'เลือดสีน้ำเงิน' จากความผิดปกติสู่ความพิเศษ ที่อาจไร้ประโยชน์ในปัจจุบัน?
ไขความหมายของ "เลือดสีน้ำเงิน" ในมิติต่างๆ ว่าหมายถึงอะไรได้บ้าง? แล้วทำไมสีน้ำเงินจึงถูกเปรียบเทียบกับกษัตริย์หรือชนชั้นสูง รวมถึงในทางการแพทย์เลือดสีน้ำเงินมีประโยชน์อย่างไร?
เพดานสถานการณ์การเมืองไทยถูกดันสูงขึ้นใกล้ฟ้าเข้าไปทุกที โดยเฉพาะการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงปีก่อนๆ รวมทั้งถูกพูดถึงในการ "ชุมนุม 19 กันยา" ของปีนี้ด้วย และหากต้องมีการเอ่ยถึงสถาบันกษัตริย์เมื่อใด สัญญะที่ถูกพูดแทนที่หนีไม่พ้น เลือดบริสุทธิ์ ชนชั้นมังกรฟ้า และยังมีอีกคำหนึ่งที่ใช้สื่อถึงสถาบันกษัตริย์ตลอดกาลหลายศตวรรษที่ผ่านมาก็คือคำว่า "เลือดสีน้ำเงิน"
พจนานุกรมฉบับเคมบริดจ์ ให้ความหมายของ blue blood คือ
the fact of someone having been born into a family that belongs to the highest social class
ไม่ต่างจากความหมายจากเว็บไซต์ vocabulary.com ให้ความหมายไว้คือ
A blue blood is an aristocrat. Blue bloods come from privileged, noble families that are wealthy and powerful
สรุปได้ว่า blue blood หรือเลือดสีน้ำเงิน ถูกตีความหมายว่า กลุ่มคนที่เกิดในชนชั้นสูง หรือกลุ่มคนที่อยู่ในสถาบันกษัตริย์
- กษัตริย์เกี่ยวอะไรกับ "เลือดสีน้ำเงิน" ?
คำว่า “blue bloods” เป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสเปน ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 โดยแปลมาจากภาษาสเปน คือ Sangre azul เพราะสันนิษฐานว่าเป็นสำนวนที่ใช้เรียกราชวงศ์ชั้นสูงในยุคกลางของสเปน ที่มีผิวขาวบอบบางทำให้เห็นเส้นเลือดดำได้ชัดเจน (สะท้อนผ่านผิวหนังทำให้เส้นเลือดดูคล้ายสีน้ำเงิน) และอ้างตนเหนือเชื้อชาติผสมระหว่างแอฟริกาและอาหรับที่มีผิวสีเข้มจึงนำมาเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูงสืบต่อมายังยุโรป
สิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษในปี 1811 ระบุว่าชนชั้นสูงของบาเลนเซีย (ชาวสเปน) แบ่งออกเป็นสามชนชั้น ได้แก่เลือดสีน้ำเงินเลือดสีแดงเลือดสีเหลือง
โดยกลุ่มแรก "จำกัดเฉพาะครอบครัวที่ถูกทำให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น" ในศตวรรษที่ 9 มีรายงานว่าขุนนางทหารชาวสเปนได้พิสูจน์สายเลือดด้วยการแสดงเส้นเลือดที่มองเห็นได้เพื่อแยกแยะตัวเองจากศัตรูชาวมัวร์ที่มีผิวสีเข้ม ตั้งแต่นั้นมาทั่วทั้งยุโรปมีการแสดงความแตกต่างระหว่างชนชั้นสูงและชนชั้นล่างด้วยการดูเส้นเลือด
นอกจากนี้คำว่าเลือดสีน้ำเงิน ยังนำมาใช้เรียกชื่อโรคเลือดไหลไม่หยุด (Hemophilia) เพราะโรคนี้มักพบในราชวงศ์ชั้นสูงของยุโรป ที่นิยมแต่งงานในวงศ์เครือญาติที่มีความใกล้ชิดกัน ทำให้ถ่ายทอดโรคผ่านทางพันธุกรรม
- "เลือดน้ำเงิน" ในโลกวิทยาศาสตร์
นอกเหนือจากเรื่องชนชั้นวรรณะแล้ว เลือดสีน้ำเงินในโลกวิทยาศาสตร์ นับว่าเป็นความพิเศษที่มีประโยชน์ แต่เป็นเลือดน้ำเงินที่ไม่ได้มาจากคน แค่มาจากสัตว์ ตัวอย่างเช่น
เลือดสีน้ำเงินจาก แมงดาทะเล สัตว์จำพวกมีเปลือกแข็งหุ้มและอยู่ในไฟลัมอาร์โทรพอด (Artropod) มีถิ่นอาศัยบริเวณชายฝั่งอเมริกาเหนือและเอเชีย ถูกใช้ในการผลิตยาและเครื่องมือทางการแพทย์มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970
ส่วนสาเหตุที่แมงดาทะเลมีเลือดเป็นสีน้ำเงิน (hemocyanin) เนื่องจากมีทองแดงผสมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งถูกนำมาใช้ประโยชน์ในวงการแพทย์ โดยการใช้เลือดแมงดาทะเลไปสกัดเป็นสารที่เรียกว่า Limulus amoebocyte lysate (LAL) ในการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายที่อาจจะปนเปื้อนในวัคซีน หรือในอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ
ซึ่งหากใช้เลือดแมงดาทะเล หรือตัวทำปฏิกิริยานี้ฉีดเข้าไป แล้วสารเหล่านั้นมีการเปลี่ยนสี หรือแข็งตัว ก็แปลว่า มีไวรัส เลือดของแมงดาจึงมีความสำคัญมาก เพราะมีคุณสมบัตินี้ มันก็เลยถูกจับมาใช้ในวงการทางการแพทย์เพื่อทดลอง และในปัจจุบันพบว่ามีการนำเลือดแมงดาทะเลไปผสมลงในวัคซีนเพื่อนำไปสู่กระบวนการการให้วัคซีนแก่ผู้ป่วย
นิตยสาร The Atlantic รายงานว่า ปริมาณเลือดแมงดาทะเลเพียง 1 ควอร์ต สนนราคาอยู่ที่ 15,000 เหรียญ ส่วนชุดทดสอบ LAL 1 แพ็คเกจ ราคา 1,000 เหรียญ ในหนึ่งปีจะมีการตรวจหา Endotoxin ในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ต่างๆ ถึง 70 ล้านการทดสอบ ส่งผลให้ธุรกิจ “รีดเลือด” ฟันกำไรปีละหลายร้อยล้านเหรียญ
ในปี 2016 มาตรฐานตำรายาแห่งสหภาพยุโรป ได้กำหนดให้ใช้เลือดสังเคราะห์ในการทดสอบหาแบคทีเรียในอุตสาหกรรมการผลิตยาทั่วโลก เนื่องจากมีการเรียกร้องในข้อหาการทารุณกรรมสัตว์อยู่ตลอดเวลา
ปัจจุบันมีบริษัทยาหลายแห่งหันมาใช้เลือดสังเคราะห์แทนเลือดแมงดาทะเลแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่าความพิเศษของเลือดสีน้ำเงินกำลังจะถูกลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ
-------------------------
อ้างอิง :
home.maefahluang , historyextra.com , theuijunkie.com , vocabulary.com , dictionary.cambridge.org