อัพเดต ‘9 เทรนด์การท่องเที่ยว’ แห่งอนาคต
ภาคการท่องเที่ยวไทยเตรียมปรับตัวรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งใหญ่หลังโควิด-19 จนเกิดเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ในอนาคต
หลังจากสถานการณ์การท่องเที่ยวทั่วโลกรวมถึงไทยบอบช้ำจากวิกฤตการณ์มากมาย ข้อมูลผลสำรวจผู้เดินทางมากกว่า 20,000 คน ใน 28 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจาก Booking.com รวมกับข้อมูลเชิงลึกจากพฤติกรรมการค้นหาและการบอกต่อของนักเดินทางบนแพลตฟอร์ม เกิดเป็น 9 เทรนด์เกี่ยวกับอนาคตของการเดินทาง ทั้งในปีหน้าและปีต่อๆ ไป
- 1. จากความปรารถนาสู่ความจำเป็น
อยู่บ้านเป็นเวลานานยิ่งทำให้ผู้คนโหยหาการเดินทางมากขึ้น โดยในช่วงล็อกดาวน์ นักเดินทางชาวไทย 71 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกตื่นเต้นที่จะมีโอกาสได้กลับมาเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง ในขณะที่ 77 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่ารู้สึกเห็นคุณค่าของการเดินทางมากขึ้นและจะไม่มองข้ามคุณค่าดังกล่าวอีก นอกจากนี้ 2 ใน 3 ของนักเดินทางชาวไทย (65 เปอร์เซ็นต์) ปรารถนาที่จะออกไปสำรวจโลกกว้างยิ่งขึ้นกว่าเดิม และอีก 60 เปอร์เซ็นต์ ตั้งใจที่จะจองทริปที่ต้องยกเลิกไปก่อนหน้านี้อีกครั้งหนึ่ง
- 2. ความคุ้มค่าต้องมาก่อน
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทำให้ผู้คนมองหาความคุ้มค่าในทุกการจับจ่ายใช้สอย ไม่เว้นแม้แต่ด้านท่องเที่ยว โดยผู้เดินทางชาวไทย 78 เปอร์เซ็นต์ ให้ความใส่ใจกับราคามากขึ้นขณะวางแผนการเดินทาง และคนจำนวนเท่ากัน (78 เปอร์เซ็นต์) ยังมีแนวโน้มมองหาโปรโมชั่นและข้อเสนอพิเศษต่างๆ มากขึ้น โดยพฤติกรรมเช่นนี้จะคงอยู่ไปอีกหลายปี
อย่างไรก็ตาม ความคุ้มค่าที่ผู้บริโภคคาดหวังไม่ได้มีเฉพาะเรื่องราคา โดยผู้เดินทางไทยจำนวน 4 ใน 5 (80 เปอร์เซ็นต์) ระบุว่าต้องการให้แพลตฟอร์มจองการเดินทางเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับนโยบายการยกเลิก ขั้นตอนการคืนเงิน และตัวเลือกประกันการเดินทาง โดย 37 เปอร์เซ็นต์ มองว่าตัวเลือกที่พักแบบยกเลิกฟรีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทริปถัดไป ที่สำคัญ ผู้เดินทางชาวไทย 87 เปอร์เซ็นต์ สนใจที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ 84 เปอร์เซ็นต์ อยากให้การจองการเดินทางของตนสามารถช่วยเหลือชุมชนให้ฟื้นตัวได้
- 3. ขอเน้นที่ใกล้และคุ้นเคย
เนื่องจากการท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงเป็นเรื่องไกลตัวในปัจจุบัน การเดินทางในพื้นที่ใกล้เคียงและท่องเที่ยวภายในประเทศได้กลายเป็นตัวเลือกที่โดดเด่น เนื่องจากสะดวกกว่า ปลอดภัยกว่า และมักช่วยส่งเสริมความยั่งยืนได้มากกว่า โดยผู้เดินทางชาวไทย 61 เปอร์เซ็นต์ วางแผนจะเดินทางในประเทศภายใน 7-12 เดือนที่จะถึง และ 53 เปอร์เซ็นต์ วางแผนจะเดินทางในไทยในระยะยาว (ในช่วง 1 ปีขึ้นไป) ในแง่ของการเที่ยวใกล้ๆ คนไทย 36 เปอร์เซ็นต์ วางแผนที่จะไปสำรวจจุดหมายใหม่ๆ ที่ไม่เคยไปที่อยู่ใกล้เคียงภูมิลำเนาหรือในภายประเทศ และ 55 เปอร์เซ็นต์ อยากใช้เวลาไปชื่นชมความงดงามของธรรมชาติในเมืองไทย
