รับ 'วันแม่' เช็ค 3 ผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อ 'แม่'
เปิดไอเดีย "ผลิตภัณฑ์การเงิน" ที่เหมาะกับเป็น "ของขวัญวันแม่" ที่ช่วยให้วางแผนการเงินและชีวิตให้ดีขึ้นได้ในทุกๆ ปี
12 ส.ค. วันแม่แห่งชาติ เวียนกับมาอีกครั้งเหมือนเดิมๆ ปี แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิม คือภาวะวิกฤติโรคระบาดซึ่งกำลังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แถมยังส่งสัญญาณเตือนภัยกระเป๋าสตางค์ของทุกๆ คน ด้วยว่า "ความแน่นอน.. คือความไม่แน่นอน"
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมไอเดีย สร้างความมั่นคงทางการเงินจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่น่าจะเป็นของขวัญวันแม่ปีนี้ ที่อาจทำให้แม่ยิ้มไม่หุบ แถมสบายใจเพราะหมดห่วงเรื่องสุขภาพและการเงิน โดยหยิบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะกับผู้สูงวัย และไม่มีความเสี่ยง 3 ผลิตภัณฑ์ ดังนี้
- สลากออมทรัพย์
ในยุคดอกเบี้ยต่ำ และสินทรัพย์อื่นๆ มีความผันผวนสูง "สลากออมทรัพย์" ถือเป็นหนึ่งตัวเลือกในการออม ที่นอกจากจะได้ดอกเบี้ยมากกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์ตามที่กำหนดแล้ว ยังมีโอกาสได้ "ลุ้นรางวัล" จากหมายเลขสลากที่เราถือครองคล้ายกับการลุ้น "หวย" ที่มีเงินรางวัลน้อยใหญ่โอนเข้าบัญชีที่ผูกไว้กับสลากทันทีที่เราเป็นผู้โชคดีในงวดนั้นๆ ที่ช่วยการฝากเงินสนุกขึ้น
สลากออมทรัพย์ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่เหมาะกับเป็นของขวัญของ "แม่" ทุกๆ วัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่สามารถรับความเสี่ยงสูงได้ หรือมีระยะเวลาในการลงทุนที่สั้น เป็นช่องทางที่ช่วยสะสมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ และอาจกลายเป็นเศรษฐีถ้าดวงดี
ที่สำคัญสลากออมทรัพย์ สามารถเริ่มต้นซื้อได้ด้วยเงินจำนวนน้อย และมีหลากหลายรุ่นให้เลือกตามกำลังทรัพย์และเป้าหมายของแต่ละคน โดยเริ่มต้นได้ตั้งแต่หน่วยละ 20 บาท ไปจนถึงหน่วยละ 10 ล้านบาท
ซึ่งปัจจุบันมีธนาคารที่ให้บริการสลากออมทรัพย์อยู่ 3 แห่ง ได้แก่ "ธนาคารออมสิน" (เริ่มต้น 20 บาท) "ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร" (เริ่มต้น 20 บาท) และ "ธนาคารอาคารสงเคราะห์" (เริ่มต้น 50,000 บาท) โดยสลากแต่ละรุ่น แต่ละธนาคาร จะมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันออกไป ทั้งเงินฝากขั้นต่ำ ระยะเวลาในการฝาก อัตราดอกเบี้ย และรางวัลจากการถูกรางวัล ซึ่งควรศึกษาให้เข้าใจและสอดคล้องกับแผนการเงินของแม่และลูก
- ประกัน
อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยจัดการความเสี่ยงทั้งทางการเงินและชีวิตได้ นั่นคือการทำ "ประกัน" ซึ่งการทำประกันที่จะซื้อโดยมีเป้าหมายเพื่อดูแล "แม่" อาจทำได้ 2 รูปแบบ คือ
1. ซื้อประกันสุขภาพให้ "แม่"
ประกันสุขภาพเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสูงอายุ ซึ่งเป็นตัวช่วยเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ซึ่งการเลือกประกันสำหรับผู้สูงอายุ หรือซื้อให้ "แม่" จะต้องเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายว่าอยากได้สิทธิประโยชน์ด้านไหนมากที่สุด โดยประกันผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะจำเเนกตามเป้าหมายได้ ดังนี้
เเบบเน้นความคุ้มครอง : การเลือกประกันสุขภาพผู้สูงอายุที่เน้นความคุ้มครอง สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ขึ้นอยู่กับการเลือก ได้แก่ 1) จ่ายเฉพาะกรณีเสียชีวิต โดยทางบริษัทประกันจะจ่ายเงินชดเชย 2) เงินค่ารักษาเมื่อผู้สูงอายุเข้าโรงพยาบาล ซึ่งกรณีนี้เกิดจากมีประกันสุขภาพหรืออุบัติเหตุเป็นสัญญาเพิ่มเติม
แบบสะสมทรัพย์ : ถึงเเม้ประกันสุขภาพผู้สูงอายุจะจ่ายเงินประกันเมื่อเกิดจากการเสียชีวิตเป็นหลัก เเต่ประกันบางกรมธรรม์ก็จะมีนโยบายให้เงินปันผลคืน หรือถ้าเกิดการเสียชีวิตภายใต้ข้อกำหนดก็จะมีเงินก้อนเป็นมรดกให้ลูกหลานต่อด้วย ประกันผู้สูงอายุเเบบนี้จึงเรียกว่า "ประกันผู้สูงอายุเเบบสะสมทรัพย์" เพราะจะได้เงินคืน ตามสัญญาที่ได้กำหนดไว้ เช่น 5 ปี 10 ปี หรือถ้าเมื่อครบการทำสัญญา เเล้วเเต่ผู้สูงอายุยังเเข็งเเรงดี ไม่ได้เสียชีวิต ยังมีเงินคืนเมื่อครบสัญญา การซื้อประกันแบบนี้จึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับการออมเงินให้ผู้สูงอายุ
2. ซื้อประกันชีวิตให้ "ตัวเอง"
สำหรับคนที่ยังไม่มีประกันชีวิต แต่มีภาระต่างๆ ที่ต้องรับผิดชอบ เช่น ผ่อนหนี้บ้าน ผ่อนหนี้รถ หรือมีหนี้สินอื่นๆ ที่แบกรับอยู่ อีกหนึ่งทางเลือกในการจัดการกับความเสี่ยงคือการซื้อประกันชีวิตให้ตัวเอง โดยมี "แม่" เป็นผู้รับประโยชน์จากประกันของเรา
เพื่อรองรับความเสี่ยงในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ทุพพลภาพถาวร หรือเสียชีวิต ผู้ที่อยู่ข้างหลังจะไม่ต้องแบกรับภาระหนี้ของเรา และมีเงินในการจัดการชีวิตและทรัพย์สินหลังจากที่เราจากไปนั่นเอง
อย่างไรก็ตามการทำ "ประกัน" ไม่ว่าจะทำให้ "แม่" หรือทำให้ "ตัวเอง" ย่อมมีค่าเบี้ยประกันเพิ่มเข้ามาเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งเบี้ยประกันของแผนประกันแต่ละแผน แต่ละบริษัทก็แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายหลายด้าน อาทิ ประเภทของแผนประกันยิ่งคุ้มครองนานหรือครอบคลุมหลายเรื่องยิ่งเบี้ยประกันสูง วัยของผู้เอาประกันที่ยิ่งอายุมากเบี้ยประกันยิ่งสูง เป็นต้น
ที่ลืมไม่ได้คือการทำประกันภัยส่วนใหญ่มักจะมี เงื่อนไขในการชำระเบี้ยต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปี และประกันจะไม่คุ้มครองหากขาดส่งเบี้ย เพราะฉะนั้น ก่อนซื้อจึงต้องคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายเบี้ยในระยะยาว รวมถึงสิทธิประโยชน์ในการเสียภาษีด้วย
- เงินฝากประจำ ปลอดภาษี ดอกเบี้ยสูง
ในช่วง "ดอกเบี้ยขาลง" การออมเงินในบัญชีออมทรัพย์ธรรมดาไม่เพียงพออีกต่อไป สำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับความเสี่ยงที่ยากจะคาดเดาได้ในช่วงนี้ แต่ยังต้องการสะสมเงินเพื่อเก็บออมเงินเป็นทุนสำรอง ยังมีทางเลือกอย่าง "เงินฝากประจำ" ที่ช่วยสะสมเงินสด พร้อมดอกเบี้ยที่ชัดเจนในแต่ละปี แบบเงินต้นไม่หาย
เงินฝากประจำปลอดภาษี เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อ "แม่" เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงเหมือนกับการลงทุน ไม่ต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานมาก และไม่เสียภาษีเมื่อได้รับดอกเบี้ยด้วย
อีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจคือเงินฝากประจำเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก โดยเฉลี่ยสามารถเริ่มต้นออมได้ตั้งแต่ 1,000 บาท ต่อเนื่อง 24-36 เดือน พร้อมรับดอกเบี้ยเฉลี่ย 2% ต่อปี (มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละผลิตภัณฑ์)
เป้าหมายสำคัญของเงินฝากประจำปลอดภาษี คือสามารถเป็นทางเลือกสะสมเงินใช้ในยามเกษียณที่แน่นอน ควบคู่ไปกับการวางแผนการเงินอื่นๆ ที่ทำให้ไม่ลำบากในบั้นปลาย สำหรับคนที่อยากออมเงินให้แม่ ผ่านเงินฝากประจำปลอดภาษี
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำปลอดภาษี จากการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์เงินฝากของศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โดยมีธนาคารต่างๆ ที่มีผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำแบบปลอดภาษีที่ให้ดอกเบี้ยสูงสุด 10 อันดับพร้อมเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้
ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูล หรือเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์เงินฝากได้ที่เว็บไซต์ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ศคง.หรือ https://www.1213.or.th/App/MCPD/DepositApp
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะวันแม่ หรือวันไหนๆ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ "การบริหารเงิน" และ "บริหารความเสี่ยง" ทั้งของตัวเอง และคนที่รักอย่าง "แม่" ให้ดีอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อสามารถบริหารจัดการเงินที่ดี และมีการวางแผน จะส่งผลดีทั้งต่อตัวเราเองและคนที่อยู่ข้างหลัง
ค้นหาประกันสุขภาพที่เหมาะกับคุณแม่ได้ที่นี่ คลิก