Power ‘GULF’ ส่งพลังสร้างสรรค์ฝ่าฟันโควิด-19

Power ‘GULF’ ส่งพลังสร้างสรรค์ฝ่าฟันโควิด-19

ท่ามกลางความเดือดร้อนของคนไทย หนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของประเทศได้ส่งต่อพลังและความช่วยเหลือเพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ด้วยหลายโครงการ ด้วยงบประมาณหลายสิบล้าน

แรงกระทำจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลร้ายอย่างเรื้อรังไปทุกหย่อมหญ้า เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์ครั้งเลวร้ายสุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์โลกทีเดียว กับประเทศไทยก็เช่นกัน นับตั้งแต่เกิดการระบาด ประชาชนคนธรรมดายันผู้ประกอบการรายย่อยรายใหญ่มีอันต้องล้มพับกันระนาว ทว่าในขณะที่ทุกคนกำลังเดือดร้อน หลายภาคส่วนที่พอจะมีเรี่ยวแรงได้แสดงให้เห็นว่า ‘คนไทยไม่ทิ้งกัน’ นั้นมีจริง

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ใช้ศักยภาพของตนในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของไทย ผุดโครงการมากมายด้วยความมุ่งหมายบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

  • ประกายไฟของการช่วยเหลือ

กว่า 50 ล้านบาท เป็นตัวเลขงบประมาณที่กลุ่มบริษัทกัลฟ์ทุ่มลงไปในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งมีผู้คน ‘เจ็บหนัก’ จากการระบาดมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และประชาชนกลุ่มเปราะบาง ในโครงการแรกที่ทำคือ กัลฟ์ส่งพลังสู่ชุมชน มอบข้าวกล่องสู้ภัยโควิด-19 เป็นจุดประกายเล็กๆ เพื่อส่งต่อความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนให้ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ตลอดจนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น กลุ่มแรงงานในโรงงานหรือในสถานประกอบการ กลุ่มลูกจ้างรายวันที่ถูกเลิกจ้าง กลุ่มอาชีพอิสระ เช่น ผู้ขับรถแท๊กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้า ฯลฯ

ซึ่งกลุ่มประชาชนกลุ่มนี้ทั้งหมดถือเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม ส่วนมากเป็นกลุ่มที่ซ่อนตัวเองอยู่ในชุมชนแออัด หรือชุมชนบุกรุก เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 ประชาชนกลุ่มนี้จึงถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้การดำรงชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น

ข้าวกล่องจากโครงการเริ่มลำเลียงส่งมอบให้คนในชุมชนต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 รวมระยะเวลา 50 วัน ใน 50 เขตของกรุงเทพมหานคร รวมจำนวนข้าวกล่อง 200,000 กล่อง โดยมีกระบวนการคัดเลือกชุมชนและกลุ่มเป้าหมายร่วมกับผู้นำชุมชนเพื่อให้มั่นใจได้ว่า ข้าวกล่องจะถูกส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด

นอกจากนี้พลังการให้ไปถึงพระภิกษุสามเณร ซึ่งหลายคนหลงลืมไปว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยการถวายภัตตาหาร ยารักษาโรค และปัจจัย ให้พระภิกษุสามเณร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดกัลยาณมิตร และวัดโมลีโลกยาราม จำนวน 500 รูป

หลังจากริเริ่มโครงการแรกได้ไม่นาน ก็เกิดโครงการต่อมาอย่างต่อเนื่อง รวมพลังฝ่าวิกฤตโควิด-19 เป็นโปรเจคพิเศษที่กลุ่มบริษัทกัลฟ์ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มอบถุงยังชีพจำนวน 2,400 ถุง บรรจุอาหารที่จำเป็น อาทิ ข้าวสาร น้ำมันพืช ไข่ไก่ ผักสด กุนเชียง ปลากระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 9 ตำบลของอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือน

นอกจากสิ่งของที่พวกเขาได้นำไปประทังชีวิตยามยากลำบาก กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่ชาวบ้านได้รับไปให้มีแรงสู้และรู้ว่าพวกเขาไม่ได้ถูกทิ้งให้เดียวดาย

