เรื่องหมาๆ ปัญหา 'สัตว์เลี้ยง' ที่วนลูปในสังคมไทย

เรื่องหมาๆ ปัญหา 'สัตว์เลี้ยง' ที่วนลูปในสังคมไทย

สำรวจข้อมูลพฤติกรรมการ "เลี้ยงสัตว์" ของคนไทย ในปีที่ผ่านมามี "สัตว์เลี้ยง" ถูกทิ้งปีละกี่ตัว พร้อมส่องปัญหาวนลูปซ้ำๆ เช่น ไม่พร้อมเลี้ยง เอาไปทิ้งวัด ปัญหาหมาจรจัด พร้อมเปรียบเทียบการจัดการสัตว์เลี้ยงของต่างประเทศที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเสพคลิปหมาแมวที่แสนน่ารักหรือตลกขำขันในโลกโซเชียล ถือเป็นกิจกรรมคลายเครียดที่คนยุคดิจิทัลนิยมกันมาก เห็นได้ชัดจากจำนวนเพจหมาแมวในเฟซบุ๊คที่มีจำนวนนับไม่ถ้วน เรียกว่าสัตว์เลี้ยงทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นคู่หูกับมนุษย์มานานแสนนาน ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบันแม้ว่ามีกลุ่มคนที่เลี้ยงดูหมาแมวได้ดีและมีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็มีคนอีกกลุ่มที่นำ "สัตว์เลี้ยง"  มาเลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย จนในที่สุดก็กลายเป็นปัญหาสังคมในวงกว้าง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนสำรวจปัญหา หมาๆ แมวๆ ที่เกิดวนลูปซ้ำๆ ในสังคมไทยว่ามีปัญหาอะไรที่เรายังคงแก้ไขกันไม่ได้บ้าง?

159854958962

  • ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโต

เมื่อวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนจากครอบครัวใหญ่กลายเป็นครอบครัวเล็ก แถมบางคู่แต่งงานไม่มีบุตร ไหนจะผู้สูงอายุ และคนโสด สัตว์เลี้ยงจึงมาเติมเต็มชีวิตของผู้คนมากขึ้น แต่ในปัจจุบันเราไม่ได้เลี้ยงสัตว์แบบ Pet Lover ที่แค่รักหรืออยากมีสัตว์เลี้ยง แต่กลับฟูมฟักเลี้ยงดูแบบ Pet Parent ที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงยอมควักกระเป๋าจ่าย เพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ในปี 2562 ตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงเฉพาะสุนัขและแมว (ไม่รวมสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ) มีมูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี เติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 10% มีผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหัวหอกในการเติบโตดันมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจสัตว์เลี้ยงโตกว่า 3 หมื่นล้านบาทและยังเฟื่องฟูได้อีกเป็นทศวรรษ โดยแบ่งเป็นธุรกิจอาหารสัตว์มีสัดส่วนใหญ่สุด 45% ตามมาด้วยธุรกิจดูแลสุขภาพสัตว์ เช่น โรงพยาบาล คลินิก บริการอื่นๆ มีสัดส่วน 32% และธุรกิจสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เสื้อผ้า ของเล่น ซึ่งมีสัดส่วน 23% ทั้งนี้ 5 ปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดสัตว์เลี้ยงเติบโต ก็คือ

1. Aging Population นับวันคนโสดและคนสูงวัยมีมากขึ้นตามจำนวนความสูงของตึก ความเหงาทำให้พวกเขาต้องการสัตว์เลี้ยงมาเติมเต็ม จึงทุ่มทุนฟูมฟักยกระดับสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นตัวน้อยให้เหมือนคนในครอบครัว เพื่อให้สมาชิกเหล่านั้นมีชีวิตไม่ต่างจากลูกหรือคนรัก

2. Dual Income, No Kids (D.I.N.K) คนแต่งงานแล้วไม่มีบุตร หรือมีแค่คนเดียว การอยู่เป็นคู่ในเพศเดียวกัน ทำให้สัตว์เลี้ยงเป็นมากกว่าแค่สัตว์เลี้ยง แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของคำว่าครอบครัว เพื่อเติมเต็มความรู้สึกที่ต้องการร่วมกันดูแลใครสักคน

