'เดอะ มันนี่ โค้ช' แจกไอเดีย 'เด็กจบใหม่' ควรทำอย่างไร เมื่อยังไม่มีงาน

'เดอะ มันนี่ โค้ช' แจกไอเดีย 'เด็กจบใหม่' ควรทำอย่างไร เมื่อยังไม่มีงาน

คุยกับ "โค้ชหนุ่ม" จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ "The Money Coach (เดอะมันนี่ โค้ช)" แนะแนว "เด็กจบใหม่" ยังไม่มีงานทำ ควรทำอย่างไรให้เจอโอกาสในช่วงวิกฤติเช่นนี้

“ตกงาน” “ว่างงาน” “ไม่มีงาน” สภาวะที่ “เด็กจบใหม่” หรือคนทำงานหลายคนกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งเกี่ยวโยงจากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นในสังคม ระบบการศึกษา รวมถึงวิกฤติโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดและส่งผลกระทบไปทั่วโลก 

หนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือที่รู้จักกันในฐานะ “เดอะมันนี่ โค้ช” ผู้ให้ความรู้ด้านการเงินการลงทุน พูดคุยกับทีม “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ถึงการปรับตัวของ “เด็กจบใหม่” ที่อาจกำลังเผชิญกับความสับสน หรือความรู้สึกว่างเปล่ากับอนาคตการทำงาน เมื่อต้องสร้างตัวท่ามกลาง “วิกฤติ” ที่ดูเหมือนเป็นหนึ่งในอุปสรรคใหญ่ ที่ทำให้เริ่มต้นชีวิตการทำงานยากขึ้น ทว่า ความจริงอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นซะทีเดียว

จักรพงษ์ เล่าประสบการณ์ที่เคยคุยกับผู้บริหารหลายหลายท่านในบริษัทใหญ่ๆ ถึงสาเหตุที่ไม่ได้รับคน มีการเลิกจ้าง หรือหรือมีการให้คนออก ไม่ใช่แค่เรื่องของตำแหน่งงาน หรือเรื่องของรายได้บริษัทไม่ดีเท่านั้น แต่ยังมีอีกประเด็นที่สำคัญ นั่นคือ “ความรู้ความสามารถ”

ปัญหาหนึ่งที่ทำให้บริษัทไม่พิจารณาคนใหม่ๆ รับเข้าทำงาน เพราะความรู้ความสามารถของเราไม่ได้ตรงกับความต้องการที่โลกการทำงานยุคใหม่ต้องการ พูดง่ายๆ ก็คือตำแหน่งงานบางตำแหน่งที่เคยมีมันไม่มีแล้ว หรือเราอาจะตั้งใจเรียนมามาเพื่อจะทำงานในด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ตำแหน่งหน้าที่นั้นกลับไม่มีแล้วในปัจจุบัน ลักษณะนี้คือปัญหาระดับประเทศ ที่สะท้อนว่า “การศึกษาตามโลกอุตสาหกรรมไม่ทัน”

ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ใหญ่เกินกว่าที่เด็กจบใหม่ หรือใครคนใดคนหนึ่ง จะสามารถแก้ได้ในตอนนี้ เพราะฉะนั้น ทางที่ง่ายที่สุดที่จะแก้ได้ หรือเอาตัวรอดจากปัญหานี้ ก็คือการเริ่มปรับที่ “ตัวเรา” 

ปรับแนวคิด จุดเริ่มต้นของโอกาส

เชื่อว่าหลายคนเรียนจบมาพร้อมความฝันว่าจะได้ทำอาชีพที่ตัวเองชอบ แต่เมื่อปลายทางเราอาจจะไม่ได้ทำสิ่งนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่ามันอาจไม่ใช่ปัญหาตลอดไป เพราะในสถานการณ์แบบนี้ ท่ามกลางวิกฤติที่ทุกอย่างไม่ปกติเราอาจจะเลือกไม่ได้มาก การคาดหวังที่จะได้ทำงานตรงตามสิ่งที่เรามุ่งหวังทั้งหมดอาจจะยังไม่เจอ หรือยังไม่มีโอกาสที่จะได้ทำงานแบบที่หวังสมดังใจ 

เพราะฉะนั้น คนที่จบมาใหม่ๆ ถ้าเรายังหางานในฝันไม่ได้ ลองปรับแนวคิด หรือทำตาม 3 ทางเลือกของเดอะมันนี่โค้ช ที่อาจทำให้เส้นทางอาชีพของคุณไม่ถูกกำหนดอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของใคร

  

  •  ทางเลือกที่ 1 มองหางานประเภทอื่นๆ ทำไปก่อน  

การลองบิดไปหางานประเภทอื่นที่มีความใกล้เคียง หรือแม้กระทั่งเป็นงานที่เราทำได้ ความหมายคือบริษัทอาจจะไม่ได้รับสาขาเราโดยตรง แต่อาจจะสมัครไปในสาขาหรือทักษะที่ใกล้เคียง 

ดังนั้น เมื่อมีโอกาสอาจจะต้องลองรับโอกาสนั้น หรือแม้กระทั่งมีกลุ่มงานประเภทที่เป็นพาร์ทไทม์ ซึ่งมีหลายบริษัทเริ่มออกมาเปิดรับพนักงานจบวุฒิ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ก็สามารถทำเพื่อสร้างสภาพคล่องให้ตัวเอง และเรียนรู้ทักษะใหม่ไปพลางๆ ได้

