‘Basic Research’ อนาคต ‘นวัตกรรมเชิงเทคโนโลยี’

‘Basic Research’ อนาคต ‘นวัตกรรมเชิงเทคโนโลยี’

ความจริงที่ว่า “ประเทศไทยไม่ใช่เจ้าของนวัตกรรมทางเทคโนโลยี” ทำให้หลายภาคส่วนพยายามผลักดันงานวิจัยและการพัฒนาบุคลากรเพื่อพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากสถานะ ‘ผู้ใช้เทคโนโลยี’ สู่การเป็น ‘ผู้ผลิต’ ทัดเทียมบริษัทเอกชนข้ามชาติที่เติบโตในบ้านเรา

แนวโน้มความก้าวหน้าของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเริ่มมีให้เห็นบ้างในกลุ่มอุตสาหกรรม Low-Medium Tech ซึ่ง ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) อธิบายว่า อุตสาหกรรมในไทยส่วนมากไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเป็นทุนเดิม เพราะฉะนั้นจึงยังไปไม่ถึงคำว่า Commercialization หรือในเชิงพาณิชย์

“แต่มีบริษัทใหญ่ๆ เริ่มทำนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีอยู่บ้างแล้ว เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเกษตร ก็ถือว่านวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีอยู่ในมือบริษัทขนาดใหญ่ในเมืองไทย ส่วน Startup ยังไม่ใช่เป็น Tech Startup เพราะว่าส่วนมากเอา Business Model มาจากต่างประเทศแล้วมาทำธุรกิจคล้ายๆ กันในประเทศไทย ดังนั้นการถือครองทรัพย์สินทางปัญญาหรือการวิจัยและพัฒนาไม่ได้อยู่ในแผนของบริษัท ส่วน Business Model ที่อยู่ในสตาร์ทอัพยังไม่มีศักยภาพบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาที่นำไปสู่โอกาสในการสร้างนวัตกรรมฯ”

เมื่อโจทย์คือผู้สร้างนวัตกรรมฯ ประเทศไทยนับว่าอยู่ในช่วงทำความเข้าใจตัวเองว่าจะทำนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยของรัฐ หรือจากบริษัทที่มีนวัตกรรมในมือ ผู้ประกอบการ SME ส่วนมากจึงเป็นผู้ใช้ ไม่ใช่ผู้สร้าง ข้อมูลจาก Global Innovation Index ระบุว่าไทยเป็นพื้นที่ของผู้ใช้ที่มีศักยภาพการใช้งานนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีสูงมากติดอันดับ 28 ถึง 32 ของโลก

  • กระบวนทัศน์’ โอกาสทางนวัตกรรม

การกระจุกตัวของผู้ใช้นวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีในพื้นที่กรุงเทพมหานครสะท้อนถึง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่ค่อนข้างสูง ดร.พันธุ์อาจ ให้ความเห็นว่าเมื่อพ้นจากกรุงเทพฯไปแล้วแทบจะไม่มีการใช้นวัตกรรมฯ เนื่องด้วยไม่มีบริษัทกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ โจทย์ในใจคือทำอย่างไรให้นวัตกรรมฯแพร่ออกไปทุกพื้นที่ ซึ่งจะหมายถึง ‘โอกาสทางนวัตกรรม’ ประกอบด้วย การเข้าถึงทรัพยากรหรือโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมที่อยู่ในพื้นที่ เป็นสิ่งที่ตอนนี้ไม่เท่าเทียม พ้นจากกรุงเทพฯไป จะมีบ้างที่หัวเมืองใหญ่บางแห่ง ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

ประเด็นต่อมาคือ ตลาดแรกของผู้ประกอบการท้องถิ่นยังเล็กเกินไป ยังไม่ช่วยให้นวัตกรรมเกิดขึ้นได้ง่ายๆ จึงยังเห็นแต่ภาพจำว่า ท่องเที่ยวแล้วต้องซื้อของฝากแบบเดิมๆ ของที่ระลึกหน้าตาซ้ำๆ หากก้าวข้ามสู่การให้โอกาสทางนวัตกรรมได้ตลาดเล็กๆ จะโตเป็นตลาดโลกในที่สุด

