อุทาหรณ์ 'ฌอน' ช่วยไฟป่า ข้อควรรู้ ‘รับบริจาค’ อย่างไรให้ถูกกฎหมาย
สายบุญต้องรู้ บทเรียนจากเคส "ฌอน บูรณะหิรัญ" ไลฟ์โค้ชคนดังยังแจงไม่ชัดเรื่องเงิน "รับบริจาคช่วยไฟป่า" ทราบหรือไม่ว่า การจะเปิดรับบริจาค หรือเรี่ยไรใดๆ ต้องทำอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น!!
ดราม่า ฌอน บูรณะหิรัญ ไลฟ์โค้ชชื่อดัง กับคลิปวิดีโอ “ผมไปปลูกป่ากับท่านประวิตร” กลายเป็นไวรัลที่มีผู้คนเข้าไปแสดงความคิดเห็นกันอย่างล้นหลาม ล่าสุดประเด็นได้บานปลายไปถึงเหตุการณ์ในอดีตเกี่ยวกับการเปิด "รับบริจาค" เงินเพื่อสนับสนุนการทำงานช่วยดับไฟป่าเชียงใหม่ของฌอนออกมาอย่างต่อเนื่อง
การเปิด "รับบริจาค" ของฌอนนั้นเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 จนถึง 1 พฤษภาคม 2563 เป็นเงินจำนวน 875,741.53 บาท เพื่อช่วยเหลือในการดับไฟป่าในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่
ทั้งนี้สราวุฒิ วรพงษ์ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ เปิดเผยว่าเมื่อตรวจสอบการเปิดรับบริจาคดังกล่าว พบว่า ไลฟ์โค้ชคนดังไม่ได้มายื่นขออนุญาตทำการเรี่ยไร ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่แต่อย่างใด การเปิด "รับบริจาค" ดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนอ่านข้อควรรู้ก่อนเปิดรับบริจาค และวิธีการตรวจสอบก่อนทำการบริจาคเงินหรือสิง่ของ เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 'แหม่มโพธิ์ดำ' เปิดข้อความทีมดับไฟป่าเชียงใหม่ ถึง 'ฌอน บูรณะหิรัญ'
- 'แหม่มโพธิ์ดำ' จี้ซ้ำ 5 คำถาม 'ฌอน บูรณะหิรัญ' ปมเงินบริจาคดับไฟป่า
- จากดราม่า 'ฌอน บูรณะหิรัญ' สู่คำถาม ‘ไลฟ์โค้ช’ ทำไมมีรายได้เป็นล้าน!?
- พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร 2487
การเปิด "รับบริจาค" แบบถูกกฎหมายนั้นจะต้องอยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 ที่ระบุว่า "การเรี่ยไร" หมายความรวมตลอดถึงการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการ ซึ่งมีการแสดงโดยตรงหรือโดยปริยาย ว่ามิใช่เป็นการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการธรรมดา แต่เพื่อรวบรวมทรัพย์สินที่ได้มาทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นด้วย
โดยการขออนุญาตทำการเรี่ยไรในที่สาธารณะ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อโทรทัศน์ จะต้องได้รับอนุญาตจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รวมถึงต้องระบุวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน กำหนดวิธีการที่จะทำการเรี่ยไร จำนวนเงินที่ต้องการเรี่ยไร และสถานที่ที่ทำการเรี่ยไร รวมทั้งผู้ที่ได้รับอนุญาตจะไม่สามารถเดินไปขอเรี่ยไรตามหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะได้ นอกเหนือจากที่ขออนุญาตไว้ ตลอดจนกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการเรี่ยไรและระยะเวลาสิ้นสุดไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้การ "ขอทาน" นั้นไม่จัดอยู่ใน พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 แต่จะอยู่ในหมวดพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน 2559
- วิธีขออนุญาตจัดเรี่ยไรหรือ "รับบริจาค"
การขออนุญาตทำการเรี่ยไรในที่สาธารณะต้องได้รับอนุญาตจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการประชาชนวังไชยา ถนนนครสวรรค์ เขตดุสิต กทม. และสำหรับต่างจังหวัด สามารถติดต่อได้ที่ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง
เอกสาร/หลักฐานที่ใช้ได้แก่
- รูปถ่ายหน้าตรง ขนาด 6x4 เซนติเมตร ไม่สวมหมวกและไม่สวมแว่น จำนวน 7 รูป
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือสำเนาหนังสือสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ข้อความซึ่งจะนำออกโฆษณา หากเป็นภาษาต่างประเทศให้เสนอคำแปลอันถูกต้องเป็นภาษาไทย จำนวน 2 ชุด
- สำเนาใบอนุญาตจัดให้มีการเรี่ยไร (แบบ ร.3) หรือใบอนุญาตทำการเรี่ยไร (แบบ ร.4)
- หลักฐานเอกสารแสดงรายละเอียดการจัดให้มีการเรี่ยไรที่ผ่าน
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากที่จะเก็บเงิน หรือเก็บเงินที่เรี่ยไรได้
