ปัญหาในการวางแผนการเงิน แก้ได้ แค่ใช้ 'สติ'
ส่องวิธีแก้ปัญหา เมื่อแผนการเงินไม่เป็นไปตามที่วางไว้ โดยเฉพาะวันเงินเดือนออก ที่หลายคนมักรออย่างใจจดใจจ่อ และเป็นวันที่หลายคนไร้สติกับการใช้จ่ายเงิน หากเกิดสถานการณ์แบบนี้จะต้องเตรียมพร้อมอย่างไร?
[บทความนี้ตีพิมพ์ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2563 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ]
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน นี่ใกล้สิ้นเดือนแล้ว หลายๆ ท่านคงรอวันเงินเดือนออกอยู่อยากจดจ่อกันเลยนะครับ วันเงินเดือนออกเนี่ยแหละครับ จะเป็นวันที่เราไร้สติมากที่สุด เนื่องจากเราอาจจะประหยัดมามากมายแล้ว ในอาทิตย์ก่อนที่เงินเดือนจะออก กิเลสเราก็เลยมีสูงขึ้น กับความเฝ้ารอที่ว่า เหลืออีกไม่กี่วันเงินเดือนก็จะออกแล้ว สู้โว้ย! จะไปช็อปปิ้ง จะไปกินปิ้งย่าง
และนั่นแหละครับ เมื่อไร้สติตั้งแต่วันแรกที่เงินเดือนออก ก็จะทำให้เราวนลูปกลับไปในการประหยัดเมื่ออาทิตย์สิ้นเดือนอีกนั่นเอง ดังนั้นในวันนี้ ผมจะมาเสนอเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหา เมื่อแผนการเงินไม่เป็นไปตามที่เราวางไว้ครับ สิ่งที่เราจะต้องเตรียมพร้อมเมื่อเจอกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เราไม่ได้คาดคิด นั่นก็คือ “สติ” นั่นเองครับ
- เมื่อสิ่งที่มาปลุกเร้ากิเลสในตัวเอง
ในบางครั้ง หลายๆ ท่านอาจต้องมานั่งประหยัดเงินในช่วงปลายเดือน หรือรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันเป็นอาทิตย์ เพื่อรอเงินเดือนรอบใหม่ที่จะออก ซึ่งพอเจอกับสถานการณ์แบบนี้ เราก็จะสัญญากับตัวเองเสมอว่า เดือนหน้าจะตั้งใจใหม่ จะใช้เงินให้พอ จะมีการวางแผนการเงินที่ดี และจะไม่ใช้เงินให้เดือนชนเดือนขนาดนี้ แต่เมื่อถึงเวลาที่เงินเดือนออกแล้วจริงๆ ความตั้งใจอันแน่วแน่ของเรา ก็ดูเหมือนจะหายไป เมื่อเราพบกับเพื่อนร่วมงานที่ชวนไปรับประทานอาหารบุฟเฟต์ เพื่อนที่ชวนเราไปช้อปปิ้งวันเงินเดือนออก เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งเร้า ที่ทำให้เราเกิดกิเลสทั้งสิ้น หากเรามีสติที่เพียงพอ เราก็ต้องวิเคราะห์ว่า อยากทำอะไรมากที่สุด โดยเป็นสัดส่วนที่เท่าไร หากเราวิเคราะห์แล้วว่า อยากได้หรืออยากทำจริง ๆ ไม่ได้เดือดร้อนใครและไม่เดือดร้อนตัวเอง ก็ลงมือทำได้เลยครับ
