การกลับมาของโรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ ฟื้นมรดกศิลป์สู่ไลฟ์สไตล์โฮเทล

การกลับมาของโรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ ฟื้นมรดกศิลป์สู่ไลฟ์สไตล์โฮเทล

โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ ไม่ได้มีดีแค่ข้าวมันไก่ แต่มรดกศิลปะและสถาปัตยกรรมที่ส่งต่อมาตั้งแต่ พ.ศ. 2510 ได้ถูกพลิกฟื้นสู่ความร่วมสมัย เป็นไลฟ์สไตล์โฮเทลในย่านธุรกิจที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา

อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของธุรกิจโรงแรมไทยเกิดขึ้นเมื่อวันวาเลนไทน์ปี 2510 (ค.ศ.1967) เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงแรมมณเฑียรบนถนนสุรวงศ์ และนับแต่นั้นมาตลอดหลายทศวรรษ โรงแรมมณเฑียรก็สร้างชื่อเป็นโรงแรมที่ได้รับความนิยมสูงสุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร

ด้วยเอกลักษณ์ด้านสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นและการตกแต่งที่สะท้อนศิลปไทย จนกลายเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่านักธุรกิจนานาชาติ ดาราฮอลลีวู้ด และนักท่องเที่ยวชั้นนำที่ตั้งใจเดินทางมาเข้าพัก

นอกจากนี้ โรงแรมมณเฑียรยังเคยเป็นศูนย์กลางความบันเทิงของลูกค้าชาวไทยที่ชื่นชอบละครเวทีของโรงละครมณเฑียรทอง โดยเฉพาะละครเรื่อง ‘ฉันผู้ชายนะยะ’ (นำแสดงโดย ดร.เสรี วงษ์มณฑา) ที่ทำให้ศิลปะละครเวทีก้าวกลับสู่ความนิยมอีกครั้ง รวมไปถึงการแสดงดนตรีสดจากศิลปินชื่อดังในยุคก่อน เช่น เศรษฐา ศิรฉายา เรวัต พุทธินันท์ กับวง The Impossible (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น The Oriental Funk) อัสนี-วสันต์ โชติกุล กับวง Isn’t อัญชลี จงคดีกิจ ฯลฯ ที่ต่างก็ได้แจ้งเกิดจากเวทีของโรงแรมมณเฑียรทั้งสิ้น  

ทว่า โลกวันนี้ รสนิยมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป โรงแรมมณเฑียรในวัย 53 หาได้มีบรรยากาศครึกครื้นเหมือนเก่าก่อน เพราะกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่เป็นคนรุ่นใหม่วัยมิลเลนเนียล ล้วนตามหาประสบการณ์แตกต่าง ทำให้โรงแรมแห่งนี้ไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ ของพวกเขาอีกต่อไป

160067510537

มณเฑียร ตันตกิตติ์ (รองประธานบริหาร) และ นุศรา โผนประเสริฐ (ตัวแทนเจ้าของโรงแรมมณเฑียร) ตัดสินใจนัดพบกับแกรนท์ ฮีลลี่ และสุพิชญา รักปัญญา จากบริษัท Conduit House (ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มโรงแรม) เพื่อทาบทามให้มาร่วมพลิกโฉมโรงแรมมณเฑียรกลับสู่ความมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

แกรนท์ ฮีลลี่ CEO ของ Conduit House กล่าวว่า “เมื่อเราได้มาสัมผัสถึงศักยภาพของโรงแรมมณเฑียร ทั้งเรื่องทำเลที่ตั้ง การบริการที่เป็นเลิศ รวมถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าต่างๆ  เราจึงเสนอคอนเซปต์ ‘Revival of the Original’ ให้กับครอบครัวตันตกิตติ์ ผู้เป็นเจ้าของโรงแรม ซึ่งแนวคิดนี้ของเราไม่ได้ครอบคลุมแค่การรีโนเวทห้องพักหรือพื้นที่ใช้สอยในโรงแรมให้สวยงามเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกมิติใหม่ทางด้านเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ ที่จะนำไปสู่การพลิกเอกลักษณ์ดั้งเดิมของโรงแรมให้กลับมามีสีสันแบบร่วมสมัยได้อีกครั้ง