- เอกสารหลักฐานรับรองความประพฤติจากหน่วยงานต้นสังกัดหรือบุคคลที่เชื่อถือได้
- โครงการ แผนผังแสดงสถานที่ตั้ง จัดให้มีการเรี่ยไร และภาพถ่าย
- หนังสืออนุญาตจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ใช้เป็นสถานที่จัดให้มีการเรี่ยไร ตาม (9) ถ้ามี
- ใบรับรองแพทย์
โดยคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตคือ
1. มีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
2. ไม่เป็นบุคคลผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
3. ไม่เป็นโรคติดต่อน่ารังเกียจ
4. ไม่เคยต้องโทษฐาน ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ รับของโจร
5. ไม่เป็นบุคคลที่เจ้าหน้าที่พนักงานเห็นว่ามีความประพฤติหรือหลักฐานไม่น่าไว้วางใจ
- ข้อห้ามการจัดทำเรี่ยไรหรือ "รับบริจาค"
การจัดรับบริจาคเงินหรือเรี่ยไรที่กรมการปกครองห้ามทำ คือ
1. การเรี่ยไรเพื่อรวบรวมทรัพย์สินมาให้หรือชดใช้แก่จำเลยเพื่อใช้เป็นค่าปรับ เว้นแต่จะเป็นการเรี่ยไรระหว่างวงศ์ญาติของจำเลย
2. เรี่ยไรโดยกำหนดเก็บเงินหรือทรัพย์สิน โดยคำนวณตามปริมาณสินค้า
3. เรี่ยไรที่ส่งผลถึงความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
4. เรี่ยไรที่กระทบอย่างรุนแรงกับความสัมพันธไมตรีต่างประเทศ
5. เรี่ยไรเพื่อจัดยุทธภัณฑ์ให้แก่ต่างประเทศ
ทั้งนี้มีการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตคือ ทางกระทรวงเป็นผู้ให้จัดเรี่ยไรคนในชุมชนเพื่อการกุศลประกอบศาสนกิจ และการเรี่ยไรในการออกร้านขายของภายใต้การได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย
- "รับบริจาค" แบบผิดกฎหมาย มีโทษอะไรบ้าง?
สำหรับใครที่ไม่ขออนุญาตเพื่อ "รับบริจาค" ตามที่กรมการปกครอง และ พ.ร.บ. ควบคุมการเรี่ยไร 2487 กำหนดไว้นั้น จะมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
รวมถึงถ้ามีการใช้ถ้อยคำบังคับขู่เข็ญเพื่อให้ประชาชนบริจาค ทำให้เกิดความหวาดกลัวหรือเกรงกลัว มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี
แต่ถ้าเข้าข่ายกรณีที่มีการหลอกลวงหรือมีเจตนาในการฉ้อโกง ก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 หรือมาตรา 343 (แล้วแต่กรณี) จะโดนปรับไม่เกิน 100,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 5 ปี
- เช็คอย่างไรให้ชัวร์ ก่อนร่วม "บริจาคเงิน"
สำหรับคนที่กังวลเกี่ยวกับมิจฉาชีพ ก่อนที่เราจะตัดสินใจบริจาคเงินนั้น วิธีป้องกันด่านแรก คือ การขอดูใบอนุญาตเรี่ยไร ซึ่งพ.ร.บ. ควบคุมการเรี่ยไร 2487 กำหนดให้ผู้ทำการเรี่ยไรมีหน้าที่จะต้องแสดงใบอนุญาตทำการเรี่ยไรต่อเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลผู้ประสงค์จะเข้าร่วมบริจาคให้มีสิทธิ์ในการตรวจดู เมื่อเจ้าหน้าที่หรือบุคคลนั้นเรียกร้อง
ใบอนุญาตเรี่ยไรแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- ประเภท ร.3 เป็นใบอนุญาตจัดให้มีการเรี่ยไร โดยหัวหน้าหน่วยหรือประธานมูลนิธิเป็นคนขอ ในใบจะระบุว่าเรี่ยไรเพื่อวัตถุประสงค์ใด จำนวนเงินที่จะเรี่ยไร วิธีทำการเรี่ยไร วันเวลาที่อนุญาตให้ทำการเรี่ยไรและวันหมดอายุ เป็นต้น
- ประเภท ร.4 เป็นใบอนุญาตให้ทำการเรี่ยไร จะระบุรายละเอียดที่อนุญาตให้ทำการเรี่ยไร
ทั้งนี้ถ้าเป็นการเรี่ยไรโดยแต่งตั้งตัวแทนเพื่อทำการเรี่ยไร คนที่มาทำการเรี่ยไรแทนจะต้องมีรายชื่อในใบอนุญาตเท่านั้น ใบอนุญาตทั้งหมดที่กล่าวมาจะต้องใช้เอกสารตัวจริงเท่านั้นห้ามใช้สำเนาหรือถ่ายเอกสารสี
ข้อสังเกตอีกอย่าง คือ ใบอนุญาตมีลักษณะเป็นกระดาษผิวมัน สีขาว ขนาดเท่ากระดาษ A4 มีตราครุฑสีทองลักษณะเป็นตัวนูนอยู่ที่หัวกระดาษ รวมถึงให้สังเกตรอยตรงยางสีแดงของคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรบนรูปถ่ายของผู้ได้รับอนุญาตกับแผ่นกระดาษใบอนุญาต ว่าเป็นการประทับในครั้งเดียวกันหรือไม่ หากพบเจอว่าผู้รับบริจาคหรือเรี่ยไรไม่มีใบแสดงตนอาจจะเข้าข่ายการหลอกลวง
โดยประชาชนสามารถร้องเรียนได้ที่หมายเลขสายด่วน 191 หรือ สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 และ 1155 (ศปอส.ตร.)
-----------------------------
อ้างอิง : ศูนย์บริการข้อมูลประชาชนกรมการปกครอง