อำลา SCALA ส่องอดีต ‘โรงหนังสแตนด์อโลน’ ปัจจุบันถูกปรับไปทำอะไรบ้าง?
ย้อนรำลึกโรงหนังสแตนด์อโลนของไทย ความรุ่งโรจน์และคลาคล่ำไปด้วยผู้คน แต่เมื่อความนิยมลดน้อยลง จนต้องทยอยปิดกิจการ.. ตามไปดูกันว่า อดีตโรงหนังเหล่านั้น ถูกแปรสภาพเป็นอะไรบ้าง?
ปัจจุบัน “โรงหนังสแตนด์อโลน” หรือ “โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลน” ที่เคยรุ่งเรือง อาคารที่ตั้งอยู่อย่างโดดเด่น ไม่ได้เข้าไปอยู่ภายในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์อื่นๆ อย่างเช่นในปัจจุบันที่มีเจ้าตลาดหลักๆ ครองตลาดอยู่ 2 ยักษ์ใหญ่ คือ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และเอสเอฟ ซีเนม่า ทำให้โรงหนังสแตนด์อโลนทั่วไทยที่เป็นกลุ่มทุนขนาดเล็กเหลือให้เห็นน้อยลงเต็มที
โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ ปัจจุบันนี้ ก็ไม่เหลือภาพความรุ่งเรืองของโรงหนังสแตนด์อโลนให้เห็นอีกแล้ว เนื่องจากล่าสุด โรงภาพยนตร์สกาลา โรงหนังสแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพ ที่ตั้งอยู่สยามสแควร์ ใจกลางหนึ่งในพื้นที่เศรษฐกิจหลักของไทย ประกาศปิดกิจการอย่างถาวร หลังจากเปิดดำเนินการมากกว่า 50 ปี ในฐานะราชาโรงหนังแห่งสยาม
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะพาไปย้อนดูโรงหนังสแตนด์อโลนในอดีตที่รุ่งเรือง โปสเตอร์ที่ถูกแปะบนบอร์ดเรียงรายตามลำดับวันเวลาวันฉาย แต่วันนี้แสงไฟนีออนที่ส่องสว่างถูกดับไป และปรับพื้นที่เพื่อเปลี่ยนไปดำเนินการอย่างอื่น หลงเหลือทิ้งไว้เพียงเรื่องเล่าตำนาน มาดูกันว่าแต่ละแห่งจะปรับเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
- จาก “ลิโด” สู่ “ลิโด้ คอนเน็คท์” ในมือ LOVEiS
เริ่มจากเครือเอเพ็กซ์ ที่ดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์ภายใต้บริษัท สยามมหรสพ จำกัด หากเอ่ยชื่อไปคงไม่มีใครไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อแน่ๆ นั่นคือ “ลิโด” โรงหนังที่ตั้งเด่นตระหง่าในสยามสแควร์ มายาวนานกว่า 50 ปี หรือราวปี 2511 สามารถจุคนได้ถึง 1,000 ที่นั่ง ประกอบด้วยภาพยนตร์เล็ก 3 โรง ที่อยู่บนพื้นที่ชั้นสอง ส่วนพื้นที่ชั้นหนึ่งเปิดให้เช่าเพื่อการค้า ซึ่งเปิดให้บริการเรื่อยมา
จนกระทั่งปี 2561 ต้องปิดตัวลง เนื่องจากผู้บริหารเครือเอเพ็กซ์ตัดสินใจไม่ต่อสัญญาเช่ากับสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ทำให้หลายคนที่ผูกพันกับอาคารแห่งนี้ กังวลว่าอาคารเอกลักษณ์และสร้างความทรงจำแห่งนี้จะถูกทุบทิ้งหรือไม่
โดย 1 ปีให้หลัง ลิโดกลับมาส่องแสงอีกครั้ง ในชื่อเดิม เพิ่มเติมคือ "ไม้โท"กลายเป็น “ลิโด้ ตอนเน็คท์” (LIDO CONNECT) ภายใต้การนำของค่ายเพลง LOVEiS ที่จะแปลงโฉมใหม่ให้เหมือนโรงหนังลิโดสมัยก่อนปี 2536 หรือก่อนถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่ โดยพื้นที่ชั้น 1 ปรับสู่พื้นที่ Commercial ซึ่งมีทั้งกลุ่มร้านอาหาร เครื่องดื่ม และเปิดกว้างให้กับร้านค้าอื่นๆ ที่ไม่เพียงแต่การทำการค้าเท่านั้น ส่วนชั้นที่ 2 แปลงเป็น Co-performing Space รีโนเวตให้เหมาะกับการแสดงสดทุกประเภท
- “โรงหนังสยาม” วันนั้น ถึง “สยามสแควร์วัน” วันนี้
