‘ศูนย์หนังสือจุฬา’ เปลี่ยนแปลงไม่เปลี่ยนไป
การปรับตัวในยุค Disruption และ วิกฤติ "โควิด-19" ของต้นแบบร้านหนังสือในมหาวิทยาลัย "ศูนย์หนังสือจุฬา" กับยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลง
สถานการณ์ร้านหนังสือในประเทศไทย พ.ศ. 2563 ไทยแลนด์ยุค 4.0 ได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์และร้านหนังสือต้องปิดตัวลงจนแทบไม่มีเหลือ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้คนสนใจสื่อดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย ร้านหนังสือที่จะอยู่รอดได้จึงต้องมีการปรับตัว
ศูนย์หนังสือจุฬา ต้นแบบของร้านหนังสือในมหาวิทยาลัย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2518 ที่ใต้ถุนตึกคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนย้ายมาเปิดอย่างเป็นทางการที่ศาลาพระเกี้ยว เพื่อให้บริการแก่นิสิตนักศึกษาครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัย
- 45 ปีแห่งความหลัง
“เราเพิ่งจะครบรอบ 45 ปีไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา ปี 2540 เราขยายสาขาที่สองมาที่สยามสแควร์ ตอนนั้นมีวิกฤติต้มยำกุ้งพอดี คนเดินน้อยมาก มีศูนย์ติวเตอร์ต่างๆ เกิดขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเสร็จแล้วก็แวะเข้ามาอ่านหนังสือ เราก็เริ่มเจริญเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ และขยายออกสู่ภูมิภาค หลายๆ มหาวิทยาลัยอยากมีศูนย์หนังสือเป็นของตัวเอง แต่ไม่สามารถดำเนินกิจการเองได้ มาเชิญเราไปช่วยบริหาร ไปเปิดศูนย์หนังสือตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จนมีสาขาต่างจังหวัดอยู่ 6 แห่ง คือ ม.นเรศวร, ม.บูรพา, ร.ร.นายร้อยจปร., มทร.อีสาน, สาขาพะเยา เราได้เปิดเว็บไซต์ Chulabook.com ขายหนังสือทางอินเทอร์เน็ตเป็นแห่งแรกของประเทศไทย
ปี 2550 หลายๆ มหาวิทยาลัยติดต่อมาอยากมีศูนย์หนังสือ เราได้จึงคิดโมเดลการเป็นเครือข่าย ลงไปดูพื้นที่ว่าจะจัดหน้าร้านอย่างไร ซัพพลายสินค้าส่งหนังสือไปให้ เอาระบบคอมพิวเตอร์ไปวาง อบรมพนักงานให้มีความรู้เรื่องการขายการบริการ ก็สามารถตั้งร้านหนังสือได้ภายใน 2-3 เดือน การร่วมมือเป็นเครือข่ายเรามีอยู่ 7 แห่ง คือ แม่ฟ้าหลวง, ราชภัฎเชียงราย, ราชภัฎสุราษฎร์, ม.วลัยลักษณ์, ร.ร.บดินทร์เดชา
ปี 2555 เราพัฒนาแพลทฟอร์ม e-book ขึ้นมา เพราะเห็นสัญญาณจากตะวันตกว่า ร้านหนังสือจะตายยอดขาย e-book จะขึ้นมาแทน เอาเข้าจริงๆ บ้านเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น วันที่เราเปิดตัว e-book มียอดขายเข้ามาสูงระดับหนึ่ง จากนั้นก็ทรงไปเรื่อยๆ วงการหนังสือมีจุดพีคสูงสุดในปี 2555 มูลค่าตลาดหนังสือไทยอยู่ที่ 26,000 ล้านบาท มีหนังสือเข้ามาในตลาดปีละ 14,000 ปก ปัจจุบัน มูลค่าตลาดหนังสือลดลงเหลือ 15,000 ล้านบาท มาปี 2560-2561 การดิสรัปชั่นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สื่อสิ่งพิมพ์และร้านหนังสือปิดตัวไปมากมาย แล้วมาปีนี้เจอสถานการณ์โควิดเข้าไปอีก” เกรียงศักดิ์ หรรษาเวก รองกรรมการผู้จัดการศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงความเป็นมาให้ฟัง
