'จเด็จ กำจรเดช' ดับเบิ้ลซีไรต์คนที่สามในสามปีล่าสุด

'จเด็จ กำจรเดช' ดับเบิ้ลซีไรต์คนที่สามในสามปีล่าสุด

เปิดใจครั้งแรกหลังประกาศผล กับนักเขียนมากฝีมืออย่าง 'จเด็จ กำจรเดช' ผู้คว้า 'รางวัลซีไรต์' และเป็น 'ดับเบิ้ลซีไรต์' คนที่สามต่อเนื่องกันบนเวทีนี้

หลังจากเคี่ยวกรำหาผลงานที่ดีที่สุดประจำปีของเวทีซีไรต์ ปรากฏว่ารวมเรื่องสั้น คืนปีเสือและเรื่องของสัตว์อื่นๆ ผลงานของ จเด็จ กำจรเดช ก็ฝ่าด่านรวมเรื่องสั้นในบรรดา 8 เล่มจนคว้าชัยมาครอง

โดยเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. วันนี้ (16 ต.ค.2563) คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) และคณะกรรมการตัดสิน พร้อมด้วยผู้ให้การสนับสนุน ได้จัดงานแถลงข่าวประกาศผลการตัดสินหนังสือรางวัลชีไรต์ประเภท “รวมเรื่องสั้น” ประจำปี พ.ศ.2563 ณ ห้องเจ้าพระยา โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ

ศิเรมอร อุณหธูป ประธานคณะกรรมการตัดสิน เปิดเผยว่า ปีนี้มีรวมเรื่องสั้นส่งประกวดจำนวน 40 เล่ม การคัดเลือกแบ่งเป็น 2 รอบ มีรวมเรื่องสั้นที่ผ่านรอบแรก จำนวน 13 เล่ม และเข้าสู่รอบ Shortist จำนวน 8 เล่ม ซึ่งคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2563 พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า

“รวมเรื่องสั้น คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ ของ จเด็จ กำจรเดช ท้าทายขนบการเขียนเรื่องสั้น ทั้งด้านการเล่าเรื่อง การผูกโครงเรื่อง จำนวนตัวละคร และขนาดความยาวของเรื่อง การสร้างสัญญะโดยใช้สัตว์สื่อความหมาย การเล่นล้ออย่างซับซ้อนของความเป็นเรื่องเล่ากับผู้เล่าเรื่อง การปรับประยุกต์วิธีการเล่าเรื่องแบบนิยายนิทานพื้นบ้าน ตำนานและมุขปาฐะมาใช้กับเรื่องเล่าร่วมสมัยและบริบทของโลกยุคดิจิทัล การเดินทางทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ต่อชีวิตและสังคมที่อุดมด้วยสีสันท้องถิ่นอย่างน่าสนใจ โดยตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องราวในปัจจุบันกับประวัติศาสตร์นำเสนอแนวคิดว่าเรื่องเล่ามีบทบาทสำคัญในการประกอบสร้างความจริงของปัจเจกบุคคล เล่าเรื่องโลกภายในขนานไปกับโลกภายนอกเพื่อสื่อน้ำเสียงเสียดเย้ย ย้อนแย้งและวิพากษ์สังคม คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้รวมเรื่องสั้น คืนปีเสีอ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ ของ จเด็จ กำจรเดช ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2563”

สำหรับผลงานรวมเรื่องสั้นที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการรอบคัดเลือกในปี 2563 เข้าสู่รอบ Shortist จำนวน 8 เล่ม ประกอบด้วย

1. 24 ชั่วโมง โดย แพรพลอย วนัช สำนักพิมพ์นาคร

2. คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ โดย จเด็จ กำจรเดช สำนักพิมพ์ผจญภัย

3. ในโลกเล่า โดย วัฒน์ ยวงแก้ว สำนักพิมพ์ต้นโมกข์

4. แพรกหนามแดง โดย แดนอรัญ แสงทอง สำนักพิมพ์สามัญชน

5.รยางค์และเงื้อมเงา โดย วิภาส ศรีทอง สำนักพิมพ์สมมติ

6.ไร้สัญชาติและตัวละครอื่นๆ โดย บัญชา อ่อนดี สำนักพิมพ์บนแม่น้ำ

7. ลิงหินและเรื่องสั้นอื่นๆ โดย ภาณุ ตรัยเวช สำนักพิมพ์มติชน

8. อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ และเรื่องราวอื่นๆ โดย กำพล นิรวรรณ สำนักพิมพ์ผจญภัย

การคว้าดับเบิ้ลซีไรต์ครั้งนี้ ทำให้รางวัลซีไรต์มีดับเบิ้ลซีไรต์ต่อเนื่องกันถึงสามคน นับตั้งแต่ วีรพร นิติประภา ในประเภทนวนิยาย, อังคาร จันทราทิพย์ ในประเภทกวีนิพนธ์ และล่าสุด "จเด็จ กำจรเดช" ในประเภทรวมเรื่องสั้น

160284725033

“จเด็จ” บอกกับจุดประกายว่า “ซีไรต์” ครั้งนี้เขาไม่ได้คาดหวังแบบหมดหัวใจ เพียงแค่ส่งผลงานไปตามปกติ แต่ก็ยังยืนยันว่าทำอย่างเต็มที่ แต่เขายังแอบเสียดายเพราะในบรรดารวมเรื่องสั้นทั้งเล่ม ขาดบางเรื่องที่ตั้งใจใส่ลงไป

