‘ต้นกล้าไร้ถัง’ โมเดลจัดการขยะจากต้นทางถึง ‘Zero Waste’
ไม่เอาจริงไม่ได้แล้ว! ถึงเวลาเดินหน้าจัดการขยะที่เป็นไปได้ว่าจะล้นโลก ด้วยโมเดลจัดการขยะ ‘ต้นกล้าไร้ถัง’
โครงการ ต้นกล้าไร้ถัง เป็นการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ลดและเลิกการใช้สิ่งที่กำลังจะกลายมาเป็นขยะ การนำสิ่งที่คนมองว่าเป็นขยะมารียูส รีไซเคิล การจัดการวัสดุอินทรีย์ การบ่มเพาะนักเรียนในโรงเรียนกว่า 600 คนให้มีส่วนร่วมในการจัดการขยะในชีวิตประจำวันตั้งแต่ต้น จนกระทั่งโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ลดปริมาณขยะจาก 15 ตันต่อเดือน เหลือ 2 กิโลกรัมต่อเดือน
หลังจากนั้นจึงต่อยอดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน” เปิดกว้างให้ผู้สนใจเข้าศึกษาดูงาน เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการจัดการขยะไปสู่ชุมชนและโรงเรียนอื่นๆ ด้วย โดยภาคีเครือข่ายกลุ่มโรงเรียนและองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารออลล์ ออนไลน์และเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งดำเนินการในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้ร่วมศึกษาดูงาน พร้อมลงนามสัญญาความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำองค์ความรู้กลับไปสานต่อการลดจำนวนขยะในพื้นที่ของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โรงเรียนอนุบาลทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ “โรงเรียน Best Practice” ภายใต้โครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ซีพี ออลล์ เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ร่วมโครงการ “ต้นกล้าไร้ถัง” ที่ได้ทั้งเรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ผ่านการบรรยายและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการลดและจัดการกับขยะอย่างยั่งยืนภายในโรงเรียนและชุมชน และได้มีการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) “ภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง” จำนวน 4 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนเกาะสมุย, โรงเรียนชุมชนบ้านใต้-เกาะพะงัน, โรงเรียนทีปราษฎร์พิทยา และโรงเรียนเกาะพะงันศึกษา เพื่อบ่มเพาะเยาวชนด้านการจัดการขยะทั้งในโรงเรียนและชุมชนใกล้เคียง
วิชญาพัส รุจิระ ผู้จัดการมูลนิธิเกาะสีเขียวสมุย กล่าวว่า “ปัญหาขยะในเกาะสมุยเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน มีทั้งปัญหาขยะที่สะสมและขยะที่เกิดขึ้นใหม่รายวัน ทุกวันนี้ในเกาะสมุยมีขยะเพิ่มขึ้น 150 ตันต่อวัน การได้รับโอกาสมาดูงานในครั้งนี้เหมือนได้เติมไฟให้กับตัวเอง ได้พูดคุยกับคุณครู แม้กระทั่งทีมงานที่เป็นภาคประชาสังคมด้วยกัน ทุกคนตื่นตัวมาก ประทับใจคำพูดจากคุณครูที่มาบรรยายที่ว่า “การที่เราจะจูงใจคนมาร่วม ต้องใช้ความรัก ต้องใช้จิตสำนึกจูงใจ ไม่ได้ใช้เงิน” ทุกคนที่มาในวันนี้ทำด้วยความรัก ทุกคนตั้งใจ กุญแจของความสำเร็จในงานนี้ คือ “เนื้อหา” และ “บุคคล” และเชื่อมด้วยความมีวินัยและความตั้งใจ เมื่อได้เห็นความสำเร็จของโรงเรียนอนุบาลทับสะแก ที่ลดปริมาณขยะจาก 15 ตันเหลือ 2 กิโลกรัม ต่อเดือน ถือว่าเหลือน้อยมาก เราก็แอบหวังว่าจะทำได้เช่นกัน ในวันนี้ได้เห็นความตั้งใจจริงของคุณครูก็ถือว่าชนะในก้าวที่หนึ่งแล้ว หากเราตั้งใจแล้วไปด้วยกัน แน่นอนว่าอาจจะมีความท้อและอุปสรรค แต่ถ้าเรายังเดินไปด้วยกัน ซีพี ออลล์ก็ยังไปด้วยกับเรา คิดว่าเราจะชนะไปด้วยกัน”
ขณะที่ จุฑามาส ซุ่นห้วน ครูชำนาญการโรงเรียนทีปราษฎร์พิทยา เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านขยะของโรงเรียนว่าค่อนข้างเป็นปัญหาใหญ่
“โรงเรียนทีปราษฎร์พิทยา มีนักเรียนจำนวนมาก ทำให้จำนวนของขยะมีมาก ทางโรงเรียนก็มีเรื่องของการกำจัดขยะแต่ก็ยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน โรงเรียนก็มีการสร้างจิตสำนึกกับของนักเรียนในการคัดแยกขยะ มีกิจกรรม “5ส” ให้นักเรียนลงพื้นที่ไปทำความสะอาด กวาดขยะ และแยกขยะ เศษขยะที่เป็นใบไม้ก็จะนำไปใส่ในบ่อหมักใบไม้ ขยะที่เป็นขวดก็จะคัดแยกและนำไปขาย ส่วนขยะประเภทอื่นๆ ยังไม่มีการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้เข้าร่วมโครงการ “ต้นกล้าไร้ถัง” ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดี เพื่อที่จะมาเรียนรู้ในเรื่องของการจัดการขยะให้ชัดเจนขึ้น สิ่งที่ได้เรียนรู้จากโรงเรียนอนุบาลทับสะแกมีทั้งเรื่องการจัดการขยะ คัดแยกขยะ ลดจำนวนขยะ เพื่อนำไปปรับใช้ในโรงเรียน ถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก และเป็นโครงการที่ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น เป็นการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพื่อส่งเสริมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม กลับไปเราจะสร้างนักเรียนแกนนำด้านการจัดการขยะ ให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกเพื่อให้แกนนำ นำแนวคิดเหล่านี้ไปส่งต่อจากภายในโรงเรียนสู่ระดับครอบครัว และสู่ชุมชนต่อไป”
โครงการ "ต้นกล้าไร้ถัง" ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวแห่งความสำเร็จที่ภาคเอกชนและประชาสังคมร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหาด้านการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นต้นแบบการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชน และคนในชุมชน หากในอนาคตขยายภาคีเครือข่ายเหล่านี้ไปสู่วงกว้างได้ จะช่วยให้ประเทศกลายเป็นสังคมไร้ขยะได้อย่างแน่นอน