สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต 'ความเป็นมา' และงาน 'ดีไซน์'
เปิด "ความเป็นมา" สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต บริษัทอเมริกันเซ็นสัญญาช่วง คสช. และงาน "ดีไซน์" ภายในเอาท์เล็ตที่ได้แรงบันดาลใจจาก "ป่าชายเลน" เตรียมผุด Eco Park 25 ไร่ ให้ชุมชนเรียนรู้การปลูกผัก ออกกำลังกายโยงผลิตพลังงานไฟฟ้า เร็วๆ นี้
วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2563 คือวันแรกของการเปิดให้บริการ สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต ซึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ (Siam Premium Outlets Bangkok) พรีเมี่ยมเอาท์เล็ตอย่างแท้จริงแห่งแรกของเมืองไทย ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน
โครงการนี้ สยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหารโครงการศูนย์การค้ากลุ่มวันสยาม, หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม จับมือกับ ไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป (Simon Property Group) ร่วมกันลงทุนและบริหารภายใต้ชื่อ บริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จำกัด
‘ไซม่อนฯ กรุ๊ป’ เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกอันดับหนึ่งของโลกจากสหรัฐอเมริกา เจ้าของช้อปปิ้งมอลล์ในอเมริกากว่า 200 แห่ง และเอาท์เล็ตมอลล์ที่เป็นสุดยอดจุดหมายปลายทางแห่งการช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวใน 88 ประเทศ
เอาท์เล็ตมอลล์ของ ‘ไซม่อนฯ กรุ๊ป’ ที่นักท่องเที่ยวไทยน่าจะรู้จักดี ได้แก่ Gotemba Premium Outlets ใกล้กับภูเขาไฟฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น, Yeoju Premium Outlets ในเกาหลีใต้ รวมทั้ง Woodbury Common Premium Outlets นิวยอร์ก แต่ละแห่งมีการออกแบบให้เข้ากับทำเลที่ตั้งต่างกันไป
กว่าโครงการนี้จะสำเร็จและเปิดให้บริการคนไทยและนักท่องเที่ยวได้อย่างทุกวันนี้ ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ และกรรมการ บริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพวันอาทิตย์’ หลังพิธีเปิดโครงการฯ ถึงความเป็นมาและแนวคิดในการออกแบบ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต” ซึ่งเต็มไปด้วยความตั้งใจและบ้างก็เกินจะคาดเดา..ไว้ดังนี้
การริเริ่มทำ ‘พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต’
“เรามีไอเดียเรื่องนี้มา 7 ปีแล้ว เราอยากทำพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต แต่ยังไม่แน่ใจว่าประเทศไทยพร้อมจะรับไหม ประกอบกับการทำเอาท์เล็ต ถ้าเราไม่มีพาร์ทเนอร์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ เราจะไม่สามารถทำลักชัวรี่เอาท์เล็ตมอลล์ได้ เพราะการจะไปขอให้เบอร์เบอรี่ บาเลนเซียกา มาเปิด ไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องหาพาร์ทเนอร์มาทำให้ดีจริงๆ ก็ไปติดต่อไซม่อนพร็อพเพอร์ตี้ฯ เราใช้เวลาคุยกันครั้งแรก 7 ปีก่อน” คุณแป๋ม-ชฎาทิพ กล่าว
แต่ก็มีเหตุให้ต้องรอ เนื่องจากในเวลานั้น ไซม่อนฯ กำลังจะเปิดเอาท์เล็ตที่ประเทศมาเลเซีย
จากประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 30 ปีในการบริหารศูนย์การค้า คุณแป๋มยอมรับอย่างตรงไปตรงมา เรื่องนี้จำเป็นต้องรอ
“การทำศูนย์การค้ากับพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต..คนละตำรากัน ธุรกิจการค้าขายก็คนละเรื่อง ในภาษาเขาเรียก ‘ทราเวล รีเทล’ ดูแลชุมชนด้วย นักท่องเที่ยวด้วย เราอยากทำในสิ่งที่เราไม่สันทัด เราก็ต้องเรียนจากคนที่เขาเก่งกว่า และเราก็ต้องเลือกคนที่เก่งที่สุด
เอาท์เล็ตแรกของไซม่อนฯ คือวู้ดเบอร์รี่ แป๋มไปตอนอายุ 21 หลังสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้ว่าต้องมาทำงานบริหารรีเทล แต่ตอนนี้พอย้อนมองกลับไป รู้สึกเลยว่า ทำไมพรีเมี่ยมเอาท์เล็ตแบบนี้ เราทำไม่ได้ในไทย และแป๋มก็ไปดูมาทั่วโลกที่เขาทำ จึงบอกว่าแป๋มรอเขา รอให้เขาพร้อมที่จะลงทุน ถ้าเราไม่มีพาร์ทเนอร์ผู้เชี่ยวชาญ
ซึ่งแป๋มก็ดีใจ ไซม่อนฯ ไม่เคยลงทุนในไทย การที่เขาเลือกสยามพิวรรธน์ ก็แปลว่าเขามีความมั่นใจ รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำงานกับเบอร์หนึ่งของโลกในเรื่องเอาท์เล็ต”
เซ็นสัญญาช่วง คสช.