159349225251

  • กองหนุนของคุณหมอ

การต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่เป็นความท้าทายของบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก จนถึงตอนนี้ทั่วโลกก็ยังคงเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย ถึงในบ้านเราจะมีทิศทางดีขึ้น แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ หมอ พยาบาล และทุกคนในแวดวงสาธารณสุขต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อยับยั้งโควิด-19 ให้ตัวเลขผู้ป่วยในไทยกลายเป็นศูนย์อย่างถาวร

แต่ที่ผ่านมาโรงพยาบาลต่างๆ ประสบปัญหาคล้ายกันคือขาดแคลนเครื่องมือแพทย์สำหรับการรักษาโรคนี้ กลุ่มบริษัทกัลฟ์จึงสนับสนุนงบประมาณจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งตรวจวินิจฉัยอาการของโรคได้อย่างแม่นยำ นำไปสู่การกำหนดแนวทางรักษาได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งมีงบประมาณก้อนใหญ่ราว 34,120,000 บาท กระจายไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ดังนี้

โรงพยาบาลรามาธิบดี สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องพยุงการทำงานของปอดและหัวใจ (Extracorporeal Membrane Oxygenation: ECMO) จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องช่วยหายใจ จำนวน 5 เครื่อง เป็นจำนวนเงิน 20,000,000 บาท

โรงพยาบาลราชวิถี สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจ จำนวน 18 เครื่อง เป็นจำนวนเงิน 4,000,000 บาท

สถาบันบำราศนราดูร สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจ จำนวน 1 เครื่อง ชุดแปลงสัญญาณภาพ X-Ray ใช้งานร่วมกับเครื่อง X-Rayแบบเคลื่อนที่ จำนวน 1 เครื่อง และเครื่องตรวจอวัยวะภายในด้วยคลื่นความถี่สูง จำนวน 1 เครื่อง เป็นจำนวนเงิน 4,000,000 บาท

สถาบันโรคทรวงอก สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อชุดศูนย์กลางพร้อมเครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ และสัญญาณชีพชนิดจอสัมผัส จำนวน 1 เครื่อง เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท

โรงพยาบาลตำรวจ สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องศูนย์กลางเฝ้าติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ (Central Monitor) 1 เครื่อง และเครื่องติดตามสัญญาณชีพชนิดข้างเตียง (Bedside Monitor) 10 เครื่อง เป็นจำนวนเงิน 5,000,000 บาท

โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก จัดซื้อเครื่อง Portable Wireless Ultrasound เพื่อมอบให้แก่โรงพยาบาล จำนวน 2 เครื่อง เป็นจำนวนเงิน 120,000 บาท

สำหรับการช่วยเหลือด้านอื่นๆ เพื่อโรงพยาบาลทั่วประเทศ ได้มีการมอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ชนิด KN95 จำนวน 100,000 ชิ้น แก่โรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งหน้ากากอนามัยเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดอย่างหนึ่งของบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยมีโรงพยาบาลที่ได้รับมอบ ดังนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จำนวน 50,000 ชิ้น และอีกจำนวน 50,000 ชิ้นมอบให้แก่โรงพยาบาลในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลจะนะ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลยะลา เป็นต้น ตลอดจนโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ขาดแคลน

นอกจากบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล บรรดาอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นก็เป็นอีกหัวใจสำคัญของการคัดกรองผู้ป่วยและเป็นฟันเฟืองให้การควบคุมโรคดำเนินไปอย่างเข้าถึงทุกซอกมุมของชุมชนจนเรียกได้ว่าเป็น ‘นักรบด่านหน้า’ ด้วยเหตุนี้ หน้ากากอนามัยรวม 13,000 ชิ้น จึงถูกส่งมอบให้แก่ชุดปฏิบัติการคัดกรองผู้ป่วยระดับตำบลในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครราชสีมา สงขลา และยะลา

ไม่เพียงแต่หน้ากากอนามัย เพื่อศักยภาพการทำงานของหน่วยงานส่วนท้องถิ่น กลุ่มบริษัทกัลฟ์ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อใช้ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ประกอบด้วย เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟาเรด เจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ หน้ากากชนิดปกป้องใบหน้า หรือ Face Shield รวมทั้งบริจาคถุงยังชีพ และช่วยสนับสนุนการจัดตั้งโรงทานในจังหวัดต่างๆ