3. Pet Humanization กลุ่มคนรักสัตว์นิยมเลี้ยงสัตว์เสมือนลูก หมดยุคเลี้ยงสัตว์แบบคลุกข้าว ก้าวสู่ยุคถนอมดั่งดวงใจ การเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนไปจากอดีตที่เจ้าของหาข้าวหาน้ำให้กิน ฉีดวัคซีนดูแลยามป่วยไข้ แต่สัตว์เลี้ยงในยุคปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตที่สูงขึ้น เริ่มตั้งแต่การจ่ายเงินเพื่อเลือกสัตว์เลี้ยง การดูแลด้านปัจจัย 4 ไปจนกระทั่งไลฟ์สไตล์ต่างๆ โดยเฉลี่ยการเลี้ยงสุนัข 1 ตัว มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,000-1,500 บาทต่อเดือน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของแมว 1 ตัว อยู่ที่ 700-1,000 บาทต่อเดือน

4. Pet Health Care improved วิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ดีขึ้น เนื่องจากกระแสความนิยมในธุรกิจสัตว์เลี้ยง ประกอบกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุ่มเทดูแลสัตว์เลี้ยงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักเรียนสัตวแพทย์หันมาเลือกเรียนทางด้านสัตว์เลี้ยงมากขึ้น 70-80% จากเดิมที่เลือกเรียนเกี่ยวกับปศุสัตว์ ทำให้ธุรกิจคลินิกสัตว์เลี้ยงในเมืองโตขึ้นมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสัตว์ทั่วประเทศกว่า 3 พันแห่ง แบ่งเป็นคลินิกเล็กๆ 80% คลินิกที่สามารถผ่าตัดได้ 15% และโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือพร้อมมีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางอีกประมาณ 5%

5. Friendly Pet Community มีสถานที่และที่พักอาศัยสำหรับสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น เมื่อความผูกพันระหว่างสัตว์เลี้ยงกับเจ้าของมีมากขึ้น บริการต่างๆ จึงผุดขึ้นมารองรับสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ เช่น โรงแรมแมวโคฟูกุ ที่บริการรับฝากแมว แต่ถึงแม้จะเป็นโรงแรมแมวที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย รองรับแมวได้กว่า 200 ตัว แต่ในช่วงหน้าเทศกาลก็ต้องจองล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน เพราะที่พักยังไม่เพียงพอ เนื่องจากจำนวนแมวที่มีเจ้าของเฉพาะในกรุงเทพฯ ก็มีประมาณ 4 แสนตัว

จากปัจจัยดังกล่าวคาดการณ์ว่าสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยไม่ได้รับผลกระทบจากมีวิกฤตทางเศรษฐกิจหรือสถานการณ์การเมืองอย่างเช่นธุรกิจอื่นๆ เพราะเจ้าของอยากให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีไลฟ์สไตล์ที่คล้ายกับตัวเอง เช่น พาไปนั่งเล่นตามคาเฟ่สัตว์เลี้ยง ไปออกกำลังกายที่สระว่ายน้ำ ทำสปา แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับสวยๆ กระทั่งมีพิธีการฌาปนกิจ

159855019827

  • สูญเสียไปเท่าไหร่ กับการเป็นทาสน้องๆ ทั้งหลาย

ข้อมูลจากเว็บไซต์ moneyhub ทำการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายสำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ หมา และแมวไว้ 1 ตัวมีค่าใช้จ่ายใน 1 ปีไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท หากเฉลี่ยรายเดือนจะตกอยู่ที่ 1,200 บาทโดยค่าใช้จ่ายแบ่งเป็น

159855020974

  • ค่าอาหารเม็ด ราคาประมาณ 350- 500 บาท
  • ค่าอาหารเปียก ราคาประมาณ 150-250 บาท
  • ค่าขนม ราคาประมาณ 100-200 บาท
  • ค่าทราย ราคาประมาณ 100 บาท
  • วัคซีนต่างๆ ราคาประมาณ 1,000 - 2,000 บาท
  • อุปกรณ์อื่นๆ ราคาประมาณ 200 บาท
  • วิตามิน ราคาประมาณ 100 บาท

ด้วยราคาค่าใช้จ่ายสำหรับสัตว์เลี้ยงมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ หากผู้เลี้ยงต้องการเลี้ยงให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพกาย และคุณภาพจิตใจ แต่ทั้งนี้สำหรับผู้เลี้ยงส่วนหนึ่งที่รับภาระต่อไปไม่ไหว หนทางออกก็ไม่พ้นการทิ้งสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น

159855022183

  • อยากทิ้งเมื่อไหร่ก็ไป ‘วัด

ข้อมูลตัวเลขจำนวนสุนัข และแมว ไม่มีเจ้าของที่สำรวจโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในปี 2562 /1 ระบุว่าทั่วประเทศยกเว้นกรุงเทพฯ มีสุนัขไม่มีเจ้าของ 109,123 ตัว แมวไม่มีเจ้าของ 55,021 ตัว รวมสุนัขและแมวไม่มีเจ้าของ 164,144 ตัว’