- 4. หลีกหนีความจริงด้วยการค้นหา
เพื่อสร้างความสุขและหากิจกรรมทำในช่วงล็อกดาวน์ คนไทยส่วนใหญ่ 98 เปอร์เซ็นต์ เคยใช้เวลาไปกับการค้นหาแรงบันดาลใจสำหรับทริปพักผ่อน โดยกว่า 2 ใน 3 (68 เปอร์เซ็นต์) ได้เสิร์ชหาจุดหมายท่องเที่ยวต่างๆ บ่อยถึงสัปดาห์ละครั้ง นอกจากนี้ 41 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่ารู้สึกหวนคิดถึงวันวานเมื่อเปิดดูภาพถ่ายเก่าๆ จากทริปก่อนๆ ขณะมองหาแรงบันดาลใจการท่องเที่ยวในอนาคต
- 5. ปลอดภัยไว้ก่อน
ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยเกือบ 9 ใน 10 (89 เปอร์เซ็นต์) จะใช้ความระมัดระวังในการเดินทางมากขึ้นสืบเนื่องจากโคโรนาไวรัส และผู้เดินทาง 83 เปอร์เซ็นต์ คาดหวังให้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มีการปรับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในขณะเดียวกัน 86 เปอร์เซ็นต์ จะเลือกจองเฉพาะที่พักที่มีการระบุมาตรการด้านสุขภาพและอนามัยไว้อย่างชัดเจน และผู้ตอบชาวไทยในจำนวนเท่ากัน (86 เปอร์เซ็นต์) ยอมรับได้กับการตรวจสุขภาพเมื่อเดินทางถึงสถานที่ท่องเที่ยวหรือจุดหมายปลายทาง
- 6. คำนึงถึงผลกระทบ
นักเดินทางชาวไทยส่วนใหญ่เกิน 2 ใน 3 (68 เปอร์เซ็นต์) ต้องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นในอนาคต โดย 86 เปอร์เซ็นต์ คาดหวังให้ภาคการท่องเที่ยวนำเสนอตัวเลือกการเดินทางที่ยั่งยืนมากขึ้น และคนไทยมากกว่า 4 ใน 5 (84 เปอร์เซ็นต์) ต้องการตัวเลือกในการเดินทางที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูจุดหมายปลายทางนั้นๆ ได้ และ 82 เปอร์เซ็นต์ ต้องการเห็นว่าเม็ดเงินที่จ่ายไปจะกลับเข้าสู่ชุมชนท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง
- 7. โบกมือลาการเข้าออฟฟิศ
การทำงานจากบ้านได้กลายเป็นพฤติกรรมกระแสหลักในช่วงของการระบาด แต่ผลที่ตามมาทางอ้อมคือทางเลือกในการวางแผนการเดินทางที่ยาวนานขึ้นโดยรวมการทำงานเข้ากับทริปท่องเที่ยว การที่ผู้คนไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์อีกต่อไป ทำให้เราเห็นพฤติกรรมของนักเดินทางแบบ “Workation” หรือเที่ยวไปทำงานไปเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
โดยผู้เดินทางชาวไทย 60 เปอร์เซ็นต์ เคยวางแผนจะจองที่พักเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งทำงานในสถานที่แปลกใหม่ ในขณะที่ 69 เปอร์เซ็นต์ เต็มใจที่จะกักตัวหากยังคงสามารถทำงานระยะไกลได้ นอกจากนี้ คนไทยกว่า 3 ใน 4 (76 เปอร์เซ็นต์) กล่าวว่าจะหาโอกาสขยายทริปธุรกิจให้นานขึ้นเพื่ออยู่เที่ยวที่จุดหมายปลายทางนั้นๆ ต่อได้
- 8. สัมผัสความสุขง่ายๆ
