หาดทราย : ดูแลรักษาอย่างไร จึงไม่เป็นการทำลายชายหาด
สิ่งที่น่าห่วงยิ่งไปกว่าปัญหาการกัดเซาะจากคลื่นลมธรรมชาติก็คือวิธีคิดและวิธีการแก้ปัญหา ที่แก้ที่หนึ่งไปสร้างปัญหาอีกที่หนึ่ง แล้วต้องทำอย่างไร
ชายทะเลหินสวยน้ำใส หาดน้อยใหญ่ชายทะเลฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันตลอดความยาวชายฝั่ง 3,150 กม. และตามเกาะแก่งต่างๆ อีกรวมกว่า 400 แห่ง เป็นมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติที่ไม่แพ้ที่ใดในโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาประเทศไทยได้มาก ตัวเลขสูงสุดในปี พ.ศ. 2560 ถึง 35 ล้านคน ทำรายได้กว่า 2.77 ล้านบาท แม้วันนี้จะเงียบเหงาจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 แต่เชื่อว่า เมื่อเหตุการณ์กลับคืนสู่ปรกติ นักท่องเที่ยวไม่น้อยหรือใกล้เคียงกับจำนวนเดิมกลับมาเที่ยวเมืองไทย
เชื่อว่าผู้ที่เคยมาท่องเที่ยวเมืองไทย น้อยคนที่ไม่อยากกลับมาอีก
แต่วันนี้มีบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป จนน่าวิตกว่าจะกระทบกับวิถีชีวิตชุมชนและการท่องเที่ยว ทะเลและชายหาด ซึ่งมีชุมชนนับหมื่นแห่งใน 23 จังหวัดชายทะเลตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ คือการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง นักวิชาการหลายฝ่ายวิเคราะห์กันว่าการกัดเซาะรุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะได้รับอิทธิพลจากสภาวะโลกร้อน ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนคลื่นลมรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะช่วงมรสุม พื้นที่หาดเลนที่บางขุนเทียนหรือพระสมุทรเจดีย์ถูกกัดเซาะรุนแรงตั้งแต่ 30 ปีก่อนจนต้องย้ายชุมชน ชาวบ้านใช้วิธีป้องกันหลายทางรวมทั้งถอยร่นด้วย เช่นที่หาดบางขุนเทียน และที่พระสมุทรเจดีย์
ส่วนหาดทรายหลายพื้นที่คลื่นกัดเซาะรุนแรงจนอาคารบ้านเรือนหรือถนนเสียหาย หน่วยงานรัฐใช้มาตรการป้องกัน ทั้งมาตรการแบบอ่อน เช่น ถุงทราย เสาไม้ และมาตรการแบบแข็งด้วยการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ปัจจุบันมีมาตรการป้องกันชายฝั่งแล้วมากกว่า 500 ก.ม. จากพื้นที่ถูกกัดเซาะทั้งหมด704 กม. เหลือราว 146 กม. ที่ยังไม่มีมาตรการป้องกัน
สิ่งที่น่าห่วงยิ่งไปกว่าปัญหาการกัดเซาะจากคลื่นลมธรรมชาติก็คือวิธีคิดและวิธีการแก้ปัญหา ที่แก้ที่หนึ่งไปสร้างปัญหาอีกที่หนึ่ง ปัจจุบันมีสิ่งก่อสร้างต้นแบบที่นิยมใช้ เช่น เขื่อนกันคลื่นนอกฝั่ง รอดักทราย เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล และกำแพงป้องกันคลื่น เฉพาะกำแพงป้องกันคลื่นนี้
ในช่วงปี 2557 ถึง 2562 ได้ก่อสร้างไปแล้วถึง 74 โครงการ ระยะทาง 34.88 กม. ใช้งบประมาณกว่า 6000 ล้านบาท แต่แก้ปัญหาไม่ได้ ยังส่งผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่จนขัดแย้งกัน และที่สำคัญคือทำให้ทรายไม่ทับถมหน้าเขื่อน หาดทรายหายไป หรือยิ่งแก้-ยิ่งพังดังที่อาจารย์สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้งกล่าวไว้ เพราะแม้เป็นเจตนาดี แต่ไม่อาจแก้ปัญหาได้จริง
กรณีการสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา สนใจประเด็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน และความคงอยู่ของหาดทรายอย่างมั่นคงยั่งยืน เพราะชาวบ้านในพื้นที่ทุกข์พออยู่แล้ว ผู้ที่ต่อสู้ป้องกันไม่ให้หาดหายมากมายก็เหนื่อยมากแล้ว แต่ความก้าวหน้าที่จะร่วมมือกันมีน้อยเต็มที
ทุกสิ่งมีได้ต้องมีเสีย ผู้ได้ประโยชน์โดยตรงคือชาวบ้านที่เดือดร้อน แต่ผู้เสียประโยชน์ทางตรงคือชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่ง ซึ่งต้องการที่จอดเรือ รุนกุ้งเคย หาหอย และเดินวัวชายหาด จริงแล้วผลได้ผลเสียทางเศรษฐกิจระดับพื้นที่เชื่อว่าน่าจะพูดคุยเจรจาจนตกลงกันได้
แต่เมื่อมองผลได้เสียกว้างขึ้นระดับสาธารณะ น่าจะต้องใช้ความพยายามมากขึ้น พิจารณาแบบแปลนก่อสร้างเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นที่มีปัญหากัดเซาะและสร้างเขื่อนกำแพงกันคลื่นและมีปัญหา เช่นที่หาดสะกอม หาดทรายแก้ว หาดบ้านเกาะแต้ว และหาดมหาราชในจังหวัดสงขลา หรือกรณีที่อ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ และที่หาดชลาทัศน์ที่สงขลาซึ่งเป็นคดีฟ้องร้องถึงศาลปกครอง ก็พอจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมด้านทัศนีย์ภาพที่ไม่เป็นบวกต่อระบบนิเวศชายฝั่งและการท่องเที่ยวนัก
และในส่วนความคุ้มทุนก็เห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรที่ค่อนข้างมากเฉลี่ยถึงกิโลเมตรละ 150 ล้านบาท ซึ่งถ้าต้องสร้างต่อเนื่องเพื่อป้องกันผลกระทบแบบลูกโซ่ต่อไปอีกเรื่อยๆ ในลักษณะแก้ปัญหาที่หนึ่งแต่ไปสร้างปัญหาอีกที่หนึ่งก็จะต้องใช้งบประมาณมหาศาล จะเอามาจากไหน กรณีหาดม่วงงามแห่งเดียวก็มีแผนช่วงปี 2562-2564 จะสร้างกำแพงกันคลื่นยาว 2603 เมตร งบประมาณ 395 ล้านบาท จะไหวไหมถ้าต้องใช้งบประมาณมากอย่างนี้โดยไม่เห็นผลตอบแทนทางการเงินที่ชัดเจนว่าคุ้มค่าหรือไม่
ถ้ามาตรการป้องกันด้วยโครงสร้างแข็งอย่างเดียวไม่ได้ผล การปล่อยให้ชายหาดเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความสมดุลตามธรรมชาติเอง ก็ต้องใช้เวลานานจนชาวบ้านบางส่วนอยู่ไม่ได้ จะมีทางเลือกใดที่ดีกว่า
เห็นว่าระบบนิเวศชายฝั่งมีความละเอียดอ่อน ต้องมีวิธีการหลากหลาย การตัดสินใจที่ดีควรจะต้องศึกษาข้อมูลความรู้และข้อเท็จจริงให้รอบด้านก่อน
ทบทวนการศึกษาของกรมทรัพยากรและชายฝั่งและผู้รู้ในชุมชน ซึ่งอธิบายปรากฏการเรื่องนี้ว่า ธรรมชาติของระบบนิเวศชายฝั่งจะมีคลื่นลมกระทบฝั่ง กัดเซาะพาทรายเคลื่อนย้ายเข้าออกจากฝั่งอยู่ตลอดเวลา แต่จะมีอัตราเร่งช่วงมรสุม ช่วงเวลาสมดุลทรายจะยาวนานแค่ไหน ก็ขึ้นกับสภาพคลื่นลม ปีไหนมรสุมรุนแรงการกัดเซาะรุนแรงนำทรายออกไปมาก อาจต้องใช้เวลานานหน่อยกว่าทรายจะกลับคืน พื้นที่ชายหาดโดยเฉพาะหาดทราย จึงเป็นระบบนิเวศที่อ่อนไหวและจะสมดุลได้ถ้าไม่ถูกรบกวน
แต่การกัดเซาะที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งก่อสร้างยื่นออกไปในทะเล ไปขวางหรือเบนกระแสน้ำและการเคลื่อนตัวของทราย ทำให้การบวนการเซาะทรายเติมทรายเปลี่ยนไปจนไม่สมดุล เกิดกัดเซาะรุนแรงในที่ไม่ควรถูกกัดเซาะและเติมทรายในที่ซึ่งไม่จำเป็น และเมื่อป้องกันการกัดเซาะด้วยวิธีก่อสร้างสิ่งก่อสร้างแข็งกันคลื่นในทะเลหรือบนชายหาด แยกหาดออกจากกันด้วยสิ่งก่อสร้างเป็นหาดตอนบนหาดตอนล่าง ก็ยิ่งมีผลต่อความแปรปรวนของกระแสคลื่นและการทับถมของทรายบนชายหาดจนส่งผลให้เกิดการกัดเซาะหน้าสิ่งก่อสร้างและกัดเซาะพื้นที่ข้างเคียงต่อเนื่องเป็นลูกโซ่
จึงเชื่อว่า ปัจจัยเริ่มแรกที่ทำให้เกิดการกัดชะที่รุนแรงและผิดธรรมชาติ คือ สิ่งก่อสร้างที่ยื่นออกไปในทะเล และปัจจัยเสริมที่ทำให้หาดหายและขยายพื้นที่กัดเซาะคือสิ่งก่อสร้างแบบโครงสร้างบนหาดทรายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติในพื้นที่ และความเสียหายจากการกัดเซาะจะเกิดกับอาคารสิ่งก่อสร้างที่อยู่บริเวณพื้นที่หาดทราย
ถ้ายอมรับเหตุปัจจัยอย่างนี้ได้ ก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ถ้ามีสิ่งก่อสร้างที่ยื่นออกไปในทะเลเป็นตัวเร่งจริงก็ต้องพิจารณาจะคงอยู่หรือรื้อออก กรณีสงขลา หาดทรายที่อยู่ถัดไป เช่นหาดทรายขาว หาดม่วงงาม หาดมหาราช และมาทางปัตตานีก็ที่หาดสะกอม ล้วนถูกคลื่นกัดเซาะรุนแรงทั้งสิ้น ท่าเรือมีส่วนเร่งการกัดเซาะไหม หรือถ้ามีแต่เป็นไปไม่ได้ที่จะรื้อถอน จำต้องยอมรับผลการการเซาะชายหาดในพื้นที่ใกล้เคียง จะทำอย่างไรจะให้จบแค่นั้น ไม่ให้การกัดเซาะขยายตัวและลุกลามไปพื้นที่อื่นอีก
การปกป้องพื้นที่แรกกระทบ อาจต้องใช้วิธีหลายหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติมทราย ส่วนไหนที่จำเป็นจริงๆ เช่น ถนนหรืออาคารสำคัญ ก็อาจจะต้องคอยถมกันไว้หรือสร้างสิ่งก่อสร้างแข็งบางประเภทที่ดูดซับคลื่นโดยไม่กระทบการเคลื่อนตัวของทรายมากเฉพาะตรงจุดนั้น น่าจะง่ายและประหยัดกว่าสร้างกำแพงกันคลื่นขนาดใหญ่น้อยต่อไปเรื่อยๆ
ส่วนประเด็นผลกระทบ แม้ไม่มีสิ่งก่อสร้างในทะเลเป็นตัวเร่งการกัดเซาะ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ต้องใช้พื้นที่กัดเซาะและเติมทรายด้วยกระบวนการทางธรรมชาติกว้างขึ้น ถ้ามองในมุมความมั่นคงของชายฝั่งและการพัฒนาที่ยั่งยืน เห็นว่าถ้าไม่ใช่ชุมชนขนาดใหญ่มาก ก็น่าจะใช้มาตรการถอยร่นปล่อยพื้นที่หาดให้กว้างพอที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงของการเซาะทรายเติมทรายได้
ชายหาดในยุโรปและอเมริกาซึ่งทะเลเปิดคลื่นลมแรงกว่าไทยก็ใช้มาตรการแบบนี้ ไม่ให้มีสิ่งก่อสร้างถาวรกีดขวาง หาดของเขาจึงกว้างใหญ่และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนบ้านเราอาจต้องปรับปรุงการกำหนดเขตชายทะเลให้เหมาะสม บางพื้นที่อาจต้องกว้างขึ้น ซึ่งจะกระทบชุมชนจำนวนมาก แต่ระยะยาวจะเป็นผลดีแก่ส่วนรวม เรื่องนี้ต้องมีการวางแผนระยะยาวอย่างเป็นระบบ
อยากเห็นการพูดคุยตกลงกันด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง ทั้งข้อมูลระดับความรุนแรงของการกัดเซาะ ขอบเขตพื้นที่ชายหาด มุมมองการปรับภูมิทัศน์ชายหาด ฯลฯ ซึ่งเชื่อว่าหากมองให้ครบด้าน ทั้งระบบนิเวศ สังคม และเศรษฐกิจ ก็น่าจะนำไปสู่ข้อตกลงที่ทุกฝ่ายและประเทศชาติได้ประโยชน์
คลื่นลมและการกัดเซาะเป็นธรรมชาติ แต่หาดก็จะไม่หายไปไหนถ้าใช้กระบวนการมีส่วนร่วมตัดสินใจจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อเลือกใช้วิธีป้องกันรักษาที่ถูกต้อง