ส่องสูตรสำเร็จเกม ‘Genshin Impact’ คืนทุน 3 พันล้านใน 2 สัปดาห์
แม้ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมเกมกำลังได้รับความนิยมสูง แต่การจะพัฒนาเกมสักเกมจนปังและคืนทุนในเวลาไม่ถึงเดือนนั้น คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากสำหรับค่ายเกมส่วนใหญ่ แต่ “Genshin Impact” เกมแนว RPG ภาพสวยจากค่ายเกมสัญชาติจีนทำได้ภายในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์!
เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา วงการเกมและเกมเมอร์ทั่วโลกต่างฮือฮากับการเปิดตัวของเกมใหม่อย่าง “Genshin Impact” ที่พัฒนาโดยบริษัทสัญชาติจีนแต่ชื่อญี่ปุ่น “miHoYo” (มิโฮโยะ) ซึ่งเกมนี้เป็นแนวสวมบทบาท หรือ RPG แบบโอเพนเวิลด์ที่เล่นพร้อมกันได้หลายคน (มัลติเพลเยอร์)
Genshin Impact เปิดให้ดาวน์โหลดทั่วโลกในทุกแพลตฟอร์มทั้ง PlayStation 4, Windows PC และมือถือทั้งสองระบบอย่าง Android ของ Google และ iOS ของ Apple
จุดเด่นและจุดขายสำคัญของเกมนี้คือ “ภาพ” เพราะใช้ตัวละครลายเส้นอนิเมะแสนน่ารักทั้งหมด จนเกมเมอร์หลายคนพากันเรียกขานตัวละครเหล่านี้ว่า “น้อน” (น้อง)
หลังเปิดตัวได้เพียง 12 วัน เกม Genshin Impact ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามชนิดที่แทบไม่มีกระแสวิจารณ์เหมือนเกมอื่นๆ ทั้งในตลาดอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน สหรัฐ และแม้แต่ประเทศไทยด้วย
บริษัท miHoYo ยืนยันว่า เกมนี้โกยรายได้ทั่วโลกกว่า 100 ล้านดอลลาร์ (กว่า 3,120 ล้านบาท) นับตั้งแต่เปิดตัว โดยส่วนใหญ่มาจากตลาดยักษ์ใหญ่อย่างจีน และที่สำคัญ มีรายงานว่าเกมนี้ใช้งบในการพัฒนาประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ นั่นหมายความว่า MiHoYo สามารถคืนทุนสร้างเกมนี้ภายในเวลาเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์เท่านั้น
ก่อนหน้านี้ เกมที่สร้างชื่อเสียงให้ค่าย miHoYo คือ “Honkai Impact 3rd” ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในตลาดจีนเมื่อปี 2559 โดยเป็นเกมแนว RPG สายอนิเมะ 3 มิติคล้ายกับ Genshin Impact
แดเนียล อาหมัด นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเกมชื่อดังจากบริษัทนิโก พาร์ทเนอร์ส (Niko Partners) คาดการณ์ว่า อีกไม่ช้า Genshin Impact จะโกยเงินได้กว่า 1,000 ล้านหยวน (กว่า 4,660 ล้านบาท) หรือคิดเป็นเงินดอลลาร์เท่ากับเกือบ 150 ล้านดอลลาร์
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเปิดตัวของเกมนี้ประสบความสำเร็จมากที่สุดในบรรดาเกมจากนักพัฒนาสัญชาติจีนแท้ๆ” อาหมัดกล่าว
ความเห็นนี้สอดคล้องกับกระแสนิยม Genshin Impact ในโลกออนไลน์ ที่เกมเมอร์และสตรีมเมอร์จำนวนมากต่างยกให้เป็นการเปิดตัวเกมครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์จากค่ายเกมจีน
- ปังตั้งแต่สัปดาห์แรก
ในสัปดาห์แรก Genshin Impact ผงาดเป็นหัวแถวในตลาดอย่างรวดเร็ว หลังโกยรายได้แซงหน้าเกมดังอย่าง PUBG Mobile (พับจี โมบาย) ขึ้นเป็นอันดับ 2 เกมมือถือที่ทำเงินได้มากที่สุดตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เปิดตัว
เว็บไซต์ Sensor Tower ซึ่งรวบรวมข้อมูลเชิงลึกของแอพพลิเคชั่นต่างๆ ระบุว่า ระหว่างวันที่ 28 ก.ย.-4 ต.ค. ที่ผ่านมา Genshin Impact สร้างรายได้ 60 ล้านดอลลาร์จากยอดใช้จ่ายของบรรดาเกมเมอร์ผ่านร้านค้าบนมือถือ เช่น เพลย์ สโตร์ของกูเกิล และแอพ สโตร์ของแอ๊ปเปิ้ล
เกมนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน ซึ่งสร้างรายได้ให้บริษัท miHoYo ราว 25 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 42% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 โดยมียอดใช้จ่ายของผู้เล่นอยู่ที่ประมาณ 17 ล้านดอลลาร์ในสัปดาห์เปิดตัว หรือเกือบ 29% ของรายได้รวม ส่วนตลาดอันดับ 3 คือสหรัฐ สร้างเม็ดเงินราว 8 ล้านดอลลาร์ หรือ 13% ของรายได้ทั้งหมด
ข้อมูลของ Sensor Tower แสดงให้เห็นว่า หากนับเฉพาะตลาดนอกประเทศจีนรวมกัน Genshin Impact โกยรายได้ไปถึง 35 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 58% ของรายได้ทั้งหมด
และหากดูภาพรวมทั่วโลกโดยแยกตามระบบปฏิบัติการมือถือ (OS) แอพ สโตร์ เป็นแหล่งสร้างรายได้ส่วนใหญ่ให้ Genshin Impact อยู่ที่ 42 ล้านดอลลาร์ หรือราว 70% ของรายได้รวม ขณะที่เพลย์ สโตร์ มีผู้เล่นใช้จ่ายในเกมนี้ประมาณ 17.7 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 30% ของรายได้ทั้งหมด
แม้ Genshin Impact เป็นเกมที่เปิดให้เล่นกันฟรีๆ แต่ก็สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ miHoYo จากระบบ “กาชา” (Gacha) หรือระบบกล่องสุ่มไอเท็มหรือตัวละครในเกมนั่นเอง
- “กาชา” คืออะไร
สำหรับคอเกมคงรู้จักคำว่า “กาชา” เป็นอย่างดี แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เล่นเกมบ่อยหรือไม่ได้อยู่ในวงการนี้ เมื่อได้ยินคำว่ากาชาอาจจะงงๆ และเกิดคำถามว่าคำนี้คืออะไรและเกี่ยวข้องอะไรกับระบบเกม
กาชา เป็นระบบเกมรูปแบบหนึ่งที่นิยมกันมากทั้งในเกมฟรีและเสียเงิน โดยเป็นการสุ่มตัวละคร หรือไอเท็มต่างๆ ภายในเกม ที่มีเลเวลสูงและเป็นที่ต้องการในวงกว้าง เพื่อดึงดูดผู้เล่น
ระบบกาชาจะสุ่มไอเท็มหรือตัวละครหลังจากเปิดกล่องหรือรูปแบบอื่นๆ ที่เกมนั้นๆ สร้างขึ้น หรือเรียกอีกอย่างว่า “Loot Boxes” โดยผู้เล่นจะได้ไอเท็มหรือตัวละครอย่างใดอย่างหนึ่งจากการสุ่มแต่ละครั้ง
สำหรับไอเท็มที่มีความพิเศษสูง มักจะมีเปอร์เซ็นต์ได้ยากกว่า โดยรูปแบบดังกล่าวมีที่มาจาก “กาชาปอง” (Gachapon) ตู้เกมหยอดเงินที่ใส่ไข่มีรางวัลล่อใจซึ่งนิยมกันในญี่ปุ่น
การเล่นระบบกาชา ส่วนใหญ่มักจำเป็นต้องเสียเงินให้กับผู้ให้บริการเกม เช่น ได้กล่องลุ้นโชคมา แต่จำเป็นต้องซื้อกุญแจในการเปิด หรือมีระบบเพชรไปซื้อกล่องสุ่ม แต่จำเป็นต้องซื้อเพชรจากเงินจริง เป็นต้น
- ข้อเสียของกาชา
กาชา มักมีไอเท็มพิเศษ หรือตัวละครใหม่ๆ ที่มีความสามารถพิเศษ ออกมาล่อใจเหล่าเกมเมอร์ทั้งหลาย และอาจต้องใช้เงินจำนวนมากกว่าจะได้ไอเท็มหรือตัวละครที่ต้องการ
ปัจจุบัน บางประเทศ เช่น เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และจีน ต่างแบนระบบเกมแนวกาชาที่เป็นกล่องสุ่มไอเท็มหรือตัวละคร โดยทางการมองว่าลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายการพนันอย่างชัดเจน เพราะต้องเดิมพันด้วยเงินและทำให้ผู้เล่นเสพติดอีกด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น การเติมเงินในเกมไม่ใช่เรื่องผิด ตราบใดที่ไม่เกินกำลังหรือเดือดร้อนเงินในกระเป๋าตัวเอง แต่เกมเมอร์ก็ต้องรู้เท่าทันเทคนิคการดูดเงินของเกมนั้นๆ ด้วย เพื่อไม่ให้ถูกป้ายยาจนใช้จ่ายเงินเกินตัวและอาจถอนตัวไม่ขึ้นในภายหลัง
-------------------------
อ้างอิง: PC Gamer, Sensor Tower, GamesIndustry.Biz, Modify, GamesRadar