"กินเจ 2564" เปิดเทศกาลวันไหน? รู้หรือไม่ "กินเจ" ไม่มีในประเทศจีน
เช็คปฏิทิน "กินเจ 2564" เริ่มวันไหน? พร้อมไขข้อสงสัยว่าเทศกาล "กินเจ" มีต้นกำเนิดจากที่ไหนกันแน่? โดยทั่วไปพบเทศกาลกินเจอย่างยิ่งใหญ่ในไทย แต่กลับไม่ปรากฏในประเทศจีนซะอย่างนั้น
ใกล้เข้ามาแล้ว! สำหรับเทศกาล "กินเจ 2564" หรือเทศกาลถือศีลกินผักสุดยิ่งใหญ่แห่งปี ที่คนไทยเชื้อสายจีนยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน ปีนี้วันกินเจตรงกับวันที่ 6-14 ตุลาคม 2564 รวมทั้งหมด 9 วัน ตามปฏิทินจีน
อีกทั้ง หลายคนคงเคยสงสัยว่าเทศกาลกินเจในเมืองไทย ที่จัดยิ่งใหญ่อลังการทุกปีนั้น แต่ทำไมไม่เคยเห็นเทศกาลนี้ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่เลย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนคุณมาหาคำตอบเรื่องนี้ไปพร้อมกัน
1. เปิดปฏิทินจีน "กินเจ 2564" เริ่ม 6 ต.ค.นี้
สำหรับปฏิทินเทศกาล "กินเจ 2564" เริ่มจากวันที่ 6 ต.ค. ถือเป็นวันกินเจวันแรกหรือที่เรียกว่า "วันชิวอิก" คนไทยเชื้อสายจีนจะเริ่มกินผัก แป้งธัญพืช ทดแทนเนื้อสัตว์ พร้อมมีการทำพิธีแห่รับเทพเจ้าที่ลงมาจากสวรรค์ (แต่ในกรณีผู้ที่เคร่งมากๆ และถือศีลด้วย มักกจะล้างท้องหรือเริ่มกินเจก่อนหน้าวันนี้ไป 1 วัน)
จากนั้นก็จะกินเจติดต่อกันมาเรื่อยๆ จนครบ 9 วัน โดยในวันสุดท้าย ตามประเพณีความเชื่อจะมีการส่งเทพกลับขึ้นสวรรค์ อีกทั้งยังเป็นวันประสูติของ "เทพนาจาซาไท้จื่อ" อีกด้วย
ที่มาภาพ : myhora.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 5 ผักฉุนต้องงดช่วง 'กินเจ' พร้อมข้อปฏิบัติ-ข้อห้ามที่ควรรู้
- 'กินเจ 2564' ชวนรู้ฮาวทู 'ล้างท้อง' ก่อนกินเจ ต้องทำยังไง?
2. ทำไมคนไทยถึง "กินเจ" เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไร?
เมื่อ 194 ปีก่อน (ประมาณ พ.ศ. 2368-2400) ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่คนไทยรู้จักกับการกินเจเป็นครั้งแรก! สมัยนั้นคนจีนจากมณฑลฮกเกี้ยน(ฝูเจี้ยน), แต้จิ๋ว, ซัวเถา ได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากินในเมืองไทย บริเวณพื้นที่หมู่บ้านกะทู้ ตำบลกะทู้ จังหวัดภูเก็ต จำนวนมาก เพื่อทำอาชีพขุดแร่ดีบุกและทำเหมืองแร่กันตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา (ในสมัยรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) และมีการค้าขายแร่ดีบุกกับโปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น
คนจีนกลุ่มนี้เองที่นำเอาประเพณีกินเจ หรือ เจี๊ยะฉ่าย เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเพณีที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาเต๋า (ลัทธิเต๋า) ที่พวกเขานับถือ โดยพวกเขามีความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าประจำตระกูลหรือเทพเจ้าประจำหมู่บ้าน เช่น เทวดาฟ้าดิน และเซียนต่างๆ
หากมีเหตุเภทภัยอันใดเกิดขึ้น ก็จะแก้เคล็ดด้วยการอัญเชิญเทพเจ้าแต่ละพระองค์ที่ตนนับถือ มาบูชากราบไหว้เพื่อให้คุ้มครองปกป้องรักษาตน พร้อมกับการ "ถือศีลกินผัก" งดบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด งดทำบาปเพื่อหวังให้เภทภัยต่างๆ หายไป โดยมักจะกินเจ 9 วัน เพราะถือว่าเป็นการบูชา 9 เทวกษัตริย์ ที่เชื่อว่าจะมารับเคราะห์หรือเภทภัยต่างๆ แทนมนุษย์