159855030444

ถึงแม้จะไม่มีข้อมูลล่าสุดในปี 2563 อย่างเป็นทางการ แต่ก่อนหน้านี้มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรับดูแลสัตว์เลี้ยงพิการและถูกทิ้งได้เปิดเผยว่า สัตว์เลี้ยงพิการและถูกทิ้งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2เดือนที่ผ่านมาโดยเฉพาะแมว จากเดิมที่มูลนิธิมีแมวที่อยู่ในความดูแลประมาณ 800 ตัว ตอนนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นทะลุ 1,000 ตัวแล้ว ว มีทั้งแมวพันธุ์ไทยและพันธุ์ต่างประเทศ รวมถึงแมวป่วยและพิการ ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีแมวถูกทิ้งเพิ่มมากขึ้น เพราะคาเฟ่แมวต้องปิดตัว

159855024819

ส่วนสุนัขในมูลนิธิก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน ตอนนี้มีสุนัขที่ต้องดูแลมากกว่า 700 ตัว มีทั้งที่พิการ เจ็บป่วยและถูกทิ้ง ซึ่งทางมูลนิธิดูแลให้ทุกตัวมีสุขภาพที่ดีขึ้น และในขั้นต่อไปก็จะประกาศหาพ่อแม่อุปถัมภ์ ซึ่งแต่ละปีมีผู้ที่ติดต่อขอรับสุนัขจากที่นี่ทั้งชาวไทยและต่างชาติไปเลี้ยงปีละกว่า 100 ตัว

มูลนิธิดูเหมือนจะรับภาระเหล่าหมา แมวที่เจ้าของไม่ต้องการในช่วงที่ผ่านมา แต่ถ้าให้นึกถึงสถานที่คลาสสิคสำหรับปล่อยหมา แมว สถานที่นั้นไม่พ้น ‘วัด’

159855028162

พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว เขียนบทความชื่อ ‘เรื่องหมา’ ในคอลัมน์สำนักข่าวพระพยอม บนเว็บไซต์โลกวันนี้ ในปี 2561 ว่า

‘ตอนนี้เรื่องหมาๆ ไม่ใช่เรื่องหมูๆ ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะซวยกันไปหลายคนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะฟาร์มเลี้ยงหมาที่เลี้ยงแล้วไม่ได้มาตรฐาน เลี้ยงแล้วขายไม่ออก หมาป่วยก็เอาไปทิ้งวัด เป็นภาระให้วัดอีก

มีคนชอบมาปรึกษาถามวัดอยู่เรื่อยเรื่องหมา ก็ต้องขอร้องบอกไปว่า ที่วัดสวนแก้วหมาที่เอามาเลี้ยงมันล้นแล้วเต็มแล้ว ถ้าเอามาใส่อีกก็เบียดกันมาก หมามันก็จะเครียด ดีไม่ดีจะกลายเป็นหมาบ้า จึงขอให้เห็นใจเถอะ ทางวัดก็รับมาเต็มที่แล้วล่ะ ตอนนี้มี 700-800 ตัว เฉพาะค่าอาหารก็ตกเดือนละแสนสองแสน ค่าคนเลี้ยงดูก็ไม่น้อย ภาระเลี้ยงดูหมา 700-800 ตัวหนักไม่น้อย จึงได้ต่อรองว่าอย่างมาเพิ่มภาระให้กับวัดมากกว่านี้เลย

เรื่องหมาที่ถูกทิ้ง ควรจะถือเป็นวาระแห่งชาติได้แล้ว เพราะหากหมาบ้ากัดแมว แมวก็ไปกัดคน คนก็ตาย มันเป็นการเพิ่มความเดือดร้อนเป็นลูกโซ่’

159855026498

  • ปัญหาหมาๆ

จากปัญหาหมาจดจัด ล้นวัด ล้นมูลนิธิ มันไม่ได้จบแค่ที่ตรงนั้น เพราะปัญหาลูกโซ่มันต่อเนื่องเป็นเส้นยาว ไม่ว่าจะเป็นด้านความสะอาด สาธารณสุข และปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ โรคพิษสุนัขบ้า

ตั้งแต่ปี 2551 ประเทศไทยมีการตั้งเป้ากำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศ โดยจาก แผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยภายใน พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) ระบุว่าปัญหาคนถูกสุนัขกัดในประเทศไทยนับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง

สถานการณ์ปี 2562 มีตัวอย่างส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าทั้งหมด 7,002 ตัวอย่าง พบผลบวกทั้งหมด 372 ตัวอย่าง คิดเป็น 5.31 % ใน 44 จังหวัด

ทุกๆ ปีจะมีประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วน 1555 ของกทม. มากกว่า 4,500 เรื่อง ปัญหาที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ 1.หมาบ้า สงสัยว่าติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า 2.ดุร้าย เป็นอันตรายต่อคน 3.สร้างความเดือดร้อนรำคาญ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาสุนัข-แมวจรจัด ปี 2562 ผลระบุว่าส่วนใหญ่คิดว่าสุนัข-แมวจรจัด เป็นปัญหาสังคมที่ต้องเร่งแก้ไข ร้อยละ 76.1 และเคยพบเห็นสุนัข-แมวจรจัด ในบริเวณที่อยู่อาศัย ร้อยละ 87.6 คิดว่าสุนัข-แมวจรจัด จะเป็นอันตรายต่อตนเองและครอบครัว ร้อยละ 42.8 และคิดว่าปัญหาสุนัข-แมวจรจัดเกิดจากความมักง่ายของผู้เลี้ยง ร้อยละ 74.1 ทราบว่าผู้ที่นำสัตว์เลี้ยงมาปล่อยทิ้งหรือไม่รักษาความสะอาด หรือปล่อยให้ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ชุมชน ผู้เป็นเจ้าของจะถูกปรับ 5,000 บาท กฎหมาย ร้อยละ 42.7 และอยากให้ผู้ที่ให้อาหารสุนัข-แมวจรจัด ที่ไม่ได้เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด หยุดพฤติกรรม ร้อยละ 47.9

  • เปรียบเทียบข้อกฎหมายต่างประเทศ

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการจัดการเรื่องสัตว์จรจัดโดยเฉพาะ หมา แมว คือ 'แผนยุทธศาสตร์การดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ปี 2560-2563' ซึ่งมียุทธศาสตร์ฯ 8 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การจัดการระบบศูนย์พักพิงสัตว์ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกัน และดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในคน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ที่ 5 การประชาสัมพันธ์ ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบูรณาการและการบริหารจัดการข้อมูลโรคพิษสุนัขบ้า ยุทธศาสตร์ที่ 7 ด้านการติดตามและประเมินผล และยุทธศาสตร์ที่ 8 การพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี

159855038984

และเมื่อปี 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดย กรมปศุสัตว์ ได้บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายสัตวแพทย์ทั้ง ภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ สามารถผ่าตัดทำหมันสุนัข- แมวจรจัดหรือด้อยโอกาสได้ 282,845 ตัว แบ่งออกเป็น สุนัข 160,445 ตัว และแมว 122,400 ตัว ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจล่าสุดพบว่ามีสุนัขจรจัดหรือด้อยโอกาสประมาณ 2.6 ล้านตัว แมวจรจัดหรือด้อยโอกาสประมาณ 1 ล้านตัว รวมทั่วประเทศประมาณ 3.6 ล้านตัว

ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์มีเป้าหมายการผ่าตัดทำหมันสุนัข-แมวจรจัดหรือ ด้อยโอกาส รวม 3 แสนตัวต่อปี แต่ปริมาณสุนัข-แมวจรจัด ยังคงมีจำนวนมากและมีอัตราการเพิ่มจำนวนที่รวดเร็ว ดังนั้นเพื่อให้การควบคุมจำนวนสุนัข-แมวจรจัด มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงได้สั่งการให้ กรมปศุสัตว์จัดทำโครงการรณรงค์และเพิ่มเป้าหมาย การผ่าตัดทำหมันสุนัข-แมวจรจัดหรือด้อยโอกาส ในปีงบประมาณ 2563 จากเดิมเป้าหมาย 3 แสนตัว เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 6 แสนตัวทั่วประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

159855039980

ในขณะที่การขึ้นทะเบียน หรือที่เรียกว่า ‘ภาษีหมาแมว’ ที่ถกเถียงกันยังคงถูกเบรกอยู่ (ตั้งแต่ปี 2561) และคงจะไม่มีมติจากนายกรัฐมนตรี เร็วๆ นี้แน่นอน

ร่างกฎหมายลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงที่ถูกร่างเอาไว้ของไทยนั้น กำหนดเอาให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องนำสัตว์ทุกประเภทมาขึ้นทะเบียน (บังคับใช้ระยะแรกกับสุนัขและแมว) พร้อมจัดเก็บค่าธรรมเนียม ประกอบด้วย