หลังการเจรจากันครั้งแรกเมื่อ 7 ปีก่อน, สามปีต่อมา ไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ฯ ติดต่อกลับมา และตัดสินใจเซ็นสัญญากับสยามพิวรรธน์ในเดือน มิถุนายน พ.ศ.2561 ก่อนประเทศไทยจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เพราะในช่วงเวลานั้นประเทศยังบริหารงานโดย คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)
“เป็นเรื่องแปลกที่บริษัทอเมริกันจะมาลงทุนในประเทศไทยในช่วงเวลานั้น แต่เราก็ทำได้สำเร็จ” คุณแป๋ม กล่าว
รูปแบบการดีไซน์ท้าทายคนทำงาน
ทุกโครงการของสยามพิวรรธน์ นอกจากเชิงพาณิชย์แล้ว ความโดดเด่นที่มาควบคู่กันคือการให้ความสำคัญของงาน “ดีไซน์” โดยสนับสนุนศิลปินไทยให้มีโอกาสแสดงความคิดสร้างสรรค์และงานฝีมืออย่างเต็มที่ บ่อยครั้งเกินกว่าที่ศิลปินจะคาดคิด
นำมาซึ่งการ ชาเลนจ์(challenge) หรือท้าทายทั้ง ‘ความคิด’ และ ‘การลงมือปฏิบัติ’ของผู้ที่ได้รับเชิญมาร่วมกันสร้างงาน
ครั้งนี้ก็เช่นกัน ธีมการออกแบบ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต” คืออิงความเป็นธรรมชาติในแบบ Eco Jungle (ป่าเชิงนิเวศ) ศิลปินและคณะทำงานร่วมกันถอดสัญลักษณ์ความเป็น Eco Jungle ออกมาเป็นงานประติมากรรมหลายรูปแบบ เพื่อสร้างบรรยากาศที่สวยงาม น่าเดิน ผ่อนคลาย และทำให้สถานที่แห่งนี้มี ‘เอกลักษณ์’ ไปในตัว
งานศิลปะไทยอารมณ์ร่วมสมัยชิ้นใหญ่ที่สุดในโครงการ เห็นโดดเด่นสะดุดตามาแต่ไกล คือ ซุ้มประตูทางเข้า สูงประมาณตึก 2-3 ชั้น และซุ้มแบบเดียวกันนี้ในอีก 3 พื้นที่หลักของโครงการ
ซุ้มลักษณะดังกล่าวออกแบบร่วมกันโดย โด่งสตูดิโอ กับสถาปนิกนักออกแบบ อัจฉริยะ โรจนะภิรมย์ จากบริษัทเออร์เบิ้น อาร์คิเต็คส์ ตกแต่งให้สมบูรณ์แบบโดย กรกต อารมย์ดี ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการออกแบบ พ.ศ.2560 ผู้สร้างสรรค์หัตถกรรมไม้ไผ่จากภูมิปัญญาชุมชนชาวประมงชายฝั่งเมืองเพชรบุรี
“ซุ้มประตูนี้มีโครงสร้างเป็นเหล็ก เนื่องจากต้องตั้งไว้กลางแจ้ง จึงต้องการความแข็งแรง ทนทาน แต่ทำสีปิดให้เหมือนไม้ไผ่เลียนแบบธรรมชาติ” กรกต กล่าวและว่า ส่วนตัวเขารับหน้าที่ตกแต่งเพิ่มเติม โดยเลือกใช้วัสดุเทียมคล้ายต้น ‘จาก’ ต้นไม้ชนิดหนึ่งของ ป่าชายเลน ที่ทีมออกแบบใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบซุ้มประตู ซึ่ง ‘ป่าชายเลน’ ยังคือสัญลักษณ์หนึ่งของจังหวัด สมุทรปราการ ที่ตั้งของ สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต นั่นเอง
ด้านบนของโครงเหล็กขึง “ผ้าใบ” เพื่อสร้างร่มเงาด้านล่าง ให้มีร่มเงารำไรคล้ายป่าชายเลน
ผู้มีฝีมือและความชำนาญในการขึงผ้าใบที่ได้รับเชิญมาร่วมทำงานนี้คือบริษัท แสงทองผ้าใบ เลือกใช้ผ้าใบแรงดึงสูง (Tension Membrane) มาใช้กับงานนี้