- แรงกระแทกจากโควิด
"ช่วงโควิด เราปิดร้านตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม ยอดขายหน้าร้านไม่มีเลย แต่ยอดขายออนไลน์เติบโตขึ้น 4-5 เท่า พอสถานการณ์เริ่มดีขึ้น เกิดนิวนอร์มอล คนเริ่มชินกับการสั่งซื้อออนไลน์ พอเปิดร้านอีกครั้งยอดขายกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด เป็นคำตอบว่าร้านหนังสือยังไม่ตาย หนังสือไม่มีวันตาย เมื่อลงไปถึงจุดๆ หนึ่งมันจะเกิดความสมดุล เราจึงปรับปรุงพื้นที่สาขาสยามสแควร์ ให้มีรูปโฉมใหม่
ภาพลักษณ์ของ ศูนย์หนังสือจุฬา คือ มีความครบถ้วนหลากหลาย เป็นผู้นำทางด้านตำราวิชาการ การจะทำให้ธุรกิจหนังสือให้อยู่รอดได้เราต้องเปลี่ยนเป้าหมาย เราไม่ได้ยึดติดกับหนังสืออีกต่อไป เราจะเป็นป่าแห่งความรู้ Forest of Knowladge มีการปรับปรุงเว็บไซด์ Chulabook.com ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เชื่อมโยงออฟไลน์ออนไลน์เข้าด้วยกัน ลูกค้าสั่งซื้อออนไลน์แต่จะมารับของออฟไลน์ที่หน้าร้านก็ได้ ลูกค้าส่วนใหญ่จะสั่งซื้อหนังสือจากมือถือ 60 เปอร์เซ็นต์ อีก 40 เปอร์เซ็นต์ มาจาก PC โน้ตบุ๊ค เราได้นำหนังสือไปขายในมาร์เก็ตเพลส ลาซาด้า, ชอปปี้, เจดี ด้วย
เราได้ร่วมมือกับสสวท. จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแบบเรียนหลักสูตรใหม่วิทยาการคำนวณ ตั้งแต่ ป.1 วิชาโปรแกรมมิ่ง ให้เด็กรู้จักคิดเป็นตรรกะ มีเหตุมีผลเป็นลำดับขั้นตอน ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ เป็นหลักสูตรบังคับ ป.1 ถึง ม.6 จำนวน 8 เล่ม เราจัดพิมพ์แล้วเผยแพร่ได้ดี มีช่องทางอีคอมเมิร์ซที่ครูอาจารย์สั่งซื้อหนังสือได้ สสวท.จึงให้ดำเนินการต่อในปี 2562 อีก 42 ปก เป็นความภูมิใจที่เราได้มีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาของเด็ก ปัญหาในอดีตของหนังสือแบบเรียนคือส่งไม่ทันเรียน เปิดเทอมแล้วเด็กยังไม่ได้หนังสือ พอเราเข้ามาก็ได้ช่วยวางแผนจัดพิมพ์ต่างๆ ให้ทันก่อนเด็กเปิดเทอมเรียน
ช่วงโควิด มีการเลื่อนเปิดเทอมมาเป็น 1 ก.ค. แล้วแบ่งครึ่งเรียน สลับกันเรียน ยังไม่ได้เปิดเต็มร้อย ก่อนหน้าเขาเรียนออนไลน์มาแล้ว สสวท.ก็คิดจะทำสื่อออนไลน์ให้มากขึ้นแทนที่จะใช้สื่อหนังสือแบบเดิม จึงเอาหนังสือ 120 ปกที่มีอยู่มาให้เราเอาขึ้นออนไลน์เป็น e-book ภายในเดือน พ.ค.แล้วขายราคาถูกๆ 29 กับ 59 บาท ทำให้ยอดขาย e-book เพิ่มขึ้นเป็นพันชุด ขณะนี้ตำราเรียนยอดตกลง เพราะครูบาอาจารย์ยุคใหม่ไม่ได้เขียนตำราเป็นเล่มๆ แล้วแต่ทำเป็นบทๆ ให้นักเรียน เด็กก็ทำเป็นดิจิตอลฟอร์แมทแล้วเรียนในไอแพด ส่งต่อกันง่าย หนังสือเล่มก็ขายได้น้อยลง
เราได้ติดต่อสำนักพิมพ์จุฬาขอหนังสือต้นฉบับทุกฉบับมาขึ้นเป็น e-book ต่อไปศูนย์หนังสือจุฬาจะเป็นคลังตำราวิชาการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ตอนนี้เรามีหนังสืออยู่ 4,000-5,000 ปก เป็น e-book ของ สสวท. 120 ปก ที่เหลือเป็นผลงานวิชาการของอาจารย์ ไม่ใช่แค่จุฬาอย่างเดียว เรารับผลงานของคณาจารย์ทั้งประเทศ
