ส่งต่อโอกาสสร้างอาชีพ ฝ่าโควิดไปกับ ‘กัลฟ์’

ส่งต่อโอกาสสร้างอาชีพ ฝ่าโควิดไปกับ ‘กัลฟ์’

โควิดนี้เราต้องรอด! "กัลฟ์" จับมือเกษตรกรและกลุ่มอาชีพสตรีจากชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ส่งต่อโอกาสดีๆ ทั้งสูตรเด็ด 'ขนมเทียนแก้ว' สร้างอาชีพ และการตอนกิ่งมะนาว ต่อยอดสร้างรายได้ในยุควิกฤติ

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา มีกิจกรรมดีๆ เสริมประสบการณ์สร้างอาชีพมากมาย เกิดขึ้นที่บริเวณท้องสนามหลวง จัดโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้ชื่องาน ‘ชีวิตวิถีใหม่ใต้ร่มพระบารมี เราสร้างไปด้วยกัน’ ซึ่ง ‘Gulf’ ผู้ผลิตพลังงานประเทศไทย ภายใต้บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในบูธกิจกรรมที่หวังมอบความรู้ต่อยอดสู่อาชีพในวิกฤติที่คนตกงานกันมากขึ้น

กัลฟ์ส่งพลังสู่ชุมชน เริ่มต้นชีวิตวิถีใหม่ไปด้วยกันคือแนวคิดหลักที่ทำให้เกิดกิจกรรมดีๆ ส่งเสริมอาชีพสร้างสรรค์ชุมชน ซึ่งเกิดขึ้นมาโดยตลอด เนื่องจากโรงไฟฟ้ามักตั้งอยู่คู่กับชุมชน ดังนั้นการจับมือกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า สร้างอาชีพพร้อมๆ กับใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชน เป็นสิ่งที่ธุรกิจพลังงานจะละเลยไปไม่ได้

159653648080

ภายในงานมีกิจกรรมเวิร์คชอปทำ ‘ขนมเทียนแก้ว’ โดยประธานกลุ่มอาชีพสตรีบ้านท่าตูม นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากเกษตรกรประจำศูนย์เรียนรู้การเกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง จังหวัดสระบุรี ที่นำความรู้เรื่องการตอนกิ่งมะนาวมาฝาก แถมยังบอกเคล็ดลับหมดเปลือกในเรื่องมะนาว และแจกกิ่งพันธุ์ 'มะนาว' แป้นพิจิตรสุดยอดพันธุ์มะนาวน้ำดี ซึ่งมีผู้สนใจแวะเวียนมาเข้าเวิร์คชอปมากหน้าหลายตา

ด้านฝั่งขนมไทยห่อใบตองรูปทรงสามเหลี่ยมส่วนหนึ่งถูกบรรจุในชะลอมอย่างสวยงาม อีกส่วนถูกวางอวดโฉมเผยสีม่วงอมน้ำเงินของขนมด้านใน วางเรียงรายให้ได้ชิมและลองทำ พร้อมมีสูตรที่ผ่านการลองผิดลองถูกของ ทรัพย์ จันทะวง ประธานกลุ่มอาชีพสตรีบ้านท่าตูม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี แจกจ่ายให้ผู้สนใจ นำไปฝึกทำและต่อยอดขายได้สบายๆ

159653646084

ขนมเทียนแก้ว จากกลุ่มอาชีพสตรีบ้านท่าตูม

หลังจากการเวิร์คชอปรอบแรกมีประธานกลุ่มอาชีพสตรีบ้านท่าตูมได้พูดคุยเผยทั้งเรื่องเคล็ดไม่ลับของ ‘ขนมเทียนแก้ว’ หรือแม้แต่เรื่องราวของการสร้างอาชีพ เธอเล่าว่า 10 ปีก่อนหน้า กว่าจะมั่นคงและได้ชื่อว่า กลุ่มอาชีพสตรีบ้านท่าตูม ล้มไม่รู้กี่รอบ ซึ่งตนก็สู้เสมอมา กระทั่งกัลฟ์เข้ามาราวปี 2547 ช่วยส่งเสริมให้ชุมชนบ้านท่าตูมมีอาชีพและรายได้เป็นของตนเอง

