7 วิธีใช้จ่าย 'ประหยัด' รัดเข็มขัดสู้เศรษฐกิจตกต่ำยุคโควิด
สสส. เผยผลสำรวจเกี่ยวกับ “ความปกติใหม่ทางการเงินในยุคโควิด-19” พบว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่ 59% รายได้ลดลง และชวนไปส่องวิธี "ประหยัด" ค่าใช้จ่ายฉบับมนุษย์เงินเดือน เพื่อช่วยรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำในยุคโควิด-19
วิกฤติเศรษฐกิจในยุค "โควิด-19" ที่คนทั่วโลกและคนไทยกำลังประสบกันอยู่นี้ ทำเอาหลายครอบครัวขาดรายได้อย่างหนัก กลายเป็นวิกฤติการเงินในครัวเรือนหรือวิกฤติการเงินส่วนบุคคล ตามไปด้วย โดยเฉพาะครอบครัวไทยบางครัวเรือนที่อยู่ในสภาพไม่มั่นคงอยู่แล้ว เมื่อเผชิญวิกฤติโควิด-19 ก็ยิ่งประสบปัญหาการเงินที่ทับถมรุนแรงมากไปอีก รวมถึงมนุษย์เงินเดือนที่จากบ้านเกิดมาเพื่อทำงานในกรุงเทพฯ ก็ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจนี้ไม่ต่างกัน
น่าจะดีกว่าถ้าเราหันมาตั้งรับกับสถานการณ์อย่างมีสติ แล้วเริ่มบริหารจัดการการเงินของตนเองให้รอบคอบกว่าเดิม ไม่เฉพาะแค่การ "ออมเงิน" แต่รวมถึงควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ "ประหยัด" ด้วย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนคุณมาเช็คลิสต์วิธี "ประหยัด" ค่าใช้จ่ายฉบับมนุษย์เงินเดือนในเมืองกรุง เพื่อรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำในยุคโควิด-19 พร้อมส่องผลสำรวจเกี่ยวกับ “ความปกติใหม่ทางการเงินในยุคโควิด-19” ที่น่าสนใจมากทีเดียว
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เคยได้ทำการสำรวจสถานการณ์และความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความปกติใหม่ทางการเงินในยุคโควิด-19” เมื่อวันที่ 15-30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งผลสำรวจพบว่า ประชาชนไทยเกินกว่าครึ่งหนึ่งได้รับความกระทบจากสถานการร์โรคระบาด โดย 59% ระบุว่ามีรายได้ลดลง, 52% มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น, 62% มีเงินออมลดลง แต่ที่น่าห่วงคือ 36% ที่มีหนี้สินเพิ่มขึ้น
ที่มาภาพ : https://www.thaihealth.or.th/
เมื่อถามถึงการปรับตัวทางการเงินขณะเผชิญโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ 40% ใช้วิธีลดรายจ่าย ขณะที่ 29% พยายามหารายได้เพิ่ม และมี 13% ที่มีการปรับตัวด้านการ "ออมเงิน" บางคนต้องออมน้อยลง แต่บางครัวเรือนออมมากขึ้น ส่วนอีก 15% พบว่ามีการก่อหนี้เพิ่ม และเมื่อถามว่าหลังจากรัฐบาลคลายล็อคแล้ว มีความพยายามลดรายจ่ายบ้างหรือไม่ พบว่าครัวเรือนไทยจำนวนไม่น้อยมีความพยายามลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง ได้แก่
47% พยายามลดรายจ่ายค่าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
40% ลดค่าล็อตเตอรี่
36% ลดค่าหวยใต้ดิน มากพอๆ กับ ลดการช็อปสินค้าออนไลน์
30% ลดค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
11% ลดค่าบุหรี่
จนถึงตอนนี้ แม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 บ้านเราถือว่าควบคุมการระบาดได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ยังวางใจไม่ได้เพราะการ "ระบาดระลอก2" อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ และเศรษฐกิจภายในประเทศก็ยังคงย่ำแย่ต่อไปอีกระยะจนกว่าเมืองไทยจะมีวัคซีนและยารักษาโรคโควิดที่เพียงพอ กว่าจะถึงตอนนั้น ช่วงนี้ทุกคนจึงควรหันมากินอยู่อย่าง "ประหยัด" รัดเข็มขัดเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจย่ำแย่ในยุคโควิด-19 เราได้รวบรวมเคล็ดลับการใช้จ่ายสุด "ประหยัด" มาฝากกัน ดังนี้