“ในมุมการลดความเหลื่อมล้ำ การให้บริการสาธารณะต้องใช้เอกชนช่วย เพราะรัฐคงทำเองไม่ได้หมด บทบาทของรัฐต้องชัดเจนว่าจะเป็นคู่แข่งของเอกชนหรือจะเป็นคนที่ใช้ประโยชน์จากงานของเอกชนในพื้นที่ มิเช่นนั้นนวัตกรรมของไทยจะไม่เกิดเพราะรัฐไปแย่งทำหมด และจะเพิ่มกระบวนการความเหลื่อมล้ำด้วยซ้ำไป เพราะไม่สร้างโอกาสให้เศรษฐกิจในภูมิภาค ในพื้นที่ ได้เติบโตเท่าที่ควร”

ปัญหาใหญ่ที่สุดที่ผู้อำนวยการ NIA บอกว่าฉุดรั้งให้นวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีของไทยไม่ไปไหนคือ ‘กระบวนทัศน์’ ของคนที่มองว่าตัวเองกำลังทำนวัตกรรม พอเอาเข้าจริงการจะเป็นนวัตกรรมหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคนอื่นบอกว่าใช้สินค้าและบริการแล้วเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น ไม่ได้แปลว่างานวิจัยนั้นดี

“งานวิจัยเป็นจุดเริ่มต้นขององค์ความรู้ เราจึงต้องมีงานวิจัยที่เรียกว่า Basic Research สร้างองค์ความรู้ สร้างความภาคภูมิใจให้ประเทศ หลายประเทศยังคงรักษา Basic Research เอาไว้ รักษาการสร้างองค์ความรู้สาธารณะเอาไว้ เพราะว่านั่นคือความภาคภูมิใจของประเทศ และเป็นทรัพย์สมบัติของทุกคน

แต่จะมาเบลอกันตอนทำ Apply Research ซึ่งจริงๆ Apply Research ต้องไปรองรับโจทย์สังคม มันต่างกันนะ อย่าพยายามทำตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล นักวิจัยไม่ใช่ศูนย์กลางการทำองค์ความรู้ แต่นักวิจัยคือ The Great Supporter ที่ทำให้นวัตกรรมมีโอกาสเกิด เพราะคนในสังคมจะยอมรับหรือไม่ยอมรับสิ่งที่อยากจะให้เรียกว่านวัตกรรม ต้องทำอะไรอีกเยอะ คนกลุ่มนี้จึงต้องเข้าใจว่าสังคมและตลาดมีความคาดหวังอีกแบบหนึ่ง แต่พอเป็นเรื่องเชิงพาณิชย์ที่เขาพูดกันว่า TRL (Technology Readiness Levels : ระดับความพร้อมของเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรม) สูงๆ ส่วนมากเป็นงานเอกชนแล้วนักวิจัยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานนั้น” ดร.พันธุ์อาจ แสดงทัศนะ

เมื่อนวัตกรรมมีความสำคัญต่อทุกด้านของการพัฒนาประเทศ กระบวนทัศน์จึงต้องปรับเปลี่ยน แต่ไม่ใช่พันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยเท่านั้น ทว่าต้องก้าวข้ามไปเป็นความร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม, สตาร์ทอัพ, SME หรือบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นฟันเฟืองให้นวัตกรรมได้ไปต่อ

เขายกตัวอย่างแนวคิดที่บอกว่า สินค้าต้นทุน 50 บาท พอขึ้นบัญชีนวัตกรรมแล้วขาย 200 บาท แปลว่าคอร์รัปชัน นี่ไม่ใช่แนวคิดเชิงนวัตกรรม เพราะนวัตกรรมต้องสร้าง ‘คุณค่า’ และ ‘มูลค่า’ ซึ่งจะสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกมากมายในท้องที่