“เดิมวิถีชีวิตของเราคือทำเกษตรเป็นหลัก แต่มีเวลาว่างช่วงทำนา ก็เลยคิดว่าเราน่าจะหารายได้เสริม เมื่อก่อนเราทำดอกทานตะวันจากกระดาษสาและมาลัย แต่ว่าตอนนั้นมันเป็นของฟุ่มเฟือย สู้ขนมเทียนแก้วไม่ได้ที่ได้ทั้งความสวยงามและกินได้ด้วย”

‘ขนมเทียนแก้ว’ จึงเป็นทั้งของฝากเมื่อมาเที่ยวแก่งคอย และของในงานมงคล เช่น ตรุษจีน ปีใหม่ เข้าพรรษา ออกพรรษา งานแต่ง งานบวช ทั้งยังทำให้เธอและคนในชุมชนลืมตาอ้าปากได้ จึงอยากนำมาบอกเล่าให้กับคนที่กำลังมองหาหนทางสร้างอาชีพ สามารถเอาสูตรนี้ไปทำขายได้

“เคล็ดลับของเราคือตัวแป้งใช้แป้งถั่วเขียวแทนแป้งข้าวเหนียว ผสมกะทิ น้ำตาลให้เข้ากัน จะทำให้ขนมเหนียวนุ่มละมุนลิ้น ตัวไส้จะค่อนข้างรสจัดจากพริกไทยป่นและเกลือผสมกับถั่วเขียวนึ่งสุก ส่วนสีม่วงก็ได้จากดอกอัญชัน นำมาห่อใบตองเป็นทรงสามเหลี่ยมพร้อมนิ่ง 20-30 นาทีกินได้แล้ว และถ้าเก็บในตู้เย็นจะอยู่ได้ถึง 15 วัน”

159653647334

เวิร์คชอปทำขนมเทียนแก้ว 

นอกจากนี้เธอยังส่งต่อให้คนในชุมชนและเด็กนักเรียนในโรงเรียนได้มีรายได้ ด้วยการจ้างงาน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 15 คน ทั้งยังได้เรียนรู้การทำขนมเทียนแก้วแบบฟรีๆ และใครจะทำไปต่อยอดก็สามารถทำได้ ณ วันนี้ในฐานะประธานกลุ่มเธอบอกว่า ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง คนในชุมชนมีอาชีพค่อนข้างมั่นคง มีรายได้ในทุกๆ เดือน

“ในเดือนหนึ่งจะส่งศูนย์ฯ ประมาณ 40,000 ชิ้นและขายข้างนอกอีก รวมๆ มีรายได้อยู่ที่ 50,000-60,000 บาท มาหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด เราก็อยู่ได้”

เช่นกันกับ พงษ์พิเชษฐ์ ไชยเวช เกษตรกรประจำศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง เขาสนใจการเกษตรเป็นทุนเดิมอยู่แล้วและจบด้านนี้มา จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากพัฒนาการเกษตรให้ทันสมัยและไร้สารเคมี เขาเล่าว่าปัจจุบันเกษตรกรค่อนข้างหลากหลายช่วงวัย เพราะคนให้ความสนใจในการทำเกษตรมากขึ้น

ในส่วนของศูนย์เรียนรู้ฯ พงษ์พิเชษฐ์เล่าว่า มีแปลงนาสาธิตสำหรับปลูกข้าว โดยระหว่างคันนาว่างๆ ที่เขาเรียกว่า ‘คันนาทองคำ’ เป็นคันนากว้างกว่าปกติและสามารถปลูกมะนาวได้ตลอดแนวราว 6 ไร่ ทั้งยังบอกอีกว่าศูนย์แห่งนี้เกิดขึ้นมาก็เพื่อให้ชุมชนได้เรียนรู้และคลายความกังวลในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่มักถูกตั้งคำถามว่า เมื่อโรงไฟฟ้าเข้ามาในชุมชน ย่อมตามมาด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกัลฟ์ได้สร้างโมเดลที่เป็นผลสำเร็จแล้วว่า ไม่มีผลกระทบหนักๆ ต่อกิจกรรมทางการเกษตรของชุมชน โดยเห็นได้จากการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ พร้อมปลูกพืชผล แบบผสมผสานและอีกมากมาย