1. "ประหยัด" ด้วยการทำกับข้าวกินเอง
อย่างที่ทุกคนน่าจะได้ลองทำกันมาบ้างแล้วในช่วง "กักตัว" อยู่บ้านยุคโควิด-19 ก็คือ การลองทำอาหารกินเอง บางคนถึงกับเซอร์ไพรส์ว่าได้ค้นพบความสามารถใหม่ของตัวเองในช่วงกักตัวเลยทีเดียว เพราะสกิลการทำอาหารนี้ ยิ่งทำบ่อยก็ยิ่งเก่งขึ้นเรื่อยๆ นอกจากการได้สกิลใหม่ติดตัวมาแล้ว ข้อดีอีกอย่างคือเป็นการ "ประหยัด" ค่าใช้จ่ายที่ดีมากๆ เพราะของสดและวัตถุดิบที่้ซื้อมาทำกับข้าวแต่ละครั้ง สามารถทำกินได้หลายมื้อ กินได้หลายคน คุ้มค่ากว่าการซื้ออาหารนอกบ้านมากิน รวมถึงการซื้ออาหารเดลิเวอรี่แม้ว่าจะสะดวกสบาย แต่ราคาก็แพงเอาการอยู่ ถ้าต้องสั่งกินทุกวันก็คงไม่ไหว
2. ลดมื้อพิเศษราคาแพง และหัดปลูกผักไว้กินเอง
พูดถึงการทำอาหารกินเองแล้ว อีกอย่างที่จะช่วยให้คุณ "ประหยัด" ได้มากขึ้นไปอีกก็คือ การปลูกผักสวนครัว ที่บ้านหรือที่คอนโด โดยเฉพาะผักที่คนไทยเรามักจะต้องใช้ในการปรุงอาหารบ่อยๆ เช่น ใบกะเพรา พริก โหระพา ผักบุ้ง ผักชี ขึ้นฉ่าย ต้นหอม เป็นต้น เมื่อผักโตพอที่จะตัดมากินได้ ก็จะช่วยทุ่นรายจ่ายในส่วนของค่าอาหารไปได้บ้างเหมือนกัน อีกอย่างคือการลดความถี่การทานอาหารมื้อพิเศษนอกบ้านหรือมื้อใหญ่ๆ ลงไปบ้าง เช่น งดกินบุฟเฟ่ต์ราคาแพง งดกินอาหารต่างชาติในร้านหรูราคาสูง เป็นต้น
เคสตัวอย่าง : ภัทรพร คัทมาตย์ พนักงานต้อนรับ Front Office ของโรงแรม 5 ดาวแห่งหนึ่ง
หนึ่งในเคสของมนุษย์เงินเดือนที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ก็คงหนีไม่พ้นพนักงานโรงแรม เพราะเมื่อลูกค้าชาวต่างชาติลดลงก็ส่งผลกระทบกับรายได้ของโรงแรมอย่างหนัก ภัทรพรเล่าให้ฟังว่าโรมแรมที่เธอทำงานอยู่มีการปรับลดเงินเดือนพนักงานลง และตัดรายได้พิเศษจำพวกค่าเซอร์วิสชาร์จและค่าทิปต่างๆ ออกไป ทำให้รายได้ต่อเดือนลดลงเกือบ 50% แต่โชคดีที่ยังไม่มีการปลดพนักงาน
ส่วนการปรับตัวและวางแผนบริหารเงินในช่วงโควิด เธอบอกว่าช่วงนี้เน้นกินอาหารของโรงแรมที่มีบริการให้พนักงานฟรี (เมื่อก่อนไม่ค่อยกินบ่อย) และพยายามเก็บหอมรอมริบเงินเดือนที่ลดน้อยลงให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายสิ่งต่างๆ ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเติมน้ำมันรถส่วนตัว ค่าของใช้จำเป็นต่างๆ เป็นต้น อีกทั้งเธอยังแชร์วิธี "ประหยัด" และควบคุมการใช้จ่ายในยุคโควิดว่า งดออกไปกินข้าวนอกบ้านที่เป็นมื้อพิเศษใหญ่ๆ เช่น ไม่ออกไปกินมื้อหรูหรือบุฟเฟ่ต์มื้อใหญ่ เป็นต้น รวมถึงงดซื้อสิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ อย่างกระเป๋า เสื้อผ้า และของกระจุกกระจิกต่างๆ เป็นต้น
3. ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย งดชอปปิงแบรนด์เนม
ในยุคโควิดที่เศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ สาวๆ ที่ชอบชอปปิงเครื่องสำอาง กระเป๋าแบรนด์เนม เสื้อผ้าแบรนด์เนม ฯลฯ หรือหนุ่มๆ ที่ชอบซื้อแผ่นเกมหรือเครื่องเล่นเกมรุ่นใหม่ๆ คงต้องพักรายจ่ายตรงนี้เอาไว้ก่อน แล้วหันมาควบคุมและลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเหล่านี้ลงให้ได้ เพราะตอนนี้สถานการณ์บ้านเมืองและสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ค่อยดีต้อง "ประหยัดเงิน" เอาไว้ก่อนดีที่สุด เผื่อทีเหตุฉุกเฉินจะได้ไม่เจ็บหนัก
เคสตัวอย่าง : พัชรี ยุติธรรม พนักงานลูกเรือสายการบินแห่งหนึ่ง
พัชรีเล่าให้ฟังว่าช่วงที่โควิดระบาดใหม่ๆ ทำให้การเดินทางทุกอย่างต้องหยุดชะงักลง รวมถึงสายการบินก้ต้องปิดให้บริการและงดบินอยู่ระยะหนึ่ง ทำให้ตอนนั้นเธอมีรายได้ลดลงเหลือประมาณ 20% ในเดือนที่ไม่มีบิน ส่วนช่วงนี้ที่พอกลับมาบินได้บ้าง รายได้ก็เริ่มกลับมาอยู่ที่ประมาณ 30-40% แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยแต่โดยรวมก็ยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่มี โชคดีที่มีรายได้เสริมจากทางอื่นอยู่บ้าง และที่บ้านสามารถช่วยซัพพอร์ตให้อีกทาง ทำให้เธอยังประคองการเงินของตัวเองผ่านมาได้
ส่วนด้านการจัดการหนี้สินต่างๆ เธอได้ขอเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือและเจรจาหนี้เพื่อให้ลดรายจ่ายต่อเดือนลง ในอีกมุมหนึ่งเนื่องด้วยสถานการณ์โควิดทำให้ออกไปไหนไม่ได้ จึงมีส่วนช่วยให้เธอประหยัดได้ค่อนข้างเยอะ บวกกับพยายามหารายได้เสริมเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้ตนเอง นอกจากนี้พัชรียังได้แนะนำวิธีใช้จ่ายอย่าง "ประหยัด" ท่ามกลางยุคโควิดแบบนี้ว่า ให้งดซื้อของฟุ่มเฟือยไปเลย แล้วหันมาสร้างรายได้เพิ่ม เช่น งานพิเศษต่างๆ งานไหนทำได้ก็จะลงมือรับทำทันที ไม่มีรีรอเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
4. วางแผนการ "ออมเงิน" ให้รอบคอบ
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำเพื่อให้สามารถ "ประหยัด" ค่าใช้จ่ายได้ตรงตามเป้าหมายมากขึ้น นั่นคือ การทำบัญชีรายรับรายจ่าย และวางแผนการ "ออมเงิน" ให้รอบคอบ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนต้องหันมาปรับแผนการเงินใหม่ให้ดี แม้ว่าตอนนี้ยังคงมีงานทำอยู่ แต่ไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าบริษัทหรือองค์กรที่คุณทำงานอยู่ได้อาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในยุคโควิด ผลประกอบการอาจจะตกต่ำลง หากเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นมา อย่าน้อยการ "ออมเงิน" อย่างมีวินัยก็จะช่วยชีวิตคุณยามฉุกเฉินได้
เคสตัวอย่าง : จุฑารัตน์ (สงวนนามสกุล) พนักงานประจำบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง
จุฑารัตน์เล่าให้ฟังว่า ยุคโควิดเป็นช่วงที่ทุกคนต้องรัดเข็มขัดรวมถึงตัวเธอเองด้วย ที่ต้องหันมาวางแผนการใช้เงินให้รอบคอบมากขึ้นในแต่ละเดือน วิธีวางแผน "ออมเงิน" ที่เธอทำเป็นประจำก็คือ เมื่อได้รับเงินเดือนมาแต่ละเดือน จะแยกบัญชีเงินเก็บกับบัญชีเงินสำหรับใช้จ่ายไว้คนละกอง ซึ่งแบ่งเก็บเงินแบบนี้ทุกเดือน สำหรับเงินในกองค่าใช้จ่าย ก็นำไปใช้ปกติ เช่น จ่ายค่าหอพัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ใช้จ่ายในของจำเป็นส่วนตัวทั่วไป และบางเดือนก็ชอปปิงของกระจุกกระจิกบ้าง ทั้งนี้การชอปปิงของเธอจะไม่ไปยุ่งกับส่วนเงินเก็บเด็ดขาด
5. ซื้อของ "ลดราคา" แต่ต้องได้คุณภาพ
ยุคโควิดแบบนี้ จะซื้อของอะไรก็ตามต้องคิดทบทวนให้รอบคอบก่อนซื้อ อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าช่วงนี้ให้งดซื้อของฟุ่มเฟือยไปก่อน แต่ถ้าของสิ่งนั้นเป็นของจำเป็นจริงๆ ก็สามารถซื้อได้ แต่มีเคล็ดลับคือต้องซื้อให้คุ้มค่าที่สุด สมัยนี้การชอปปิงออนไลน์เข้ามาตอบโจทย์ผู้คนยุคนี้มาก นอกจากซื้อง่ายและได้รับของอย่างสะดวกสบายแล้ว อีกอย่างคือมันช่วนคุณ "ประหยัด" ได้ด้วย
เนื่องจากเว็บไซต์ที่เป็นตลาดออนไลน์เหล่านี้ มักจะแข่งขันกันทำโปรโมชั่น "ลดราคา" อยู่บ่อยๆ ให้ติดตามช่วงโปรของแต่ละเจ้าไว้ให้ดี รวมถึงต้องเช็คด้วยว่าสินค้านั้นๆ เป็นของดีมีคุณภาพ เพื่อที่จะใช้ไปได้นานๆ และคุ้มค่า อีกทั้งถ้าใครมีคูปองใช้แทนเงินสดก็ให้งัดออกมาใช้ช่วงนี้แหละ อย่าเผลอลืมหรือเผลอทิ้งไปเด็ดขาด การชอปปิงแบบนี้จะช่วยให้คุณซื้อของใช้จำเป็นใราคาที่ถูกลงกว่าเดิมเยอะ!
6. แบ่งเงินใช้แต่ละวัน และงดเครื่องดื่มราคาแพง
เคล็ดลับถัดมาในการ "ประหยัด" ค่าใช้จ่ายก็คือ ลองจำกัดจำนวนเงินสำหรับใช้จ่ายในแต่ละวัน โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนน่าจะทำได้ง่าย เริ่มจากเมื่อได้รับเงินมาแล้วให้แบ่งเป็น 2 ก้อน โดยก้อนแรกนำไปเป็นเงินเก็บ ส่วนอีกก้อนก็นำมาบริหารจัดการออกเป็นส่วนๆ นำไปใช้จ่ายในเรื่องจำเป็นต่างๆ เช่น ค่าที่พัก, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าบริการรายเดือนมือถือ, ค่าอาหาร, ค่าเดินทาง ฯลฯ โดยในส่วนของค่าอาหารและค่าเดินทางที่ต้องใช้ในแต่ละวัน อาจจะแบ่งและกำหนดจำนวนเงินต่อวันเอาไว้เลย เพื่อเป็นการจำกัดค่าใช้จ่ายให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น
อีกอย่างคือ การจะควบคุมค่าใช้จ่ายรายวันให้อยู่ในงบดังกล่าวได้ดีนั้น อาจต้องยอมงดเครื่องดื่มราคาแพงทั้งหลายในท้องตลาด เช่น ชานมไข่มุก กาแฟแบรนด์ดัง เครื่องดื่มชาชนิดอื่นๆ รวมถึงเครื่องแอลกอฮอล์ก็มีราคาสูงเช่นกัน ช่วงนี้อาจจะต้องงดหรือลดการบริโภคให้น้อยลง
7. Social Distancing "ประหยัด" ด้วยกิจกรรมในบ้าน
กิจกรรมนอกบ้านที่ทำให้คุณสิ้นเปลืองเงินไม่น้อยก็อย่างเช่น การสมัครฟิตเนสรายเดือน/รายปี ราคาหลายพันบาทหรือบางเจ้าก็หลักหมื่นบาท รวมไปถึงการออกไปดูหนังที่โรงหนัง ปาร์ตี้สังสรรค์ในคลับ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้คุณสิ้นเปลืองเงินทั้งนั้น (ลองทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างตรงไปตรงมา อาจจะตกใจกับรายจ่ายของคุณ!)
วิธี "ประหยัด" ค่าใช้จ่ายส่วนนี้แนะนำให้ลด ละ เลิก กิจกรรมนอกบ้านเหล่านั้น งดไปปาร์ตี้สังสรรค์สักพัก ถ้างดไม่ได้ก็ให้ลดจำนวนครั้งให้น้อยลงก็ยังดี เปลี่ยนมาดูหนังผ่านสตรีมมิ่งในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ, ดูรายการช่องยูทูป, ออกกำลังกายที่บ้าน (ไม่ง้อฟิตเนส), ทำสปาง่ายๆ เองที่บ้าน, เก็บกวาดบ้าน หรือถ้าอยากดื่มชิลๆ ก็ซื้อเครื่องดื่มที่ชอบมาติดตู้เย็นไว้ดื่มแก้ขัด อาจจะเหงาหน่อยแต่ประหยัดกว่าไปดื่มข้างนอกแน่นอน