“ผมตั้งใจ วางแผนไว้แล้วว่าจะมีกี่เรื่อง แต่เขียนไม่ทันอยู่หนึ่งเรื่อง แต่ไม่ใช่ว่าผมลวกๆ พอเสร็จเป็นหนังสือก็เหมือนกับทุกเล่ม ที่ผมจะประเมินว่าพอใจกับมันไหม เล่มนี้ก็โอเคแม้ว่าจะขาดเรื่องที่ผมตั้งใจเขียนอีกเรื่องหนึ่ง แล้วยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่พิมพ์ไปก่อนแล้วเป็นเล่มเล็ก นิยายขนาดสั้นหรือเรื่องสั้นขนาดยาว ที่จริงมันควรจะอยู่ในเล่มนี้ด้วย”

เดิมทีเขาวางแผนไว้ว่าจะเป็นเรื่องสั้นขนาดยาวสัก 8 เรื่อง แต่ระหว่างเส้นทางการเขียนเขากลับต้องเจอเหตุการณ์อันแสนเจ็บปวด คือ การสูญเสียลูกชายไป จากเหตุการณ์ครั้งนั้นบรรดาเพื่อนพ้องจึงอยากช่วยเหลือฟื้นฟูจิตใจเขาด้วยการให้พิมพ์บางเรื่องในนั้นก่อน ทว่ามีผลกระทบต่อเค้าโครงความเชื่อมโยงของรวมเรื่องสั้นด้วย

“ผมวางไว้หลวมๆ ว่าจะเชื่อมโยงตรงฉากบางฉากหรือตัวละครบางตัว ตอนแรกมีพูดถึงนก จะมีนกในเกือบทุกเรื่อง แล้วในเรื่องที่โดนตัดออกไป สะใภ้คนจีน มีฉากตึกรังนกซึ่งถ้ามันอยู่จะกลมมากขึ้น มีเอกภาพมากกว่านี้ ก็เลยเสียดาย พอมีเรื่องสั้นเพิ่มเข้ามาคอนเซปต์ก็เลยกลายเป็นเรื่องของสัตว์ไป แต่ถามว่ามันขาดความสมบูรณ์อะไรไหม ก็ไม่หรอกครับ เพียงแต่มันน่าจะอยู่ชุดเดียวกันเท่านั้นเอง”

จากรวมเรื่องสั้น แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะจิบกาแฟ ที่ได้ “ซีไรต์” ไปแล้วเมื่อปี 2554 เขาลองทบทวนว่ากว่าจะมาถึงเล่มนี้ ที่เป็น “ดับเบิ้ลซีไรต์” บนเส้นทางสายน้ำหมึกเขามีพัฒนาการอยู่ไม่น้อย

“ในเล่มก่อนผ่านมาปีผมก็ยังอ่านได้ ผ่านมาสองปีก็ยังอ่านได้ แต่หลังจากที่ผมเริ่มเขียนเรื่องสั้นเรื่องสะใภ้คนจีน ผมกลับรู้สึกว่าสนุกกับการเล่าเรื่องแบบนี้ ไม่รู้มันแตกต่างกันอย่างไร แต่ผมสนุกกับมัน พอย้อนกลับไปดูเล่มแดดเช้าฯ ก็เห็นข้อด้อยเยอะเลย บางเรื่องที่เราเขียน เราไม่ได้ลงไปในพื้นที่ เราฟังเขาบ้าง แต่พอเป็นเล่มนี้ผมลงพื้นที่จริงๆ จังๆ ไปอยู่กับมัน สัมผัสมันจริงๆ แต่ความคิดผมไม่แน่ใจว่าเปลี่ยนแปลงไหม แต่เวลาผ่านมา 10 ปี และยังมีเรื่องของชีวิตที่เปลี่ยนไป เจอมรสุมเรื่องลูกชาย มันฆ่าผมได้เลยนะ ผมตายได้เลยนะ แต่พอเอามาลงที่งานเขียน ความคิดผมก็เป็นอีกแบบหนึ่ง

เรื่องสั้นของผมบางเรื่องเกิดก่อนเหตุการณ์เสียลูกชาย มีอยู่ 2 เรื่อง ที่เหลือเกิดหลังหมดเลย ซึ่งมีผลต่องานเขียน ชัดๆ เลยคือเรื่อง เป็ดบนหลังคา ก็เขียนเรื่องที่ลูกเสียไปเลย ถ้าส่งผลต่อเรื่องอื่นก็น่าจะเป็นความพยายามที่จะอยู่ให้ได้ ก็เลยมีแรงผลักดันเยอะเพื่อที่จะเขียน เพื่อที่จะทำ เพื่อที่จะคิด บางเรื่องก็ตัดไปเฉยๆ เพื่อที่จะไม่ต้องไปติดกับมัน สมมติเมื่อก่อนผมสนใจเรื่องอื่นๆ เยอะมาก แต่พอลูกเสียเหมือนเรามีข้ออ้างให้ตัวเองที่จะอยู่กับตัวเอง มันเจ็บปวดกว่ามาก”