เมื่อเราได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับผลกระทบของเหตุการณ์แพร่ระบาดครั้งใหญ่ ผู้เดินทางต่างหันมาเปิดรับวิถีใหม่ที่เรียบง่ายในการออกสำรวจโลกกว้าง และต้องการที่จะดื่มด่ำกับธรรมชาติมากขึ้น ตั้งแต่เริ่มมีเหตุการณ์แพร่ระบาด ผู้ใช้บริการ Booking.com ทั่วโลกต่างแบ่งปันความคิดเห็นถึงสิ่งธรรมดาๆ ที่สร้างความสุขได้อย่างง่ายดายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า (94 เปอร์เซ็นต์) อากาศบริสุทธิ์ (50 เปอร์เซ็นต์) ธรรมชาติ (44 เปอร์เซ็นต์) และการผ่อนคลาย (33 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งคล้ายคลึงกับความต้องการของผู้เดินทางชาวไทยกว่า 4 ใน 5 (85 เปอร์เซ็นต์) ที่วางแผนจะดื่มด่ำกับประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบเรียบง่ายมากขึ้น เช่น การทำกิจกรรมกลางแจ้งกับครอบครัวระหว่างทริปพักผ่อน นอกจากนี้ นักเดินทางชาวไทยจำนวนใกล้เคียงกัน (80 เปอร์เซ็นต์) ยังอยากมองหาประสบการณ์ท่องเที่ยวในชนบทหรือที่ท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยมีใครไป เพื่อดื่มด่ำกับประสบการณ์ท่ามกลางธรรมชาติให้เต็มที่
พฤติกรรมการท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว พื้นที่เว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงความสะอาดและสุขอนามัยที่ควบคุมได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นผู้เดินทางชาวไทยต่างมองหาที่พักที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านตัวเอง โดย 55 เปอร์เซ็นต์ ของนักเดินทางชาวไทยเลือกมองหาที่พักประเภทบ้านพักตากอากาศหรืออพาร์ตเมนต์มากกว่าโรงแรม และ 63 เปอร์เซ็นต์ จะเลือกทานอาหารในที่พักมากขึ้นแทนที่จะออกไปร้านอาหาร นอกจากนี้ ประเภทของทริปที่นักเดินทางชาวไทยยุค “นิวนอร์มอล” อยากไปเที่ยวมากที่สุดได้แก่ ทริปเที่ยวริมทะเล (51 เปอร์เซ็นต์) ตามมาด้วยทริปพักผ่อนหย่อนใจ (48 เปอร์เซ็นต์) และทริปเที่ยวในเมือง (27 เปอร์เซ็นต์)
- 9. เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกระตุ้นการเดินทาง
เราจะเห็นนวัตกรรมเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้เดินทางอีกครั้งในโลกหลังการระบาดใหญ่ โดย 81 เปอร์เซ็นต์ ของผู้เดินทางชาวไทยเห็นด้วยว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพระหว่างเดินทาง นอกจากนั้น 80 เปอร์เซ็นต์ ยังเห็นตรงกันว่าผู้ให้บริการที่พักจะต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีล่าสุดเพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าพัก
โดย 7 ใน 10 ของนักเดินทางชาวไทย (70 เปอร์เซ็นต์) ต้องการให้มีตัวเลือกเทคโนโลยีที่สามารถใช้จองร้านอาหารแบบกระชั้นชิดได้ และนักเดินทางชาวไทยจำนวน 3 ใน 4 (75 เปอร์เซ็นต์) ต้องการให้มีเครื่องมือแบบบริการตนเองมากขึ้นแทนที่จะผ่านเคาน์เตอร์ให้บริการเพื่อลดการสัมผัส นอกจากนี้คนไทย 80 เปอร์เซ็นต์ ยังรู้สึกตื่นเต้นกับศักยภาพของเทคโนโลยีที่ช่วยปรับเปลี่ยนประสบการณ์การเดินทางให้เข้ากับความต้องการเฉพาะบุคคลได้มากขึ้นในอนาคต โดยเทคโนโลยีจะเข้ามาเพิ่มประโยชน์และเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