ส่วนโรงพยาบาลขนาดเล็กในจังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลช้างไห้ตก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลน้ำดำ โรงพยาบาลโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยกระทิง และโรงพยาบาลบันนังสตา จังหวัดยะลา ได้รับมอบเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือเพื่อใช้ได้อย่างเพียงพอ

159349225189

  • พลังใจ...ไร้พรมแดน

ไม่เฉพาะประเทศไทย เพราะโควิด-19 เป็นการระบาดระดับสากล ทำให้การช่วยเหลือต้องขยายวงไปยังต่างประเทศ หลังจากได้รับทราบความเดือดร้อนของบางประเทศที่กำลังฝ่าด่านโหดหินของโรคระบาด กลุ่มบริษัทกัลฟ์จึงเร่งดำเนินโครงการเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนนั้นในทันที เช่น การส่งมอบหน้ากากอนามัย หมวกทางการแพทย์ และแอลกอฮอล์ล้างมือชนิดเจล ให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในจีนช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งการระบาดยังกระจุกอยู่ในจีนอย่างหนัก

รวมถึงการมอบเงินจำนวน 2 พันล้านด่อง (ประมาณ 3 ล้านบาท) ผ่านทางแนวร่วมปิตุภูมิแห่งชาติ (Vietnam Fatherland Front Committee) เพื่อนำไปบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในจังหวัดนินห์ถ่วน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และมอบเงินจำนวน 1 พันล้านด่อง (ประมาณ 1.5 ล้านบาท) แก่จังหวัดเบ๊นแจ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

และนอกจากนี้ยังมีโครงการ ช่วยช้างไทยสู้ภัยโควิด-19 เนื่องภาคบริการและการท่องเที่ยวเสียหายจากสถานการณ์นี้ค่อนข้างรุนแรง ธุรกิจท่องเที่ยวอย่างปางช้างต่างๆ ซึ่งต้องพึ่งพิงนักท่องเที่ยวเป็นหลักได้รับผลกระทบหนักมาก จนปางช้างหลายแห่งต้องปิดกิจการ

ความเดือดร้อนดังกล่าวเกิดขึ้นกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไล่ไปตั้งแต่ เจ้าของกิจการ ผู้ดูแลช้าง ควาญช้าง เกษตรกรผู้ปลูกและส่งอาหารให้ปางช้าง ผู้ทำอาชีพลากไม้ และงานประเพณี ผู้ประกอบการโรงแรม กลุ่มมัคคุเทศก์ คนขับรถรับส่งนักท่องเที่ยว ฯลฯ เรียกได้ว่าพังพาบกันหมด

ทั้งงบประมาณ ทั้งอาหารและยารักษาโรคที่ร่อยหรอ ส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่และอาการเจ็บป่วยของช้าง เมื่อมีช้างป่วยจำนวนมาก จึงสร้างภาระให้แก่โรงพยาบาลช้างต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลุ่มบริษัทกัลฟ์จึงได้จัดทำโครงการ ‘ช่วยช้างไทยสู้ภัยโควิด-19’ เพื่อบริจาคงบประมาณจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ให้แก่โรงพยาบาลช้าง จังหวัดกระบี่ และโรงพยาบาลช้าง จังหวัดลำปาง ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลช้างภายใต้ความรับผิดชอบขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังได้บริจาคงบประมาณให้แก่สมาคมสมาพันธ์ช้างไทย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสมาคมที่เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการปางช้างในเขตภาคเหนือ จำนวน 15 ปางช้าง เพื่อช่วยเหลือในการดูแลอาหารและสุขภาพช้างไปควบคู่กัน รวมเป็นจำนวนเงิน 225,000 บาท

นับตั้งแต่เกิดวิกฤติจนถึงบันนี้ที่สถานการณ์ทุเลาลง พลังแห่งการช่วยเหลือที่ส่งต่อไปยังทุกภาคส่วนตั้งแต่รากหญ้า บุคลากรทางการแพทย์ คนต้องการความช่วยเหลือในต่างแดน มาจนถึงผู้ประกอบการและสัตว์ประจำชาติ คือการต่อชีวิตและเยียวยาหัวใจให้ทุกคนฝ่าฟันปัญหานี้ไปด้วยกัน