คนรุ่นใหม่ต้องการได้ความรู้แบบเร็วๆ ซื้อหนังสือน้อยลง เพราะสามารถหาความรู้ดูได้จากยูทูบ มีคนมาสอนใช้เวลาแค่ 3-4 คลิปก็สามารถนำความรู้ไปต่อยอดทำมาหากินได้แล้ว คอร์สพวกนี้จึงมีขายเต็มไปหมด เราจึงมีบริการใหม่ ‘คอร์สออนไลน์’ เชิญผู้เขียนมาอัดคลิปสอน ทำเป็นคอร์สบรรยาย แล้วถ่ายเก็บไว้ สำหรับผู้เขียนที่มีคอร์สอยู่แล้วสามารถเอามาฝากไว้ในแพลทฟอร์มของศูนย์หนังสือจุฬาก็ได้ เป็นอีกช่องทางหนึ่ง นอกจากนี้เรายังมีฟังก์ชั่นใหม่ ‘เว็บคอนเทนท์’ เปิดบล็อกให้นักเขียนอิสระที่มีชื่อเสียง เข้ามาโพสต์เนื้อหาเรื่องราวของตัวเอง นักเขียนคนไหนมียอดไลค์มากพอ เราก็จะดึงขึ้นมาทำเป็น e-book” เกรียงศักดิ์ พูดถึงบริการใหม่ๆ ของศูนย์หนังสือให้ฟัง
- ศูนย์หนังสือจุฬาโฉมใหม่
“ตั้งแต่ปี 2540 มา เราไม่เคยมีการปรับใหญ่เลย เมื่อก่อนเราเป็นร้านหนังสือที่แน่นมาก เรายังคงรูปลักษณ์เดิมมีตราสัญลักษณ์พระเกี้ยว สีของจุฬาคือสีชมพู แต่จะเป็น Rosegold ชมพูอมทอง หรูขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง สถานที่โปร่งโล่ง พื้นที่กว้างขวาง ชั้นหนังสือดูโล่งขึ้น แต่หนังสือไม่ได้น้อยลง มี Chulabook café มุมกาแฟ ให้นั่งทำงาน นั่งจิบกาแฟอ่านหนังสือ สาขาสยามสแควร์เป็นร้านหนังสือที่ใหญ่ มีพื้่นที่เกือบ 2000 ตารางเมตร ที่ศาลาพระเกี้ยว 1200 ตารางเมตร จามจุรีสแควร์ 500 ตารางเมตร ส่วนร้านหนังสือในห้างส่วนใหญ่จะมีขนาด 100-200 ตารางเมตร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีภาพลักษณ์ว่าครบถ้วนหลากหลาย มีความเป็นกลาง เรารับหนังสือทุกค่าย ทุกสำนักพิมพ์ เราต้องมีครบ หนังสือจะถูกกลั่นกรองโดยทีมบริหารสินค้าว่าจะเอาหนังสือเล่มไหนมาขาย ถ้าหนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือที่เหมาะสม เราก็จะรับมาวางอยู่ที่ร้าน ด้วยพื้นที่ร้านที่ใหญ่สามารถรองรับจำนวนสำนักพิมพ์ได้มาก รองรับไซเคิลของหนังสือได้นานกว่าร้านอื่นๆ มีโอกาสขายได้นานกว่า
เร็วๆ นี้ ศูนย์หนังสือจุฬา สาขาจามจุรีสแควร์จะมีการจัดกิจกรรม Bookfair ที่เราจัดทุกปี ตอนนี้ธุรกิจหนังสือยังพอไปได้ ส่วนสำนักพิมพ์รายเล็กรายน้อยที่ไม่ได้มีทุนหนาเปิดเว็บไซด์หรือไม่มีทีมจะทำ เรากำลังทำ E Marget Place ให้สำนักพิมพ์มาเปิดเป็นร้านเล็กในมาร์เก็ตเพลสของเรา เปิดโอกาสให้สำนักพิมพ์มีช่องทางจำหน่ายหนังสือของตัวเองได้มากขึ้น เมื่อมีออเดอร์เข้ามาสำนักพิมพ์ก็เป็นคนส่ง ช่วยลดต้นทุนการขนส่งและการเก็บสินค้าได้ กำลังจะเปิดตัวเร็วๆ นี้”
ความแตกต่างของการซื้อหนังสือออนไลน์กับร้านหนังสือก็คือ ซื้อออนไลน์เรารู้ว่าจะซื้อเล่มไหนก็มุ่งไปที่เล่มนั้น แต่ซื้อในร้านหนังสือ เราได้เห็นหนังสือมากมาย เล่มไหนสะดุดตา ก็หยิบขึ้นมาอ่านดูได้ และเรามักจะได้หนังสือที่เราไม่ได้ตั้งใจซื้อเสมอ นี่คือเสน่ห์ของร้านหนังสือ ที่จำเป็นจะต้องมีไว้ต่อไป