‘สัมภาษณ์งาน’ อย่างไร...ให้ได้งาน กับ 10 ความผิดพลาดที่พบบ่อย!
เปิด 10 ความผิดพลาดที่พบบ่อยในการ “สัมภาษณ์งาน” ที่จะทำให้ไม่ได้งาน แม้ว่าความต้องการในบางอุตสาหกรรมจะมีตำแหน่งงานที่ว่างอยู่มาก แต่ก็ไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน
การเตรียมตัวตอบคำถามในการสัมภาษณ์งานเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม! แม้ในวิกฤติโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการว่างงานที่เพิ่มขึ้น แต่ในบางภาคอุตสาหกรรมยังมีความต้องการแรงงานอยู่ ดังนั้นนักศึกษาที่เริ่มต้นสมัครงานและได้ถูกเชิญให้ไปสัมภาษณ์ ต้องเตรียมความพร้อมในการสัมภาษณ์งาน! เพราะเมื่อคุณได้ทราบถึงแนวทางการถาม คุณจะสามารถเตรียมคิดคำตอบไว้ล่วงหน้า เพื่อตอบคำถามในสถานการณ์จริงได้อย่างมั่นใจ
บทความฉบับก่อนได้กล่าวถึง "10 คำถามที่พบบ่อยในการสัมภาษณ์งาน" คราวนี้เรามาดู ความผิดพลาด! ที่พบบ่อยในการสัมภาษณ์งาน มีอะไรบ้าง?
- 10 ความผิดพลาดที่พบบ่อยในการสัมภาษณ์งาน
1.หาจุดแข็งตัวเองไม่เจอ เรียนจบมาไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ถนัดอะไร ที่เรียนจบมาก็จบมาแบบงงๆ เดินไปสมัครงานก็เลยไปแบบงงๆ
2.ไม่เตรียมตัวทำข้อสอบ บริษัทนั้นเขาทำอะไร มีการสอบข้อเขียนอะไรก่อนที่จะสอบสัมภาษณ์ไหม ทำให้พอไปเจอการสอบข้อเขียน ก็จอดตั้งแต่ยกแรกเลยทีเดียว
3.แต่งตัวไม่เหมาะสม สำหรับการแต่งกายเลือกเสื้อผ้าสีสุภาพ เช่น ขาวดำ หรือว่าสูทสีน้ำเงิน จะเพิ่มความมืออาชีพให้แก่คุณได้ คุณผู้หญิงพยายามแต่งหน้าเบาๆ เน้นใช้สีสุภาพ เช่น สีน้ำตาล สีส้ม หรือสีชมพูอ่อน แต่ถ้าคิดว่า ความสามารถมันไม่เกี่ยวกับการแต่งตัว แต่มันก็เชื่อมโยงถึงวุฒิภาวะได้แน่นอน
4.อีโก้สูง พูดโอ้อวดจนเกินงาม ภาษิตโลกดิจิทัล “Attitude เป็นเอก Communication เป็นโท Ego เป็นตรี” ดังนั้น ถ้านำอีโก้เป็นเอก บริษัทก็ไม่อยากรับเข้ามาถึงจะเก่งแสนเก่งแต่ก็จะไปป่วนทีมงานได้
5.ขาดความมั่นใจในตัวเอง พูดมากเกินไปก็ไม่ดี แต่พูดน้อยเกินไปก็ไม่ดีเช่นกัน การนิ่ง เงียบ ไม่แสดงความคิดเห็นพวกนี้ตรงข้ามกับพวกอีโก้สูง แน่นอนว่าคนเราจะให้บอกว่าตัวเองเก่งหรือเจ๋ง ก็คงจะแปลกๆ แต่การพูดว่าตัวเองไม่เก่ง ดีไม่พอ หรือถ่อมตัวมากเกินไป อาจทำให้คุณดูด้อยกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ คุณอาจจะแสดงความเห็นในเรื่องที่คุณไม่เก่ง ได้โดยพูดว่า เรื่องนี้อาจจะไม่ถนัดถนัด แต่พร้อมจะเรียนรู้ครับ
6.พาออกนอกเรื่อง ตอบไม่ตรงคำถาม คำถามไหนหากตอบไม่ได้ ให้ตอบไปอย่างตรงไปตรงมา อย่าแถเอาสีข้างเข้าถู
7.ขาดไหวพริบในการแก้ไขปัญหา เมื่อเจอคำถามทดสอบไหวพริบ ให้ตั้งสติ แล้วขอให้ผู้สัมภาษณ์ทวนคำถามให้ใหม่ เพื่อถ่วงเวลาในการคิดคำตอบ เพราะบางครั้งการแก้ไขปัญหามันไม่ใช่เรื่องของ “วิธีการแก้ไขปัญหา” แต่อยู่ที่ “ต้นเหตุ” ของปัญหา
8.เกลียดงานที่ทำอยู่ หรือโวยปัญหาที่ทำงานเก่าเหตุผลสำหรับการหางานใหม่ สำหรับคนที่ทำงานอยู่แล้ว มันควรเป็นเรื่องความก้าวหน้าที่มากขึ้น อย่าเหยียบใครเพื่อให้ตัวเองดูดีครับ…เพราะนั่นเป็นการฆ่าตัวตายต่อหน้าผู้สัมภาษณ์ชัดๆ
9.โครงการด้านการศึกษาในอนาคต ควรจะพยายามแสดงว่าสนใจในเรื่องงานมากกว่า หากงานมากและไม่มีเวลาก็จะไม่เรียน แต่ถ้าหากมีเวลาและไม่เป็นผลเสียต่อการทำงานก็อาจจะเรียนต่อ แต่ทั้งนี้คงจะต้องปรึกษากับหัวหน้าด้วย
10.อย่าเปิดประเด็นเรื่องเงินเดือน แน่นอนว่าเรื่องค่าตอบแทนเป็นสิ่งสำคัญ แต่การที่คุณเป็นคนเปิดประเด็นเรื่องนี้ก่อนอาจทำให้บริษัทมองว่าคุณสนใจเรื่องเงินมากกว่าเรื่องงาน เพราะฉะนั้น เราจึงควรรอให้ทางบริษัทเปิดประเด็นเรื่องนี้แทนที่เราจะเปิดเอง น่าจะดีกว่า
เพราะ “ตำแหน่งงานที่ว่างอยู่” ในแต่ละบริษัทไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคนนั่นหมายความว่า หากคุณอยากจะได้งาน ก็ต้องโดดเด่นมากพอที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์หยิบ “เรซูเม่” ขึ้นมาพิจารณา เพื่อเรียกเรามาสัมภาษณ์ การเตรียมพร้อมก่อนผ่านด่าน “สัมภาษณ์” จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
อย่าลืมว่า “โอกาส" ไม่ได้มีให้บ่อยครั้ง!