เปิดที่เที่ยว 'เมืองเก่าร้อยเอ็ด' ยุคทวารวดีโบราณอายุ 1,000 ปี

เปิดที่เที่ยว 'เมืองเก่าร้อยเอ็ด' ยุคทวารวดีโบราณอายุ 1,000 ปี

ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการแนวทางการอนุรักษ์พัฒนา "เขตเมืองเก่าร้อยเอ็ด" ส่งเสริมให้เป็น "แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม" เพื่อให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และช่วยกันอนุรักษ์โบราณสถานของไทย

วันนี้ (6 ต.ค. 63) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในประเด็นเขตเมืองเก่าร้อยเอ็ดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในประเทศไทย โดยระบุว่า ครม. มีมติเห็นชอบ มาตรการดูแลเขตเมืองเก่า และแนวทางการอนุรักษ์พัฒนาเขตเมืองเก่าจังหวัดร้อยเอ็ด

มาตรการนี้ออกมาเพื่อป้องกันการทำลายหลักฐานที่สำคัญของความเป็นเมืองเก่า ซึ่งคนไทยต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของคนรุ่นหลัง และยังเป็นการส่งเสริมให้เป็น  "แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม"  ด้วย

ที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติเห็นชอบมาตรการเขตเมืองเก่าและแนวทางการอนุรักษ์พัฒนาเมืองเก่าไปแล้ว 32 เมือง โดยเมืองเก่าที่มีการดำเนินการล่าสุดในช่วงก่อนหน้านี้ คือ เมืองเก่าพิษณุโลก  ส่วนครั้งนี้เมืองเก่าที่จะดำเนินการเป็นอันดับต่อมาก็คือ "เมืองเก่าร้อยเอ็ด" ซึ่งถือเป็นเมืองเก่าในกลุ่มที่ 2 คือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในอดีต และมีหลักฐานทางศิลปกรรมรองจากเมืองเก่ากลุ่มที่ 1

160197938152

โดยเมืองเก่าร้อยเอ็ดมีพื้นที่ทั้งหมด 3 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะเป็นชุมชนโบราณ ที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบเป็นกำแพงเมือง  (คูเมือง)  ปัจจุบันเขตเมืองเก่าร้อยเอ็ดเป็นโบราณสถานที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร  มีคุณค่าและความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

พื้นที่ในเขตเมืองเก่าร้อยเอ็ด  แบ่งเป็น 5 โซน ได้แก่ 1. บริเวณใจกลางเมืองร้อยเอ็ด, บริเวณวัดกลางมิ่งเมือง 2. วัดบูรพาภิราม, วัดราษฎร์ศิริ, ย่านการค้า 3. วัดสระทอง, วัดเหนือ 4. วัดสระแก้วและชุมชนโดยรอบ 5. ย่านสถานที่ราชการ

สำหรับแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาโดยสรุปก็คือ เน้นการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน และสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์และการพัฒนาที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการจัดระบบจราจร การดูแลบำรุงรักษาอาคาร ที่สำคัญจะต้องป้องกันไม่ให้มีการทำลายโบราณสถานและสิ่งแวดล้อม บริเวณรอบๆ เขตเมืองเก่าดังกล่าว

160197937917

ส่วนการใช้ประโยชน์​ในพื้นที่เขตเมืองเก่าดังกล่าวนั้น จะมีการจัดทำให้เป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว การพาณิชยกรรม ที่อยู่อาศัย ศาสนสถาน สถานศึกษา หน่วยงานราชการ 

สำหรับอาคารและสภาพแวดล้อมในเขตเมืองเก่าร้อยเอ็ด จะมีการกำหนดรูปแบบอาคาร ความสูง สัดส่วนพื้นที่ว่าง ขนาด ลักษณะสถาปัตยกรรม ให้สอดคล้องและกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของเมืองเก่าและต้องไม่ทำลายโบราณสถานในพื้นที่  พร้อมทั้งส่งเสริมให้ใช้จักรยานและรถลากจูง ในการเดินทางภายในเขตเมืองเก่า เพื่อลดมลภาวะ และเป็นการอนุรักษ์อาชีพและวิถีชีวิตโบราณในอดีตของพื้นที่นี้ด้วย

มีข้อมูลจาก สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม กระทรวงทรัพยากรฯ ระบุว่าเมืองเก่าร้อยเอ็ดมีลักษณะโดดเด่นคือ เป็นชุมชนที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบซึ่งยังคงหลงเหลือร่องรอยอย่างชัดเจนในปัจจุบัน ทำให้สามารถจะกำหนดขอบเขตของวัฒนธรรมในสมัยโบราณได้ไม่ยากนัก

สัญนิษฐานว่าภายในเมืองเก่าอาจมีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ในอดีต ตั้งแต่ช่วงก่อนประวัติศาสตร์ และน่าจะมีการใช้พื้นที่นี้มากขึ้นในช่วงสมัยทวารวดี ซึ่งอาจมีการขุดคูน้ำคันดินขึ้น เพื่อประโยชน์ในการจัดการน้ำและการอุปโภค-บริโภค

160197937071

160197937870

พบร่องรอยหลักฐานของศิลปะทวารวดีกระจายอยู่ตามวัดหลายแห่ง เช่น ใบเสมาหินทราย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมทวารวดีในภาคอีสาน กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 หรือราว ปี พ.ศ. 1100 - 1500 อีกหนึ่งร่องรอยสำคัญคือ “คูน้ำคันดินล้อมรอบกำแพงเมือง”  มีลักษณะเป็นคูน้ำคันดินในผังรูปสี่เหลี่ยมมุมมนล้อมรอบ ขนาด 1,700 x 1,800 เมตร โดยคูเมืองอยู่ด้านนอก ส่วนด้านในมีคันดินก่อสูงเป็นกำแพงเมือง

อย่างไรก็ตาม ชุมชนที่เคยอยู่อาศัยแถบนี้คงทิ้งร้างไปในช่วงที่อารยธรรมขอมโบราณแพร่ขยายเข้ามาราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 และเมืองก็ถูกทิ้งร้างไปยาวนานจนกระทั่งมีการกลับเข้ามาใช้งานพื้นที่นี้อีกครั้งในช่วงปี พ.ศ. 2200 เป็นต้นมา โดยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์กับดินแดนล้านช้าง (ลาว) กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์

160197938479

160197936922

วัดวาอารามต่างๆ ถูกสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลานี้ โดยมีวัดสำคัญที่สุด 2 แห่ง คือ วัดกลางมิ่งเมือง และวัดเหนือ ซึ่งถือเป็นแหล่งศิลปกรรมที่คงคุณค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมถึงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของเมืองเก่าร้อยเอ็ดเป็นอย่างยิ่ง

ลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมมีทั้งโบราณสถานที่เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา ศิลปกรรมแบบล้านช้าง อยุธยาและรัตนโกสินทร์ คือ วัดกลางมิ่งเมือง และวัดเหนือโบราณสถานในเขตเมืองเก่าร้อยเอ็ด ได้แก่ คูน้ำคันดิน และวัดวาอารามประกอบด้วย วัดกลางมิ่งเมือง วัดเหนือ วัดบึงพระลานชัย วัดสระทอง วัดสระแก้ว และวัดบูรพาภิราม

--------------------------

ที่มาภาพ :  m-culture.go.th , onep.go.th/nced