ส่องค่าเทอม 'โรงเรียนนานาชาติ' แพงเท่าไหร่ สอนอะไร คุณภาพชีวิตดีแค่ไหน?
ไขข้อสงสัยการเรียนการสอนและหลักสูตรของ "โรงเรียนนานาชาติ" ในประเทศไทย พร้อม 3 ปัจจัยที่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองยอมควักเงินเกินครึ่งล้านเป็นค่าเทอม
ต่อเนื่องมาจากดราม่า #ซาร่าไมค์ เมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่าง "ไมค์ พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล" และ "ซาร่า คาซิงกินี" ซึ่งเป็นอดีตภรรยา เกี่ยวกับสิทธิ์การดูแลลูก ค่าใช้จ่าย โยงไปถึงค่าเทอมของลูกชายวัย 5 ขวบ ในโรงเรียนนานาชาติชื่อดังที่มีค่าเทอมราว 800,000 บาท ต่อปี
กลายเป็นประเด็นที่ถูกถามต่อมาในสังคมว่า ทำไมค่าเทอมของโรงเรียนนานาชาติถึงได้แพงระยับ และมีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่อยากส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนเหล่านี้
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงพาไปดูเรทราคาค่าเทอม “โรงเรียนนานาชาติ” ในประเทศไทย จากการรวบรวม ค่าเทอมในเว็บไซต์ของโรงเรียนนานาชาติต่างๆ ในประเทศไทย พบว่า ค่าเทอมของโรงเรียนเหล่านี้เฉลี่ยเริ่มต้นที่หลักแสน และบางระดับแตะถึงหลักล้านต่อปี โดยค่าเทอมของ 5 โรงเรียนนานาชาติที่มีเรทราคาเริ่มต้นสูงสุดในไทย ประกอบด้วย
1. Shrewsbury ค่าเทอมเริ่มต้น 572,400-1,028,100 บาทต่อปี
2. ISB international school bangkok ค่าเทอมเริ่มต้น 552,000-1,003,000 บาทต่อปี
3. NIST international school ค่าเทอมเริ่มต้น 533,000-961,400 บาทต่อปี
4. harrowschool ค่าเทอมเริ่มต้น 439,000-949,000 บาทต่อปี
5. Bangkok Pattana School ค่าเทอมเริ่มต้น 432,000-622,700 บาทต่อปี
ค่าเทอมในข้างต้น สำหรับบางโรงเรียนยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่ารถรับส่ง ค่าอาหารที่ให้บริการจากโรงอาหาร ค่ากิจกรรมพิเศษต่างๆ ซึ่งหมายความว่าผู้ปกครองที่ต้องการส่งลูกหลานเรียนโรงเรียนนานาชาติ จะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายต่อปี สำหรับลูก 1 คน ไม่น้อยกว่าค่าเทอมที่ต้องจ่ายในแต่ละปี
นอกจาก 5 โรงเรียนข้างต้นแล้ว ยังมีโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยอีกร้อยกว่าโรง ที่มีค่าเทอม และค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องกับการศึกษาที่ลดหลั่นกันลงไป แต่เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อปี
โรงเรียนนานาชาติ สอนอะไร ทำไมถึงแพง?
อีกหนึ่งข้อสงสัยที่ว่า โรงเรียนนานาชาติ ต่างจากโรงเรียนรูปแบบอื่นๆ อย่างไร และสอนอะไรบ้าง ทำไมถึงต้องตั้งราคาสูงขนาดนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ลองค้นหาคำตอบและหาปัจจัยที่คาดว่าจะมีส่วนทำให้โรงเรียนนานาชาติมีราคาแพง
โดยปัจจัยแรกพบว่า โรงเรียนนานาชาติมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่แตกต่างออกไปจากโรงเรียนหลักสูตรปกติในประเทศไทยอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จำแนกหลักสูตรนานาชาติไว้ 4 หมวดหลักดังนี้
1. หลักสูตรระบบอเมริกัน
จุดเด่นคือแต่ละโรงเรียนจะมีระบบการจัดการเรียนการสอนของตนเอง โดยอิงมาตรฐานการเรียนรู้ และบรรทัดฐานการจัดการศึกษาระดับรัฐ และระดับชาติ เป็นลำดับ ซึ่งโรงเรียนนานาชาติในระบบอเมริกันในต่างประเทศ จะต้องได้รับการประเมิน และประกันคุณภาพมาตรฐาน จากหนึ่งใน 4 องค์กรจากสหรัฐอเมริกา ซี่งองค์กรที่เป็นที่รู้จักสูงสุดในระดับสากล ได้แก่ Western Association of Schools and Colleges (WASC) และ New England Association of Schools and Colleges (NEASC) โดยโรงเรียนส่วนใหญ่จะจัดการวัดผลรายวิชาเป็นการภายใน เพื่อให้นักเรียนสะสมหน่วยกิตเพียงพอแก่การจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานตามระบบการศึกษาแบบอเมริกัน
2. หลักสูตรแห่งสหราชอาณาจักร อังกฤษ และเวลส์
การศึกษาภาคบังคับ กำหนดให้อยู่ระหว่างอายุ 5-16 ปี นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรที่ขยายโอกาสทางการศึกษา และรองรับนักเรียนในกลุ่มอายุ 3-5 ปี และ 16-18 ปี สำหรับโรงเรียนนานาชาติ ที่จัดการเรียนการสอนในระบบอังกฤษส่วนใหญ่ จะใช้เวลา 2 ปี ในการเรียนตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น ที่เรียกว่า International General Certificate of Secondary Education (IGCSE) ซึ่งนักเรียนจะเรียนราว 8-9 วิชา เป็นวิชาบังคับอย่างน้อย 3 วิชา ได้แก่ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นจะเป็นวิชาเลือก โดยข้อสอบ IGCSE เป็นข้อสอบสากลที่ใช้สอบร่วมกันทั่วโลก
ซึ่งหากนักเรียนอยากศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ จะต้องเรียนต่อในระดับช่วงชั้นที่ 5 หรือที่เรียกว่า Sixth Form นักเรียนเลือกเรียนเฉพาะวิชาที่จะใช้ในการสมัครเรียนต่อ ในระดับอุดมศึกษาหลังจบหลักสูตร 2 ปีสุดท้าย
3. หลักสูตรนานาชาติ International Baccalaureate (IB)
เป็นหลักสูตรที่นักการศึกษาผู้มีประสบการณ์ได้พัฒนาขึ้นโดยรอดพ้นจากนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของชาติใดชาติหนึ่ง สำหรับใช้จัดการศึกษาให้แก่นักเรียนนานาชาติ ที่มีอายุ 3-19 ปี
โดยหลักสูตร IB แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับปฐมวัย และประถมศึกษา Primary Years Programme ใช้เวลาเรียน 8 ปี จากอายุ 3-11 ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น Middle Years Programme ใช้เวลาเรียน 5 ปี จากอายุ 11-16 ปี และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย Diploma Programme ใช้เวลาเรียน 2 ปี จากอายุ 16-18/19 ปี โรงเรียนสามารถเลือกจัดการเรียนการสอนทั้งสามระดับ หรือแยกเฉพาะระดับใด ระดับหนึ่งก็ได้ ไม่มีข้อจำกัดว่านักเรียนจะต้องเรียนต่อกันทั้งสามระดับ
โดยคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใดในโลกก็ตามจะทัดเทียมกัน เพราะต้องได้รับอนุมัติ จากองค์กร IBO ให้จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร และได้รับอนุญาตให้เรียกตนเองเป็นหนึ่งในกลุ่มโรงเรียน IB World School ครูผู้สอนจะต้องได้รับการพัฒนาวิชาชีพ ผ่านการฝึกอบรมซึ่งจัดโดยองค์กร IBO
4. หลักสูตรนานาชาติประเทศอื่นๆ อาทิ เกาหลี แคนาดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมัน สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อินเดีย ฯลฯ ซึ่งแตกต่างกันออกไปตามระบบการศึกษา
โรงเรียนนานาชาติต่างจากโรงเรียนธรรมดาอย่างไร ?
หากจะกล่าวโดยสรุป ความแตกต่างของโรงเรียนนานาชาติจากโรงเรียนทั่วไปหลัก 3 จุด ที่มีส่วนสำคัญที่น่าจะเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจของผู้ปกครองให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ ได้แก่
1. หลักสูตรการเรียนการสอน หลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนนานชาติที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ทำให้ผู้ปกครอง เชื่อมั่นว่าบุตรหลานจะมีโอกาสได้พัฒนาทักษะความรู้ความสามารถได้อย่างเต็มที่
2. สังคม จุดเด่นของโรงเรียนนานาชาติ คือสังคมและบรรยากาศในการเรียนการสอนที่มีครู นักเรียนที่เป็นชาวต่างชาติแทบจะทั้งหมด มีการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และภาษา ซึ่งมีส่วนทำให้ผู้เรียนได้เจอสังคมที่หลากหลาย ทำให้ได้พัฒนาด้านภาษาอย่างต่อเนื่อง และเป็นธรรมชาติ
3. ชื่อเสียงของโรงเรียน ปฎิเสธไม่ได้ว่าโรงเรียนนานาชาติที่มีราคาสูงต่างจากกลุ่มโรงเรียนนานาชาติโรงเรียนอื่นๆ ที่มีการเรียนการสอนคล้ายกัน เกิดจากความเชื่อมั่น และการสร้างแบรนด์ที่ทำให้เกิดการรับรู้ในสังคมจนกระทั่งเกิดเป็นความเชื่อมั่นในโรงเรียนซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ปกครองในการส่งลูกเรียนโรงเรียนอะไรชาตินั้นแม้จะมีค่าเรียนที่สูงลิบ
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีโรงเรียนที่พัฒนาเพื่อเน้นการเรียนการสอนในทักษะด้านภาษาของเด็กอีกหลายรูปแบบ เช่น โรงเรียนทางเลือก โรงเรียนสองภาษา หรือโรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียนเอกชนที่มีหลักสูตรภาษาอังกฤษโดยเฉพาะ ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะด้านภาษาของผู้เรียนที่มากขึ้นกว่าหลักสูตรปกติ ในระดับค่าเทอมหรือค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าโรงเรียนนานาชาติด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้คุณภาพโรงเรียนะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาความรู้ความสามารถ เอื้อต่อการเรียนรู้ แต่อาจไม่ได้เป็นตัวแปรของความสำเร็จทั้งหมดของมนุษย์ ดังนั้นการเลือกโรงเรียนที่มีความเหมาะสมกับบุตรหลายจึงควรเลือกจากหลายปัจจัย ทั้งความพร้อมของผู้ปกครองในการสนับสุนการเรียนรู้ของลูก ค่าเทอมค่าใช้จ่าย ความพร้อมของลูก ฯลฯ ร่วมด้วย
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ Patana Harrowschool Nist ISB Shrewsbury