สดร.เผยเคล็ดลับถ่ายภาพ 'ฝนดาวตกโอไรออนิดส์' คืน 21 ต.ค.นี้

สดร.เผยเคล็ดลับถ่ายภาพ 'ฝนดาวตกโอไรออนิดส์' คืน 21 ต.ค.นี้

สดร.เผยเคล็ดลับถ่ายภาพ “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” คืน 21 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่ 23.00 น. จนถึงรุ่งเช้า

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชวนชม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” คืน 21 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่ 23.00 น. จนถึงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออก ปีนี้โอกาสดี ไม่มีแสงจันทร์รบกวน หากฟ้าใสไร้ฝน ชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ แนะจุดชมให้อยู่ในที่มืดสนิทและห่างจากเมือง

"ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์" (Orionid Meteors shower) หรือฝนดาวตกนายพราน เป็นฝนดาวตกประจำเดือนตุลาคมที่ ซึ่งฝนดาวตกโอไรโอนิดส์จะเกิดขึ้นสูงสุดในช่วงวันที่ 20 - 22 ตุลาคม ของทุกปี โดยมีอัตราการเกิดสูงสุดเฉลี่ย 20 ดวง ต่อชั่วโมง มีจุดกระจายออกมาจากบริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพราน (Orion) ใกล้กับดาวเบเทลจูส (Betelgeuse) ซึ่งกลุ่มดาวนี้จะเริ่มขึ้นทางทิศตะวันออกในเวลาประมาณ 23.00 น.

ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในกลุ่มของเศษชิ้นส่วนของดาวหางฮัลเลย์ (Halley) ที่หลงเหลือจากการโคจรเข้ามาในระบบสุริยะเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ในช่วงวันที่ 2 ตุลาคม - 7 พฤศจิกายนของทุกปี เศษชิ้นส่วนดังกล่าวเป็นก้อนอุกกาบาตขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดให้เข้ามาและเสียดสีกับชั้นบรรยากาศจึงเกิดการลุกไหม้ เราจึงเห็นดาวตกพุ่งออกมาจากบริเวณกลุ่มดาวนายพราน

การสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ มองด้วยตาเปล่า และเลือกสถานที่ที่ห่างจากแสงในเมืองให้มากที่สุด โดยมองหากลุ่มดาวนายพรานทางทิศตะวันออก ซึ่งกลุ่มดาวนี้จะมีดาว 3 ดวงอยู่ตรงกลางหรือเข็มขัดนายพราน

160318238519

ภาพจำลองจุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ บริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพรานทางทิศตะวันออก

ทั้งนี้ อ.แจ็ค ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ มีเคล็ดลับ "ถ่ายภาพฝนดาวตก" มาฝากด้วย

การสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด
มองด้วยตาเปล่า และเลือกสถานที่ที่ห่างจากแสงในเมืองให้มากที่สุด โดยมองหากลุ่มดาวนายพรานทางทิศตะวันออก ซึ่งกลุ่มดาวนี้จะมีดาว 3 ดวงอยู่ตรงกลางหรือเข็มขัดนายพราน
ความพิเศษของฝนดาวตกโอไรโอนิดส์
แม้ว่าอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง แต่เนื่องจากเป็นฝนดาวตกที่เกิดบริเวณกลุ่มดาวนายพราน ซึ่งเป็นกลุ่มดาวเรียงเด่นที่มีความสว่างและมีดาวที่มีความโดดเด่น หากสามารถถ่ายภาพการกระจายตัวของฝนดาวตกมาได้ ก็จะทำให้ได้ภาพฝนดาวตกที่สวยงาม รวมทั้งเป็นฝนดาวตกในช่วงปลายฝนต้นหนาวทำให้มีโอกาสที่ดีที่ท้องฟ้ามักจะมีทัศนวิสัยที่ใสเคลียร์ รวมทั้งปีนี้เราสามารถถ่ายได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า ทำให้มีโอกาสได้ภาพฝนดาวตกจำนวนมาก
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการถ่ายภาพฝนดาวตก
สามารถถ่ายภาพฝนดาวตกได้ตั้งแต่หลังเวลา 23.00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า โดยช่วงที่มักจะมีโอกาสได้ภาพฝนดาวตก ประเภทไฟล์บอล เส้นยาวๆ นั้น จะอยู่ในช่วงหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไปเนื่องจาก เป็นช่วงที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ และนอกจากนั้นในช่วงหลังเที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า ดาวตกจะวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก เราจึงเห็นดาวตกที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้รุ่งนั้นวิ่งช้า ทำให้มีโอกาสได้ภาพดาวตกหางยาวๆ หัวใหญ่ๆ กันอีกด้วย
อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพฝนดาวตก
1. กล้องดิจิตอล เลนส์มุมกว้าง และสายลั่นชัตเตอร์
กล้องดิจิตอลที่สามารถใช้ความไวแสง (ISO) ได้สูงๆ จะมีข้อได้เปรียบในการถ่ายภาพฝนดาวตก ซึ่งสามารถเก็บแสงฝนดาวตกได้ดี
2. เลนส์มุมกว้าง และไวแสง (F กว้าง)
ข้อได้เปรียบของเลนส์ไวแสงคือ ทำให้ถ่ายติดแสงวาบของฝนดาวตกได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องดัน ISO สูงๆ และช่วงเลนส์มุมกว้างก็ยังทำให้เพิ่มโอกาสการได้ภาพฝนดาวตกที่ติดมาในภาพได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้เลนส์คิตธรรมดาก็ยังสามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพได้เช่นกัน
3. อุปกรณ์ตามดาวและขาตั้งกล้องที่มั่นคง
อุปกรณ์ตามดาวถือเป็นอุปกรณ์ที่นักดาราศาสตร์จำเป็นต้องมีไว้ เพื่อใช้ในการถ่ายภาพเพื่อติดตามวัตถุท้องฟ้า ซึ่งในการถ่ายภาพฝนดาวตกช่วยให้เราสามารถนำภาพฝนดาวตกที่มีศูนย์กลางการกระจายตัวเดียวกัน กลุ่มดาวเดียวกันมาใช่ในการ Stack ภาพในภายหลังได้นั่นเอง ซึ่งหากเราไม่ถ่ายภาพแบบตามดาว ภาพฝนดาวกที่ได้แต่ละภาพก็จะเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ตามการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าทำให้ยากแก่การนำภาพมา Stack ในภายหลัง
เทคนิคและวิธีการสำหรับการถ่ายภาพ “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” 
  1. เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพควรเริ่มตั้งแต่ 30 วินาที หรือมากกว่า
  2. ใช้ค่ารูรับแสงกว้างๆ เช่น f/1.4 f/2.8 เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการเก็บแสงวาบหรือไฟล์บอลของฝนดาวตก
  3. ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ที่สูงๆ เพื่อให้กล้องไวแสงมากที่สุดขณะเกิดดาวตก เช่น ISO 3200 หรือมากกว่า
  4. ตั้งโหมดการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Continuous Mode) เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องตลอดช่วงการเกิดฝนดาวตก
  5. ปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องไม่เว้นช่วงในการถ่าย Dark Frame
  6. ตั้งกล้องบนขาตามดาว และหันหน้ากล้องไปยังบริเวณจุดกระจายตัวของฝนดาวตก บริเวณแขนกลุ่มดาวนายพราน
  7. ถ่ายแบบต่อเนื่อง อย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยใช้ค่าการเปิดหน้ากล้องประมาณ 30 วินาที ต่อ 1 ภาพ หรือมากกว่า
  8. นำภาพฝนดาวตกมารวมกัน จากหลายร้อยภาพก็เลือกเฉพาะที่ติดดาวตกมารวมกันใน Photoshop หรือ Star Stack ก็จะทำให้เห็นการกระจายตัวของฝนดาวตกได้อย่างชัดเจน

ที่มา : www.narit.or.th