และนี่คือเรื่องราวการเดินทางของโรงแรมมณเฑียรนับจากวันแรกสู่ความเป็นไลฟ์สไตล์โฮเทลในวันนี้

สานฝัน โกวรรณ ช่างไม้ในพระราชสำนัก

มณเฑียร ตันตกิตติ์ ย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของคุณปู่ในปี 2504 (ค.ศ. 1961) ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ และหม่อมเจ้าจงกลนี วัฒนวงศ์ วางใจให้ ‘วรรณ’ ผู้เป็นต้นตระกูลตันตกิตติ์ ร่วมรับผิดชอบดูแลการก่อสร้างพระตำหนักที่ประทับพระราชฐาน และในเวลาต่อมาโกวรรณก็ได้รับความไว้วางใจให้ซ่อมบำรุงพระตำหนักอื่นๆ อีกหลายแห่ง รวมถึงได้สร้างบ้านหลังใหม่ให้กับหม่อมเจ้าจงกลนี

ซึ่งเมื่อท่านย้ายจากบ้านเก่าไปแล้ว ที่ดินนั้นก็ถูกทิ้งร้างลง ด้วยความที่โกวรรณเป็นช่างไม้ผู้ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต หม่อมเจ้าจงกลนีจึงมอบสิทธิการเช่าที่ดินผืนเดิมนี้ให้แก่โกวรรณ เพื่อให้โกวรรณได้สร้างเป็นโรงแรมตามความฝัน

โดยสถาปนิกผู้ออกแบบและก่อสร้างโรงแรมคือ หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี ได้เสนอให้ตั้งชื่อโรงแรมแห่งนี้ว่า ‘มณเฑียร’ ซึ่งแปลว่า ‘เรือนหลวง’ เป็นนัยยะว่าที่พักแห่งนี้พร้อมจะต้อนรับแขกเหรื่ออย่างพิเศษสุด แต่ถึงแม้ชื่อจะฟังสูงส่งดุจราชวัง โรงแรมมณเฑียรกลับทำให้แขกเหรื่อรู้สึกถึงความอบอุ่น เป็นกันเอง และเข้าถึงง่าย สะท้อนถึงบุคลิกของโกวรรณผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารีและยิ้มแย้มอยู่ตลอด

นี่เองคือเสน่ห์ความพิเศษของโรงแรมมณเฑียร ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทีม Conduit House พัฒนาแนวคิด Revival of the Original ขึ้นมา

เอกลักษณ์ด้านสถาปัตยกรรมและงานจิตรกรรม

โรงแรมมณเฑียรแบ่งโซนห้องพักออกเป็น 2 อาคารหลัก ได้แก่ อาคารทิศใต้ (South Wing) จำนวน 200 ห้อง เปิดให้บริการในปี 2510 (ค.ศ.1967) และอีก 10  ปีถัดมาถึงได้เปิดอาคารทิศเหนือ (North Wing) อีกจำนวน 300 ห้อง ตัวอาคารออกแบบโดยหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี เป็นอาคารสไตล์โมเดิร์นที่มีฟาซาดเป็นแพทเทิร์นสวยงาม

160067524292

สุพิชญา รักปัญญา หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจและสร้างสรรค์ เล่าถึงการออกแบบภายนอก “ฟาซาดของอาคาร South Wing ถูกออกแบบให้เหมือนกับลำปล้องของต้นไผ่ ในขณะที่อาคาร North Wing ถูกออกแบบให้ตำแหน่งห้องพักและหน้าต่างสลับกันเป็นฟันปลาระหว่างชั้น ส่งผลให้ฟาซาดของโรงแรมมณเฑียรมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นสะดุดตามาก” นอกจากงานออกแบบอาคารแล้ว หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี ยังเป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ของโรงแรมที่มีลายเส้นเป็นรูปปราสาทเพื่อสื่อถึงชื่อของโรงแรมนี้