159550107742

  • ความสำเร็จของงานวิจัยคือความก้าวหน้า

งานวิจัยด้านนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีมีความสำคัญระดับประเทศ งบวิจัยราว 8,000 – 10,000 ล้านบาท น้อยกว่าที่เอกชนมี 5 – 10 เท่า แต่เข้าใจได้ว่าที่ต้องทุ่มงบวิจัยเพราะเอกชนต้องใช้เชิงพาณิชย์ ดร.พันธุ์อาจ บอกว่าต้องจัดระเบียบเงินเหล่านี้อย่างชัดเจน คือให้ความสำคัญกับองค์ความรู้สาธารณะ

งานวิจัยที่จะทำกับเอกชนต้องได้โจทย์จากเอกชน และสร้างความเข้าใจว่าทำวิจัยเพื่ออะไร โดยมีคนเชื่อมโยงระหว่างโลกของงานวิจัยและโลกของนวัตกรรมเข้าด้วยกัน เขานิยามว่าต้องเป็นคนที่อยู่ทุกโลก ทั้งเอกชน รัฐ และมหาวิทยาลัย ทว่าคนกลุ่มนี้ยังมีน้อย

แม้จะมีกรอบเรื่องงบและบุคลากร แต่ที่ผ่านมาถือว่ามีงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จแล้วมากมาย ในมุมของหัวเรือใหญ่หน่วยงานด้านนวัตกรรม ยังมองว่าต้องดูกันทีละประเด็น ว่าประเมินผลด้วยอะไร

“บางคนงานวิจัยตีพิมพ์ไปแล้ว คนในโลกวิชาการเขาเอาไปอ้างอิงต่อ แต่ถ้าบอกว่าหลังจากนั้นคุณต้องเอาสิ่งเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ มันจะเกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญาทันที เพราะ KPI งานวิจัยบางที่ไม่ได้บอกให้จดทรัพย์สินทางปัญญา

เท่านั้นไม่พอ ถ้าบอกว่างานวิจัยนี้ต้องเอาไปใช้เชิงพาณิชย์ได้อีก ก็ต้องเอางานวิจัยไปเร่ขาย บางสถาบันการศึกษามีตัวช่วย เช่น Business Development Unit ในหน่วยงาน ก็ไปคุยกับเอกชน ซึ่งมันอาจสายไปเพราะเอกชนไม่ได้ต้องการ จึงตอบยากว่าอะไรคือผลสัมฤทธิ์ มันขึ้นอยู่กับตัว KPI ของแหล่งเงินทุนเขาต้องการเห็นอะไรแน่

นักวิจัยคือคนที่สร้างองค์ความรู้ คนที่แสวงหาองค์ความรู้ เราไม่ควรทำนักวิจัยให้เป็นผู้ประกอบการ ยกเว้นเรากำลังจะสร้างคนที่เชื่อมโยงโลกของงานวิจัยและโลกนวัตกรรม แสดงว่าคุณเคยเป็นนักวิจัย แต่คุณมีแรงบันดาลใจแรงกล้าอยากจะเป็น CEO ก็ไม่มีปัญหาอะไร KPI ต้องกำหนดว่าคุณเข้าใจระบบวิจัยและระบบนวัตกรรม และบทบาทของคุณอยู่ตรงไหน”

สำหรับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าสนับสนุนผลงานและการทำธุรกิจหลังงานวิจัย หมายความว่าไม่ต้องวิจัยเพิ่ม เพียงนำงานวิจัยมาปรับแล้วขาย เป็นเป้าหมายชัดเจนในเชิงพาณิชย์

“โครงการที่มาที่ NIA ต้องประสบความสำเร็จในการทำวิจัยมาแล้ว มีความพร้อมใช้แล้วระดับหนึ่ง แค่ต้องการปรับแต่งเพื่อลองตลาด ก็ถือว่างานวิจัยถูกส่งมอบ”

159555410645

  • อิสรภาพทางเทคโนโลยี

ถึง ดร.พันธุ์อาจ จะบอกว่าประเทศไทยไม่ใช่เจ้าของนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยี กอปรกับข้อถกเถียงกันว่าทำไมประเทศไทยยังไม่มีแพลตฟอร์มสำคัญๆ ของตัวเอง อาทิ ระบบ Payment หรือแพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิง แต่สำหรับเขาคำว่า ‘ของไทย’ อาจเป็นความไม่ยั่งยืน