“เทนชั่น แมมเบรน คือประเภทของผ้าใบคุณภาพที่ใช้กันในประเทศไทยและต่างประเทศ ตัววัสดุคือ พีวีซี โค้ดเท็ด (PVC coated) หรือโพลีเอสเตอร์เคลือบพีวีซี มีคุณสมบัติกันเชื้อรา กันไฟลาม อายุการใช้งานอย่างน้อย 15 ปี แข็งแรงทนทาน ถ้าขึงตึงจริงๆ คนขึ้นไปเดินได้” ฐานุพงศ์ วุฒิอารีย์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท Sangthong (แสงทองผ้าใบ) ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพวันอาทิตย์’
ผ้าใบที่ขึงเป็น ผ้าใบสีขาว แบบที่แสงผ่านได้ 10% กับ ผ้าใบสีขาวทรานส์ลูเซนท์ (Translucent ) แบบที่แสงผ่านได้เกิน 20% ในช่วงกลางวัน แสงแดดที่สะท้อนจากโครงสร้างทำสีเลียนแบบไม้ไผ่ จึงทำให้เห็นผ้าใบเป็นสีขาวที่แตกต่างกัน 2 โทน หากติดตั้งแสงไฟแบบสีสเปกตรัม ผ้าใบสีขาวนี้ก็จะสะท้อนให้เห็นโทนสีตามแสงสีที่ติดตั้ง
แสงทองผ้าใบ ทำงานใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มแรกกับทีมสถาปนิกและผู้ออกแบบ เนื่องจากรับผิดชอบการเนรมิตโครงสร้างขนาดมหึมาของซุ้มประตู และโครงสร้างแบบเดียวกันนี้เพื่อติดตั้งอีก 2 พื้นที่
“ผมเห็นแบบครั้งแรกรู้เลยงานนี้ดีไซน์นำ โดดเด่นมาก เราในฐานะคนทำก็เสนอความเห็นในแง่งานวิศวกรรมเข้าประกอบ ความเป็นไปได้ในการทำ นำเสนอวัสดุ ขนาด ทุกอย่างต้องมีความละเอียด การเลือกวัสดุเชื่อม รอยเชื่อม เพื่อให้ได้ตามที่สถาปนิกต้องการ” ฐานุพงศ์ กล่าว
ความยากต่อมาคือ โครงสร้างเหล็กที่หล่อใหม่ทุกชิ้นมี ความโค้งไม่เหมือนกันเลย จะประกอบผิดชิ้นส่วนไม่ได้เด็ดขาด รวมทั้งการตัดผ้าใบสำหรับการใช้กับเนื้อที่ 4,000 ตารางเมตร ต้องทำแพทเทิร์นและวัดขนาดไม่ให้พลาด และสลับชิ้นไม่ได้เช่นกัน
คุณฐานุพงศ์กล่าวด้วยว่า ปกติเนื้องานประมาณนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 เดือน แต่งานนี้ทุกอย่างต้องทำให้เสร็จภายใน 3 เดือน ทุกคนทำงานแข่งกับเวลา ชนิดไม่มีเวลาที่เสียเปล่าแม้แต่นาที
ยิ่งครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกับบริษัทร่วมทุนต่างชาติจากสหรัฐอเมริกา แบบแผนการก่อสร้างและงานวิศวกรรมทุกอย่างต้องส่งให้ต่างประเทศพิจารณามาตรฐานความถูกต้องและปลอดภัยก่อนลงมือดำเนินงาน ซึ่งต้องติดต่อและติดตามงานด้วยเวลาทำงานที่ต่างกันระหว่างกลางวันและกลางคืน
เมื่อถึงการทำงานหน้างาน คุณฐานุพงศ์แยกคนทำงาน 60 คน ออกเป็น 4 ทีม ทำงานใน 6 โลเคชั่น การติดตั้งโครงสร้าง ‘ซุ้มประตูหน้า’ ไม่มีปัญหา เพราะสามารถใช้ ‘รถเครน’ ยกชิ้นงานขนาดใหญ่
แต่การติดตั้งตรงตำแหน่งเนินไล่ระดับ รถเครนไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ ต้องปรับใช้แรงงานคนช่วยกันยก โดยการสร้างนั่งร้าน ติดตั้งรอกทำด้วยโซ่ แล้วจึงใช้มือชักรอกดึงโครงสร้างทีละชิ้นขึ้นไปประกอบ และต้องเรียงลำดับไว้อย่างแม่นยำ ไม่เช่นนั้นจะประกอบเข้าด้วยกันไม่ได้ และต้องเสียเวลาเสียแรงงานนำลงและยกขึ้นใหม่เพื่อเปลี่ยนชิ้นงาน
