5 เรื่องน่ารู้ วัน ‘Emoji’ โลก
วันที่ 17 ก.ค. ของทุกปี เป็น “วันอีโมจิโลก” ซึ่งอีโมจิเป็นลูกเล่นการสื่อสารยุคอินเทอร์เน็ตด้วยตัวการ์ตูน จนทุกวันนี้เรามีอีโมจิใช้มากกว่า 3,000 รูปแบบ และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารในปัจจุบันไปแล้ว
อีโมจิ (Emoji) มีหน้าตาเปลี่ยนแปลงไปทุกปี โดยการใช้กราฟฟิกแบบเวคเตอร์เข้ามาช่วยทำให้มีรูปทรงที่สวยงามยิ่งขึ้น ข้อมูลจาก “อีโมจิพีเดีย” (Emojipedia) ระบุว่า ในปี 2563 เราจะได้เห็นอีโมจิใหม่อีก 117 แบบ รวมถึง “ชาไข่มุก” และธงสีรุ้งของ “กลุ่ม LGBTQ” ทำให้จำนวนอีโมจิที่นิยมใช้กันทั่วโลกเพิ่มเป็น 3,136 แบบ
จากที่เคยเป็นเพียงกลยุทธ์ทางการตลาด ระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา อีโมจิกลายมาเป็นวิธีการสื่อสารยอดนิยมที่ไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกใช้อีโมจิในการทวีต ส่งอีเมล และส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นเพื่อสื่อสาร รวมไปถึงแสดงความรู้สึก และเพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญของอีโมจิ และวันอีโมจิโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 17 ก.ค. ของทุกปี กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จึงขอแชร์ 5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับลูกเล่นการสื่อสารนี้
- 1. วันอีโมจิโลกคืออะไร
พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดได้บรรจุคำว่า “อีโมจิ” เพิ่มเข้าไปในพจนานุกรมเมื่อปี 2556 และหลังจากนั้นเพียง 1 ปี เจเรมี เบิร์จ ผู้ก่อตั้งอีโมจิพีเดียได้บัญญัติวันอีโมจิโลกขึ้นมา
ส่วนสาเหตุว่า ทำไมต้องเป็นวันที่ 17 ก.ค. เป็นเพราะอีโมจิรูปปฏิทินแสดง “วันที่ 17 กรกฎาคม” ทำให้วันนี้จึงถูกเลือกเป็นวันแห่งอีโมจิอย่างเป็นทางการ โดยในปีนี้ถือเป็นการครบรอบปีที่ 7 แล้ว
- 2. อีโมจิคืออะไร-ใช้อย่างไร
อีโมจิคือสัญลักษณ์ดิจิทัลที่เปรียบเสมือนภาษาสากล สามารถใช้สื่อสารข้ามวัฒนธรรมได้โดยไม่มีอุปสรรคทางภาษา ผู้ใช้ "ทวิตเตอร์" ใช้อีโมจิอย่างแพร่หลาย เพราะสามารถสื่อถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และยังสามารถใช้สื่อสารแทนคำบางคำได้อีกด้วย
โรคโควิด-19 ส่งผลต่อบทสนทนาและพฤติกรรมของผู้คนทั่วโลกโดยผ่านเทรนด์การใช้อีโมจิเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีการใช้อีโมจิรูปรถเข็น ใส่หน้ากาก และม้วนกระดาษชำระเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนอีโมจิที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว งานสังสรรค์ และการตัดผมมีการใช้ลดลง
- 3. ต้นกำเนิดของอีโมจิ