159653654047

แจกกิ่งพันธุ์มะนาวแป้นพิจิตร

“มะนาวที่ปลูกนั้นเราสามารถตอนกิ่ง เพื่อขยายพันธุ์ให้ชาวบ้านได้เรียนรู้วิธีการปลูก นอกจากนี้ยังปลูกทั้งไม้ยืนต้น เช่น ไม้มะฮอกกานี ต้นยางนา ไม้สัก แล้วก็มีไม้ผลแบบผสมผสานทั้งมะม่วง มะนาว ขนุน รองลงมาก็จะเป็นพวกพืชหมุนเวียน เช่น มะเขือ พริก และผักสวนครัว จัดเป็นสวนเกษตรแบบผสมผสาน โดยรวมกลุ่มกันทำเป็นเครือข่ายเกษตรกรรอบโรงไฟฟ้า มีสมาชิกรวมๆ ประมาณ 200 คน”

นอกเหนือจากปลูกข้าวและพืชผลต่างๆ การทำปุ๋ยอินทรีย์ ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่พงษ์พิเชษฐ์บอกว่ามีประโยชน์มากๆ ในการจะทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งยังมีการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อนำมาทำปุ๋ยมูลไส้เดือนด้วย ใช้เป็นอาหารให้ต้นไม้แทนปุ๋ยเคมี

“ในส่วนของกิจกรรมเวิร์คชอปการตอนกิ่งมะนาว เรานำพันธุ์มาแจก เพื่อเป็นต้นทุนให้คนที่ต้องการนำไปต่อยอดให้เกิดดอกออกผลต่อไป โดยการเลือกกิ่งพันธุ์ที่ดี ควรยาวสัก 50-60 ซม. หนาเท่าแท่งดินสอ ไม่แก่หรือไม่อ่อนเกินไป ซึ่งช่วงเวลาตอนกิ่งที่ดีที่สุดควรทำในฤดูฝน เพราะความชื้นและอากาศที่ไม่ร้อนมาก ทำให้รากงอกดีกว่าฤดูอื่น”

159653647722

สำหรับวิธีการดูแลมะนาวเขาแนะนำว่า ให้นำมาอนุบาลในกระถางก่อน 1-2 เดือน ให้ระบบรากของต้นมะนาวแข็งแรงก่อน และหมั่นสังเกตดูการแตกยอดแตกใบ นั่นคือสามารถนำไปปลูกต่อได้แล้ว ซึ่งจะรอดไม่รอดอยู่ที่การดูแลของเราด้วย เรื่องโรคและแมลงก็สำคัญ โดยแนะนำให้ใช้สารชีวภัณฑ์ที่ทำเองได้ เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวิภาพจากเศษอาหารเศษผักผลไม้ต่างๆ จะดีต่อตัวเราและสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งประธานกลุ่มอาชีพสตรีและตัวแทนจากกลุ่มเกษตรกรต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า กัลฟ์มาเติมเต็มชุมชน หนุนเสริมสินค้าของชุมชนให้ออกสู่ตลาดที่กว้างขึ้น อีกทั้งเมื่อมีการจัดบูธออกงานต่างๆ พวกเขาและเธอก็มักจะได้เชิญไปโปรโมทสินค้าและแชร์ความรู้ประสบการณ์ในการสร้างอาชีพอยู่เรื่อยๆ เช่นเดียวกับครั้งนี้

เหล่านี้เป็นการสร้างความยั่งยืนในอาชีพและตอกย้ำการทำงานในฐานะผู้ผลิตพลังงานว่าโรงไฟฟ้ากับชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย สอดคล้องกับพันธกิจของผู้ผลิตพลังงานที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน เพื่อสังคมที่ยั่งยืน