อสม. โมเดลท้องถิ่น ของคนหัวใจอาสา

อสม. โมเดลท้องถิ่น ของคนหัวใจอาสา

อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. อีกหนึ่งบุคลากรหน้าด่านของหน่วยคัดกรองผู้ป่วย ที่ช่วยลดภาระคุณหมอและพยาบาลได้ไม่น้อย

"แจ้งข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน ดำรงตนตัวอย่างที่ดี" คือคำขวัญของ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. บทบาทหน้าที่นี้ไม่มีใครบังคับให้พวกเขาทำ แต่เป็นเรื่องของจิตอาสา อสม.ได้รับการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้สามารถทำการรักษาพยาบาลได้อย่างง่ายๆ นับเป็นระยะเวลากว่า 40 ปีแล้วที่ อสม. เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนคนไทยให้มีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น หน้าที่ของ อสม. ยิ่งโดดเด่นชัดเจนขึ้น จนองค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ประจำประเทศไทยให้ความชื่นชม อสม. ว่าเป็นพลังฮีโร่เงียบ สู้โควิด-19 เป็นตัวอย่างให้กับหลายประเทศเป็นแนวทางในการควบคุมโรค

สมพล เรืองกูล ประธานอสม. ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า อสม.ไม่ใช่แค่เพียงอาชีพ แต่เป็นงานของความไว้ใจ และความไว้ใจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการสร้างขึ้นมา การที่จะดูแลใคร หรือใครจะวางใจเล่าเรื่องป่วยไข้ หรือเรื่องสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บของเขาให้เราฟัง จะต้องอาศัยความไว้ใจ เชื่อใจกันเหมือนญาติ อสม. เป็นงานที่ต้องสัมพันธ์ ผูกพันกับชุมชนตั้งแต่แรกเกิดจนตาย หรือจริงๆ แล้วก่อนเกิดด้วยซ้ำไป

159358351261

สมพลเล่าว่า ก่อนที่โควิด-19 จะมา เราก็ทำกันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้คำแนะนำชาวบ้านในการใช้ยา การรักษาอนามัยร่างกาย ตลอดจนการวางแผนและเฝ้าระวังเรื่องสุขภาพสำหรับคนในชุมชน ซึ่งเราก็ไปกับคุณหมอ ทำงานคลุกคลีกับคุณหมอมาตลอด เมื่อถึงช่วงโควิด-19 อสม.ก็ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับชุมชน เราทำงานร่วมกับหมอ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ออกเคาะประตูบ้านให้ความรู้ ย้ำความสำคัญมาตรการการเว้นระยะห่าง มุ่งเน้นไปยังกลุ่มเสี่ยง ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งการทำงานร่วมกันแบบนี้จะช่วยให้การควบคุมและป้องกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น รักษาได้อย่างรวดเร็ว อสม. 1 คน มีหน้าที่ดูแลสุขอนามัยของคนในหมู่บ้านประมาณ 15-20 หลังคาเรือน

ช่วงปลายเดือนมีนาคม  ต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดโควิด-19 ถือเป็นช่วงตึงเครียด ต่างคนต่างกลัว คนที่ถูกตรวจก็กลัว คนตรวจก็กลัว ตัวผมเองก็กลัว แต่ผมคิดว่าผมกลัวคนในชุมชนผมติดเชื้อมากกว่า ถ้าไม่มี อสม. ออกไปช่วยตรงนี้ ถ้าทุกคนกลัว หมู่บ้านจะเป็นอย่างไร เวลาออกไปทำงานกลับบ้านมาก็กอดลูกเมียไม่ได้ ต้องแยกบริเวณกันในบ้าน เพราะเราก็ห่วงพวกเขามากเช่นกัน” สมพล เรืองกูล กล่าว

ด้าน เชาวลิต เอกบุตร กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า อสม. คือนวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศไทย แต่เป็นนวัตกรรมที่มีชีวิต มีจิตใจเสียสละ มูลนิธิเอสซีจีจึงอยากสนับสนุนให้พวกเขาได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรอง ป้องกัน และลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 

นอกจากแพทย์ พยาบาล และวิชาชีพสาธารณสุขต่างๆ แล้ว อสม.ถือเป็นอีกหนึ่งกองทัพสำคัญ เป็นแนวหน้าในศึกโควิด-19 นี้ และถึงแม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายภาครัฐได้เริ่มผ่อนปรนมาตรการต่างๆ มากขึ้น แต่ก็ยังไม่อาจวางใจได้ว่าโรคจะกลับมาระบาดเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราทุกคนต้องดูแลตัวเอง และคอยช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งต่อความห่วงใยไปให้ถึงคนที่มีหน้าที่ดูแลคนอื่นด้วย

พวกเขาเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เราไม่ลืม เราจึงได้ส่งมอบชุดอุปกรณ์ปฏิบัติหน้าที่ หรือ อสม. Kit จำนวน 600 ชุด ให้แก่นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยภายในกระเป๋าประกอบด้วย เครื่องวัดอุณภูมิ หน้ากากผ้า เสื้อกันฝน แอลกอฮอล์เจล สเปรย์แอลกอฮอล์ ถุงมือยาง เพื่อแทนความห่วงใยและคำขอบคุณไปยังพี่น้อง อสม. ด้วยครับ” เชาวลิต กล่าว

159358346348

อีกมุมหนึ่งจาก นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงเหล่าฮีโร่ อสม. ว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมี อสม. ทั้งสิ้น 1 ล้าน 5 หมื่นคน พวกเขาเหมือนกลุ่มคนที่ปิดทองหลังพระ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่คนไทยได้เห็นพลังจิตอาสาของเหล่า อสม.

อสม. เปรียบเสมือนด่านหน้าคอยช่วยแพทย์และพยาบาลตรวจตราดูแลคนในหมู่บ้านด้วยความเสียสละ ที่ผ่านมา เราจะพบ อสม.ไปเคาะประตูตามบ้าน ไปให้ความรู้เรื่องการป้องกันและการดูแลตัวเอง และยังคงต้องเฝ้าระวังการ์ดไม่ให้ตก แต่ยังมีอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญมาก คือการเข้าไปจัดการวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ในสังคมชนบท ตรงนี้ยิ่งทำให้บทบาทหน้าที่ของอสม. ยิ่งเป็นเหมือนกุญแจสำคัญ เพราะเขาใกล้ชิดชุมชน และเข้าใจวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะงานวัด งานบุญ หรือแม้กระทั่งงานศพ อสม.จะเข้าถึงชุมชนได้ง่ายและรวดเร็ว ดังนั้นการจัดระบบวิถีใหม่แบบ New Normal จะเป็นไปตามที่เราตั้งใจไว้หรือไม่ ล้วนต้องอาศัยกำลังขับเคลื่อนจาก อสม.เป็นหลัก ผมอยากขอบคุณและฝากกำลังใจไปสู่ฮีโร่ อสม. ทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเสียสละ” นายแพทย์ธเรศ กล่าว

ปิดท้ายกับ บุรดี สันหมุด อสม.ชุมชนบ้านกลาง หมู่ 1 ต.ปากพะยูน อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง เล่าถึงเส้นทางการมาเป็น อสม. ว่า มาเป็น อสม.เพราะเพื่อนชวน พอได้มา อสม. ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าหน้าที่ ได้ช่วยดูแลติดตามอาการของผู้ป่วยในชุมชน ยิ่งช่วงโควิด-19 มาถึง ความรับผิดชอบก็มากขึ้น ต้องออกไปตามจุดคัดกรองที่เป็นช่วงรอยต่อไปช่วยผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคัดกรองคนไข้ตามบ้าน และตลาดนัด รวมถึงไปทำความเข้าใจ ให้ความรู้กับชาวบ้านว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร 

159358354637

เราได้เรียนรู้หลายอย่าง ทั้งเรื่องของการดูแลและป้องกันตัวเอง แนะนำว่าเขาต้องกักตัว ต้องดูอาการ วัดไข้ยังไง โควิดทำให้เรารอบคอบมากขึ้น ต้องฟังคุณหมอ ต้องเช็คว่าข้อมูล เพราะชาวบ้านเขาไว้ใจเรา เขารอฟังข่าวจากเรา ทุกคนมีความกลัว กลัวว่าจะเป็นโรค กลัวรักษาไม่หาย หรือบางคนกลัวว่าถ้าต้องกักตัวก็จะไม่ได้เจอหน้าครอบครัว เราเองก็กลัวเพราะงานนี้มันเสี่ยง ถ้าใครในหมู่บ้านเราป่วยสักคน หมอก็จะต้องมาเหนื่อย มาดูแลรักษา เจ้าหน้าที่ก็ทำงานหนักกว่าเดิม ชาวบ้านก็จะกลัวกันไปหมดและอาจจะแพร่เชื้อติดกันก็ได้ เราเป็น อสม. เราอาสามาทำงานนี้เองด้วยใจ เราจะถอดใจได้อย่างไร” บุรดี กล่าว

ในความเป็น ‘อสม.’ ของเขาและเธอ ต่างก็มีจุดที่เหมือนกันคือหัวใจ เพราะการทำงานเป็น ‘อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน’ ไม่ใช่เป็นโดยชื่อหรือตำแหน่ง หากแต่เป็นด้วยใจ ‘ใจ’ ที่ต้อง ‘อาสา’ ก่อนอื่นใดทั้งสิ้น