"ถ้าเราปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ แล้วยังไม่มีประสบการณ์การทำงานเลย พอระยะเวลาผ่านไปประมาณหนึ่งปีก็จะมีน้องน้องรุ่นใหม่จบออกมาอีก ถ้าหนึ่งปีของคุณ คือ เตะฝุ่น จะไม่มีประสบการณ์อะไรที่ไปคุย หรือมีความได้เปรียบคนอื่นเลย"

เดอะมันนี่โค้ช แนะนำเพิ่มเติมว่า “อย่าเพิ่งคิดมาก บางคนอาจคิดว่ามันเดี๋ยวพอหมดเวลา เค้าก็ให้เราออกอยู่ดี แต่สิ่งที่ต้องมองย้อนกลับไปคือถ้าเราปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ แล้วเรายังไม่มีประสบการณ์การทำงานเลย พอระยะเวลาผ่านไปประมาณหนึ่งปีก็จะมีน้องน้องรุ่นใหม่จบออกมาอีก ถ้าหนึ่งปีของคุณคือเตะฝุ่น จะไม่มีประสบการณ์อะไรที่ไปคุย หรือมีความได้เปรียบคนอื่นเลย”

160025727653

  •  ทางเลือกที่ 2 ตั้งตัวเองเป็นฟรีแลนซ์ 

เมื่อพูดถึง "การทำงาน" ไม่ได้หมายความว่าต้องอยู่ในบริษัทหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสอื่นๆ เช่นการเป็น "ผู้ประกอบการในขนาดเล็ก" หรือ
"การทำงานอิสระ" ก็ได้

เดอะมันนี่โค้ช อธิบายว่า ในระยะเวลาแบบนี้หลายบริษัทก็ไม่อยากสร้างค่าใช้จ่ายประจำ แต่คนทำงานทั้งหลายยังมีโอกาสที่จะสามารถรับงานแบบรายครั้ง หรือเป็นฟรีแลนซ์ได้ ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างโอกาสให้กับตัวเอง ระหว่างที่ยังไม่มีโอกาสอื่นๆ ที่ตัวเองมองหาเข้ามา

โดยแนะนำว่า หากมีความสามารถด้านใด ก็ตั้งตัวเป็นฟรีแลนซ์ เปิดเว็บไซต์ เปิดเพจ หรือใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย นำทางก่อน โดยอาจเริ่มจากการนำเอาผลงานสมัยเรียนมาโปรโมท หรือเสนอโปรไฟล์ของตัวเองอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ ที่กำลังมองหาพนักงานให้เห็นความสามารถของเรา แทนที่จะใช้บ่นหรือตัดพ้อ เพราะไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหา 

ขณะเดียวกัน ระหว่างที่กำลังรองานคนที่มีความรู้ด้านการตลาด กราฟิกดีไซน์ ดิจิทัล ฯลฯ หรือแม้แต่คนที่สนใจด้านการค้าขาย ก็สามารถหารายได้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ตัวเองได้ เช่น การซื้อมาขายไป ในกลุ่มสินค้าที่ตัวเองสนใจหรือชื่นชอบ เมื่อเจอร้านที่น่าสนใจ ลองติดต่อเอารูปภาพมาโปรโมทเพื่อขายต่อ หรือช่วยทำการตลาดให้กับร้านนั้นๆ เพื่อรับส่วนต่างในการขาย ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่อาจทำให้เจอโอกาสใหม่ๆ ได้เช่นกัน

  •  ทางเลือกที่ 3 เรียนรู้เรื่องใหม่ 

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า การเรียนแต่ละคณะมีโอกาสในการทำงานที่ต่างกันในแต่ละช่วงเวลา สำหรับคนที่จบในคณะหรือสาขาวิชาที่จบออกมาแล้วหางานยาก ณ เวลานี้ อาจต้องมามองหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับตัวเอง ด้วยการพยายามเรียนรู้ และพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่าการ "อัพสกิล" (up-skills)

โดยสามารถเริ่มต้นจากสิ่งที่สนใจ เรียนรู้เรื่องใหม่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสายงานที่เคยเรียนอย่างสิ้นเชิง ซึ่งปัจจุบันมีตัวช่วยหลายอย่างที่ประยุกต์ใช้ได้โดยไม่ต้องใช้ต้นทุน เช่น ช่องยูทูป หนังสือ คอร์สเรียนฟรี ที่ช่วยสร้างทักษะใหม่ๆ บางอย่างขึ้นมา เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความสนใจทุ่มเทที่จะศึกษาและพัฒนาของแต่ละคนด้วย

“ต้องบอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย มันต้องใช้พลังอย่างมาก โดยสิ่งที่เรียนรู้ใหม่อาจไม่ตรงกับสายที่เราเรียนมาเลย ที่ต้องอดทนในช่วงแรกๆ แต่ในระยะยาวมันจะช่วยให้เราสามารถผ่านมันไปได้ในช่วงวิกฤติเช่นนี้” เดอะมันนี่ โค้ช กล่าวทิ้งท้าย