“เหนื่อยที่สุดในชีวิต คนสยามพิวรรธน์สมเป็นคนเหล็ก” คุณฐานุพงศ์ ให้สัมภาษณ์และออกปากว่าอยากให้ ‘กินเนสส์เวิลด์ เร็กคอร์ด’ มาช่วยบันทึกการร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายในการทำงานครั้งนี้
“แต่สุดท้าย เมื่อเห็นลูกค้าถ่ายรูปออกมาสวยงาม เราหายเหนื่อย” ฐานุพงศ์ กล่าวพร้อมรอยยิ้มในน้ำเสียง
งานฝีมืออีกหนึ่งรูปแบบของคุณกรกตในโครงการนี้คือ ม้านั่ง (bench) ความยาวกว่าสิบเมตร จำนวน 4 ตัว ทำจากเชือก ใช้วิธีการถัก-สาน-ดึง ในแบบที่ศิลปินอธิบายด้วยคำว่า “ขึ้น 1 ลง 1, ขึ้น 2 ลง 2” ให้เกิดเป็นเก้าอี้แบบ ‘ม้านั่งยาว’ ที่มีส่วนโค้งเลียนแบบต้น ‘จาก’ ของป่าชายเลนอีกเช่นกัน แต่ทำให้มีสีสันสดใสเพิ่มชีวิตชีวาให้สถานที่ โดยเลือกใช้เชือกสีส้ม สีม่วง สีเหลือง
อีกหนึ่งงานยากของคุณกรกตคือ งานตกแต่งบริเวณต้นไม้ที่ ‘สนามเด็กเล่น’ ใช้วิธีการถักเชือกของชาวประมงพื้นบ้าน คือ ‘เงื่อนกระตุกเบ็ดตัวเมีย’ มัดและผูกเพื่อปิดโครงสร้างเนื้อโลหะที่ขึ้นรูปไว้เลียนแบบโครงสร้างใบต้นจาก
“งานนี้โหดมาก” กรกตออกปากกึ่งเหนื่อยกึ่งภูมิใจถึงการทำงานครั้งนี้แทนทีมมือหัตถกรรมและทีมงานของเขากว่า 20 ชีวิตที่ร่วมกันนั่งถักเชือกและทำงานกลางแสงแดดจ้า เนื่องจากเป็นการติดตั้งงานในพื้นที่จริง ทั้งบนภาคพื้นดินปกติและบนความสูงระดับ 8-9 เมตรก็ต้องขึ้นไปนั่งถักเชือกเพื่อความแน่นหนาและสวยงาม จนเกิดเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่ไม่มีใครเหมือน
คุณชฎาทิพซึ่งติดตามและสนับสนุนการทำงานทุกระยะ เล่าเบื้องหลังและกล่าวยอมรับว่า
“นักออกแบบ ศิลปินไทย..มีความสามารถมาก ผู้รับเหมาของเราก็เก่งมาก การทำงานของสยามพิวรรธน์เราชอบชาเลนจ์ในสิ่งที่เขาไม่เคยทำ มันยาก ทุกคนมาช่วยกันว่า จะทำอย่างไรกับโครงสร้างใหญ่แต่ทำให้ดูไม่น่าเกลียด
แสงทองผ้าใบ..ตอนแรกก็งง จะทำได้หรือไม่ได้ ก็ให้กำลังใจเขา ถ้าทำได้ จะเป็นอีกเลเวลหนึ่ง คือไม่ได้ทำหลังคาผ้าใบปกติ แต่สามารถทำสิ่งซึ่งเป็นโครงสร้างศิลปะ เป็นงานอ้างอิงทำงานต่างประเทศได้ต่อไป”
ภายในบริเวณโครงการฯ ยังมีงาน ประติมากรรมโลหะรีไซเคิล ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากดอกไม้ไทยโดย Pin Metal Art หรือ ศรุตา เกียรติภาคภูมิ ทายาทโรงงานเหล็กที่เปลี่ยนเศษเหล็กเหลือทิ้งในโรงงานให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านชิ้นงาม
รวมทั้งงานประติมากรรมสื่อผสมสีสันสดใสจาก วัสดุรีไซเคิล นานาชนิด เช่น กระป๋องอลูมิเนียม ขวดน้ำพลาสติก ฝาขวดน้ำ พลาสติกอื่นๆ รวมกันหลายร้อยกิโลกรัม โดย วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้ก่อตั้งแบรนด์ WISHULADA (วิชชุลดา) เจ้าของผลงานศิลปะสร้างสรรค์เพื่อกระตุ้นสังคมและเน้นการสื่อสารประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม
คอนเซปต์ ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’สร้าง Eco Park ลำดับต่อไป
แนวคิดการดำเนินงานและการออกแบบ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต” คุณชฎาทิพกล่าวว่า คือการต่อยอดมาจากคำว่า Sustainability (การพัฒนาอย่างยั่งยืน) เพื่อสนับสนุนเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น ไฟฟ้าทั้งหมดในโครงการเป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากระบบโซลาร์เซลล์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ-ผู้สูงอายุ
สิ่งที่กำลังจะทำต่อไปจากนี้คือ การสร้าง Eco Park หรือ ‘สวนเชิงนิเวศ’ บนเนื้อที่อีกประมาณ 25 ไร่ ติดกับเอาท์เล็ต
“อีโค พาร์ค คือสวนที่จะให้คนซึ่งอาศัยอยู่ในแถบนี้มาออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ มาเรียนรู้ที่จะทำการเกษตร เด็กๆ มาปลูกผัก มาออกกำลังกาย แล้วเราจะช่วยกันสร้างไฟฟ้าได้อย่างไรให้กับชุมชน ซึ่งเราจะพยายามทำให้เสร็จในสิ้นปีนี้ โดยมีผู้ร่วมงานเป็นองค์กรใหญ่ๆ อีกหลายองค์กร ซึ่งจะแถลงข่าวอีกครั้ง”
คุณชฎาทิพกล่าวว่า นี่คือการแสดงให้เห็นความเป็น ‘ห้างขายปลีกยุคใหม่’ ตามความคิดของตนเอง ที่ไม่ได้ขายสินค้าอย่างเดียว แต่รับใช้ (serve) ชุมชนด้วย และนำเรื่อง ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ เข้ามาเป็นแก่นแท้สำคัญ
"การเปิด ‘สยาม พรีเมีี่ยม เอาท์เล็ต’ วันนี้..ไม่ได้เพียงเปิดแค่เมืองไทย แต่ไปทั่วโลก เพราะไซม่อนฯ ก็โฆษณาทั้งโลกเหมือนกัน ว่าเขามีสาขาใหม่ ทำให้คนไทยทั้งหมดที่เป็นทีมงานช่วยเราทำ ได้เครดิตด้วย เราก็ภูมิใจ
วันนี้แป๋มรู้สึกดี เรามีเงินทุนจากต่างชาติมาลง สามพันกว่าล้าน...ก็คนละครึ่ง เราสามารถนำเงินทุนจากต่างชาติมาลงหนึ่งพันห้าร้อยล้าน(บาท) การจ้างงานกว่าหนึ่งพันคนอยู่ในนี้ ทำให้แอเรียนี้...ลาดกระบัง สมุทรปราการ ชุมชนโดยรอบ มีสิ่งที่เขาไม่ต้องเข้าเมือง
พอเราเปิด ก็เริ่มมีคนมาซื้อที่ดินแถวนี้ตั้งแต่สองปีก่อน จะมีโครงการโรงแรมขึ้นแถวนี้ บ้านจัดสรรที่มีอยู่เดิมหมื่นหลังคาเรือน ก็จะมีเพิ่มอีก ที่ดินแถบนี้ต่อจากเราไปก็น่าจะมีการลงทุนต่อไปอีก"
เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจของ ‘ที่ดิน’ โดยรอบต่อไป
คุณชฎาทิพ กล่าวด้วยว่า ‘สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ’ คือครั้งแรกที่สยามพิวรรธน์ก้าวออกมาทำโครงการนอกกรุงเทพฯ และจะมีสาขาแห่งที่สองที่ ภูเก็ต อยู่ในระหว่างการดูสถานที่ เนื่องจากทำสัญญากับไซม่อนฯ ว่าจะเปิด ‘สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต’ ทั้งหมด 3 แห่งด้วยกัน
โดยทำเลสาขาที่สามกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา