'อัพไซคลิ่ง'... ผักตบชวา
'ผักตบชวา' วัชพืชลอยน้ำ เกิดง่ายตายยาก ส่งปัญหาต่อระบบนิเวศ กำจัดอย่างไรไม่สิ้น แต่ด้วยภูมิปัญญาคนไทย สามารถนำเส้นใยจากผักตบชวามาทำเครื่องจักสาน บางส่วนทำกระดาษ บางส่วนแปรรูปทำอาหารสัตว์และทำปุ๋ยหมัก
แต่มีคนเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง ที่นำ เส้นใยจากผักตบชวา มาทอเป็นผืนผ้าและตัดเป็นชุดต่าง ๆ จดสิทธิบัตรในชื่อ ผ้าทอมือผักตบชวา ในสูตรเฉพาะของ ชุมชนบ้านหนองเครือบุญ อำเภอภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา โดย นาถลดา เข็มทอง กับลูกสาว นพัธ เข็มทอง พัฒนาเส้นใยผักตบชวาจากเดิมที่ใช้ทำเครื่องจักสานมาทำเส้นใยทอเป็นผืนผ้า จากจุดเริ่มคือผักตบชวา เป็นวัชพืชกำจัดยาก แต่ละปีเสียงบประมาณในการกำจัดมากมาย นาถลดา ในฐานะประธานศูนย์ชุมชนบ้านหนองเครือบุญ เล่าว่า
“เราได้โจทย์มาจากท่านผู้ว่านครศรีอยุธยา ว่าในแต่ละปีเราใช้เงินมากในการกำจัดผักตบชวา เป็นรายจ่ายที่สูญเปล่า ท่านก็มองว่าถ้าเราเปลี่ยนจากรายจ่ายมาเป็นรายได้ ทำอย่างไร เราก็มองไปที่ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านตำบลหนองน้ำใส คือเราเป็นชุมชนทอผ้า เราก็คิดหากระบวนการเอาเส้นใยจากผักตบชวามาเข้าสู่กระบวนการทอผ้า เริ่มเมื่อปี 2560 ลองผิดลองถูกมาจนทำสำเร็จ แต่เนื่องจากเราเป็นชุมชนเล็ก ๆ ไม่สามารถทำเป็นอุตสาหกรรมได้ ก็ไปปรึกษาท่านผู้ว่าฯ เบื้องต้นท่านให้ทุนมา 3 หมื่นบาท เป็นเงินส่วนตัว เราก็เอาไปซื้อเครื่องรีดเส้นใย”
ผักตบชวาเป็นปัญหาอย่างมาก คนอยู่ในชุมชนที่มองเห็นผักตบชวาลอยตามลำน้ำ ให้ข้อมูลว่า
“พอหน้าฝนผักตบชวาขึ้นมากก็มาขวางทางน้ำ ทำให้น้ำท่วม พอหน้าแล้งแย่งน้ำ มันดูดน้ำมาเลี้ยงตัวเอง อยู่บ้านนอกจะเห็นชัดคือ น้ำตามแหล่งน้ำไม่เยอะเหมือนในแม่น้ำเจ้าพระยา จะเป็นคลองส่งน้ำเพื่อการเกษตร ชาวบ้านยังไม่ทันสูบน้ำใช้เลยพอผักตบชวาลอยมาน้ำยุบหมด ผักดูดไปหมด
โดยทั่วไปผักตบชวาที่ชาวบ้านมาทำเครื่องจักสานก็มีหลายจังหวัด แต่หลังจากที่ได้ไปดูงานที่เมืองทองธานีอยู่หลายวัน ไปออกบูธก็เห็นงานจักสานผักตบชวาเยอะมาก เราก็มาคิดว่าถ้าเราทำจักสานอีกก็จะซ้ำกับคนอื่น ก็เลยคิดทำเรื่องเส้นใย”
ผ่านขั้นตอนลองผิดลองถูกจนประสบความสำเร็จ ได้เส้นใยมาผสมกับใยฝ้าย ทอเป็นผืนผ้า
“ส่วนต่าง ๆ ของผักตบชวาใช้ได้เกือบหมด โดยมีคอนเซปต์ว่า ต้นทำใย ใบทำจาน รากทำปุ๋ย ต้นอ่อนทำอาหาร ที่เหลือแปรรูปเป็นกระดาษ ต้นอ่อนก็กินได้ ผักตบชวา 1 ต้น มี 3 วง วงนอกสุดมายีทำเส้นใยที่เอามาทำเสื้อผ้า วงกลางไว้ทำเครื่องจักสาน ด้านในสุดที่เป็นต้นอ่อนสีขาว ๆ ทำอาหาร ส่วนใบใหญ่ขนาด 23 เซนติเมตรขึ้นไป เก็บไว้ทำจาน ส่วนที่เหลือทำอะไรไม่ได้แล้วเอาไปทำกระดาษ
ยังมีต้นสั้น ๆ ที่ทำอะไรไม่ได้เอาไปทำทรายแมวกับบับเบิ้ล (กันกระแทก) แทนเม็ดพลาสติก ทำส่งออกญี่ปุ่นกับเยอรมนี ตอนนี้ก็ทำส่งอยู่ ตัวกันกระแทกกับทรายแมวต้นทุนไม่มาก มีเพียงมีดกับเขียงหั่นแล้วตากแดด แต่ถ้างานส่งญี่ปุ่นต้องสกรีนคือใช้ผักตบชวาน้ำดี แต่ถ้าส่งเยอรมนีไม่ต้องเพราะใช้เป็นตัวกันกระแทก เอาไปรองตัว อุปกรณ์ที่ไม่เกี่ยวกับอาหาร เช่นใช้ในครื่องยนต์ เราทำส่งต่างประเทศที่เขาเอาไปติดแบรนด์เขาเอง ตอนนี้ส่งออกแต่ละเดือนทรายแมว 6-7 หมื่นบาท ตัวกันกระแทก และกระดาษต่างหาก รวม ๆ แล้วเดือนหนึ่งเกือบสองแสนบาท”
เป็นโจทย์ที่แก้ปัญหาวัชพืชได้แล้ว และสร้างรายได้แก่ชุมชน
“ผักตบชวาที่เราใช้นับอายุไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ปลูกเองมันขึ้นตามธรรมชาติ แต่พอคำนวณได้จากน้ำหนัก เช่น ผักตบชวาที่อายุไม่เกิน 1 ปี จะมีน้ำเยอะ มีน้ำหนักเบาและฟู แต่ถ้าต้นไหนแข็งจะน้ำหนักมาก แสดงว่าต้นนั้นอายุยืนเกิน 1 ปีไปแล้ว ผักตบชวาสามารถอยู่ได้ยาว เมื่อใบแห้งไปพอได้น้ำมันก็ฟื้นขึ้นมาใหม่ จะอยู่อย่างนี้ และถ้าต้นแก่จะรู้เพราะมีน้ำหนักมากขึ้น การเก็บผักตบชวาจะไม่เลือกต้นใหญ่ต้นเล็ก จะเก็บทั้งหมดแล้วมาแยกเป็นกอง ๆ ว่ากองนี้ใช้ทำอะไร ส่วนไหนทำอะไร
เช่น ใบขนาด 23 ซม. เลือกใบใหญ่และไม่แตก จะแยกไว้ก่อนเลย ใบสวย ๆ นี้ต้องทนุถนอมมาก 1 กิโลกรัม มี 40 ใบ เรารับซื้อ กก.ละ 10-15 บาท ส่วนต้นสวย ๆ ที่เอามาตีเส้นใย รับซื้อ กก.ละ 2 บาท ต้นขนาดประมาณนิ้วนาง เอามาทำจักสาน ต้นละ 48-50 สตางค์ แต่ถ้าตีเส้นใยแล้วราคาเริ่มต้น กก.ละ 500-1,000 บาท”
ประธานชุมชนผู้จัดการเส้นใยผักตบชวาเล่าถึงระบบการจัดการผักตบชวา เริ่มตั้งแต่การเก็บจากชาวบ้านที่อยู่ตามริมน้ำ
“ชาวบ้านอยู่ริมน้ำเป็นผู้เก็บเพราะเขาอยู่ใกล้น้ำ การขนส่งก็จะถูกลง เราแบ่งคนทำงานเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มนี้มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง เรามีเครื่องจักรขึ้นรูป กับเครื่องตีเส้นใย นอกนั้นใช้มือทั้งหมด เช่น หน้ากากอนามัยผักตบชวา นำผ้าทอมือมาทำ ส่วนสายคล้องเป็นผักตบชวาจักสาน ช่วงโควิดเครื่องจักสานขายไม่ได้ แต่หน้ากากอนามัยมีออร์เดอร์เดือนละแสนบาท
สายคล้องผักตบชวามีคุณสมบัติที่ดีคือ เวลาโดนเหงื่อจะทำให้เส้นนิ่มลง ถ้าอยู่ในเครื่องจักสานก็อยู่ทนเป็นสิบปีเลย ถ้าดูแลดี ๆ เก็บให้พ้นจากความชื้น เช่นเมื่อใช้ไปแล้วสักเดือนหนึ่งจะไม่ใช้แล้ว ก็ใช้แปรงสีฟันเล็ก ๆ ทำความสะอาดกับน้ำสบู่แล้วผึ่งแดดให้แห้ง แล้วเคลียร์ด้วยแล็กเกอร์สักหน่อยก็เก็บไว้ ใช้ได้เป็นสิบปี
สำหรับผ้าทอมือผักตบชวา เราพยายามใช้เส้นใยผักตบชวามากที่สุดคือ 80:20 ผักตบชวา 80 เส้นใยฝ้าย 20 และเอกลักษณ์ของเส้นใยผักตบชวาคือเป็นเส้น ๆ ริ้ว ๆ เมื่อทอเป็นผ้า เป็นธรรมชาติล้วน ๆ ไม่ต้ม ไม่ฟอก ใช้การทอมือ จึงเป็นแฮนด์เมดทั้งหมด”
แต่ถ้าใช้เส้นใยจากผักตบชวาล้วน ๆ เส้นจะกระด้าง แข็ง ตัดเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ไม่นุ่มนวล คนพัฒนาเส้นใยจากผักตบชวามีแนวคิดว่าจะเอาไปทำเฟอร์นิเจอร์
“เส้นใยผักตบชวาล้วน ๆ คือกระด้าง และซักยาก เรากำลังพัฒนาเส้นใยที่ทอแล้วเนื้อหนามาทำเฟอร์นิเจอร์ ส่วนเนื้อรองลงมาตัดสูท เนื้อพลิ้วหน่อยตัดเสื้อผ้าสตรี และเนื้อพลิ้วที่สุดทำผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ เรากำลังต่อยอดจากคุณสมบัติของเส้นใยผักตบชวาคือดูดซับเหงื่อได้ดี ตอนนี้กำลังจะใส่เรื่องแอนตี้แบคทีเรียลงบนเนื้อผ้าด้วย ส่วนเรื่องสีสัน ตลาดไม่ต้องการสีเพราะยอมรับเรื่องเส้นใยธรรมชาติ ยกเว้นสีเหลืองที่ทำเฉพาะ”
ผ้าสีครีมมีเส้นริ้ว ๆ บาง ๆ อยู่ในเนื้อผ้า แสดงว่าเป็นผ้าทอมือผักตบชวาผสมเส้นใยฝ้าย เป็นเฉดเอิร์ธโทนที่สวมใส่ได้นาน ๆ ในดีไซน์มินิมอล ใช้ชื่อแบรนด์ว่า Pachi Ayothaya (ภาชี อโยธยา)
“จักสานเราก็ยังทำแต่ทำน้อยลงเพราะคนอื่นทำเยอะแล้ว เรามาเน้นเรื่องผ้าทอมือ มีช่างตัดเสื้อ มีนักออกแบบ ทุกกลุ่มมีช่างที่ชำนาญทำครบหมด ใครถนัดอย่างไหนก็ทำอย่างนั้น เช่น คนถักเปีย คนทำหน้าที่ฟั่นเชือก ทำหน้าที่ตีใย ทำจานที่ใช้แทนโฟม แยกไปตามความถนัด และเปิดอบรมแก่ผู้สนใจฟรีด้วย สนใจอยากเข้าอบรมด้านไหนติดต่อมาได้”
ราคาเสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ อยู่ในระดับรับได้ เช่น เสื้อคลุมราคาเริ่มต้น 2,500 บาท ผ้าพันคอ 300 บาท สูทพร้อมซับใน 5,000 บาท
“แม้ว่าเราจดสิทธิบัตรแล้วแต่ถ้าคนอื่นจะเอาไปทำก็ต้องเข้ามาคุยกัน เราก็อยากให้ผ้าเราเป็นสากล ถ้าเก็บไว้กับตัวเองตลาดจะไม่โตแน่นอน เราอยากให้ชุมชนอยู่ได้ นักธุรกิจก็อยู่ได้ เดินไปด้วยกัน ขณะนี้ขายอยู่ในเพจอย่างเดียว และมาออกบูธตามงานต่าง ๆ รายได้หลักก็มาจากคนไปเยี่ยมและซื้อผลิตภัณฑ์จากที่ศูนย์และจากเฟซบุ๊ค แต่ก็ต้องการนักธุรกิจมาสนับสนุน ต้องการขยายตลาดเพิ่มขึ้น”
หลังจากพัฒนาเก็บผักตบชวามาอัพไซคลิ่งได้แล้ว งบที่ยืมท่านผู้ว่าฯ ก็คืนครบแล้ว ประธานศูนย์ฝึกงานผักตบชวาบอกว่า อยากพัฒนาสินค้าพร้อมไปกับนักธุรกิจที่สนใจร่วมสนับสนุน
“เพราะชาวบ้านมีโอกาสเจอนักธุรกิจน้อย เราอยากได้ตลาดที่กว้างกว่านี้ ใครสสนใจอยากได้สินค้าเยอะ ๆ ที่นี่เป็นศูนย์กลางให้ผู้ผลิตและผู้ซื้อมาพบกัน ซึ่งตอนนี้เรามีเครื่องจักร 4 เครื่อง ที่สามารถผลิตผ้าทอมือผักตบชวาได้ทันตามต้องการ”
ผู้สนใจผ้าทอมือผักตบชวา และผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา ช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน ติดต่อที่ FB: ผ้าทอมือผักตบชวา Ayothaya BRAND โทร.09 7016 8241