“ตลาดของแพลตฟอร์มสากลคือคนหลายพันล้านคน ถ้าเราอยากมีแพลตฟอร์มของตัวเองวิธีง่ายสุดคือปิดประเทศแล้วบังคับให้คนไทยใช้ เพราะตลาดเราเล็กเกินไป อันที่จริงการที่เราหลุดพ้นและมีอิสรภาพทางเทคโนโลยี นั่นคือเรามีงานวิจัย เรามีองค์ความรู้ที่เอาไปต่อยอดได้ ความสำคัญอยู่ที่องค์ความรู้ เช่น จีน ปากีสถาน ทำเรื่องนิวเคลียร์เทคโนโลยีต่อยอดมาถึงอวกาศ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพ่อค้าแม่ค้า แต่มันสร้างอุตสาหกรรมด้านความมั่นคง นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างองค์ความรู้ขึ้นมา และใช้องค์ความรู้เป็นขุมพลัง”

สำหรับงานวิจัยด้านนวัตกรรมในประเทศไทยที่เป็นแบบ Block Grant Multiyear ถือเป็นข้อดีคือ เกิดผลลัพธ์ในระยะยาว สร้างทั้งนักวิจัยระดับชำนาญการ หรือเชี่ยวชาญเฉพาะสาขานั้น ซึ่งคนเหล่านี้จะอยู่ในระบบและไปเกาะเกี่ยวกับระดับสากล เครือข่ายเหล่านี้จะต่อยอดเป็นอะไรได้หลายอย่าง

“หลังจาก Block Grant Multiyear ควรมีโครงการใหญ่ๆ ให้นักวิจัยรุ่นใหม่ทำ นี่จะเกิดอานิสงส์ของคำว่า Block Grant Multiyear ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาระบบงบประมาณ ในเชิงนวัตกรรมระบบนี้ผมว่าเป็นระบบการให้เงินทุนในการทำธุรกิจ ซึ่งเขาทำอยู่แล้ว เช่น ให้เงินก้อนแรกไปเล็กน้อยพอทดลองว่าเวิร์กก็มาเอาเงินไปเพิ่มขึ้นๆ ซึ่งจะมองว่าเป็น Block Grant Multiyear ก็ได้ แต่ไม่ใช่ Grant (การให้ทุน) มันคือ Investment (การลงทุน) เพราะเชิงนวัตกรรมจะพูดถึงความก้าวหน้า”

เมื่อมองไปที่อนาคต ดร.พันธุ์อาจ แสดงทัศนะว่าที่ผ่านมาสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติทำสิ่งที่จับต้องได้ ผู้ประกอบการให้การยอมรับนวัตกรรม คนในภาคประชาสังคมเติบโตเป็นนวัตกร ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพราะการนำเสนอเรื่อง ‘นวัตกรรมสังคม’ เพื่อบอกทุกคนว่านวัตกรรมไม่ใช่สิ่งที่มีไว้ใช้อย่างเดียว แต่ยังสร้างได้ ซึ่งมหาวิทยาลัย, เอกชน, รัฐ และประชาสังคม ต้องทำงานร่วมกัน

“เมื่อก่อนประชาสังคมเป็นผู้รับอย่างเดียว นี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ อย่างที่สองคือสตาร์ทอัพกลายมาเป็นปรากฏการณ์ ใครก็อยากทำเรื่อง Tech Startup กันใหญ่ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับของการสร้างความลำบากพอสมควรว่าจะเอาเทคโนโลยีมาใช้อย่างไร แต่ถ้าเกิดไม่มีกระบวนการอย่างนี้มันเหมือนเรากำลังไต่เพดานบิน มันควรจะทะยานขึ้นไป ก็ต้องมานั่งแก้กระบวนทัศน์ทั้งหลาย ผมเห็นทั้งคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า ผันตัวมาเป็นนวัตกร เมื่อก่อนไม่มีภาพนี้ ตอนนี้มันเกิดขึ้นแล้ว”