  • ค่าคำร้องขอขึ้นทะเบียนฉบับละ 50 บาท
  • ค่าสมุดประจำตัวสัตว์ฉบับละ 100 บาท
  • ค่าเครื่องหมายประจำสัตว์ตัวละ 300 บาท
  • รวมเป็นเงิน 450 บาท

หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงฝ่าฝืน ไม่นำสัตว์มาขึ้นทะเบียน จะมีโทษปรับไม่เกิน 25,000 บาท สำหรับต่างประเทศภาษีหมาแมวถูกเก็บกันในหลายประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดสุนัขจรจัดเช่นเดียวกัน

ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้สุนัขทุกตัวในประเทศต้องถูกขึ้นทะเบียน และมีการเรียกเก็บภาษีการถือครองสุนัขเป็นรายปี เจ้าของสุนัขต้องจ่ายภาษีให้กับเขตเทศบาล หรือหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ โดยแต่ละพื้นที่มีอัตราการเรียกเก็บภาษีสุนัขในอัตราที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • สุนัขตัวแรกตัวละ 112.80 ยูโรต่อปี หรือ 4,274 บาท
  • สุนัขตัวที่ 2 ตัวละ 176.76 ยูโรต่อปี หรือ 6,700 บาท
  • สุนัขตัวที่ 3 ตัวละ 224.16 ยูโรต่อปี หรือ 8,500 บาท

ประเทศไอร์แลนด์เหนือ รัฐบาลกำหนดให้สุนัขและแมวทุกตัวจะต้องถูกขึ้นทะเบียน และเจ้าของจะต้องจ่าย “ค่าใบอนุญาต” ในการครอบครองสุนัขและแมวในอัตราตายตัวที่ปีละ 12.50 ปอนด์สเตอร์ลิง หรือ 540 บาท

ประเทศเยอรมนี มีกฎหมายบังคับให้ผู้เลี้ยงสุนัขและแมว ต้องจ่ายเงินภาษีบำรุงท้องที่ให้กับเขตปกครองท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ โดยแต่ละท้องจะเรียกเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกันออกไป

  • กรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงเยอรมนี เก็บภาษีสัตว์เลี้ยง ตัวละ 140 ยูโรต่อปี หรือ 5,300 บาท

หากครอบครองมากกว่า 1 ตัว สุนัขและแมวตัวต่อๆ ไป จะถูกเก็บภาษีในอัตราตัวละ 180 ยูโรต่อปี หรือ 6,820 บาท

ประเทศนิวซีแลนด์ ข้อกฎหมายบังคับให้สุนัขและแมวทุกตัวที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป เจ้าของจะต้องนำมาขึ้นทะเบียน พร้อมกับฝังไมโครชิป รวมถึงติดป้ายแท็ก โดยมีการเก็บค่าธรรมเนียมเล็กน้อย แต่ไม่มีการเก็บภาษีสัตว์เลี้ยง

สัตว์เลี้ยงแม้จะตัวเล็ก ตัวใหญ่ ก็นับเป็นหนึ่งชีวิต หากต้องการเลี้ยงพวกเขาแล้ว ไม่ว่าจะประสงค์ใดก็ตาม แล้วมาทิ้งขว้างในภายหลังไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน ถึงพวกเขาจะพูดไม่ได้ แต่จิตใจสามารถรับรู้ได้ไม่ต่างจากมนุษย์ ดังนั้นแล้วเพื่อกันปัญหาเลี้ยงไม่ไหว ต้องเอาไปทิ้ง จึงต้องตรวจสอบความพร้อมของตนเองให้พร้อมเสียดีกว่า เพราะหมาจรจัด 1 ตัวส่งผลกระทบกับคนทั้งสังคม

159855032667

-------------------------------

อ้างอิง :  

กรมปศุสัตว์รายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ณ วันที่ 31 มี.ค.63 (210/2563)

https://moneyhub.in.th/article/money-plan-for-pets/

โควิดกระทบรุนแรง คาเฟ่หมา-แมว ปิดตัว สัตว์ถูกทิ้งมากขึ้น

เจาะลึกปัญหาระดับชาติ "สุนัขจรจัดล้นเมือง"

http://www.lokwannee.com/web2013/?p=329088

http://164.115.40.46/petregister

https://news.mthai.com/general-news/678581.html

https://www.isranews.org/isranews-scoop/19158-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94-%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2-%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%A7.html

https://www.tcijthai.com/news/2019/5/scoop/9021

ส่อง “ภาษีหมาแมว” ในต่างประเทศ หลัง "บิ๊กตู่" สั่งเบรกทบทวน “ขึ้นทะเบียนหมาแมว”