3. "กินเจ" ต้นกำเนิดมาจากคนจีนกลุ่มเล็กๆ ไม่แพร่หลาย
เมื่อสืบสาวราวเรื่องลึกลงไป พบว่าประเพณีกินผักดังกล่าว จริงๆ แล้วก็มีต้นกำเนิดมาจากจีนนั่นเอง เพียงแต่มีเฉพาะในชุมชนจีนบางมณฑลเท่านั้น เป็นประเพณีที่ชาวจีนกลุ่มเล็กๆ ทำกัน ไม่ได้มีแพร่หลายไปทั่วทั้งประเทศจีน เมื่อคนจีนกลุ่มนี้อพยพมาที่ไทยก็นำประเพณีนี้ติดตัวมาด้วย
ปัจจุบันประเพณี "ถือศีลกินผัก" ของชาวจีนที่นับถือ "ลัทธิเต๋า" ในบางมณฑลดังกล่าว ได้สูญหายไปแล้วทั้งหมด
แต่กลับยังคงมีให้เห็นได้ที่ภูเก็ตบ้านเรา และกระจายไปทั่วประเทศไทย สมัยแรกๆ มีแค่การถือศีลกินผักธรรมดาตามโรงเจ ไม่ได้มีขบวนแห่ม้าทรงหรือจัดงานเทศกาลยิ่งใหญ่เหมือนในปัจจุบัน
4. ตำนานและเรื่องเล่าเทศกาล "กินเจ"
เหตุการณ์ที่สะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีถือศีลกินผัก ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ มีตำนานเล่าว่าครั้งหนึ่งมีคณะงิ้วจากประเทศจีน ได้เดินทางมาเปิดการแสดงที่หมู่บ้านกะทู้ของภูเก็ต คณะงิ้วนี้สามารถแสดงอยู่ได้ตลอดปี เนื่องจากเศรษฐกิจของกะทู้ในยุคนั้นมีรายได้ดีมาก
หลังจากคณะงิ้วได้เปิดทำการแสดงอยู่ระยะหนึ่ง ได้เกิดมีการเจ็บป่วยเป็นไข้ และจากการเจ็บป่วยครั้งนี้ทำให้คณะงิ้วนึกขึ้นได้ว่าพวกตนไม่ได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่าย (กินผัก) ซึ่งเคยปฏิบัติกันมาทุกปีที่เมืองจีน จึงได้ปรึกษาหารือในหมู่คณะ และได้ตกลงกันประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายขึ้นที่โรงงิ้วนั่นเอง ต่อมาโรคภัยไข้เจ็บก็หายไปหมดสิ้น
เรื่องนี้สร้างความประหลาดใจให้แก่ชุมชนที่อาศัยกะทู้เป็นอันมาก จึงได้สอบถามจากคณะงิ้วและได้คำตอบว่าพวกเขาได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายแบบย่อๆ เนื่องจากไม่มีผู้รู้และผู้ชำนาญในการจัดประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายแบบครบถ้วน พวกเขาเพียงแต่สักการะบูชากราบไหว้ขอขมาโทษ ระลึกถึง "กิ้วอ๋องต่ายเต่" หรือ "พระราชาธิราชทั้ง 9 พระองค์" ตามความเชื่อของลัทธิเต๋านั่นเอง
5. สืบสานกินเจแพร่หลายที่ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต และทั่วไทย
จากนั้นเป็นต้นมา ทางกลุ่มคณะงิ้วก็ได้แนะนำและส่งต่อวิธีการไหว้เจ้าและการถือศีลกินผักให้ชาวกะทู้ด้วย หลังจากชาวจีนและชาวบ้านกะทู้ได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายได้ประมาณ 2-3 ปี โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ลดน้อยลงและหายไปในที่สุด ทำให้พวกเขามีความเชื่อและศรัทธาเลื่อมใสในการถือศีลกินผักมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน จ.ภูเก็ต ทุกอำเภอทุกพื้นที่มีการจัดเทศกาล "กินเจ" อย่างยิ่งใหญ่ทุกปี นัยว่าเป็นการงดบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น รวมถึงปฏิบัติตามความเชื่อตามแบบอย่างของบรรพบุรุษสืบมา และแพร่ขยายไปสู่ชุมชนคนเชื้อสายจีนทั่วประเทศไทย
------------------------
อ้างอิง :
th.wikipedia.org/wiki/เทศกาลกินเจ