เมื่อเด็กบอกจะไม่ทนกับ ‘ระเบียบทรงผม’ ในโรงเรียน
เสียงสะท้อนเรื่อง ‘ระเบียบทรงผม’ และการตั้งคำถามถึงข้อบังคับหรือการลงโทษ กรณีนักเรียนทำผิดกฎของโรงเรียน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพของนักเรียนหญิงรายหนึ่งถูกแชร์อย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย นักเรียนหญิงรายนี้สวมเครื่องแบบ ม.ต้น นั่งบนเก้าอี้ มือไขว้หลัง ถูกปิดปาก พร้อมแขวนป้ายข้อความ “นักเรียนคนนี้ประพฤติผิดกฏโรงเรียนไว้ผมยาวเกินติ่งหู และไว้ผมหน้าม้า ทำลายเอกลักษณ์ของนักเรียนไทย เชิญลงโทษนักเรียนคนนี้” ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงการบังคับหรือการลงโทษเรื่อง ‘ระเบียบทรงผม’ ในโรงเรียน
ยังไม่นับรวม กรณีนักเรียนโรงเรียนหญิงล้วนชื่อดังในกทม. ถูกเรียกเข้าพบ พร้อมกับโดนลงโทษให้บำเพ็ญประโยชน์ 60 ชั่วโมง อาจถูกตัดสิทธิเรียนต่อ ม.4 และถูกขู่ฟ้อง พ.ร.บ. คอมฯ หลังจากที่นักเรียนตั้งคำถามกับระเบียบทรงผมของโรงเรียนบนโซเชียล (ข้อมูลจาก Twitter นักเรียนเลว @BadStudent_)
บน Change.org มีแคมเปญใหม่ จากผู้ใช้งานเว็บไซต์ ขอให้โรงเรียนดังกล่าวแก้ไขกฎระเบียบทรงผมให้สอดคล้องกับกฎของกระทรวงศึกษาธิการ โดยชี้ว่ากฎเดิมของโรงเรียนขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ปกครองและนักเรียน ขัดกับกฎกระทรวง มองว่าการลงโทษนักเรียนหญิงที่ออกมาตั้งคำถามเรื่องกฎดังกล่าวไม่เป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนเกิน 1,200 คน
อีกทั้งเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการเพิ่งออกระเบียบใหม่เรื่องทรงผมให้เหมาะสมกับปัจจุบัน และคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยระเบียบทรงผมดังกล่าว ระบุว่า นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาว ไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย ส่วนนักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย แต่ในรายละเอียดยังระบุอีกว่าต้อง “ให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต” และ “ให้พิจารณาตามความเหมาะสม” (อ่านต่อ) ทำให้กลุ่มนักเรียนและคนในแวดวงการศึกษาบางส่วนมองว่าทุกอย่างก็เหมือนเดิม ไม่มีความชัดเจน
‘กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท’ คือหนึ่งในกลุ่มนักเรียนที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านระเบียบทรงผมมาโดยตลอดโดยเมื่อไม่นานมานี้ได้โพสข้อความในเฟสบุ๊กเพจ ใจความว่า “มาแล้ว ! ใครสนใจจะยื่นหนังสือขอให้ยกเลิกการจำกัดทรงผมถึงกระทรวงศึกษาธิการ inbox มาเลย - ไม่ต้องใช้เอกสารยินยอมจากผู้ปกครอง - ใช้แค่หนังสือร้องเรียน และเอกสารฉบับสำเนา”
- หลากหลายความเคลื่อนไหวรับเปิดเทอม
ในหลายๆ ครั้ง บนแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อการรณรงค์อย่าง Change.org ก็ถูกใช้เป็นช่องทางแสดงความไม่พอใจของนักเรียน เกี่ยวกับระเบียบทรงผมในโรงเรียน โดยส่วนใหญ่มองว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของนักเรียนที่จะไว้ทรงผมใดก็ได้ที่สุภาพ ลดปัญหาเรื่องการใช้อำนาจลงโทษนักเรียนของครู ฯลฯ ยกตัวอย่างแคมเปญร้องเรียนโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร, โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง, โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม, ให้สิทธินักเรียนเลือกทรงผม ในกรอบภาพลักษณ์ที่สุภาพ และแคมเปญขอเปิดเสรีทรงผมนักเรียนไทย ซึ่งเป็นแคมเปญที่ขณะนี้ มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนมากที่สุด เกิน 2 หมื่นคน