เที่ยวสายบุญ! 'วันอาสาฬหบูชา' 'เข้าพรรษา' ทำบุญวัดสวยใกล้ BTS
วันหยุดยาวในช่วง "วันอาสาฬหบูชา" และ "วันเข้าพรรษา" ชวนชาวพุทธเข้าวัดทำบุญที่วัดใกล้บ้าน หรือวัดที่เดินทางไปได้ง่ายๆ สะดวกสบายตามสายรถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมเที่ยวชมวัดสวยในบรรยากาศร่มรื่น
ยังคงอยู่ในช่วง "วันหยุดยาว" 4-7 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันหยุดยาวที่มีวันสำคัญทางศาสนาถึง 2 วันด้วยกันคือ "วันอาสาฬหบูชา" และ "วันเข้าพรรษา" ใครที่ไม่ได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดก็สามารถมี One Day Trip ได้ง่ายๆ กับทริปเที่ยวสายบุญ ณ วัดสวยต่างๆ ที่อยู่ใกล้แนวรถไฟฟ้าบีทีเอส เดินทางง่าย สะดวกสบายสุดๆ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ แนะนำ 5 วัดให้นักท่องเที่ยวสายบุญได้เดินทางไปไหว้พระ หล่อเทียนพรรษา ถวายเทียนพรรษา นอกจากได้ทำบุญในวันพระใหญ่แล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่ได้เที่ยวชมวัดสวยๆ ไปพร้อมกันได้ในคราวเดียว
1. วัดปทุมวนาราม สถานีสยาม
วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนพระรามที่1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มีจุดเด่นคือเป็นวัดกลางเมือง ตั้งอยู่ระหว่างศูนย์การค้า 2 แห่ง คือสยามพารากอน และเซ้นทรัลเวิลด์ วัดสถาปนาขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2400 และฉลองพระอารามในปี พ.ศ. 2410
วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร มีชื่อเสียงจากป่ากลางเมือง หรือที่เรียกว่า "สวนป่าศาลาพระราชศรัทธา" ที่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมอย่างหนาแน่น จนแทบไม่เห็นอาคารสูงโดยรอบ เสมือนอยู่ในป่า จึงเป็นสถานที่สำหรับการเจริญธรรมวิปัสสนา นั่งสมาธิ และฟังธรรม วัดแห่งนี้ยังได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2556 อีกด้วย
พระวิหารแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐาน “พระเสริม” และ “พระแสน” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่แบบศิลปะล้านช้างเวียงจันทน์ ส่วนพระอุโบสถประดิษฐาน พระไส หรือ พระสายน์ เป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัยจากเวียงจันทน์ จาก ประเทศลาว พระพุทธรูปทั้งสองต่างล้วนนำมาประดิษฐานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
2. วัดยานนาวา สถานีสะพานตากสิน
วัดยานนาวา พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาธร กรุงเทพฯ เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ "วัดคอกควาย" เนื่องจากมีชาวทวายมาลงหลักปักฐานอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และชาวทวายจะนำกระบือที่เลี้ยงไว้มาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน หมู่บ้านบริเวณนั้นจึงได้ชื่อเรียกกันต่อมาว่า "บ้านคอกควาย"
ในสมัยกรุงธนบุรีได้รับการยกฐานะวัดคอกควายขึ้นเป็นพระอารามหลวง เรียกชื่อใหม่ว่า "วัดคอกกระบือ" ต่อมารัชกาลที่ 1 ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และสร้างเรือสำเภา พระเจดีย์แทนพระสถูปเจดีย์ทั่วไป เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นรูปแบบเรือสำเภาซึ่งกำลังจะหมดไปจากเมืองไทย จึงได้เปลี่ยนชื่อจากวัดคอกกระบือเป็น "วัดยานนาวา" ด้านในมีพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้าให้สักการะ
3. วัดธาตุทอง สถานีเอกมัย