อีกหนึ่งโรงหนังในเครือเอเพ็กซ์ที่มีชื่อเสียง และนับเป็นต้นกำเนิดความคึกคักและบุกเบิกสยามแควร์ในปัจจุบัน นั่นก็คือ โรงภาพยนตร์สยาม ที่ก่อสร้างขึ้นมาในปี 2509 มีความจุ 800 ที่นั่ง ซึ่งเป็นโรงหนังแห่งแรงของไทยที่มีบันไดเลื่อน เรียกได้ว่าในสมัยนั้นถือว่าทันสมัยมากๆ จนถึงปี 2553 หรือเปิดให้บริการมาราว 44 ปี โรงหนังแห่งนี้ต้องปิดตัวลงและไม่เหลือเค้าโครงเดิมอยู่เลย เนื่องจากถูกไฟเผาไหม้วอดทั้งอาคาร จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง
ประกอบกับช่วงเวลานั้นเครือเอเพ็กซ์ได้หมดสัญญาเช่าลงกับ PMCU จึงมีการพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน (Siam Square One) บนพื้นที่เดิม เป็นอาคารสูง 7 ชั้น จุดเด่นคือการเดินทางที่สะดวก เพราะอาคารแห่งนี้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS และเป็นศูนย์รวมของผู้คนหลากหลายกลุ่ม
- "ท็อปทรี" โรงหนังย่านวังบูรพา พลิกธุรกิจสู่ศูนย์การค้า
ในช่วงปี 2495 จนถึง 2500 นิดๆ ย่านวังบูรพาเป็นโซนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากๆ เป็นสถานที่ผู้คนมาหาความบันเทิง หนึ่งในสิ่งที่คนในยุคนั้น หรือรุ่นๆ 50 ปีกว่าขึ้นไป ก็คือโรงหนัง 3 โรงชื่อดัง นั่นคือ “โรงหนังแกรนด์” ตั้งอยู่ริมถนนมหาไชย ฉายหนังไทย ถัดมาเป็น “โรงหนังคิงส์” ตั้งอยู่หัวมุมถนนมหาไชย ฉายหนังฝรั่ง และ “โรงหนังควีนส์” ฉายหนังแขกและมีจีนบ้างบางครั้ง รวมถึงยังมีร้านค้า ร้านอาหารเปิดขึ้นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีแลนด์มาร์กอย่างศูนย์การค้าวังบูรพาด้วย
ปัจจุบันศูนย์การค้าวังบูรพายังคงมีอยู่ แต่โรงหนังแกรนด์และคิงส์ได้ถูกทุบให้ตึกทะลุกันและปรับเปลี่ยนไปเป็น เมก้า พลาซ่า หรือก่อนหน้านั้นหลายคนอาจรู้จักกันในชื่อของ ห้างสรรสินค้าเมอรี่ คิงส์ นั่นเอง
ขณะที่โรงหนังควีนส์ ช่วงแรกถูกปรับเป็นลานจอดรถของห้างเซ็นทรัล แต่ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์ค้าส่งค้าปลีกไชน่าเวิลด์
- ลานจอดรถ จากโรงหนังเก่า
จากยุครุ่งโรจน์ของธุรกิจโรงหนังสแตนด์อโลน วันนี้เมื่อถูกปิดกิจการไป หลายแห่งยังไม่ได้ถูกรื้อถอนหรือพัฒนาที่ไปทำอย่างอื่น จึงมีการปรับมาเป็นลานจอดรถกันหลายแห่ง อย่างเช่น โรงหนังศาลาเฉลิมบุรี ที่ก่อตั้งขึ้นราวปี 2475 ภายใต้การบริหารของเครือบริษัทสหซีนีม่า บริเวณสามแบกเจริญกรุง แทนโรงหนังชื่อ สิงคโปร์ นอกจากความรุ่งเรืองของตัวโรงหนังแล้ว ยังแจ้งเกิดให้กับอาหารและขนมอย่างลอดช่องสิงคโปร์ชื่อดัง และพระรามลงสรงด้วย แต่ปัจจุบันถูกปรับให้เป็นลานจอดรถ หรือที่รู้จักกันในชื่อลานจอดรถโรงหนังเฉลิมบุรีเก่า รองรับรถได้ราวๆ 70 คัน
ขณะเดียวกันยังมีโรงหนังเท็กซัส ที่ในอดีตเป็นโรงภาพยนตร์ที่ฉายหนังอินเดีย และเลิกกิจการไปกลายเป็นภัตตาคารเท็กซัสสุกี้ นับเป็นร้านสุกี้แห่งแรกๆ ของไทย และด้านหลังเปิดให้เป็นพื้นที่จอดรถด้วย
และไม่ไกลกันเท่าใดนัก ยังมี ที่จอดรถสิริรามา ซึ่งเป็นลานจอดรถกลางแจ้ง ใกล้ซอยแปลงนามและผดุงด้าว หลายคนอาจไม่ทราบว่า ลานจอดรถซึ่งรองรับรถได้ราว 100 คันแห่งนี้ในอดีตเคยเป็นโรงหนังที่รุ่งโรจน์ชื่อ พัฒนาการ หรือ สิริรามา นั่นเอง
ที่มา : dbd, thepeople, thecloud, stou, sihawatchara, mgronline, chinatownyaowarach