ปาเลไลยะกะ แลนด์ ‘ศิลปะ’ ว่าด้วยเรื่อง คน ผึ้ง ป่า

 ปาเลไลยะกะ แลนด์ ‘ศิลปะ’ ว่าด้วยเรื่อง คน ผึ้ง ป่า

‘ศิลปะ’ ตอบโจทย์ คน ผึ้ง ที่ช่วยกันป้องกันไฟป่า พร้อมนำความหมายของคู่ตรงข้าม Nature & Culture ให้มาอยู่ร่วมกันใน ปาเลไลยะกะ แลนด์ นิทรรศการศิลปะอันเนื่องมาจากงานวิจัย “คน ผึ้ง ป่า” โดย ม.แม่ฟ้าหลวง

งานศิลปะที่เล่นกับพื้นที่ด้วยการนำเอากล่องเลี้ยงผึ้ง หรือที่คนทางภาคเหนือเรียกว่า โก๋นผึ้ง จำนวน 8 ชิ้น มาจัดวางบนพื้นที่แสดงงานบริเวณโถงชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ฉายภาพให้เราเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะยอ ในหมู่บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่มีความผูกพันกับระบบนิเวศน์ได้พอสังเขป

159800410648

 โดยทีมงานวิจัย พลวัฒ ประพัฒน์ทอง ฉัตร์ณพัฒน์ ปัญญาเพชร และ วรพร พงษ์สามารถ นำบทกวี (ธา) ชาวปกาเกอะญอ มาเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เพื่อนำไปสู่การเลี้ยงผึ้งอาชีพใหม่ของชุมชนที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมในเรื่องของรายได้และยังเป็นปราการป้องกันการเกิดไฟป่าที่สำคัญ

“ชุมชนบ้านห้วยหินลาดในเป็นต้นแบบในการอยู่กับป่าของชาวปกาเกอะญอ พะตีปรีชา ปราชญ์ชาวบ้านยังได้รับรางวัลวีรบุรุษผู้ปกป้องผืนป่า (Forest Hero) จากองค์การสหประชาชาติ ในการเข้าไปทำงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เราพบว่า 10 ปีที่ผ่านมาถ้าไฟป่าเกิดขึ้น 9 ครั้ง น้ำผึ้งก็ยังคงอยู่ แต่ถ้าเกิน 9 ครั้งเมื่อไหร่น้ำผึ้งจะลดลง เหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าช่วงเวลาที่เลี้ยงผึ้งกับช่วงเวลาเกิดไฟป่าเป็นช่วงเวลาเดียวกัน ถ้าเราเลี้ยงผึ้งก็เท่ากับว่าจะไม่เกิดไฟป่า เนื่องจากคนต้องการน้ำผึ้งทำให้ต้องคอยดูแลป่า” พลวัฒ อธิบาย

159800413438

ทีมงานวิจัย พลวัฒ ประพัฒน์ทอง ฉัตร์ณพัฒน์ ปัญญาเพชร และ วรพร พงษ์สามารถ

ในส่วนของงานศิลปะจัดวางที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ จะมีกล่องเลี้ยงผึ้งเป็นองค์ประกอบหลักของผลงานทุกชิ้น โดยมีความหมายดังนี้

159800423131

1.ปลวก

เริ่มจากการสร้างโลก สร้างแผ่นดิน ด้วยปลวก การกินและถ่ายออกมาเป็นดิน การทำงานเพื่อสร้างผืนดินจากจุดเล็กๆ ด้วยความพยายามผลของมันคือผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ สร้างชีวิตให้กับระบบนิเวศน์ ผืนแผ่นดินนี้ หมายรวมถึงรัฐและความเป็นพลเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยเช่นกัน

159800425269

2.นกแซงแซว

หมายถึงผู้คนพบแผ่นดินตามนิทานที่เล่าสืบกันมา นกแซงแซวจึงเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

159800429022

3.สายสะดือ

การกำเนิดมนุษย์ โดยแนวปฏิบัติเมื่อแรกเกิดนั้นจะต้องตัดสายรกไว้แล้วนำมาผูกไว้กับต้นไม้ยืนต้นที่มีลูก ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติก็เริ่มต้นขึ้นจนตายสืบทอดกันอย่างไม่ขาดสาย

4.บ้าน

หมายถึงครอบครัวการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เป็นบ้าน เป็นหมู่เหล่าสร้างวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ (เนื่องจากมีขนาดใหญ่มากจึงไม่ได้นำมาจัดแสดงในครั้งนี้)

159800436952

5.ช้าง

การพยายามควบคุมธรรมชาติ การจับช้างการนำช้างป่ามาเป็นช้างบ้านและใช้แรงงานการเดินทางเมื่อการหวนกลับสู่ธรรมชาติของวัฒนธรรม เส้นทางการขนไม้ได้กลายเป็นแนวกันไฟเพื่อปกป้องผืนป่า

159800439242

6.ลิง(ค่าง)

ลิงเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กับต้นไม้เมื่อการตัดไม้ในยุคหนึ่งทำให้ป่าลดลง ลิงไม่มีที่อยู่อาศัย ไฟป่าก็เข้ามาอาหารก็หายไป ลิงก็ไม่มีที่อยู่อาศัย ความรู้ที่หายไปใครล่ะจะสานต่อ

159800453632

7.เสือ

เป็นเรื่องเล่าในพื้นที่ห้วยหินลาดในที่มีเหตุการณ์เสือกัดควายที่ริมลำห้วย ตามบทกวีนั้นทำให้เห็นถึงมโนทัศน์เรื่องความเป็นมนุษย์ที่ยังคงอยู่กับธรรมชาติ “เสือโคร่งอยู่ที่ต้นน้ำ กินดิบไม่กินสุก” หมายความว่ามีการปรุงแต่ด้วยสารพิษ แต่เป็นธรรมชาติเท่านั้นที่เขาที่ต้องการ

159800455558

8.หนู

จากบทกวี “หนูนาอยู่ในไร่หมุนเวียน วันหนึ่งโดนกับดักตาย” หนูหมายถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ในบทกวี”ธา” ต่างๆ ดังนั้นความหมายนี้ หนูก็เปรียบได้กับคนรุ่นใหม่ที่ต้องระวังตัวแม้อยู่ในบ้านตนเอง เรียนรู้โลกกว้างเสมอ ดังนั้นพื้นที่นี้เปิดรับการเรียนรู้และค้นว่าการแบ่งปันทรัพยากรเป็นสิ่งที่สร้างความยั่งยืนและสอดคล้องกับวิถีของพวกเขา โดยการใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังเสมอ

159800457470

9.ปราสาท

หมายถึงอารยธรรม การนำขี้ผึ้งมาทำเทียนเพื่อเป็นแสงสว่าง ขับไล่ความมืดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการขจัดความไม่รู้ทั้งปวงออกไป จุดสุดท้ายจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้น

ปาเลไลยะกะ เป็นชื่อของหมู่บ้านที่พระพุทธเจ้าหนีไปปลีกวิเวกเมื่อครั้งเบื่อหน่ายสาวกที่ทะเลาะกัน โดยมีช้างคอยถวายน้ำ ลิงถวายน้ำผึ้ง การนำ ปาเลไลยะกะ มาใช้ในที่นี้หมายถึงการหวนคืนสู่ธรรมชาติเพื่อเยียวยาปัญหาสังคม

นิทรรศการปาเลไลยะกะ แลนด์ จัดแสดงที่โถง ชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

18- 30 สิงหาคม 2563 ภายในงานมีน้ำผึ้งและลิปบาล์มจากบ้านห้วยหินลาดในที่ได้รับการดีไซน์บรรจุภัณฑ์ใหม่มาจำหน่ายด้วย

159800461823

159800463292