วัดธาตุทอง พระอารามหลวง พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา วัดนั้นก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2481 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พุทธศักราช 2483 (เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร) ผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิตอุโบสถ เมื่อวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2505
วัดแห่งนี้มีเนื้อที่ 54 ไร่ 3 งาน 82 ตาราง (เลขที่ 149 โฉนดที่ 4037) วัดธาตุทองฯ แท้จริงแล้วมีประวัติความเป็นมายาวนาน ย้อนกลับไปถึงยุคสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ก่อนจะมาตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิทในปัจจุบัน
วัดธาตุทองฯ มีปูชนียวัตถุที่สำคัญ ดังนี้ พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ย้ายมาจากวัดหน้าพระธาตุ / พระสัพพัญญู พระประธานประจำอุโบสถ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 70 นิ้ว สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2495 / พระพุทธชินินทร ประจำอุโบสถ สมัยอู่ทอง หน้าตักกว้าง 32 นิ้ว / หลวงพ่อพระพุทธอภิบาลปวงชน / พระพุทธมนต์ปรีชา สุโขทัย พระประธานหอประชุม (ปัจจุบัน ประดิษฐานภายในอุโบสถ) / พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุอินแขวนจำลอง / พระพุทธชินราชจำลอง ประจำวิหารลิมปาภรณ์
4. วัดบางนาใน สถานีบางนา
วัดบางนาในเป็นวัดที่สําคัญของเขตบางนา เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย สันนิษฐานว่าได้ก่อสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2433 โดยไม่ทราบนามและ ประวัติผู้สร้าง และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปีเดียวกัน ต่อมาได้รับพระราชทาน เป็นพระอารามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2539
อาคารเสนาสนะที่สําคัญของวัดบางนาใน มีพระอุโบสถที่ก่อสร้างอย่างประณีต และงดงามมาก โดยมีหลังคามุงกระเบื้องดินเผา เคลือบสีแบบเกล็ดหางมน ซุ้มประตู หน้าต่างทําเป็นปูนปั้นลงรักปิดทอง ภายในยังมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง และพระมหา เจดีย์เฉลิมพระเกียรติประดิษฐานอยู่ภายใน ซึ่งเป็นพระเจดีย์ที่ทางวัดสร้างขึ้นมาเพื่อถวาย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 72 พรรษา
วัดบางนาในมีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระเจดีย์ทองทรงกลม บนยอดมีฉัตร มีพระพุทธรูปปางประทานพร ประดับอยู่รอบองค์เจดีย์ทั้ง 4 ทิศ และมีเจดีย์มุมองค์เล็กสีทองทั้งองค์ประดิษฐานอยู่รอบทั้ง 4 ทิศ
5. วัดธรรมมงคล สถานีปุณวิถี
วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร หรือมักเรียกโดยย่อว่า “วัดธรรมมงคล” เป็นวัดในประเทศไทย สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2506 เดิมเป็นป่าสะแก ซึ่งพระพรหมมงคลญาณ (วิริยังค์ สิรินฺธโร) ใช้เป็นที่พักธุดงค์ในระหว่างเดินทางเข้ากรุงเทพฯ นายเถา-นางบุญมา อยู่ประเทศ มีศรัทธาจึงมอบที่ดินแห่งนี้สร้างเป็นวัดขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2506 ปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 32 ไร่ มี พระ เณร จำพรรษาประมาณ 300 กว่ารูป
วัดแห่งนี้มีปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระวิริยะมงคลมหาเจดีย์ชั้นบนสุดบรรจุพระเกศา พระอุรังคธาตุ พระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้รับจากบังคลาเทศ ฐานเจดีย์ เป็นทรง 4 เหลี่ยม สูง 94.78 เมตร มี 14 ชั้น ประกอบด้วยห้องแสดงพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ส่วนฐานเจดีย์เป็นโรงเรียน ครูสอนสมาธิ ประกอบด้วย ห้องเรียนขนาดใหญ่ รองรับนักศึกษาครั้งละ ประมาณ 500 คน มีห้องเดินจงกรม ห้องนั่งสมาธิ ถ้ำวิปัสสนา ห้องอาหาร และห้องประชุม