'ผู้หญิง เทพเจ้า มนุษย์หมาป่า' ความสัมพันธ์ของ 'พระจันทร์' กับมนุษย์
เพราะเหตุใดทำไมถึงมีเทศกาล "ไหว้พระจันทร์" เรื่องเล่ามนุษย์หมาป่าคืนร่างคืนพระจันทร์เต็มดวง หรือทำไมถึงเปรียบเปรยความสวยของผู้หญิงกับพระจันทร์ พระจันทร์เกี่ยวข้องกับมนุษยชาติอย่างไร
“วันไหว้พระจันทร์” ของปีนี้ ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เทศกาลนี้ได้รับความนิยมของผู้คนในภูมิภาคเอเชียด้วยการทำพิธีไหว้พระจันทร์ แม้ปีนี้กระแสของวันไหว้พระจันทร์จะแผ่วลงกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากสถานการณ์การเมือง โรคระบาด และสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง แต่ถึงอย่างนั้นก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังทำพิธีไหว้พระจันทร์นี้อยู่
ที่มาของวันไหว้พระจันทร์นั้นมีหลายตำนาน ในขณะเดียวกันทางฝั่งตะวันตกถึงแม้จะไม่มีพิธีไหว้พระจันทร์ แต่ก็ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพระจันทร์เช่นกัน อย่างเรื่องเล่าที่เป็นภาพจำมากที่สุด คือมนุษย์หมาป่าที่จะกลายร่างในคืนพระจันทร์เต็มดวง หรือในประเทศไทยเองก็มักจะพบการเปรียบเปรยความงามของผู้หญิง กับพระจันทร์ อยู่เนืองๆ ทั้งจากเรื่องลิลิตพระลอ อิเหนา ขุนช้างขุนแผน
ดูเหมือนว่าดวงจันทร์จะไม่ได้เป็นแค่เพียงดวงดาวที่โคจรอยู่รอบโลกอย่างเดียวเสียแล้ว แต่ยังมีอิทธิพล ความเชื่อ และตำนานแก่มนุษย์บนโลกได้อย่างมหัศจรรย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- รู้จัก 'วันไหว้พระจันทร์' ผ่านขนมส่งสารและตำนาน 'ฉางเอ๋อ'
- เปิดวิธี 'ไหว้พระจันทร์' 2563 ขอพรความรักให้รุ่งพุ่งแรง
- 'ขนมไหว้พระจันทร์' ปี 2020 สูตรใหม่ไส้ใหม่ เช็คความอร่อยที่นี่!
- ความสัมพันธ์ของพระจันทร์และมนุษย์ ในโลกวิทยาศาสตร์
ดวงจันทร์เป็นบริวารดวงเดียวของโลก มีพื้นผิวที่เป็นของแข็ง เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตมากมาย แสงจันทร์ที่เรามองเห็นนั้นเป็นแสงอาทิตย์ที่สะท้อนจากพื้นผิวดวงจันทร์ ในขณะที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเราจะมองเห็นดวงจันทร์ในลักษณะที่เปลี่ยนไป ตามปริมาณของบริเวณที่ได้รับแสงและบริเวณด้านมืดที่หันหน้าเข้าหาโลก เรียกว่า ข้างขึ้นข้างแรม
แม้ว่าดวงจันทร์จะมีขนาดเล็ก แต่ด้วยการที่มันอยู่ใกล้กับโลกของเรามากกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ดวงจันทร์จึงมีอิทธิพลต่อปรากฏการณ์ต่างๆ บนโลก เช่น การเกิดน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งเกิดจากแรงโน้มถ่วงระหว่างโลกกับดวงจันทร์ และการเกิดสุริยุปราคา และจันทรุปราคา เป็นต้น
นี่คือปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์ส่งผลต่อมนุษย์ในแบบที่มีหลักการทางดาราศาสตร์อ้างอิง และนี่อาจจะเป็นจุดตั้งต้นของตำนาน และความเชื่อบางความเชื่อด้วย
- พระจันทร์ และการกำเนิด
ในวัฒนธรรมจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเชื่อเรื่องดวงจันทร์และการกำเนิด ซึ่งมีความหมายพ่วงไปถึงความเป็น ‘หญิง’ โดยมีเชื่อมโยงการมีประจำเดือนของผู้หญิง เข้ากับเวลาระยะเวลาครบรอบเสี้ยว-เต็มดวงของพระจันทร์ ที่มักจะเกิดขึ้นในลักษณะคล้ายกันคือ 1 เดือนครั้ง
นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่ร่างกายของมนุษย์ประกอบไปด้วยน้ำถึงร้อยละ 70 ดวงจันทร์ที่มีส่วนทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลง ต่อโลกก็เปรียบเสมือนผู้ควบคุมมนุษย์ และผู้กำเนิดในที่สุด
ประกอบกับคติธรรมชาติของวัฒนธรรมจีนที่แบ่งโลกออกเป็นสองขั้วหยิน-หยาง น้ำ-ไฟ มืด-สว่าง และหญิง-ชาย พระจันทร์โดดเด่นสุกสว่างที่สุดเวลาค่ำคืน แล้วยังเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง
หยิน น้ำ ความมืด และเพศหญิง ย่อมถูกจัดกลุ่มเป็นพวกเดียวกัน
ดังนั้นแล้วในอดีตผู้คนจึงมีการบูชาพระจันทร์เพื่อการกำเนิดบุตร และพระจันทร์กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการกำเนิดมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับวันไหว้พระจันทร์ ตำนานความเชื่อจีนที่แพร่หลายมากที่สุดก็เกี่ยวกับผู้หญิงเช่นกัน ในประเทศไทยพระจันทร์ ที่มีสัญญะแห่งการกำเนิด ก็ถูกนำมาเปรียบเปรยถึงความงามของผู้หญิง ที่มักจะพบเจอในกวีสำคัญ ดังตอนหนึ่งในวรรณคดีเรื่อง ลิลิตพระลอ นางรื่นนางโรยพี่เลี้ยงชมโฉมพระเพื่อนพระแพงว่างามสมกันกับพระลอ โดยเปรียบพระลอกับ “ทินกร” หรือดวงอาทิตย์ และเปรียบพระเพื่อนพระแพงกับ “ศศิธร” หรือดวงจันทร์
พิศไท้ไท้ว่าไท้ ทินกร
พิศอ่อนคือศศิธร แจ่มฟ้า
พิศดูอิ่มอกอร ใดดั่ง นี้นา
เดือนตะวันแย้มหน้า ออกรื้อฉันใด ฯ
แม้ใน “บทสังวาส” หรือ “บทอัศจรรย์” ซึ่งเป็นการใช้สัญลักษณ์มาแทนความหมายของการร่วมรักระหว่างชายหญิง กวีก็นำเอาดวงอาทิตย์และดวงจันทร์มาแทนตัวขุนแผนกับนางแก้วกิริยาตอนเข้าด้ายเข้าเข็มว่า
พระอาทิตย์ชิงดวงพระจันทร์เด่น ดาวกระเด็นใกล้เดือนดาราดับ
หิ่งห้อยพร้อยไม้ไหวระยับ แมลงทับท่องเที่ยวสะเทือนดง
- ความเกรี้ยวกราดของพระจันทร์ ในโลกตะวันตก
ข้ามฟากมาที่ฝั่งโลกตะวันตก พระจันทร์ถูกตีความไปไกลกว่าการกำเนิด ตำนานมนุษย์หมาป่าจะคืนร่างในวันพระจันทร์เต็มดวง คือเรื่องความหลอนที่เด็กๆ หลายต่อหลายคนฟังแล้วหัวหด เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อต่อพระจันทร์ในด้านความชั่วร้าย
ในภาษาอังกฤษเราเรียกดวงจันทร์ว่า moon และยังมีอีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า Luna มีรากมาจากภาษาละติน คำว่า Lunatic ที่เกี่ยวกับความบ้า หรือ คนบ้า
อริสโตเติล นักปรัชญาอธิบายไว้ว่า พระจันทร์มีส่วนในความบ้าคลั่งของมนุษย์ ส่งผลให้จิตสำนึกลดต่ำลง พร้อมกับยกทฤษฎี สมองของเราประกอบด้วยน้ำ แล้วดวงจันทร์มีผลกับน้ำบนโลก ดังนั้นน้ำในสมองของเราก็เลยได้รับผลจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์เรียกว่า Lunar Effect ด้วย
ความเชื่อชุดนี้ เมื่อพิจารณากับตำนานมนุษย์หมาป่าดูเข้ากันอย่างไม่น่าเชื่อ พระจันทร์เต็มดวงเมื่อไหร่ ความบ้าคลั่งจะรุนแรงเมื่อนั้น เปรียบดังมนุษย์ที่กลายเป็นหมาป่าไล่ฆ่าคน
รวมถึงมีสถิติและการศึกษาที่เชื่อมโยงไปว่าพระจันทร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการป่วยทางจิตของมนุษย์ เช่น มีการสำรวจว่าอัตราความคลุ้มคลั่งของผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น 1.8% ในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง หรือมีสถิติการก่ออาชญากรรมเยอะขึ้นจากการสำรวจเมือง 3 เมืองในอเมริกา นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่มีการสำรวจแล้วถูกโยงเข้ากับวันพระจันทร์เต็มดวง เช่น อัตราการฆ่าตัวตาย หรือการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ
แต่ทั้งนี้ก็มีการสำรวจและวิจัยอีกชุดหนึ่งที่ออกมาโต้กลับว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับมนุษย์จากพระจันทร์นั้นไปใช่เรื่องจริง และมีการเผยแพร่สู่สาธารณะอยู่เนืองๆ
อย่างไรก็ตามความเชื่อระหว่างมนุษย์และพระจันทร์ก็ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ตามพลวัตและการเปลี่ยนแปลง ในอนาคตเราอาจจะตีความเรื่อง พระจันทร์ ในแบบอื่นที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนก็ได้
------------------------
อ้างอิง :