นอกจากงานสถาปัตยกรรมระดับไอคอนิกแล้ว งานตกแต่งภายในของโรงแรมมณเฑียรยังสร้างความประทับใจให้แขกผู้มาเยือนและนักสะสมงานศิลปะด้วยผลงานภาพจิตรกรรมของศิลปิน ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ หนึ่งในศิษย์เอกของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่สืบสานงานด้านจิตรกรรมฝาผนังอันเป็นวิจิตรศิลป์สำคัญของไทย โดยผลงานของอาจารย์ไพบูลย์ภายในโรงแรมมณเฑียรนั้นมีทั้งหมด 5 ภาพ

160067532615

ภาพที่หนึ่งติดตั้งภายในห้องล็อบบี้  สองภาพในห้องมณเฑียรทิพย์ (Red Room) และอีกสองภาพในห้อง Imperial Suite สองห้อง (ห้องละหนึ่งภาพ) โดยเนื้อหาหลักในภาพจิตรกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องราวของเหล่าเทพเทวดาที่สถิตในปราสาทตามความหมายของชื่อ “มณเฑียร” ตลอดจนภาพของกระบวนพยุหยาตราชลมารคที่มีลายเส้นงดงาม มีสัตว์จากป่าหิมพานต์เข้ามาเสริมเสน่ห์เพื่อให้ภาพจิตรกรรมมีเอกลักษณ์เฉพาะ และมีสีสันที่แตกต่างจากภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่เราพบเห็นทั่วไป

160067583259

ฟื้นมรดกศิลป์สู่ไลฟ์สไตล์โฮเทล

แกรนท์ ฮีลลี่ เล่าว่า “ในเชิงสถาปัตยกรรมโรงแรมมณเฑียรมีงานฟาซาดที่ทรงเอกลักษณ์ ทั้งยังมีจุดเด่นด้านงานบริการเป็นที่เล่าขานมาหลายทศวรรษ การค้นหาเรื่องราวในอดีตของโรงแรมมณเฑียร จึงเป็นงานหลักที่ทีมงานให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาข้อมูลจากวารสาร Grand Opening H.M. Queen ที่มีอายุกว่า 53 ปีของโรงแรม ทำให้ทราบถึงแนวคิดการออกแบบ รูปแบบห้องพัก และการวางรากฐานงานบริการ นอกจากนั้นเรายังมีภาพถ่าย ภาพสไลด์ และภาพโฆษณาจากนิตยสารทั้งหัวไทยและหัวนอกอีกมากมายที่บันทึกเรื่องราวของโรงแรมไว้ รวมถึงการพูดคุยสอบถามข้อมูลจากพนักงานที่อยู่คู่โรงแรมมากว่า 50 ปี

160067529757

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลสำคัญในการทำความเข้าใจโรงแรมมณเฑียรอย่างแท้จริง ความเป็นแหล่งนัดพบของนักธุรกิจนานาชาติ ความเป็นศูนย์กลางความบันเทิงของคนไทยในยุค ’70 และ ’80 รวมถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามกาลเวลา

“เป็นการปรับปรุงโรงแรมในครั้งนี้เป็นไปแบบออร์กานิกมาก คือเราแก้ไขแบบโดยตลอด เช่น เราได้พบว่าเนื้อในของฝาปะกนบริเวณทางเดินที่ถูกทาสีทับไว้ จริงๆ แล้วเป็นไม้สักคุณภาพเยี่ยม เราก็ตัดสินใจขัดสีออกเพื่อโชว์ลายไม้ที่สวยงาม ทุกครั้งที่เราค้นพบวัสดุเดิมที่ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นฝาปะกน ราวจับทองเหลือง งานแกะสลักไม้บนกรอบประตู ฯลฯ เราจะพยายามเก็บรักษามันไว้ให้มากที่สุด โดยพยายามนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมและรสนิยมสมัยใหม่ แกรนท์ ฮีลลี่ กล่าว

160067542631

นอกจากนี้ สุพิชญายังได้นำแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของโกวรรณไปใช้ในการรีโนเวทอาคารจงกลนี อาคาร 8 ชั้นซึ่งอยู่ติดกันกับโรงแรมมณเฑียรให้กลายเป็นโรงแรมและที่พักแนวเทรนดี้ สนุกสนาน ราคาย่อมเยา โดยการตกแต่งภายในเน้นการนำมาใช้ใหม่ (Reuse) เช่น นำงานเฟอร์นิเจอร์เก่าที่ยังคงสภาพดีจากโรงแรมมณเฑียรมาปรับใช้

160067535967

“แม้ว่าการปรับปรุงซ่อมแซมของเก่าพวกนี้จะมีราคาแพงกว่าการซื้อของใหม่ แต่เมื่อมองในระยะยาวแล้ว คุณภาพ ความคงทน และรายละเอียดของเฟอร์นิเจอร์เก่ามีเรื่องราวที่ทรงคุณค่ามากกว่า” แม้พื้นที่ใช้สอยในห้องพักส่วนนี้จะมีขนาดเล็กกว่าในส่วนของโรงแรมมณเฑียร แต่จะให้อารมณ์เหมือนบ้านที่อบอุ่น

แบรนด์ดิ้งใหม่

ในส่วนของการปรับแบรนด์ของโรงแรม ทีมงานได้ร่วมงานกับ Bing Bing Deng จาก Bing Design ผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์และกราฟิกที่มีประสบการณ์ทำงานกับแบรนด์ระดับโลก หลังจากทำเวิร์คช็อปกันอย่างเข้มข้น

160067546191

ทีมงานเลือกนำภาพสัตว์หิมพานต์ที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังของอาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ มาต่อยอดเป็นงานกราฟิกและข้าวของเครื่องใช้ภายในโรงแรม เช่น งานตกแต่งฝาผนังในห้องพัก คีย์การ์ด ป้ายแขวนประตู ชุดของใช้ในห้องน้ำ สินค้าที่ระลึก บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ เพื่อส่งต่อมรดกศิลป์อันทรงคุณค่าจากอดีตสู่ปัจจุบัน เป็นการตอกย้ำคุณค่าของงานจิตรกรรมฝาผนังที่สามารถแปลงรูปแบบการใช้งานให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น

สานต่อบริการชั้นเลิศสู่อนาคต

นุศรา โผนประเสริฐ กล่าวว่า “เราเชิญพนักงานกว่า 50 ท่านที่อยู่คู่กับโรงแรมมาไม่ต่ำกว่า 20 - 30 ปีให้มาเป็น Ambassador ตามหน้าที่ที่รับผิดชอบเฉพาะด้าน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานบริการของโรงแรมมณเฑียรในอดีตให้กับพนักงานรุ่นใหม่” ถือเป็นการแบ่งปันประสบการณ์การทำงานระหว่างเจเนอเรชั่น เพื่อหาจุดร่วมในการสร้างสรรค์งานบริการที่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ดั้งเดิมและตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ได้สูงสุด”  

นี่คือหนึ่งเรื่องราวการพลิกฟื้นมรดกและต่อยอดลมหายใจใหม่ให้กับโรงแรมมณเฑียรบนถนนสุรวงศ์ ที่เริ่มต้นจากแนวคิดเชิงอนุรักษ์ การให้คุณค่ากับการศึกษาประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ นำไปสู่การสร้างสรรค์อัตลักษณ์ผ่านงานออกแบบในทุกมิติ ส่งต่อมรดกศิลป์ทรงคุณค่าสู่ประสบการณ์ร่วมสมัย สอดรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวของนักเดินทางปัจจุบันซึ่งชื่นชอบโรงแรมที่มีเรื่องเล่าเฉพาะตัวมากกว่าโรงแรมเครือทั่วไป

โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ ไลฟ์สไตล์โฮเทลที่ผสานมรดกศิลป์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เทคโนโลยี และไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ไว้ด้วยกันกำลังจะเปิดประตูต้อนรับทุกคนอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2563

ติดตามเรื่องราวและไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ จากโรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ ได้ทางเฟสบุ๊ค: Montien Hotel Surawong Bangkok