกจัน (*)

159317111684

  • ค่า SPF และค่า PA++ แค่ไหนถึงจะดี?

มีข้อมูลจากบทความวิชาการของหน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุถึงการวัดระดับประสิทธิภาพของ SPF และ PA++ ใน “ครีมกันแดด” เอาไว้ดังนี้

1. ค่า SPF 2-15   หมายถึง ดูดซับรังสี UV-B ได้ 50-93%

2. ค่า SPF 15-30 หมายถึง ดูดซับรังสี UV-B ได้ 93-96%

3. ค่า SPF 30-50 หมายถึง ดูดซับรังสี UV-B ได้ 96-98%

ส่วนประสิทธิภาพของค่า PFA ได้แก่

1. ค่า PA+ (หรือ *)       หมายถึง ป้องกัน UV-A ได้ต่ำ

2. ค่า PA++ (หรือ **)    หมายถึง ป้องกัน UV-A ได้ปานกลาง

3. ค่า PA+++ (หรือ ***) หมายถึง ป้องกัน UV-A ได้สูง

4. ค่า PA++++  หมายถึง ป้องกัน UV-A ได้สูงมาก

  • “ครีมกันแดด” แบบกันน้ำช่วยป้องกันแดดได้แค่ไหน?

ผลิตภัณฑ์กันแดดบางชนิด ระบุคุณลักษณะพิเศษในการกันน้ำ (water resistance) เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคทราบว่า ผลิตภัณฑ์กันแดดประเภทนี้ยังคงสภาพ SPF ตามที่กำหนดเมื่อทาผลิตภัณฑ์แล้วมีการแช่น้ำ ซึ่งความสามารถในการกันน้ำ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ

1. Water resistance product  คือ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถคงสภาพ SPF ได้ตามที่กำหนด หลังจากแช่น้ำนาน 40 นาที

2. Very water resistance product  คือ ผลิตภัณฑ์ที่ยังคงสามารถคงสภาพ SPF ได้ตามที่กำหนด หลังจากแช่น้ำนาน 80 นาที

  • “ครีมกันแดด” ไม่ได้มีแค่แบบครีมเท่านั้น

ผลิตภัณฑ์กันแดดในท้องตลาด มีรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน สำหรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่นิยมใช้กัน ได้แก่

1. รูปแบบอิมัลชัน ได้แก่ ครีม โลชัน เป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุด มีความหนืดที่แตกต่างกันไป ข้อดีคือ มีความสามารถในการกระจายตัวบนผิวได้ดี รวมทั้งเคลือบและยึดติดบนผิวได้ดี แต่ข้อเสียคือความเหนอะหนะค่อนข้างมาก

2. รูปแบบเจล ข้อดีคือเนื้อผลิตภัณฑ์ใส น่าใช้ ซึมซาบง่าย แต่ข้อเสียคือมักมีราคาแพง และฟิล์มที่เกิดจากเจลสามารถถูกชะออกโดยน้ำหรือเหงื่อได้ง่าย ทำให้สูญเสียประสิทธิภาพในการกันแดด

3. รูปแบบแอโรซอล (ฉีดพ่นหรือสเปรย์) ข้อดีคือใช้กับผิวหนังบริเวณกว้างได้ง่าย แต่ข้อเสียคือ มักเกิดฟิล์มกันแดดที่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ประสิทธิภาพในการกันแดดลดลง

159317187386

  • วิธีใช้ “ครีมกันแดด” ให้ถูกต้อง

รู้หรือไม่? การใช้ครีมกันแดดที่ถูกวิธี จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์กันแดดสามารถป้องกันรังสี UV ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้ผิวพรรณปลอดภัยได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้

1. ควรทาผลิตภัณฑ์กันแดดอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน แต่หากต้องการให้ได้ผลในการป้องกันผิวจากแสงแดดมากที่สุด แนะนำให้ทาผลิตภัณฑ์กันแดดทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะเวลาที่มีเหงื่อออก หรือหลังจากว่ายน้ำ หรือเช็ดตัว

2. ควรทาให้เป็นฟิล์มเคลือบบนผิวให้สม่ำเสมอ และปกคลุมทั่วผิว แต่ไม่ต้องถูนวด

3. ทาผลิตภัณฑ์กันแดดในปริมาณที่เหมาะสมกับบริเวณของร่างกายที่สัมผัสกับแสงแดด เช่น จมูก ใบหู โหนกแก้ม เป็นบริเวณที่สัมผัสแสงแดดได้มากกว่าบริเวณอื่น จึงอาจต้องทาในปริมาณมากขึ้น

4. หลีกเลี่ยงบริเวณรอบดวงตาหรือเนื้อเยื่ออ่อน เพราะอาจเกิดการระคายเคืองหรือแพ้ได้ง่าย

5. ควรทาก่อนออกแดดประมาณ 20 – 30 นาที เนื่องจาก ผลิตภัณฑ์ต้องใช้เวลาในการจัดเรียงตัวและปกคลุมผิวหนัง

  • วิธีเลือกซื้อ “ครีมกันแดด” ให้เหมาะกับสภาพผิว

มีข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า การเลือกซื้อครีมกันแดดควรเลือกชนิดที่ป้องกันแสงแดดและรังสียูวี ได้ทั้งรังสี UV-A และ UV-B และควรมีการระบุค่า SPF 30 ขึ้นไป และควรเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะของผิวพรรณ ดังนี้

1. ผิวมัน เป็นสิวง่าย : ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่เป็นเนื้อโลชั่นหรือเจล เพราะไม่ทำให้เหนียวเหนอะหนะบนใบหน้า

2. ผิวแห้ง : ควรเลือกใช้กันแดดชนิดครีม เพราะครีมมีส่วนที่เป็นน้ำมันบำรุงช่วยให้ผิวชุ่มชื้น และไม่ควรใช้ชนิดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งทำให้ผิวแห้ง

3. ผิวแพ้ง่าย : ควรเลือกใช้กันแดดที่มีเนื้อบางเบา และต้องเป็นสูตรอ่อนโยนสำหรับผิวแพ้ง่ายโดยเฉพาะ

------------------------------

อ้างอิง : คณะเภสัชศาสตร์ มหิดล, สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์