ผ่าเบื้องลึก! เมื่อ 'เบ็คแฮม' รุกธุรกิจ 'eSport' เต็มตัว
ขึ้นชื่อว่า “เดวิด เบ็คแฮม” อดีตซูเปอร์สตาร์วงการฟุตบอล ที่ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจเต็มตัว ไม่ว่าจะจับธุรกิจอะไรก็สร้างกระแสฮือฮาไปหมด ล่าสุดยังเตรียมนำบริษัทอีสปอร์ตของตัวเองเข้าตลาดหุ้นลอนดอนเป็นเจ้าแรกในปีนี้
ชื่อของ “เดวิด เบ็คแฮม” แข้งระดับตำนานของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดและทีมชาติอังกฤษ กลายเป็นที่สนใจอีกครั้ง รอบนี้ไม่เกี่ยวกับธุรกิจฟุตบอลหรือสโมสรที่เขาร่วมเป็นเจ้าของอย่าง “อินเตอร์ ไมอามี ซีเอฟ” (Inter Miami CF) ในเมเจอร์ลีกของสหรัฐ แต่เกี่ยวกับวงการ “eSport” (อีสปอร์ต) ที่กำลังมาแรงในยุคนี้
บริษัท “กิลด์ อีสปอร์ตส” (Guild Esports) ที่เบ็คแฮมร่วมก่อตั้ง ถือฤกษ์วันที่ 9 เดือน 9 ประกาศแผนขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO ในตลาดหุ้นลอนดอน เพื่อร่วมกระแสความนิยมที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ของวงการเกมออนไลน์ โดยเฉพาะช่วงล็อคดาวน์โควิด-19 ที่คนมีเวลาเล่นเกมที่บ้านมากขึ้น
- โลโก้ทีม eSport ของเดวิด เบ็คแฮม -
แถลงการณ์บริษัทระบุว่า แผน IPO นี้เกิดจากความต้องการที่จะสร้างแฟรนไชส์กีฬาระดับโลกตามรอยพรีเมียร์ลีก เอ็นบีเอ และเอ็นเอฟแอล โดยจะเปิดขายหุ้น 40% ของบริษัทในเดือน ต.ค. หวังระดมเงินทุน 20 ล้านปอนด์ (ราว 816 ล้านบาท) เพื่อนำไปดึงตัวผู้เล่นหน้าใหม่มาร่วมทีม โดยภายในปีหน้าบริษัทตั้งเป้าซื้อผู้เล่นใหม่ 20 คน และส่วนที่เหลือจะใช้ลงทุนด้านอื่น ๆ ในธุรกิจ eSport ต่อไป
ในช่วงแรกหลังจากเปิด IPO ในเดือนหน้า บริษัทจะเน้นเสนอขายหุ้นให้กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ แต่หลังจากนั้นจะเปิดซื้อขายอย่างอิสระในตลาดลอนดอนให้ทุกคนที่ต้องการซื้อหุ้นของบริษัท
นอกจากนี้ กิลด์ อีสปอร์ตส มีแผนที่จะส่งทีมลงแข่งในทัวร์นาเมนท์ eSport ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเกม Fortnite, CS:Go (Counter-Strike: Global Offensive), Rocket League และ FIFA ก็พร้อมชนทุกทีม และจะพัฒนาสกิลผู้เล่นอาชีพในทีมโดยใช้ระบบคล้ายกับศูนย์ฝึกเยาวชนของทีมในพรีเมียร์ลีกด้วย
คาร์ลตัน เคอร์ติส ประธานบริหารของกิลด์ อีสปอร์ตส บอกว่า กิลด์จะเป็นบริษัท eSport รายแรกที่ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน การเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นจะทำให้บริษัทมีชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ และเงินทุน ในการบรรลุเป้าหมายอันทะเยอทะยานคือเป็น 1 ใน 10 แฟรนไชส์ eSport ชั้นนำของโลกภายใน 3 ปี
- ขยายธุรกิจทุน “เบ็คแฮม”
การลงทุนในธุรกิจ eSport เป็นการขยายเครือข่ายธุรกิจที่อยู่ในความสนใจของเบ็คแฮมและร่วมลงทุนไปก่อนหน้านี้อย่างแฟชั่น น้ำหอม วิสกี้ และสโมสรอินเตอร์ ไมอามีในรัฐฟลอริดาที่เขาร่วมเป็นเจ้าของ
ประธานบริหารของกิลด์ อีสปอร์ตส เผยว่า สำหรับเบ็คแฮม ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท จะใช้อิทธิพลในฐานะคนดังระดับโลกและฐานแฟนคลับของเขา มาช่วยสนับสนุนการพัฒนาแบรนด์และธุรกิจของกิลด์ อีสปอร์ตส
ปัจจุบัน เบ็คแฮมเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นจัดตั้งบริษัทกิลด์ อีสปอร์ตส โดยถือหุ้นสัดส่วนข้างน้อย แต่บริษัทไม่ได้เปิดเผยสัดส่วนการลงทุนอย่างชัดเจนว่าใครถือหุ้นเท่าไหร่บ้าง
อย่างไรก็ตาม เบ็คแฮมไม่ใช่นักฟุตบอลหรืออดีตนักฟุตบอลคนแรก ที่เล็งเห็นโอกาสระยะยาวในวงการ eSport
ก่อนหน้านี้ “แกเร็ธ เบล” แข้งดังทีมชาติเวลส์และสโมสรเรอัล มาดริดในสเปน ได้เปิดตัวทีม eSport ของตัวเองชื่อ “เอลเลเวนส์ อีสปอร์ตส” (Ellevens Esports) ไปเมื่อเดือน ก.พ.
- แรงดึงดูดของ eSport
ความนิยมของ eSport เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจาก “นิวซู” (Newzoo) บริษัทวิเคราะห์อุตสาหกรรมเกมระดับโลก เผยว่า ในปี 2562 ยอดผู้ชมการแข่งขัน eSport ทั่วโลกอยู่ที่ 443 ล้านคนและสร้างรายได้สะพัดถึง 951 ล้านดอลลาร์ (เกือบ 3 หมื่นล้านบาท)
ยิ่งไปกว่านั้น eSport บางรายการ เช่น League of Legends ชิงแชมป์โลก เมื่อปี 2560 ดึงดูดยอดผู้ชมได้กว่า 100 ล้านคน มากกว่าทัวร์นาเมนท์กีฬาใหญ่ ๆ อย่างศึกเทนนิสวิมเบิลดัน, ยูเอส โอเพน และการแข่งขันจักรยาน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ด้วยซ้ำ
ส่วนแนวโน้มในอนาคต นิวซูคาดการณ์ว่า ตลาด eSport จะมียอดผู้ชมเพิ่มขึ้นเป็น 646 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2566
“ความนิยมที่เติบโตขึ้นของ eSport ทำให้แฟรนไชส์ที่มีอยู่หลายเจ้าสามารถใช้กิจกรรมต่าง ๆ ในการหารายได้ผ่านค่าสปอนเซอร์ รีเทล การขายของที่ระลึก การถ่ายทอดสด และการเข้าร่วมทัวร์นาเมนท์” เคอร์ติส ประธานบริหารของกิลด์ อีสปอร์ตส ปิดท้าย
-------------------------