ตัวอย่างเช่น เงินเดือนออก 20,000 บาท ต้องการไปทานบุฟเฟต์ 500 บาท และต้องการไปช้อปปิ้งอีก 2,000 บาท ก็มาวิเคราะห์ดูว่า เพียงวันแรกเราก็ใช้เงินไป 2,500 บาทแล้ว เราจะมาแบ่งสัดส่วนอย่างไรให้ใช้เงินพอ และมีเงินเก็บเพิ่มเติมอีกด้วยครับ เช่น ในตอนนี้เราเหลือเงิน 17,500 บาท ค่าเดินทางมาทำงาน 2,000 บาทต่อเดือน ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่ากาแฟ วันละ 200 บาท คิดคร่าว ๆ ว่าอีก 30 วันที่เหลือในการทำงาน เราต้องใช้อีก 6,000 บาทในแต่ละวัน เก็บออมอีก 5,000 บาท คราวนี้ เราก็จะเหลือเงินไว้ใช้ฟุ่มเฟือยตามใจเราอีก 4,500 บาท ซึ่งถือว่าเป็นแผนการเงินที่ไม่เข้มงวดกับตัวเองมากเกินไป ทำให้ใช้จ่ายได้ถึงสิ้นเดือน มีเงินเหลือเก็บ และให้รางวัลตัวเองอย่างเป็นระยะ ๆ ด้วยครับ
- เมื่อป่วย จะทำอย่างไรดี
สถานการณ์แบบนี้ ไม่มีใครอยากให้เกิดกับตัวเองกันทั้งนั้นแหละครับ เนื่องจากสภาพร่างกายที่ย่ำแย่แล้วนั้น เราต้องพบกับค่าใช้จ่ายที่ไม่อยากเสียเพิ่มเติมอีกด้วย หากจะไปโรงพยาบาลรัฐ หรือประกันสังคม ก็ไม่อยากไป แต่จะให้ไปหาที่โรงพยาบาลเอกชน ทั้งค่าหมอ ค่าห้อง หรือค่าผ่าตัด ก็มีราคาที่สูงมาก
ดังนั้นผมเลยมีเคล็ดลับดีๆ ที่จะเอาไว้ป้องกันสถานการณ์แบบนี้กับตัวเราเองครับ นั่นก็คือ การซื้อประกันสุขภาพ ซึ่งหลายท่านอาจมองว่า การซื้อประกันสุขภาพ เป็นค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง แต่หากลองคิดดูดี ๆ แล้ว ร่างกายของเราเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อีกทั้งในปัจจุบันนี้ ประกันสุขภาพก็มีให้เลือกหลายแบบ หลายราคา ซึ่งเสียค่าเบี้ยเดือนนึงแค่เพียงหลักร้อย แต่สามารถคุ้มครองทั้งค่ารักษาแบบผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยในได้อย่างคุ้มค่า ดังนั้นผมจึงมองว่า การเสียค่าประกันสุขภาพที่คิดเป็นสัดส่วนเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ แลกกับการดูแลรักษาร่างกายของเรา ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าครับ
- มีเงินเหลือ เอาไปทำอะไรดี?
เพิ่มเติมจากการออมเงิน คือ การนำเงินออมนั้นไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน หรือสร้างรายได้เพิ่มเติม โดยเริ่มแรกสำหรับคนที่พึ่งเริ่มนำเงินออมไปลงทุน ยังไม่ค่อยมีความรู้มากนัก อาจตัดสินใจนำเงินส่วนนี้ไปฝากประจำที่ธนาคารก่อน แม้จะได้ผลตอบแทนไม่สูง แต่ก็มีความเสี่ยงที่ต่ำมากเช่นกัน แต่หากเราเริ่มมีความรู้แล้ว ก็ควรที่จะวางแผนด้วยการกระจายการลงทุนไปในหลายๆ ด้าน อย่ากระจุกตัวอยู่ที่แหล่งเดียวครับ และเริ่มศึกษารูปแบบการลงทุนแบบต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและหาช่องทางการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นนั่นเอง
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนะครับ สิ่งที่สำคัญที่สุดเลย คือ ตัวเรา ต้องรู้จักห้ามกิเลสในตนเอง ต้องมี “สติ” ในการคิดวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย เรียงลำดับความสำคัญของการใช้จ่าย่ให้ถูกต้อง และเราจะใช้ชีวิตด้วยเงินของเราอย่างมีความสุขและพอเพียงครับ