ชิเงทากะ คุริตะ นักออกแบบอินเตอร์เฟซของโทรศัพท์ของ “เอ็นทีที โดโคโม” (NTT Docomo) บริษัทเทเลคอมยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เป็นผู้คิดค้นชุดอีโมจิพื้นฐาน 176 แบบ โดยออกแบบอีโมจิในตารางสี่เหลี่ยมขนาด 12 x 12 พิกเซล ซึ่งตัวแรกที่ออกมาประกอบด้วยจุด 144 จุด มีขนาดข้อมูล 18 ไบต์
จุดประสงค์ของการสร้างอีโมจิขึ้นมาคือ เพื่อให้การสื่อสารด้วยอีเมลทางโทรศัพท์มือถือนั้นง่ายขึ้น เพราะระบบอีเมลในโทรศัพท์มือถือเริ่มแรก อนุญาตให้เขียนข้อความได้เพียงแค่ 250 ตัวอักษร และอีโมจิก็ทำให้สื่อสารได้ใจความมากขึ้นในพื้นที่จำกัด
- ชิเงทากะ คุริตะ ผู้ให้กำเนิดอีโมจิ -
"ผมไม่ชอบหน้าตาของอีโมจิชุดที่ตัวเองออกแบบเลย เนื่องจากมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ๆ" คุริตะ เคยเผยกับซีเอ็นเอ็น
- 4. สะท้อนความหลายในสังคม
ตั้งแต่ปี 2558 ตัวอีโมจิก็มีสีผิวต่าง ๆ ให้เลือกใช้งานมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและสีผิว
ในปี 2557 มีการเปิดตัวอีโมจิ “ต่อต้านการกลั่นแกล้งหรือบูลลี่” ที่เป็นรูปดวงตาในกรอบคำพูด ด้วยความร่วมมือกับ Ad Council องค์กรไม่แสวงหากำไรในสหรัฐ ซึ่งผลิต จัดจำหน่าย และส่งเสริมการประกาศการบริการสาธารณะในนามของผู้สนับสนุนต่าง ๆ และหน่วยงานรัฐ
นับตั้งแต่ปี 2553 ก็มีการเผยโฉมตัวอีโมจิแทนคู่รักและครอบครัวที่เป็นเพศเดียวกัน
- 5. ได้รับความนิยมต่อเนื่อง
สังคมออนไลน์ยอดนิยมอย่าง “เฟซบุ๊ค” คาดการณ์ว่า เฉพาะโพสต์ของผู้ใช้งานในแต่ละวันมีการใช้อีโมจิกว่า 700 ล้านแบบ โดยช่วงที่คนนิยมใช้อีโมจิมากที่สุดคือวันสิ้นปี เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งการอำลาปีเก่าและฉลองรับปีใหม่ของคนทั่วโลก
ส่วน “ทวิตเตอร์” สังคมออนไลน์แบบไมโครบล็อก มีการใช้อีโมจิราว 1 ใน 5 (19.04%) ของข้อความที่ผู้คนทวีตบนแพลตฟอร์มในแต่ละวัน
ตัวอีโมจิที่ได้รับความนิยมที่สุดทั้งในเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ คือ “หน้าหัวเราะน้ำตาไหล” ที่ใช้แทนอารมณ์ขำกลิ้งกับเรื่องที่ตลกมาก ๆ ขณะที่อีโมจิหัวใจยังได้รับความนิยมที่สุดในอินสตาแกรม
ทวิตเตอร์เผยว่า จากการจัดอันดับ 10 อีโมจิซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดทั่วโลกในครึ่งแรกของปี 2563 (จัดอันดับจากทวีตทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-10 ก.ค. 2563) จะเห็นว่า หน้าหัวเราะน้ำตาไหลครองอันดับ 1 ตามมาด้วยหน้าร้องไห้ และหน้ากังวล
หากดูเรื่องอัตราการเติบโตด้านการใช้งานของอีโมจิแต่ละแบบในช่วงครึ่งปีนี้ซึ่งทั่วโลกเผชิญกับวิกฤติโรคโควิด-19 จนทำให้เดินทางไปไหนไม่ได้ตั้งแต่ประมาณเดือน มี.ค. พบว่า “รถเข็น” ซึ่งใช้แทนการช้อปปิ้งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากที่สุดกว่า 2,400% รองลงมาเป็น “ไวรัส” ที่คนใช้มากขึ้นกว่า 2,100%
ส่วนที่คนใช้น้อยลงมากที่สุดคือ “รถแท็กซี่” ที่ลดลง 50% และ “เครื่องบิน” ที่ลดลง 39%