'ฌอน บูรณะหิรัญ' ถึง 'คณะก้าวหน้า' ทำไม 'Statement' ถึงสำคัญ?
"Statement" (สเตทเมนท์) ข้อมูลแสดงการทำรายการต่างๆ ของบัญชีธนาคารแบบย้อนหลัง ที่มีความสำคัญในหลากหลายมิติ ที่ทุกคนควรรู้
"Statement" หรือ "สเตทเมนท์" เอกสารสำคัญทางการเงินที่มักจะถูกพูดถึงเมื่อมีการตั้งข้อสังเกต หรือสงสัยว่าเจ้าของบัญชีมีการกระทำการบางอย่างที่ไม่โปร่งใสทางการเงิน เช่น ฉ้อโกง ยักยอก ฯลฯ
ช่วงที่ผ่านมา กรณีดราม่าของ “ฌอน บูรณะหิรัญ” ไลฟ์โค้ชชื่อดังที่ออกปากชมรองนายกฯ “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ว่าเป็นคนน่ารัก จนถูกโจมตีจากสังคมออนไลน์เพราะเห็นต่าง ซึ่งนำไปสู่การขุดคุ้ยเรื่องการเปิดรับเงินบริจาคเงินช่วยไฟป่า ว่าแท้ที่จริงแล้วเงินที่ฌอนเรี่ยไรเดินทางไปถึงเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า และผู้ที่เดือดร้อนในเหตุการณ์ครั้งนั้นจริงหรือไม่ โดยมีเพจดัง "แหม่มโพธิ์ดำ" พยายามเรียกร้องให้ฌอน โชว์สเตทเมนท์ เพื่อชี้แจงการใช้เงินในส่วนนี้
ขณะเดียวกัน "ช่อ พรรณิการ์ วานิช" และ "คณะก้าวหน้า" ถูกเรียกร้องให้โชว์ "สเตทเมนท์" การใช้จ่ายเงินบริจาคช่วยเหลือประชาชนกรณีโควิด-19 หลังจากที่ "บุญเกื้อ ปุสสเทโว" อดีต ส.ส.พรรคภูมิใจไทย กล่าวหาว่าอมเงินบริจาคกว่า 7.2 ล้าน
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงพาไปทำความรู้จักกับ "Statement" หนึ่งในเอกสารสำคัญทางการเงิน ที่ไม่สำคัญแค่ในกรณีการรับบริจาคและเรี่ยไรเงิน แต่สำคัญกับผู้มีรายได้ทุกคน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สเตทเมนท์ คืออะไร
Statement (สเตทเมนท์) คือ รายการเดินบัญชีที่แจ้งจำนวนเงิน ข้อมูลรายการฝาก-ถอน โดยแสดงรายละเอียดส่วนตัวเกี่ยวกับลูกค้าเจ้าของบัญชีนั้นๆ รวมถึงความเคลื่อนไหวรายการบัญชีแยกเป็นรายเดือน ซึ่งจะแสดงให้เห็นเงินในบัญชีมีการหมุนเวียนอย่างไรบ้าง เหลือเงินเท่าไร
- ลักษณะสำคัญของสเตทเมนท์
สเตทเมนท์ จะปรากฏข้อมูลสำคัญต่างๆ ดังนี้
อย่างไรก็ตาม สเตทเมนท์ในปัจจุบันสามารถขอผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ซึ่งแต่ละธนาคารจะหน้าตาสเตทเมนท์ และเงื่อนไขในการขอที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นผู้ที่ต้องการขอข้อมูลสเตทเมนท์จึงต้องติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัญชี
- สเตทเมนท์ต้องโชว์เมื่อไร
- สเตทเมนท์ มีความสำคัญอย่างมากในการขอสินเชื่อ สามารถช่วยสะท้อนความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ กรณีที่ต้องการขอสินเชื่อต่างๆ โดยทางสถาบันการเงินมักขอรายการสเตทเมนท์ย้อนหลัง อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้เห็นสภาพคล่องของผู้ขอสินเชื่อ เพื่อประเมินว่ามีศักยภาพที่จะชำระหนี้ได้ เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ เป็นต้น
- แสดงความเชื่อมั่นทางการเงินเพื่อกระทำการบางอย่าง เช่น การขอวีซ่าไปประเทศต่างๆ ที่ต้องการให้แสดงสเตทเมนท์ย้อนหลัง 6 เดือน เพื่อเป็นการแสดงความพร้อมและความมั่นคงทางการเงินของเรา ว่ามีเพียงพอต่อการไปใช้ชีวิต เที่ยว กินอยู่ ศึกษา ฯลฯ ในประเทศนั้นๆ ได้อย่างแน่นอน
- เป็นหลักฐานชี้แจงการใช้จ่ายเงิน โดยเฉพาะในกรณีที่ถูกต้องสงสัยว่ามีการนำเงินรับบริจาค หรือเงินเรี่ยไรที่ไม่ใช่เงินส่วนตัวไม่ตรงวัตถุประสงค์ สเตทเมนท์จะแสดงข้อมูลว่า บัญชีที่ต้องสงสัยมีการเดินบัญชีอย่างไร มีเงินเข้ามาในบัญชีเท่าไร โอนออกไปให้ใครบ้าง และเหลือเงินอยู่เท่าไร ซึ่งสาเหตุหลายคนมักจะขอดูสเตทเมนท์เป็นอันดับแรกๆ เนื่องจากข้อมูลสเตทเมนท์ของธนาคารจะมีการบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
- สเตทเมนท์ปลอม
สเตทเมนท์ ปลอมเป็นเรื่องที่กลุ่มมิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางหารายได้ และเคยเกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ เช่น รับจ้างทำเอกสารทางการเงินปลอมเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอสินเชื่อกับธนาคาร โดยมีการโฆษณาผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยระบุว่า รับทำเอกสารสมัครบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน รวมถึง การทำวีซ่าเพื่อเดินทางต่างประเทศ โดยมีกระบวนการปลอมแปลงข้อมูลทั้ง ข้อมูลบริษัท ผู้ถือหุ้น แต่มีการเดินบัญชีจริง และทำเป็นเครือข่ายใหญ่
ทั้งนี้ นอกจากการใช้สเตทเมนท์ปลอมจะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังสร้างประวัติเสียให้กับผู้ทำ ทั้งมิติทางกฎหมาย และการเงิน ยิ่งไปกว่านั้นยังสร้างความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นต้นทุนระบบสถาบันการเงิน และทำให้ลูกค้าที่ดี ได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องจากแบงก์ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น สเตทเมนท์ปลอมจึงเป็นเรื่องต้องห้าม และต้องระมัดระวัง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : แก๊งมิจฉาชีพตั้งเพจเฟซบุ๊คให้บริการปลอมสเตทเม้นท์ขอกู้บ้าน
- วิธีขอ Statement จากธนาคาร
ปัจจุบัน สเตทเมนท์สามารถขอได้ทั้งแบบเอกสาร หรือสเตทเมนท์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Statement) ผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคาร (E-Banking) ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีขั้นตอนการขอสเตทเมนท์ที่แตกต่างกัน สำหรับผู้ที่ต้องการขอสเตทเมนท์สามารถติดต่อธนาคารเจ้าของบัญชีที่ใช้อยู่ด้วยตัวเองได้ตามขั้นตอนที่ธนาคารกำหนด
ที่มา: ME by TMB ธนาคารกสิกรไทย siuk-thailand